จังหวัดแม่ฮ่องสอน ความยากจนเรื้อรังที่ส่งผลต่อการศึกษา ก้าวสำคัญสู่การสลัดพ้นความเหลื่อมล้ำ...
"จังหวัดแม่ฮ่องสอน" ซึ่งปี 2566 มีจำนวนประชากรประมาณ 266,802 คน (ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566) ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบปัญหาเรื่องความยากจนเรื้อรังมากที่สุดในประเทศไทย โดยสิ่งที่สามารถยืนยันในเรื่องนี้ได้ คือ ข้อมูลจาก "สำนักงานสถิติแห่งชาติ" ที่ระบุว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งนอกจากจะเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุดในประเทศไทยเมื่อปี 2565 ด้วยสัดส่วนคนจนสูงถึง 24.64% แล้ว ตลอดห้วงระหว่างปี 2546-2565 เป็นต้นมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดอยู่อันดับ 5 จังหวัดแรกที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดติดต่อกันเป็นเวลาเนิ่นนานถึง 19 ปีเต็มๆ!
ยิ่งไปกว่านั้น "จังหวัดแม่ฮ่องสอน" ยังเคยติดอันดับ 1 ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดยาวนานถึง 9 ปีติดต่อกัน ระหว่างปี 2549-2557 โดยในปี 2550 เคยมีสัดส่วนคนจนมากที่สุดถึง 74.40% และในปี 2551-2553 หรือ 3 ปีต่อมาก็ยังคงมีสัดส่วนคนจนที่แทบไม่ต่างกันที่ 70.39% อีกด้วย
...
ประเทศไทยและปัญหาความยากจน
จำนวนคนยากจนและเส้นแบ่งความยากจน ปี 2565 :
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดยกองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2565 ระบุว่า "เส้นความยากจน" อยู่ที่ 2,997 บาทต่อคนต่อปี (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 2,803 บาทต่อคนต่อปี)
ขณะที่รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนในภาพรวมอยู่ที่ 7,684 บาท (+7.54%จากปี 2564) โดยกลุ่มประชากรเศรษฐานะดีที่สุด (Decile 10) มีรายจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 20,288 บาทต่อคนต่อเดือน (+5.52% จากปี 2564) ส่วนกลุ่มประชากรเศรษฐานะต่ำที่สุด (Decile 1) มีรายจ่ายโดยเฉลี่ยเท่ากับ 2,461 บาทต่อคนต่อเดือน (+10.20% จากปี 2564)
ทั้งนี้ "กลุ่มคนจนมาก" ซึ่งมีจำนวน 1.04 ล้านคน (1.49% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ) คือ มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจนเกินกว่า 20%
"กลุ่มคนจนน้อย" ซึ่งมีจำนวน 2.76 ล้านคน (3.94% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ) คือ มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจนไม่เกินกว่า 20%
และ "กลุ่มคนเกือบจน" ซึ่งมีจำนวน 4.64 ล้านคน (6.64% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ) คือ มีระดับรายจ่ายเพื่อการบริโภคสูงกว่าเส้นความยากจนไม่เกิน 20%
ปัญหาความยากจนที่สร้างผลกระทบต่อการศึกษาและความเหลื่อมล้ำ :
เมื่อครอบครัวส่วนใหญ่ประสบปัญหาความยากจน การมุ่งสู่ "การศึกษา" ซึ่งถือ "โอกาสสำคัญ" สำหรับ "ก้าวผ่านความยากจน" ของสมาชิกในครอบครัวย่อมต้อง "ลดลง" ไปโดยปริยาย
อะไรคือสิ่งยืนยันได้ว่าการศึกษา สามารถช่วยให้ผู้คนสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้?
อ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจของ สศช. ในปี 2565 พบว่า โครงสร้างคนจนเมื่อจำแนกตามระดับการศึกษาสูงสุด พบว่า คนจนส่วนใหญ่มีการศึกษาสูงสุดในระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่ามากถึง 75.26% ของจำนวนคนจนทั้งหมด
รองลงมาคือ ผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมต้น 13.82% และระดับมัธยมปลาย 8.78% ส่วนผู้ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นต้นไปอยู่ที่เพียง 1.71% เท่านั้น!
ปัญหาความยากจนและโอกาสทางการศึกษา :
ปี 2565 "เด็กยากจนในวัยเรียน" (อายุ 3-21 ปี) จำนวนถึง 1.1 ล้านคน มีอัตราการเข้าเรียนสุทธิ ในระดับประถมศึกษา 89.40%, ระดับมัธยมต้น 67.50% ระดับมัธยมปลาย 50.30% ในขณะที่ระดับอุดมศึกษาลดฮวบลงมาอยู่ที่เพียง 8.7% หรือแค่ 95,700 คนเท่านั้น!
