สถิติ 8 ปี ชี้ ตำรวจสายปราบปราม เครียด และกดดันหนักสุด จนเป็นเหตุจบชีวิต อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อย วิเคราะห์ ปม ผกก.เบิ้ม ตัดสินใจลาโลก ....
เวลานี้ทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำลังติดตามผลคดียิง สารวัตรศิว พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. โดยมือปืนที่เป็นลูกน้องของ “กำนันนก” ประวีณ จันทร์คล้าย และคลายปมประเด็นเรื่อง “งานเลี้ยง” ที่มีเหล่าตำรวจเดินทางไปร่วมงานกว่า 20 คน กับประเด็นการช่วยเหลือ ทำลายหลักฐาน และพาหลบหนี
และในระหว่างสางปัญหาอยู่นั้น ก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่อ ผกก.เบิ้ม หรือ พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผกก.2 บก.ทล. ซึ่งถือเป็นตำรวจคนหนึ่งที่อยู่ร่วมในงาน และเป็นคนชักชวนให้ “สารวัตรศิว” เข้าร่วมงาน ได้ตัดสินใจ อัตวินิบาตกรรมตัวเอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทาง สตช. ได้ส่งให้คนมาดูแล เพราะเป็นห่วงสภาพจิตใจ กระทั่งช่วงเวลาตี 4 ได้ออกจากที่พัก ซึ่งเป็นโรงแรม กลับมาที่บ้าน ปีนรั้วเข้าบ้าน เนื่องจากประตูบ้านใช้เมจิกรีโมต ซึ่งถูกเก็บไว้ที่รถ จากนั้นก็กดรหัสประตูบ้านเข้าไป ก่อนจะมีเสียงปืนดังออกมา...
ประเด็นการตายของ ผกก.เบิ้ม แม้จะมีข้อสงสัยในหลายประเด็นที่รอการพิสูจน์ แต่ในเบื้องต้น ทางโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงว่า คดีนี้เป็นการอัตวินิบาตกรรมตนเองจากความเครียด ในคดีที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียลูกน้อง และความกดดันจากความรับผิดชอบ
การก่อเหตุสลดลักษณะนี้กับวงการกากี ตำรวจไทยนั้น เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีลักษณะความเครียดที่แตกต่างกัน ส่วนจะมีเหตุผลอย่างไรนั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวมข้อมูล ทั้งการสัมภาษณ์ และ สถิติ มาถอดบทเรียนเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา
...
สถิติ 8 ปี ตำรวจลาโลกเฉลี่ย 32.5 ศพ/ปี
จากข้อมูลสำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เก็บไว้ในเว็บไซต์ พบว่า สถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2556 - 2563 (เต็มปี) และปี 64 เพียง 2 เดือน พบว่ามีกำลังพลที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เสียชีวิตรวม 260 ศพ และรวมปี 2564 จำนวน 2 เดือน อีก 2 นาย เป็น 262 ศพ
ค่าเฉลี่ย 8 ปี (2556-2563) พบว่า มีตำรวจตัดสินใจก่อเหตุสลด ค่าเฉลี่ยต่อปี 32.5 ศพ อายุเฉลี่ยคือ 44 ปี แบ่งเป็น ตำรวจประทวน 173 ศพ สัญญาบัตร 87 ศพ โดยมี 5 สาเหตุดังนี้ คือ 1. ปัญหาส่วนตัว 60 ศพ, 2. ปัญหาครอบครัว 40 ศพ, 3. ไม่ระบุสาเหตุ 29 ศพ, 4. ปัญหาสุขภาพ 19 ศพ และ 5. จากปัญหาหนี้สิน 15 ศพ
สิ่งที่น่าสนใจ คือ สายงานที่มีตำรวจเสียชีวิต พบว่าเกินครึ่งมาจากสายงาน “ป้องกันและปราบปราม” คือ 177 ศพ รองลงมา คือ สืบสวน 24 ศพ, สอบสวน 18 ศพ อำนวยการ 16 ศพ และ จราจร 16 ศพ
สำหรับสาเหตุหลักมาจาก ปัญหาส่วนตัว, ครอบครัว, หนี้สิน และ สุขภาพ โดยมีบางส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาหน้าที่การงาน ความเครียด ซึมเศร้า หรือแม้แต่อาการทางประสาท ก็มี...
