อย่ายึด Business Model แบบเดิมๆ พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในมุม ญนน์ โภคทรัพย์

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

อย่ายึด Business Model แบบเดิมๆ พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในมุม ญนน์ โภคทรัพย์

Date Time: 1 ก.ค. 2564 06:35 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • เศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 จะเป็นเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน และไม่ชัดเจนเป็นอย่างมาก โดยคาดว่าทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จะเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่ทั่วถึงยิ่งกว่าเดิม

Latest


  • โควิด-19 เป็น "โรค" ที่มาเปลี่ยน "โลก" หลายธุรกิจต้องเผชิญผลกระทบที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่นเดียวกับกลุ่มค้าปลีกที่จะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งการให้บริการ และตอบสนองความต้องการของลูกค้า

  • เศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 จะเป็นเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน และไม่ชัดเจนเป็นอย่างมาก โดยคาดว่าทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จะเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่ทั่วถึงยิ่งกว่าเดิม โดยจะมีทั้งกลุ่มที่ "ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว" และกลุ่มที่ "ยังไม่ฟื้นตัวและทรุดลงเรื่อยๆ"

  • เราไม่กลัวที่จะผิดพลาด เพราะในโลกของความไม่แน่นอน ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ถ้าผิดก็ต้องเริ่มใหม่ให้เร็ว กล้าลอง กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา พร้อมที่จะขับเคลื่อน Innovation โดยไม่ยึดติดกับ Business Model แบบเดิมๆ

ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา นอกจากธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากปิดประเทศแล้ว กลุ่มค้าปลีกก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดด้วยเช่นกัน ซึ่งในหน่วยย่อยของกลุ่มค้าปลีกไม่ได้มีแค่ผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ หรือ ศูนย์การค้า เท่านั้น 

แต่ยังรวมไปถึงผู้ประกอบขนาดกลาง ขนาดเล็กที่พ่วงอยู่ในกลุ่มค้าปลีกนี้ด้วย ที่สำคัญยังมีธุรกิจและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มค้าปลีกอีกเป็นจำนวนมาก และจากข้อมูลของหอการค้าไทย พบว่า ในกลุ่มค้าปลีกนี้มีการจ้างงานถึง 12 ล้านคน คิดเป็น 34% ของ GDP ประเทศ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 5.6 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

หากว่ากันตามตรง กลุ่มค้าปลีกไม่ได้แค่พึ่งพากำลังซื้อภายในประเทศเท่านั้น แต่หลายธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มค้าปลีกต่างพึ่งพากำลังซื้อจากต่างประเทศด้วยส่วนหนึ่ง เราจึงได้เห็นผู้ประกอบการบางราย โดยเฉพาะรายเล็กๆ ต้องหยุดกิจการ หรือปิดกิจการในจังหวัดท่องเที่ยวหลายแห่ง รวมไปถึงย่านการค้าขายสำคัญๆ แต่ที่น่าเศร้า คือ ผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องเลิกกิจการไปจริงๆ แม้บางส่วนจะมีการปรับตัวให้ทันสถานการณ์ แต่หากสายป่านไม่ยาวจริง และเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมไม่ได้ ก็เป็นอันต้องปิดตัว

เมื่อรายเล็กเจ็บ รายใหญ่ก็เจ็บปวดไม่แพ้กัน แม้หลายคนมองว่ารายใหญ่สายป่านยาวกว่า ปรับตัวได้ง่ายกว่า แต่ในความเป็นจริงจะเป็นแบบนั้นหรือไม่ คงมีแค่ผู้นำค้าปลีกเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC และในฐานะประธานกลุ่มการค้าปลีกและบริการ หอการค้าไทย กล่าวกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน" ว่า ในมุมมองของผมเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ และโควิด-19 ถือเป็นสงครามทางธรรมชาติที่เกิดพร้อมกันทั่วโลก ยังไม่เห็นจุดจบ ที่สำคัญเราไม่รู้ว่าจะรุนแรงถึงขนาดไหน

ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเจอกับสงครามทางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะอ่อนตัว เมื่อมาเจอการระบาดของโควิด ก็กระทบหนักขึ้นไปอีก จนมารุนแรงในระลอกที่ 3 สวนทางกับประเทศอื่นๆ ที่ระบาดหนักตั้งแต่ระลอกแรก ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นในจังหวัดหลักๆ ที่เป็นหัวใจสำคัญของ GDP ของไทย และหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยิ่งทรุดตัวลงอย่างหนัก เพราะเราพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว และการส่งออกเป็นหลัก

"แต่พวกเราก็ยังมีความหวังจากความมานะพยายามของกลุ่มนักรบเสื้อขาว ทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อควบคุมการระบาดให้อยู่หมัด และดูแลคนไทยทุกคนให้ปลอดภัย รวมไปถึงความคืบหน้าในด้านการกระจายวัคซีน ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการยับยั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทำให้สามารถเปิดประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนกลับมา"

ในส่วนของกลุ่มค้าปลีกเอง ญนน์ บอกว่า พวกเราจำเป็นต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะเราพึ่งพาการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนเป็นหลัก พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สิ่งแรกที่คนรีบทำ คือ รัดเข็มขัดตัวเอง ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ลดการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่าง เพราะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น

ที่สำคัญอารมณ์ หรือ mood ในการจับจ่ายของกลุ่มคนมีกำลังซื้อก็ลดต่ำลง กลุ่มค้าปลีกจึงต้องโฟกัสและยกระดับมาตรฐานสุขอนามัย ต้องสร้างความเชื่อมั่น และความปลอดภัยให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ต้องจับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้ถูกจุด ปรับตัว และปรับ Business model ให้ถูกทาง ต้องรุกหน้าไปอยู่ในทุกแพลตฟอร์มที่เข้าถึงลูกค้า โดยไม่รอให้ลูกค้ามาหาเพียงฝ่ายเดียว ที่สำคัญต้องมองหาเทคโนโลยี นวัตกรรม และช่องทางการขายใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้ในทุกสถานการณ์ด้วย เช่น 

เตรียมความพร้อมนับถอยหลัง 120 วัน เปิดประเทศ

ญนน์ มองว่า นโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วัน ถือเป็นสัญญาณอันดี เป็นการกระตุ้นให้ทุกฝ่ายต้องตื่นตัวมากยิ่งขึ้นไปอีก เป็นการเดิมพัน พร้อมออกรบแบบดับเครื่องชน ทุกคนต้องเตรียมพร้อม ต้องเตรียมเสบียง เราจับมือผ่านกันมา 3 ระลอกแล้ว

"เราได้บทเรียนจากปีที่ผ่านมา คราวนี้ต้องสู้ให้ชนะ เห็นแล้วว่าประเทศไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติและนักลงทุนอย่างเดียวไม่ได้ ก็ต้องหาทางให้คนไทยหันมา กิน เที่ยว ใช้ ของไทย ผมอยากให้ภาครัฐพิจารณาเพิ่มเติมเรื่องการเปิด City Bubble เพื่อช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยว และนักลงทุนต่างชาติเดินทางมาเที่ยว และทำธุรกิจที่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น"

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมเมืองรองให้มีบทบาทมากขึ้นด้วย เพราะปัจจุบันประเทศไทยเรายังพึ่งพาจังหวัดหลักๆ อยู่เพียงไม่กี่จังหวัด ทำให้ GDP กระจุกตัวอยู่เพียงบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งเซ็นทรัล รีเทล เรามีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ เกือบทุกจังหวัด ทำให้เรารู้ว่าเมืองรองเหล่านี้มีศักยภาพสูงและเป็นแหล่งกำลังซื้อที่สำคัญมาก ดังนั้นเราจึงต้องเจาะลึกถึงปัญหาและร่วมกันแก้ให้ตรงจุด เพื่อให้การเปิดประเทศประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