ซึ่งแตกต่างจาก กลุ่มเด็กเศรษฐานะดีที่สุด (Decile 10) ที่มีอัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี (รวม ปวส.) สูงถึง 73.60% อย่างเห็นได้ชัด!
...
แล้วเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบ คือ "ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา"
ค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นการก้าวผ่านไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ของ เด็กนักเรียนยากจนเหล่านั้น?
อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ค่าใช้จ่ายเฉพาะ "ค่าเดินทาง" คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึง 38% ของค่าใช้จ่ายในการเรียนทั้งหมด เนื่องจากครอบครัวของเด็กนักเรียนที่ยากจนมักอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทางไปเรียนหนังสือ ขณะที่ค่าเล่าเรียนอยู่ในสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 35%
อย่างไรก็ดีเมื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาขึ้นไปนั้น สัดส่วนค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาที่มากที่สุด คือ ค่าเล่าเรียนซึ่งอยู่ที่ประมาณ 56.88% และค่าเดินทางอยู่ที่ 21.94%
ค่าใช้จ่ายเพื่อการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา :
อ้างอิงข้อมูลจาก สศช. ระบุว่า ตัวเลขเฉลี่ยค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าสู่การเรียนในระดับอุดมศึกษาของไทย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 13,200-29,000 บาทต่อคน (ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดต่างๆ เช่น ค่าหอพัก ค่าประกัน ค่าเครื่องแบบนักศึกษา ค่ากิจกรรม และค่าธรรมเนียมการศึกษาภาคการศึกษาแรก)
...
และทั้งหมดนั้น ยังไม่นับรวม ค่าใช้จ่ายสำหรับ "ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา" หรือ TCAS ที่ต้องยอมรับว่ามีตัวเลขที่สูง สำหรับเด็กนักเรียนยากจนอีกด้วย เนื่องจากมีค่าสอบรายวิชากลาง 600-1,000 บาท ค่าสมัครคัดเลือกอีก 100-1,000 บาทต่อรอบ
ข้อมูลพื้นฐานและสถานการณ์ด้านการศึกษาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน :
รายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือน : 15,496 บาท
ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือน : 12,816 บาท
ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือน : 232 บาท
หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน : 123,698 บาท
จำนวนนักเรียนและครูอาจารย์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปีการศึกษา 2565 :
จำนวนนักเรียนทั้งหมด : 53,545 คน
จำนวนครูอาจารย์ทั้งหมด : 4,927 คน
เทียบสัดส่วนครูและนักเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ครู 1 คน สอนนักเรียน 11 คน
...
นักเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาปีการศึกษา 2565 :
จำนวนนักเรียนทั้งหมด 800 คน เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษารวม 310 หรือคิดเป็น 38.75%
สัดส่วนนักเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนนักเรียนจากทั่วประเทศ ปีการศึกษา 2565 :
จำนวนนักศึกษาใหม่ในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ 319,769 คน : นักเรียนจังหวัดแม่ฮ่องสอน 310 คน หรือคิดเป็น 0.10%
และปัจจุบัน จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือ จังหวัดที่มีสัดส่วนนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุด ในปีการศึกษา 2565 เป็นลำดับที่ 1 โดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 59.47%!
จังหวัดแม่ฮ่องสอน "เขตสีแดง" ทางการศึกษา :
อ้างอิงจาก "รายงานขจัดช่องว่างการเรียนรู้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรณีศึกษาการจัดการเรียนรู้ใช้ภาษาแม่เป็นฐาน" ระบุว่า ผลการการเรียนรู้ของเด็กในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากผลคะแนนสอบ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ของเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6, มัธยมศึกษาปีที่ 3, มัธยมศึกษาปีที่ 6 รั้งท้ายอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในประเทศ ส่งผลให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนถูกจัดอันดับให้อยู่ในพื้นที่ "เขตสีแดง" หรือ กลุ่มที่ได้รับการจัดอันดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในระดับต่ำ
และนี่คือผลคะแนนสอบ ONET ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6, มัธยมศึกษาปีที่ 3, มัธยมศึกษาปีที่ 6 ระหว่างปีการศึกษา 2563-2565 ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ระดับประถมศึกษาปีที่ 6
ปีการศึกษา 2563 :
ภาษาไทย : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 56.20 : แม่ฮ่องสอน 50.36 : -5.84
คณิตศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 29.99 : แม่ฮ่องสอน 25.91 : -4.08
วิทยาศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 38.78 : แม่ฮ่องสอน 35.09 : -3.69
ภาษาอังกฤษ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 43.55 : แม่ฮ่องสอน 33.65 : -9.9
ปีการศึกษา 2564 :
ภาษาไทย : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 50.38 : แม่ฮ่องสอน 46.64 : -3.74
คณิตศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 36.83 : แม่ฮ่องสอน 34.62 : -2.21
วิทยาศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 34.31 : แม่ฮ่องสอน 33.09 : -1.22