เหตุซ้ำรอย กรณี ผู้กำกับ “เบิ้ม” ความเครียด กดดัน จนตัดสินใจจากลา
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยกับ ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล มุขแจ้ง อดีตหัวหน้าอาจารย์วิชาอาชญาวิทยา โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน กล่าวถึงประเด็นเรื่องความเครียด และการตัดสินใจจบชีวิต ผกก.เบิ้ม ว่า เขาคือ นักเรียนนายร้อย รุ่น 55 ปกติแล้ว คนที่เรียนโรงเรียนนายร้อย จะมีความรักพี่รักน้อง ผูกพันกันในกลุ่มพี่น้องมาก และคอยช่วยเหลือกันในเรื่องส่วนตัวและการงาน
“เท่าที่ผมทราบ ผกก.เบิ้ม เป็นคนมีน้ำใจ ช่วยเหลือแก้ทุกข์ร้อนให้เพื่อนๆ ตลอด และจากประวัติก็พบว่ามีการฝึกอบรม “อรินทราช” ซึ่งถือเป็นหลักสูตรขั้นสูงในเรื่องยุทธวิธี ถือว่าเป็นตำรวจไม่ธรรมดา และเคยเป็นผู้นำหน่วยด้วย ฉะนั้นการเป็น “ผู้นำ” จะรู้สึกรับผิดชอบกับลูกน้อง เหมือนกับนักรบ หากผิดพลาดก็ต้องยอม”
และสิ่งสำคัญคือ พอเกิดเหตุสลดกับ สารวัตรศิว แล้ว สังคมและฝ่ายต่างๆ กดดัน บีบคั้นเขา โดยเฉพาะการ “พิพากษา” ของสังคม ทำให้เขารู้สึกเครียด และที่สำคัญคือ เรื่องจิตสำนึก ในประเด็นที่พาน้องไปตาย นี่แหละ อาจจะเป็นสาเหตุให้จบลงแบบนั้น
...
สายปราบปรามกดดันหนัก พนักงานสอบสวนสุดเครียด
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล มุขแจ้ง อดีตหัวหน้าอาจารย์วิชาอาชญาวิทยา โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน อธิบายปัญหานี้ว่า อาชีพตำรวจ มีความแตกต่างจากอาชีพอื่นๆ คือ การเป็นตำรวจ 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาเข้าออกงาน ถึงแม้ว่าเราไม่ได้อยู่ในเครื่องแบบ จะอยู่ที่ไหนก็ตาม ความเป็นตำรวจมันก็ติดตัวของเราอยู่ ฉะนั้น หน้าที่ของตำรวจ คือ การมีจิตสำนึกความเป็นตำรวจตลอดเวลา หากพบเห็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า จิตวิญญาณการเป็นตำรวจก็ต้องพร้อมในการทำหน้าที่...
อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจฯ มองว่า ตำรวจบางคนทำงานหนักมาก บางสายงานมีความเสี่ยงสูง ต้องปะทะคนร้าย จับกุม คุมขัง และที่สำคัญคืออาชีพตำรวจ ถูกคาดหวังว่าต้องเป็นคนดี และต้องเป็นคนดี เพราะเป็นผู้รักษากฎหมาย ต้องมีจิตสำนึกที่ดีมีมาตรฐานกว่าอาชีพอื่น เพราะถือเป็นอาชีพที่เป็นต้นน้ำ หรือสายธารแห่งกระบวนการยุติธรรม ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในสังคม
“หากต้นน้ำบิดเบี้ยว ทุกอย่างก็จะบิดเบี้ยวไปหมด ฉะนั้น อาชีพนี้จึงมีความรับผิดชอบมาก มีความกดดันและความเครียดสูง และจากข้อมูลก็พบว่า อาชีพนี้มีสถิติทำร้ายตัวเองสำเร็จมากกว่าอาชีพอื่น เนื่องจากมีอาวุธในมือ แต่สำหรับตำรวจ คือ เกือบ 100% ประกอบกับการได้พบความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้มันดูดซับเข้าไปแบบไม่รู้ตัว จึงกลายเป็นความเครียดสะสม วันหนึ่งจึงระเบิดด้วยการทำร้ายตัวเอง”
...
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล กล่าวถึงสายตำรวจที่ทำร้ายตัวเองมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขที่ได้มา คือ สายป้องกันและปราบปราม เพราะความเครียดในระหว่างทำคดี การไล่จับกุม การปะทะกับคนร้าย หากบางงานอยู่ในสภาวะกดดันหนัก ก็ทำให้เกิดความเครียดเป็นอย่างมาก ประกอบกับการมีอาวุธ และเชี่ยวชาญการใช้อาวุธด้วย
รองลงมาคือ พนักงานสอบสวน สายนี้ถือว่าสะสมความเครียดไม่แพ้สายป้องกันและปราบปรามเลย เพราะว่า พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ถูกกล่าวหา กระทำผิดหรือไม่...
ภาระการทำคดีแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย กระบวนการต่างๆ คล้ายกับต้องทำงาน “คนเดียว” แตกต่างกับเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรม เช่น อัยการ ศาล หรือแม้แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งนั่นเขาทำงานเป็นทีม
“พนักงานสอบสวนต้องเผชิญหน้ากับทุกฝ่าย ทั้งผู้เสียหาย ญาติผู้เสียหาย คนร้าย ญาติคนร้าย รวมไปถึงผู้บังคับบัญชา และที่สำคัญคือ “สังคมกับความคาดหวัง ซึ่ง 2 อย่างสุดท้าย คือ สิ่งที่เป็นการกดดันหนักที่สุด ซึ่งบางคดี “ข้อเท็จจริง” เป็นอย่างหนึ่ง แต่สังคมเชื่ออีกอย่าง ก็ทำให้เกิดความเครียด โดยนี่ยังไม่รวมปัญหาทั้งจากงานและครอบครัว ในชีวิตประจำวันด้วย”
...
