• ความไม่แน่นอนที่ทุกคนกำลังเผชิญอย่างหนักในตอนนี้คือ โควิด-19 ระบาด ระลอกแล้วระลอกเล่า และหลายคนไปต่อไม่ไหว

  • ธุรกิจได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า เช่นเดียวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่รายเล็กไม่มีเงินทุนจนต้องพักไปก่อน ส่วนรายใหญ่ ต้องเร่งระบายสต๊อก

  • การเรียนรู้ของบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ที่ผ่านมา คือการบริหารต้นทุนทางการเงินให้ดี เพื่อรับมือวิกฤติที่มาอย่างไม่ทันตั้งตัว

ตลอดปี 2563 ทุกคนเผชิญหน้าสู้กับโควิด-19 ที่ว่าหนักแล้ว แต่ครึ่งปี 2564 ที่ผ่านไปถือว่าสาหัสอย่างหนักในไทย เพราะมีการระบาดระลอกใหม่ และมีสายพันธุ์ใหม่มาต่อเนื่อง จนยอดผู้ติดเชื้อในไทยทะลุ 2 แสนราย และเสียชีวิตแล้วเกือบ 2 พันศพในปลายเดือนมิถุนายน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของแผนการฉีดวัคซีน กระทบชีวิตของทุกคนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ต่างชาติหาย คอนโดฯ ขายไม่ออก แต่บ้านยังมีความหวัง
โดยทันทีเมื่อต้นปี 2563 ที่โควิด-19 เริ่มระบาด ทั่วโลกล็อกดาวน์ ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีต่างชาติมาประเทศไทย ผลกระทบที่เกิดกับหลายธุรกิจรวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ คือยอดขายคอนโดมิเนียมวูบหายไปกว่าครึ่ง เพราะลูกค้ากลุ่มใหญ่คือต่างชาติ แต่ช่วงกลางปีจนถึงปลายปีสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เพราะประเทศไทยคุมการระบาดโควิด-19 ได้ระดับหนึ่ง

นี่คือสภาพธุรกิจที่ “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ และในฐานะทายาท บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) บอกเล่าผลกระทบของปี 2563 ที่ทำให้รายได้รวมลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ กำไรสุทธิลดลง 21 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เพราะยอดโอนบ้าน และคอนโดมิเนียมลดลง

...

สถานการณ์ไตรมาส 4 ปีที่แล้วดีขึ้น หลายคนเริ่มคิดว่าจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ จึงเริ่มกลับมาซื้อที่อยู่อาศัย จนทำให้ไตรมาสแรกปี 2564 รายได้รวมลดลงเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ กำไรสุทธิลดลง 1 เปอร์เซ็นต์ ที่ลดลงไม่มากแม้ยอดขายคอนโดมิเนียมยังไม่กลับมาเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ชดเชยคือยอดขายที่อยู่อาศัยแนวราบ คือ บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด ดีขึ้น

“โชคดี แนวราบยังไปได้ แต่ไม่เติบโตแค่ทรงตัว การเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา แค่ 3,000 กว่าหน่วยใน กทม. น้อยกว่าเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ที่เปิดตัวไตรมาสละ 15,000 ยูนิต ส่วนแนวราบมียอดขายดีขึ้นจากตอนแรกวูบ เพราะคนต้องการที่อยู่อาศัยกว้างขึ้น และกลุ่มที่พอมีเงินมีความพร้อม ก็ตัดสินใจซื้อกันช่วงนี้ แต่ก็เป็นเฉพาะใน กทม. โดยปลายเดือนพฤษภาคมดีขึ้นชัดเจน มีลูกค้าเข้ามาเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ต่างจังหวัดยังไม่เห็นสัญญาณแบบนี้”

การเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ของศุภาลัยนี้ มาจากผลโดยตรงของการปรับตัวสินค้าตามความต้องการของลูกค้า ทำให้สนามในแบรนด์ใหญ่ ศุภาลัยเป็นตัวเลือกของลูกค้า และยังมาจากรายเล็กต้องพักไปก่อน เพราะสถานการณ์รายเล็กนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก สถาบันการเงินไม่อยากมีความเสี่ยงในการปล่อยกู้

“ตอนนี้คนที่ยังมีเงินเย็นอยู่ เมื่อราคาบ้านดีพอก็อยากซื้อ ซึ่งไม่มีเวลาใดเหมาะเหมือนตอนนี้ เพราะดอกเบี้ยถูก คนขายอยากขาย จึงเสนอราคาดีที่สุดให้ลูกค้าได้ ต่างก็ยอมทำ”

ขณะเดียวกันราคาบ้านไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก จากปกติปรับปีละประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้นทุนผู้ประกอบการไม่ได้สูงขึ้นมากนัก เช่น ราคาที่ดินทรงตัว วัสดุก่อสร้างก็หาได้ในประเทศเกือบทั้งหมด ยกเว้นเหล็ก จึงเป็นโอกาสธุรกิจที่ยังมีอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้มาแบบสบายๆ

เตรียมพร้อมตลอดเวลาเพื่อสู้ทุกวิกฤติ

ไตรเตชะ อธิบายถึงวิธีของศุภาลัยในการสู้วิกฤติครั้งนี้ คือ การเตรียมพร้อมตลอดเวลา และไม่ประมาท

“เราเตรียมความพร้อมตลอด หนึ่งในสิ่งที่ทำมาตลอดคือ บริหารจัดการ เสมือนว่าจะมีวิกฤติเกิดขึ้นพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ประชุมบอร์ด เราพูดถึงภาระหนี้สินของบริษัททุกครั้ง ตั้งแต่ช่วงตลาดวิ่งกระจุยกระจาย เราก็พูดถึงภาระหนี้สินทุกครั้ง จะว่าเป็นบทเรียนจากวิกฤติปี 40 ก็ได้ ซึ่งโอกาสเดียวที่บริษัทจะมีปัญหาจริงๆ คือ ถ้าเรามีภาระหนี้มากเกินไป ในเวลาที่เศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย”

จากการเตรียมพร้อมมาตลอดแบบนี้ ทำให้ในภาวะวิกฤติโควิด-19 ซึ่งศุภาลัยมีภาระหนี้น้อย กู้น้อย ต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ เมื่อจำเป็นต้องดำเนินการอะไร ก็สามารถทำได้ เช่น ซื้อที่ดินเพิ่ม เปิดตัวโครงการใหม่ ทำให้ในปีนี้หวังว่าจะทำยอดขายได้ 28,000 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมากว่า 30 ปี เพราะมีลูกค้าที่รอโอนกรรมสิทธิ์อยู่จำนวนมาก

...

อย่างไรก็ตาม แม้ศุภาลัยไม่โดนกระทบด้านรายได้ แต่ถามว่าลำบากไหม บอกได้เลยว่าไม่ง่าย เพราะสิ่งที่ท้าทายหนึ่งของไตรเตชะ ในปีที่ผ่านมา สิ่งที่ยากคือ ต้องให้พนักงานรู้ว่าจริงๆ แล้ว ข้างนอกไม่ได้สบายแบบที่เราเป็นอยู่ เพราะการแข่งขันดุเดือด บริษัทไม่มีการเลย์ออฟพนักงาน ยังได้เงินเดือนขึ้น ได้โบนัส แต่จะทำยังไงให้เขารู้ว่าสถานการณ์ข้างนอกไม่ได้เป็นแบบที่เราเห็น รับรู้ร่วมกัน

"สิ่งที่ต้องทำ คือ ระบายของที่มีอยู่ และที่สำคัญ คือใช้โอกาสตรงนี้มองไปข้างหน้า ดูว่าหลังโควิดแล้วโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร กำลังซื้อลูกค้า กำลังซื้อผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะโควิดเป็น Super Disruption ทุกอย่างที่เราเจอ ไม่มีอะไรที่ร้อยปีก่อนหน้านี้ ที่เปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้"