ภาษาอังกฤษ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 39.22 : แม่ฮ่องสอน 32.50 : -6.72
ปีการศึกษา 2565 :
ภาษาไทย : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 53.89 : แม่ฮ่องสอน 49.99 : -3.9
คณิตศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 28.06 : แม่ฮ่องสอน 24.65 : -3.41
วิทยาศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 39.34 : แม่ฮ่องสอน 36.31 : -3.03
ภาษาอังกฤษ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 37.62 : แม่ฮ่องสอน 31.25 : -6.37
ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3
ปีการศึกษา 2563
ภาษาไทย : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 54.29 : แม่ฮ่องสอน 50.31 : -3.98
คณิตศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 25.46 : แม่ฮ่องสอน 21.61 : -3.85
วิทยาศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 29.89 : แม่ฮ่องสอน 28.05 : -1.84
ภาษาอังกฤษ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 34.38 : แม่ฮ่องสอน 29.48 : -4.9
ปีการศึกษา 2564
ภาษาไทย : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 51.19 : แม่ฮ่องสอน 49.40 : -1.79
คณิตศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 24.47 : แม่ฮ่องสอน 21.70 : -2.77
วิทยาศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 31.45 : แม่ฮ่องสอน 29.87 : -1.58
ภาษาอังกฤษ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 31.11 : แม่ฮ่องสอน 27.47 : -3.64
ปีการศึกษา 2565
ภาษาไทย : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 52.95 : แม่ฮ่องสอน 50.89 : -2.06
คณิตศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 24.39 : แม่ฮ่องสอน 21.79 : -2.6
วิทยาศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 33.32 : แม่ฮ่องสอน 31.35 : -1.97
ภาษาอังกฤษ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 32.05 : แม่ฮ่องสอน 27.77 : -4.28
ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6
ปีการศึกษา 2563 :
ภาษาไทย : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 44.36 : แม่ฮ่องสอน 40.62 : -3.74
คณิตศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 26.04 : แม่ฮ่องสอน 20.96 : -5.08
วิทยาศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 32.68 : แม่ฮ่องสอน 29.64 : -3.04
ภาษาอังกฤษ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 29.94 : แม่ฮ่องสอน 24.83 : -5.11
ปีการศึกษา 2564 :
ภาษาไทย : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 46.40 : แม่ฮ่องสอน 46.14 : -0.26
คณิตศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 21.28 : แม่ฮ่องสอน 18.45 : -2.83
วิทยาศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 28.65 : แม่ฮ่องสอน 27.52 : -1.13
ภาษาอังกฤษ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 25.56 : แม่ฮ่องสอน 22.68 : -2.88
ปีการศึกษา 2565 :
ภาษาไทย : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 44.09 : แม่ฮ่องสอน 42.69 : -1.4
คณิตศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 21.61 : แม่ฮ่องสอน 19.80 : -1.81
วิทยาศาสตร์ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 28.08 : แม่ฮ่องสอน 26.78 : -2.02
ภาษาอังกฤษ : ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 23.44 : แม่ฮ่องสอน 21.61 : -1.83
อะไรคือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน :
อ้างอิงจาก "แผนพัฒนาการศึกษา (พ.ศ. 2562-2565) จังหวัดแม่ฮ่องสอน" และ "รายงานขจัดช่องว่างการเรียนรู้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรณีศึกษาการจัดการเรียนรู้ใช้ภาษาแม่เป็นฐาน" ระบุไปในทิศทางเดียวกัน คือ....
1. ปัญหาขาดแคลนครู
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นทิวเขาสลับซับซ้อนจึงทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากโดยเฉพาะในช่วงมรสุม อีกทั้งโรงเรียนหลายแห่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร จนกระทั่งทำให้การเข้าถึงไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต ไม่สะดวกสบาย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้อัตราการลาออกและขอโยกย้ายของครูมีสูงมาก
2. ปัญหาความหลากหลายด้านชาติพันธุ์
ประชากรส่วนหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็น กลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง, มูเซอ, ม้ง, ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถพูดหรืออ่านภาษาไทยได้ เมื่อเริ่มเข้าศึกษาในโรงเรียน จึงเป็นสาเหตุให้นักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลาง หรือแม้กระทั่งสื่อสารกับครูผู้สอนได้อย่างแท้จริง
3. ปัญหาขาดแคลนงบประมาณ
เนื่องจากโรงเรียนส่วนใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จึงทำให้ได้รับการงบประมาณเพียงเล็กน้อย อันเป็นผลจากงบประมาณโรงเรียนได้รับการจัดสรรเป็นรายหัว ด้วยเหตุนี้การศึกษาในพื้นที่ห่างไกลจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก
4. ปัญหาความยากจน
ความยากจนและการขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทำให้ครอบครัวจำนวนมากไม่สามารถส่งเสียให้บุตรหลานเล่าเรียนในระดับสูงได้
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง