เปิด "ปฏิญญาเอเปก 2022" ไทยฉวยจังหวะเจรจาทวิภาคีเชื่อมเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิด "ปฏิญญาเอเปก 2022" ไทยฉวยจังหวะเจรจาทวิภาคีเชื่อมเศรษฐกิจ

Date Time: 21 พ.ย. 2565 06:59 น.

Summary

  • ทันทีที่การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29 ปิดฉากลง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมผู้นำเอเปก ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนทั่วโลก ว่าการประชุมครั้งนี้ จบลงแล้ว

Latest

"อิ๊งค์" เร่งรับซื้อพลังงานสะอาด สั่งดูแลราคาพลังงานกระทบชีวิตประชาชน

ทันทีที่การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29 ปิดฉากลง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมผู้นำเอเปก ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนทั่วโลก ว่าการประชุมครั้งนี้ จบลงแล้วด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม

ถือว่าเป็นความสำเร็จร่วมกันของสมาชิกเอเปกทั้งหมดที่ต้องการเห็นเอเปกยืนหยัดทำงานท่ามกลางสภาวการณ์โลกที่ผันผวน เพื่อสร้างการเจริญเติบโตและอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยได้ต้อนรับคณะผู้นำพร้อมคู่สมรสแขกพิเศษผู้เข้าร่วมประชุมและสื่อต่างชาติ รวมทั้งสิ้นกว่า 5,000 คน ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกได้เดินทางมาประชุมร่วมกันแบบพบหน้า

ในการประชุมครั้งนี้ผู้นำเอเปก ยังได้หารือกับแขกพิเศษ ได้แก่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และมกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดี อาระเบีย อีกทั้งยังได้พูดคุยกับภาคเอกชนจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก และรับฟังมุมมองจากผู้แทนเยาวชนจาก APEC Voices of the Future 2022 ด้วย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมได้มีการกล่าวถึงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งได้มีการพูดคุยกันแล้วว่า ทุกประเทศมีความเป็นห่วงในประเด็นนี้

ประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้ที่ทำให้ประเทศไทย ได้หน้าได้ตาจากการเป็นเจ้าภาพ คือ ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ได้รับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ค.ศ.2022 สะท้อนการทำงานของเอเปก 2022 ตลอดทั้งปี ที่มีแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 3 ประการ ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

ประการแรก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” เอเปกได้จัดทำแผนงานต่อเนื่องหลายปี เพื่อสานต่อการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอฟแทป ในบริบทของโลกยุคหลังโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับประเด็นการค้าการลงทุนใหม่ๆ ประการที่สอง “เชื่อมโยงกัน” เอเปกได้ฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ เพื่อให้พร้อมรับมือวิกฤติใหม่ในอนาคต ประการสุดท้าย “สู่สมดุล” ผู้นำเอเปกได้ร่วมกันรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” เพื่อวางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

การเป็นเจ้าภาพเอเปกปี 2565 ของไทยได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ไทยได้ส่งมอบหน้าที่นี้แก่สหรัฐฯ เจ้าภาพเอเปกในปี 2566 ต่อไป ในโอกาสนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” จึงขอเปิดเนื้อหาของปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 2022 ซึ่งมีทั้งหมด 23 ข้อ มีเนื้อหาโดยสรุป ดังต่อไปนี้

สงครามส่งผลกระทบเศรษฐกิจ

สำหรับปฏิญญาผู้นำเอเปก 2022 ที่ถือเป็นฉันทามติร่วมกัน ของผู้นำเอเปก ระบุว่า เอเปกเห็นว่า ปีนี้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เอเปกจึงย้ำจุดยืนตามที่ได้แสดงในเวทีอื่นๆ รวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในข้อมติที่ ES-11/1 ลงวันที่ 2 มี.ค.2565 ตามมติเสียงข้างมาก ที่แสดงความเสียใจต่อการรุกราน ของรัสเซียต่อยูเครน และเรียกร้องให้รัสเซียถอนตัวออกจากดินแดนยูเครนโดยไม่มีเงื่อนไข สมาชิกส่วนใหญ่ยังได้ประณามสงครามในยูเครนอย่างรุนแรง และย้ำว่าสงครามดังกล่าวก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษย์

นอกจากนี้ ยังทำให้ความเปราะบางของเศรษฐกิจเลวร้ายยิ่งขึ้น เพราะสงครามขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง สร้างปัญหาต่อห่วงโซ่การผลิต เกิดความไม่มั่นคงด้านพลังงานและอาหาร และเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน เราตระหนักดีว่าเอเปกไม่ใช่เวทีสำหรับแก้ปัญหาด้านความมั่นคง และเราทราบว่าปัญหาด้านความมั่นคง อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

พร้อมกันนั้น ได้เน้นย้ำความสำคัญของการค้าระหว่างประเทศและองค์การการค้าโลก (WTO) ในการอำนวยความสะดวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การเติบโต ความเจริญรุ่งเรือง การบรรเทาความยากจน ความผาสุกของทุกคน การพัฒนาที่ยั่งยืน และการอำนวยความสะดวก ในความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยจะส่งมอบสภาพแวดล้อมการค้าและการลงทุนที่เสรี เปิดเผยยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติโปร่งใส เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมการค้า และการลงทุนที่เอื้ออำนวย รวมถึงยืนยันความมุ่งมั่นในการเปิดตลาด และแก้ปัญหาห่วงโซ่การผลิตที่หยุดชะงัก

ขณะเดียวกัน จะเดินหน้าความตกลงการค้าเสรีเอเปก (FTAAP) ผ่านแผนการทำงาน (Work Plan) ที่จะนำไปสู่การเจรจา โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีด้านต่างประเทศ และรัฐมนตรีการค้า (AMM) ในปีต่อๆไปรวมถึงจะเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก (ABAC) และเพิ่มการเจรจาระหว่างภาครัฐและเอกชน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บรรลุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องดำเนินการ คือ การขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย สำหรับธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) และธุรกิจสตาร์ตอัพ ให้มีความสามารถในการแข่งขันและขยายสู่ตลาดต่างประเทศ เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการ โดยเฉพาะการเดินทาง การขนส่ง และบริการอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากโควิด-19 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรี กลุ่มเปราะบาง ให้เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ

เป้าหมายกรุงเทพฯ สู่ความยั่งยืน

สำหรับเศรษฐกิจมหภาค และนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น จะต้องทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และยกระดับมาตรฐานการครองชีพในภูมิภาค โดยยืนยันถึงความสำคัญของการจัดหาเงินทุนอย่างยั่งยืน การเสริมสร้างศักยภาพ และความช่วยเหลือด้านเทคนิค สำหรับนวัตกรรมและการเติบโต

จัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนาเครื่องมือดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งมอบความช่วยเหลือและแพ็กเกจ กระตุ้นเศรษฐกิจแก่ประชาชน เพื่อผลักดันการเข้าถึงบริการทางการเงิน

ขณะเดียวกัน จะขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนที่ปลอดภัยและราบรื่นภายในภูมิภาคหลังโควิด-19 สำหรับแรงงานที่จำเป็น ลูกเรือทางอากาศและทางทะเล ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือต่างๆ เช่น ใบรับรองการฉีดวัคซีน และ APEC Business Travel Card (ABTC) สำหรับนักธุรกิจ อีกทั้งจะเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคด้านดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงยั่งยืน สนับสนุนห่วงโซ่อุปทานและลดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

พร้อมกันนั้น ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำเศรษฐกิจให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจึงรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจสีเขียวหมุนเวียน” (Bangkok Goal on BCG Model) ซึ่งเป็นกรอบการทำงานที่ครอบคลุม เพื่อต่อยอดวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนของเอเปก

“เราตระหนักดีว่า จำเป็นต้องมีความพยายามอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อจัดการกับความท้าทายในปัจจุบัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร และการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ที่ส่งเสริมการบริโภคอย่างสิ้นเปลือง ตระหนักถึงความสำคัญของการให้บริการด้านพลังงานที่จำเป็นแก่ผู้ที่ต้องการ รวมถึงจะดำเนินการตามขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมเพื่อต่อสู้กับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และแผนงานของเอเปกว่าด้วยขยะในทะเล”

นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการทุจริตข้ามพรมแดน และปฏิเสธให้ที่หลบภัยแก่ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการทุจริตและทรัพย์สินที่ผิดกฎหมาย เพราะการคอร์รัปชัน สร้างผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อีกทั้งจะร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันโควิดอย่างครอบคลุมให้กับบุคลากร และเสริมความแข็งแกร่งให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุข ปกป้องชีวิตผู้คน และสุขภาพของประชาชนเสริมสร้างระบบสุขภาพ เพื่อให้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ไทยสบช่องเปิดเจรจาทวิภาคี

