ความขัดแย้งที่มีต้นเชื้อมาจากการเมืองจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ และอะไรคือปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่สันติให้กับประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ การคงอยู่ของอำนาจกลุ่ม 3 ป. ในวันนี้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จึงได้ไปสอบถามความเห็นจาก "นายโคทม อารียา" ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในประเด็นเหล่านั้นกันดู 

"นายโคทม อารียา" ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

การเมืองไทยและความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ : 

“โอ๊ย...มันขัดแย้งกันมานานแล้ว มันไม่รู้จะไปขัดแย้งกันไปทางไหนได้อีกทางแล้ว เพราะมันขัดแย้งกันทุกทางไปแล้ว”

...

อย่างไรก็ดีแม้จะมีความขัดแย้ง แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องไม่ให้เกิดความรุนแรง เพราะแม้ว่าจะเกิดความโกรธ แต่ต้องใช้ปัญญากันให้มากขึ้น แต่ในความเห็นส่วนตัวเวลานี้ยอมรับว่า ไม่รู้จะหาทางคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างไรง่ายๆ เพราะมันอยู่ลึกลงไปมากแล้ว

หากแต่สิ่งหนึ่งที่อยากดึงสติคนในสังคม คือ หากไม่สามารถระงับความโกรธจนนำไปสู่ความรุนแรงได้ ผลที่ตามมาคือจะไปเข้าเกมของผู้มีกำลัง เพราะการเล่นเกมแบบนั้นมันจะสะดวกต่อฝ่ายนั้นในการอ้างเหตุผลเรื่องการเข้าควบคุมความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

ประชาธิปไตย :

“หากคิดว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย สิ่งสำคัญคือการพิทักษ์การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น”

การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องพยายามรักษาไว้ นอกจากนี้หากเป็นไปได้คือ ต้องพยายามขับเคลื่อนให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใครจะพยายามพลิกแพลงอย่างไร มีวาทกรรมโวหารอย่างไร ใช้เนติศรีธนญชัยอย่างไรก็อย่าไปสนใจ จงมุ่งมั่นและแข็งขันต่อไป

การถอนหมุดความขัดแย้ง :

“กติกาของประชาธิปไตย คือ สันติวิธีไม่ใช่เกลียดชัง”

หากจะถอนความขัดแย้ง สิ่งแรกที่ต้องทำข้อแรก คือ อย่าเป็นศรีธนญชัยมากนัก ข้อที่ 2 คือ อย่าพยายามบิดพลิ้วเรื่องการเลือกตั้งให้มากนัก ทุกอย่างต้องตรงไปตรงมา ส่วนข้อที่ 3 คือ ควรจัดให้มีการลงประชามติพร้อมกับการเลือกตั้ง เพื่อสถาปนาอำนาจของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และอย่าพยายามเข้ามาขัดขวาง เพราะความตรงไปตรงมา ความสุจริต คือสิ่งที่จะช่วยได้มาก แต่หากยังเล่นเกมไปเรื่อยๆ มันจะมีแต่ความเสื่อม ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม เพราะกติกาของประชาธิปไตย คือ สันติวิธี ไม่ใช่เกลียดชัง มันก็เหมือนการเล่นกีฬา หากเล่นกันแบบตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ มันก็คงไม่สามารถสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นได้

อำนาจ 3 ป.

“หากกระแสการเลือกตั้งออกมาว่า ไม่เอาแล้ว พอแล้วกับกลุ่ม 3 ป. คราวนี้สมาชิกวุฒิสภาก็คงต้องโอนอ่อนตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน”

อำนาจ 3 ป. น่าจะคงอยู่ต่อไปอีกไม่เกิน 2 ปี หรือไม่น่าจะเกินการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เพราะการเมืองกำลังจะเปลี่ยนทิศ จากปัจจัยข้อที่ 1.คือ อยู่ไปนานๆ คนเขาก็เบื่อ ข้อที่ 2.คะแนนนิยมจากโพลต่างๆ ที่เสื่อมถอยลง รวมถึงผลการเลือกตั้งซ่อมต่างๆ ในระยะนี้ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่แสดงให้เห็นได้อย่างเด่นชัดว่ากำลังอยู่ในช่วงขาลง

...

หากการเลือกตั้งไม่เอื้อกลุ่ม 3 ป. คราวนี้สมาชิกวุฒิสภาคงไม่น่าจะทำอะไรที่พิสดาร วุฒิสภาจะต้องเลือกคนที่อาณัติเกิน 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นใครก็แล้วแต่ เพราะการที่สมาชิกวุฒิสภาจะมาฝืนเสียงของประชาชนมันก็คงไม่ใช่

บิ๊กตู่ บิ๊กป้อม :

“ไม่ว่าจะเป็นใคร ตัวเลือกก็ดูจะมีตำหนิไปแล้วทั้งคู่ เขาจะปั้นแต่งอย่างไร คนเขาก็คงเห็นตำหนิอยู่แล้ว”.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

...