สายปราบปรามมีความกดดันในการทำงาน ส่วนพนักงานสอบสวน คือ งานละเอียด จะพลาดไม่ได้ เพราะหากพลาดอะไรไป มันจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย...
“ในฐานะที่เคยเป็นรองนายกสมาคมพนักงานสอบสวน ทำงานมา 10 ปี เรารับรู้ถึงความทุกข์ยากและลำบาก ของพนักงานสอบสวน โดยครั้งหนึ่งเคยไปที่ จ.สตูล ไปเจอพนักงานสอบสวนคนหนึ่งตัดสินใจลาออก โดยให้เหตุผลว่า “ขอเวลาได้นอนหลับ” คือ ทำงานแบบไม่มีเวลาพัก จนต้องขอลาออกเพื่อไปนอน ซึ่งสิ่งที่สะท้อนมาคือ จำนวนพนักงานสอบสวน มันมีน้อยกว่าปริมาณงาน นี่คือความเครียดกดดัน”
เมื่อถามว่า สตช. รู้ปัญหานี้หรือไม่ และทำไมไม่แก้ไข ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล บอกว่า รู้ดี แต่ที่แก้ไม่ได้เพราะงบไม่เพียงพอ
สามารถแก้ปัญหาด้วยการจัดสรรกำลังพลได้ไหม ทีมข่าวฯ ถาม และ อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อย ตอบว่า สตช.พยายามเอาคนที่จบนิติศาสตร์มาทำงานสอบสวน แต่บางครั้งก็เจอปัญหา คือ บางคนไม่มีความรู้และความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ หรือ พิมพ์ดีด
นี่คือเรื่องจริง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า เคยมีเหตุตำรวจยศ “ร้อยตำรวจเอก” จบชีวิตตัวเอง เพราะถูกเรียกให้มาทำงานสอบสวน เขาบอกว่าเขาทำไม่ได้
แนวทางสางปัญหา สกัดตำรวจ “จบชีวิตตัวเอง”
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล ระบุถึงแนวทางการแก้ปัญหา กับประเด็นนี้ว่า สิ่งสำคัญ คือ ความใส่ใจของผู้บังคับบัญชา ในการดูแลลูกน้อง คอยดูว่าคนไหนมีความเครียดสะสม หรือเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ต้องรีบส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ เพราะปัจจุบันเขามีศูนย์ให้คำปรึกษาเฉพาะทางอยู่แล้ว โดยเฉพาะความเครียดและซึมเศร้า โดยเฉพาะบุคคลที่จะมีแนวโน้มในการจบชีวิตตัวเอง โดยมีจิตแพทย์ดูแล
เมื่อถามว่า มีข้อมูลอีกด้าน คือ เหล่าตำรวจที่เข้าไปปรึกษา มักไม่ให้ข้อมูลจริง ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล กล่าวว่า ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมรับ แต่แบบนี้ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งไป ซึ่งในความเป็นจริง ควรมีโครงการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจทุกปี โดยเฉพาะตำรวจที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน และตำรวจสายปราบปราม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอาวุธ
สิ่งสำคัญคือ ต้องมีเวลาให้เขาพักผ่อนบ้าง ในรอบ 3 หรือ 6 เดือนครั้งก็ได้ ซึ่งอาชีพตำรวจ บางครั้งถูกห้ามป่วย ห้ามลา โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ซึ่งถือเป็นเรื่องความขัดแย้งกับวิถีมนุษย์
แต่ความเครียดบางอย่างแก้ยาก เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อยบอกว่า มันคือ ปัญหาอยู่ที่หน่วยงาน เรื่องนี้ต้นสังกัดก็ต้องแก้ให้ได้
“ผมย้ำเสมอว่าสังคมคาดหวังกับตำรวจว่าต้องเป็นคนดี มีจรรยาบรรณสูงกว่าอาชีพอื่น แต่สังคมก็ไม่ได้มองว่า การตอบแทนของตำรวจนั้น มันคุ้มค่าหรือไม่ เป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ ทุกวันนี้เราลงทุนกับตำรวจน้อย แต่คาดหวังสูง ผมเชื่อว่าตำรวจทุกคนไม่มีใครอยากจะทุจริตคอร์รัปชัน หรืออยากเป็นลูกน้องผู้มีอิทธิพลของใคร ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องค่าครองชีพ มีเส้นทางในการเติบโต ในหน้าที่การงานที่ชัดเจน ก็จะทำให้ภาพตำรวจดีกว่านี้ บางคนทำดีไม่ได้ดี บางคนเขาไม่มีความหวังในสายอาชีพ ดังนั้น ขอแค่ความเป็นอยู่ที่ดี สามารถรักษาเกียรติ ศักดิ์ศรี ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของตัวเองได้ มันก็น่าจะดีกว่านี้...” อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านบทความที่น่าสนใจ