ในช่วงจังหวะของการประชุมผู้นำเอเปก ที่มีผู้นำจากชาติสมาชิกพร้อมด้วยแขกพิเศษเดินทางมาเยือนประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลไทยจึงใช้โอกาสนี้เจรจาทวิภาคีกับผู้นำหลายประเทศ มีข้อสรุปที่เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้ไทย เริ่มจาก ไทย-ซาอุดีอาระเบีย มีพิธีแลกเปลี่ยนเอกสาร 5 ฉบับ ได้แก่ 1.ข้อตกลงความร่วมมือด้านพลังงาน 2.บันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดีอาระเบีย-ไทย 3.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว 4.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง 5.บันทึกความเข้าใจระหว่างองค์กรกำกับดูแลและต่อต้านการทุจริต

ถัดมาไทย–ฝรั่งเศส จับมือตกลงขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างกันอย่างเข้มแข็ง โดยรัฐบาลไทยได้เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนผ่านโมเดลเศรษฐกิจ (Bio-Circular-Green: BCG) ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป (อียู) จึงเป็นโอกาสสนับสนุนการส่งออกสินค้า สิ่งแวดล้อมและการลงทุนในธุรกิจสีเขียวระหว่างกันมีการลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไป สำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม 54 รายการ และจะร่วมมือกันผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ส่วนการหารือระหว่าง ไทย–ญี่ปุ่น ได้ตกลงยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน โดยจัดทำ “แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย -ญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี” เพื่อเป็นแนวทางการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในปี 2565-2569 ใน 3 สาขา ความร่วมมือ ได้แก่ 1.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปฏิรูปกฎระเบียบ นวัตกรรม 2.เศรษฐกิจโมเดล BCG 3.โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่ ไทย–เวียดนาม ผู้นำทั้ง 2 ประเทศ ออกแถลงการณ์ร่วมส่งเสริมการค้าและการลงทุนมากยิ่งขึ้น เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ผ่าน 3 การเชื่อมโยง ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลและเป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น ปิโตรเคมี การเกษตร เครื่องจักร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2.การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานราก ในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย และผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามแดนในระดับท้องถิ่น ถึงท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น และการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านโมเดล BCG

ส่วน ไทย–นิวซีแลนด์ ย้ำความร่วมมือรอบด้าน มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่นิวซีแลนด์ให้ความสำคัญ และ ไทย–แคนาดา จะมีการเปิดเส้นทางการบิน โดยสายการบิน Air Canada บินตรงระหว่างเมืองแวนคูเวอร์-กรุงเทพฯ ถือเป็นการเปิดเส้นทางระหว่างอเมริกาเหนือ และประเทศไทย ซึ่งเห็นพ้องและเชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ขณะที่ไทยพร้อมสนับสนุนการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดาให้สำเร็จโดยเร็ว

กระชับความสัมพันธ์ “สี จิ้นผิง”

ปิดท้ายด้วย ไทย–จีน เป็นคู่เจรจาทวิภาคีสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ได้ต้อนรับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่มาเยือนไทยในรอบ 11 ปี และเป็นการเยือนครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศเอกสารความร่วมมือและความตกลง 5 ฉบับ ได้แก่ 1.แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ฉบับที่ 4 (2565-2569) 2.แผนความร่วมมือส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

3.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 4.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี 5.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการก่อตั้งคณะทำงานความร่วมมือด้านการลงทุนและเศรษฐกิจ

การหารือเต็มคณะของทั้งสองประเทศ มีข้อเสนอจากประธานาธิบดีจีน ว่า ทั้งสองฝ่ายควรต่อยอดความร่วมมือแบบดั้งเดิมเรื่องการลงทุน การค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือแบบใหม่ เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล รถยนต์พลังงานทดแทน นวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง และควรจะเร่งความร่วมมือสามฝ่ายไทย-จีน-ลาว เรื่องการเชื่อมโยงระบบรถไฟ โดยไทยและจีนควรส่งเสริมการเชื่อมโยงตั้งแต่ EEC ของไทย ไปยังรถไฟจีน-ลาว ต่อไปจนถึงมณฑลยูนนานของจีน และเชื่อมไปยังเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกและทางน้ำสายใหม่ของจีน

ส่วนฝ่ายไทยระบุไปว่า พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง ได้รับคำตอบจากประธานาธิบดีจีนสั้นๆ แต่ชัดเจนว่า จีนส่งเสริมให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายเดินทางไปมาหาสู่กันได้ หากสถานการณ์โควิด–19 คลี่คลายลง

ทั้งหมดนี้ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นตลอดห้วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาในประเทศไทย.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