สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. 250 คน กำลังถูกจับตามองว่า จะร่วมชี้ชะตาอนาคตประเทศไทยอย่างไร เมื่อถึงวันที่เดินเข้าสู่รัฐสภา เพื่อร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ชุดใหม่จำนวน 500 คน ร่วมกันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ ด้วยคะแนนเสียงที่ต้องการ 376
เสียง 376 เสียง นับเป็นจำนวนเพียงแค่กึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 750 คน น่าจะราบรื่น และง่ายในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แต่เมื่อเป็นพรรคก้าวไกล ที่กำลังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีกลับไม่ง่าย เพราะไม่รู้ว่า ส.ว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งในยุคสมัยรัฐบาล คสช.จะโหวตเลือก พิธา ด้วยหรือไม่
นี่คืออำนาจหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ นอกเหนือจากทำหน้าที่นิติบัญญัติ พิจารณาผ่านหรือไม่ผ่านกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ก่อนจะถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เรามาทบทวนกันก่อนว่า เงินงบประมาณที่จ้าง ส.ว.ทั้ง 250 คน และคณะทำงาน ที่ทำงานให้ประเทศชาตินั้นคิดเป็นเท่าไร และหากนำเงินเหล่านั้นมาทำอย่างอื่น เช่น การจ้างนักศึกษาจบใหม่เพื่อเข้าทำงานในองค์กรต่างๆ ในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 15,000 บาท จะจ้างพนักงานได้กี่คน
...
เริ่มจากดูเงินรายได้ที่ ส.ว.ได้รับในแต่ละเดือนรวม 113,560 บาท ยังไม่รวมส่วนที่เป็นเบี้ยประชุมในคณะกรรมาธิการ เบี้ยเลี้ยงในกรณีที่เดินทางไปนอกสถานที่ และสวัสดิการอื่นๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล
นอกจากนี้ ยังมีเงินงบประมาณที่ต้องจ่ายให้ทีมงานของ ส.ว. ที่ ส.ว.แต่ละคนสามารถจ้างได้ 8 คน รวมเดือนละ 129,000 บาท โดยบทสรุปพบว่า ส.ว. 1 คน ได้เงินงบประมาณไปเป็นรายได้ของตัวเอง และคณะทำงาน เดือนละ 242,560 บาท เมื่อรวม 250 คน เท่ากับว่าต้องใช้งบประมาณสำหรับ ส.ว.เดือนละ 60,640,000 บาท ซึ่งหากนำเงินจำนวนนี้มาจ้างนักศึกษาจบใหม่เพื่อเข้าทำงานในองค์กรต่างๆ ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ 15,000 บาท ต่อเดือน จะจ้างพนักงานได้ถึง 4,043 คน
บทสรุปสุดท้าย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ค.2562-พ.ค. 2566 ประเทศชาติใช้งบจ้าง ส.ว. 250 คน และคณะทำงาน รวมแล้วถึง 2,910 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม เปิดข้อมูลคณะทำงาน ส.ว. แต่งตั้ง รวมรายรับนับพันล้าน