มุมมองเศรษฐกิจไทยนับจากนี้ไปอีก 6-12 เดือน

เศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 จะเป็นเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน และไม่ชัดเจนเป็นอย่างมาก คาดว่าทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จะเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่ทั่วถึงยิ่งกว่าเดิม หรือ Uneven Recovery โดยจะมีทั้งกลุ่มที่ "ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว" และกลุ่มที่ "ยังไม่ฟื้นตัวและทรุดลงเรื่อยๆ"

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ด้านสาธารณสุขที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมาลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่ประชาชนได้รับไปแล้ว และยิ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานกันอย่างหนักมากขึ้น

ดังนั้นการเดิมพันในเรื่องการเปิดประเทศ จึงถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เพราะไม่ใช่เพียงการจัดสรรวัคซีนให้เพียงพอเท่านั้น แต่ยังต้องมีมาตรการที่เคร่งครัดในการควบคุมดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพหลังจากการเปิดเมืองเปิดประเทศด้วย

โดยต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่จะต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว และช่วยกันผลักดันภารกิจนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความหวัง เพื่อที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนกลับเข้ามา และสร้างประเทศไทยให้กลับมาผงาดเป็นสยามเมืองยิ้มอีกครั้ง

เมื่อโรค เข้ามา เปลี่ยน โลก เราต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์

ญนน์ บอกว่า โควิด-19 นับเป็น โรค ที่มาเปลี่ยน โลก ของเราไปอย่างสิ้นเชิง หลายธุรกิจต้องเผชิญผลกระทบที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่นเดียวกับกลุ่มค้าปลีกที่จะต้องปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งการให้บริการ และตอบสนองความต้องการของลูกค้า

"ต้องไม่กลัวที่จะผิดพลาด เพราะในโลกของความไม่แน่นอน ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ถ้าผิดก็ต้องเริ่มใหม่ให้เร็ว กล้าลอง กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา พร้อมใช้ Innovation โดยไม่ยึดติดกับ Business Model แบบเดิมๆ จะทำให้เราสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส และสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ๆ ได้ แต่ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ คือ ความร่วมมือ ร่วมใจกันทุกภาคส่วน ช่วยเหลือทุกคนให้รอดพ้นวิกฤติไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"

ในมุมของผม ที่เป็นผู้นำองค์กร จำเป็นต้องบริหารงานด้วยการ "เพิ่มสมาธิ" เพิ่มความนิ่ง ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรค "ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นกลัว" ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้สามารถพาองค์กรผ่านวิกฤติต่างๆ ไปได้ ที่สำคัญต้องไม่ลืมความหมายที่แท้จริงของ CEO นั่นคือ Customer Employee และ Organization ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของ CEO และเติมเต็มความเป็นผู้นำของ CEO ให้สมบูรณ์

C คือ Customer : เป็นเหมือนหัวใจ ต้อง Win Customer Heart เพราะทุกธุรกิจอยู่ได้ก็เพราะมีลูกค้า ถ้าลูกค้าไม่มาใช้บริการ ก็เหมือนหัวใจหยุดเต้น ธุรกิจก็ตาย

E คือ Employee : เป็นเหมือนเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจให้แข็งแรง ต้องดูแลเส้นเลือดทุกเส้นให้ทำหน้าที่ได้อย่างดีที่สุด เพราะพนักงานคือ ด่านหน้าที่ให้บริการลูกค้า ที่เป็นหัวใจของธุรกิจเรา

O คือ Organization : เป็นเหมือนร่างกาย ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของอวัยวะทุกส่วน ที่ทำให้ CEO สามารถเคลื่อนตัวไปข้างหน้า และทำให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน

DNA ของเซ็นทรัล รีเทล พร้อมเปลี่ยนทุกสถานการณ์

ในฐานะผู้บริหาร เซ็นทรัล รีเทล ญนน์ กล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ทุกคนย่อมมีทั้ง "ความคาดหวัง" และ "ความกลัว" เราจึงต้องสร้างความเชื่อมั่น และความเข้มแข็ง ให้กับองค์กร โดยได้สนับสนุนประกันสุขภาพ โควิด-19 ให้พนักงานทุกคน และจัดสรรวัคซีนทางเลือก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานในองค์กร พร้อมทั้งออกนโยบายการ Work from Home เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด และพัฒนาทักษะให้กับพนักงานสามารถทำงานได้ทั้งผ่านแพลตฟอร์ม Offline Online และ Omnichannel เพื่อรองรับความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้า

ขณะเดียวกันด้วย DNA ของเซ็นทรัล รีเทล ที่มีการปรับตัว อย่างรวดเร็ว ต่อทุกสถานการณ์ พร้อมเปลี่ยนโดยไม่รอให้สถานการณ์มาบังคับให้เราเปลี่ยน ทำให้เราก้าวขึ้นเป็นผู้นำ โดยใช้จุดแข็งจากแพลตฟอร์ม Omnichannel ที่เราพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และสร้างสรรค์ New Central Retail Lifestyle & Food Platform ซึ่งประกอบด้วย Central โมบายล์แพลตฟอร์ม ที่เป็น Everyday Lifestyle Application รวมทุกกลุ่มสินค้า Non-food ในเครือเซ็นทรัล รีเทลครบในที่เดียว ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการความง่าย สะดวก รวดเร็ว

ขณะเดียวกัน เรายังให้บริการ Omnichannel อาทิ ท็อปส์ ออนไลน์, ควิกคอมเมิร์ซ และขยายบริการ Personal shopper สำหรับลูกค้าทุกคน รวมถึง Chat & Shop, Call & Shop, Click & Collect, Drive Thru ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดี จนทำให้ยอดขายผ่าน Omnichannel เติบโตกว่า 2-3 เท่า ในช่วงที่ผ่านมา

เราทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และออมนิแชนแนลแพลตฟอร์มของเราอย่างเต็มที่ จนสามารถสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการทำธุรกิจค้าปลีกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังใช้ความได้เปรียบจากพอร์ตธุรกิจที่มีความหลากหลาย และความยืดหยุ่น รวมพลังห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และโรบินสัน ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในด้านไลฟ์สไตล์และแฟชั่น

พร้อมผนึกกำลังกับบริษัท ซี.โอ.แอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL ที่รู้จักกันดีในนามออฟฟิศเมท B2S และ MEB สร้างความแข็งแกร่งให้กับแพลตฟอร์ม B2B เร่งเครื่องขยายไทวัสดุ และท็อปส์ มาร์เก็ต ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และขยายสู่ประเทศเวียดนาม ทำให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ระยะยาวที่วางเอาไว้ได้

"นี่คือการวางแผนการรบที่แยบยลของเซ็นทรัล รีเทล ที่มาจากวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ที่ตรงเป้าหมาย รู้จุดอ่อน จุดแข็งตัวเอง บริหารเสบียงที่มี พร้อมจัดทัพ และเลือกแม่ทัพที่เหมาะกับสถานการณ์"

ญนน์ กล่าวอีกว่า ธุรกิจจะเติบโตได้ก็ต่อเมื่อชุมชนมีความแข็งแรง เราจึงได้ให้ยกระดับความช่วยเหลือให้แก่พาร์ตเนอร์ และ SME อย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้า และนำเสนอรายชื่อและข้อมูลของกลุ่ม SME ในเฟสแรกกว่า 6,000 ราย ที่อยู่ภายใต้เครือข่ายของ เซ็นทรัล รีเทล ทั่วประเทศ

โดยธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจกลุ่มแรกในวงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท โดยมากกว่า 70% ของ SME เหล่านี้ ยังไม่เคยเข้าถึง Soft Loan มาก่อน นอกจากนี้เรายังสั่งซื้อสินค้าจาก SME เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว พร้อมทั้งตรึงราคาสินค้า หรือ Lock price เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้ประชาชน และควบคุมสต๊อกไม่ให้สินค้าขาดตลาดอีกด้วย

บทความโดย : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์