เมื่อศุภาลัยมีความแข็งแรงทางการเงิน ทำให้ไม่ต้องมาห่วงว่า เดือนหน้าจะจ่ายเงินซัพพลายเออร์อย่างไร จะมีเงินจ่ายผู้รับเหมาไหม ผู้รับเหมามั่นใจได้ว่า มีงานต่อเนื่อง นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผู้ร่วมธุรกิจของศุภาลัยมั่นใจในการทำงานร่วมกัน

"คนที่อยู่รอบข้างเรา เดินไปข้างหน้าทีละก้าวได้กับเรา พนักงานสบายใจได้ว่าเราสร้างความมั่นใจให้กับครอบครัวได้ ดังนั้นเราเอาเวลามาช่วยกัน เพื่อให้ลูกค้าชอบเรามากกว่าชอบของรายอื่น เป็นทางเดียวที่จะขายของได้ รวมไปถึงมีการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน โดยนำระบบการทำงานแบบ Agile ลดขั้นตอน และสื่อสารกันมากขึ้น เช่น ให้ทีมงานในบริษัทตัดสินใจได้ ในการหาวิธีปรับปรุงเรื่องต่างๆ ตามโจทย์ที่ให้หัวข้อไป เช่น กระบวนการส่งมอบบ้านให้ลูกค้า การมองหาลูกค้าใหม่”

...

ไตรเตชะ เล่าได้อย่างเห็นภาพว่า “เปรียบเทียบช่วงปีกว่าที่ผ่านมา เหมือนเล่นปิงปอง เพราะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และมาเร็วมาก เปลี่ยนเร็วมาก”

การเปลี่ยนเร็วมากที่เจอ เช่น เหตุการณ์ที่ย้อนกลับไปเมษายนปีที่แล้ว ที่ศุภาลัยแก้ไขสถานการณ์ให้ลูกค้างดผ่อนดาวน์ 3 เดือน ด้วยความหวังว่าพอโควิดดีขึ้นจะกลับมาปกติ ปรากฏว่ามีการระบาดระลอกใหม่ สถานการณ์จึงกระท่อนกระแท่นมาอีกเป็นปี จึงไม่ใช่แค่งานขายที่ผู้บริหารต้องทำ แต่ยังต้องดูแลลูกค้า เพราะลูกค้าลำบาก บางคนติดโควิด ต้องเข้าช่วยเหลือ ต้องดูแลพนักงาน สื่อสารกับพนักงานเรื่องการฉีดวัคซีน เพื่อสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมั่นใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท


“สิ่งที่เรามีตอนนี้ เป็นเรื่องความไม่แน่นอน คือความแน่นอน ไม่แน่นอนแน่ๆ ไม่ว่าจะเจออะไรก็ตาม เราไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น แต่ผมคิดว่ายังไงก็ตาม เราจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้แน่นอน อยู่ที่เมื่อไร อาจมีมุมที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง Hygiene มากขึ้นแน่นอน ใช้ชีวิตประมาทไม่ดูแลตัวเอง เป็นไปได้ยาก และผมคิดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นมา แน่นอน”

...

สิ่งที่ชัดเจนในการบริหารงานช่วงวิกฤตินี้ “ไตรเตชะ” สรุปได้ว่า “เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ได้รู้อะไรหลายอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือไม่เคยคิดว่าต้องทำมาก่อนเยอะมาก แล้วก็ทำให้เห็นเลยว่า ถ้าเราร่วมแรงร่วมใจกันทำอะไรก็ตาม แม้ต้องเจอความยากลำบาก มีความไม่แน่นอนอยู่ ถ้าเราร่วมแรงร่วมใจกันก็จะทำได้สำเร็จ”

ผู้เขียน : สุกรี แมนชัยนิมิต

ถ่ายภาพ : ชุติมน เมืองสุวรรณ