ปิดสวิตช์ 250 ส.ว. เป็นคำที่ถูกพูดถึงในวงกว้างตั้งแต่การเลือกตั้ง 2562 เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งนั้น ส.ว. หรือสมาชิกวุฒิสภา มีสิทธิ์ในการเลือกตัวนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากการเป็นตัวแทนของประชาชน
จากประเด็นดังกล่าวซึ่งทำให้ ส.ว. มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีกลายเป็นที่ถกเถียงของสังคม จนทำให้ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง 2562 ไปจนถึงรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ เรื่อยถึงการเลือกตั้ง 2566 การปิดสวิตช์ ส.ว. ยังเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งมีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30
ก่อนหน้าที่จะพูดถึงการปิดสวิตช์ ส.ว. จำเป็นต้องเริ่มต้นถึงที่มาของ 250 ส.ว. เสียก่อน
ที่มาของ 250 ส.ว.
สมาชิกวุฒิสภา ที่กำลังดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน เป็นวุฒิสภาชุดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นหลังรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร
สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ถูกระบุในรัฐธรรมนูญว่าจะมีสมาชิกทั้งหมด 250 คน เพียงแต่ ส.ว.ที่ว่านี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการสรรหาตามบทเฉพาะกาลมาตรา 269 ซึ่งวุฒิสภาชุดดังกล่าวนี้ มีอำนาจเพิ่มเติมตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญให้ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สมาชิก 250 ส.ว. มีที่มาจาก 3 ช่องทางหลัก นั่นคือ 6 คน ได้เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ช่องทางที่สองมาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จำนวน 194 คน และช่องทางสุดท้ายมาจากการสรรหาตามกลุ่มอาชีพ 10 อาชีพ อีก 50 คน แต่ทั้งช่องทางที่สอง และช่องทางที่สาม ต่างก็มาจากการคัดเลือกโดย คสช.
...
250 ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี
บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 272 ได้ให้อำนาจแก่สมาชิกวุฒิสภา เลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 500 คน เมื่อรวมกับ 250 ส.ว. นั่นหมายความว่า ในที่ประชุมร่วมของ ส.ส. และ ส.ว. มีสมาชิกรวมกันทั้งสิ้น 750 คน
การจะได้ตัวนายกรัฐมนตรี ตามที่ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ บุคคลที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากที่ประชุมร่วม ส.ส. และ ส.ว. มากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือก็คือ 376 เสียง
จุดที่น่าสนใจก็คือ ส.ว.เป็นกระบวนการที่ไม่ได้จากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งตรงข้ามกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 หรือ 14 พฤษภาคม 2566 โดยจำนวนของ ส.ว. 250 คน ถือเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. นั่นหมายความว่า 250 ส.ว. มีเสียงมากกว่าพรรคการเมืองของทุกพรรค ไม่เว้นแม้แต่ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในปี 2566 ด้วยคะแนนเสียง 152 ที่นั่ง
นอกจากนี้ ในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. มีกรอบระยะเวลาถึง 5 ปี ซึ่งคร่อมวาระในการเป็นส.ส. ที่มีอยู่ด้วยกัน 4 ปี
ถึงกระนั้นควรต้องกล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นวันออกเสียงประชามติว่า เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ กับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ แต่ในบัตรที่เราต้องกานั้นยังมีคำถามพ่วงอีก 1 คำถาม คือ
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
สุดท้ายผลการโหวตประชามติ จบลงที่ประชาชนส่วนใหญ่ 15.13 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 58.07 เปอร์เซ็นต์ เห็นชอบที่จะให้ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีทั้งหมด 10.9 ล้านเสียง คิดเป็น 41.93 เปอร์เซ็นต์
แต่สิ่งที่ต้องกล่าวเพิ่มเติม นั่นคือ ในช่วงการรณรงค์ทำประชามติ ในเวลานั้นบรรยากาศทางการเมืองอยู่ในสภาวะอึมครึม ฝ่ายที่รณรงค์ไม่เห็นด้วยกับประชามติ ถูกจับกุมและปิดกั้นการรณรงค์เป็นจำนวนมาก
อำนาจของ ส.ว.
นอกจากการเลือกตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว 250 ส.ว. ยังมีอำนาจพิจารณากฎหมายที่เห็นว่าสำคัญ รวมถึงการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีด้วยกัน 11 ด้าน ตามที่ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้แก่ การเมือง การศึกษา กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ การถือครองที่ดิน และระบบหลักประกันสุขภาพ
สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ ถ้าสมาชิกวุฒิสภา 50 คนขึ้นไปเห็นว่า กฎหมายใดที่คณะรัฐมนตรีไม่ได้ระบุว่าเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ แต่ ส.ว. เห็นว่าเกี่ยวข้อง สามารถยื่นให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยได้ ซึ่งหากเกี่ยวข้องส.ว.ก็จะสามารถร่วมพิจารณากฎหมายดังกล่าวได้เช่นกัน
...
ปิดสวิตช์ ส.ว.
สาเหตุที่ทำให้เกิดการเสนอให้ปิดสวิตช์ 250 ส.ว. เนื่องจากว่า พรรคการเมือง และภาคประชาชน เห็นควรว่า อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ 250 ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เป็นปมใหญ่ที่ขัดขวางกระบวนการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยของไทย เนื่องจากการเลือกตั้งหลังวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ส.ว. ยังมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะครบระยะเวลา 5 ปี ตามบทเฉพาะกาล
กระบวนการปิดสวิตช์ ส.ว.ได้เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนหน้าการเลือกตั้ง 2566 แล้ว โดยมีการเสนอให้ปิดสวิตช์ 250 ส.ว. ด้วยวิธีการรัฐสภาเพื่อตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ประสบความสำเร็จทุกครั้งไปที่มีการเสนอแก้การตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา
เมื่อการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สิ้นสุดลง พรรคก้าวไกลเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้ง พร้อมกับเตรียมจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม รวมทั้งสิ้น 310 เสียง
...
ถ้าหากเป็นการจับขั้วรัฐบาลในสภาวะปกติ 310 เสียงถือเป็นเสียงข้างมาก และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว แต่ด้วยความที่ ประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้นอกจากจะต้องได้เสียงกึ่งหนึ่งแล้วยังต้องได้เสียง ส.ว. อย่างน้อยหนึ่งในสามหรือ 84 เสียงด้วย นั่นหมายความว่า รัฐบาลที่จัดตั้งโดยพรรคก้าวไกล ยังต้องการเสียงจาก ส.ว. อีกอย่างน้อย 66 เสียง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมาการทำงานของ ส.ว. ไม่เคยปิดสวิตช์ตัวเองมากถึง 66 เสียงมาก่อน
อย่างไรก็ดี การปิดสวิตช์ ส.ว. ยังมีอีกหนึ่งช่องทาง นั่นคือ การให้ทุกพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงจากประชาชนทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็น พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคใหม่ พรรคท้องที่ไทย พรรคสังคมใหม่ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ยกมือให้การรับรองรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเสนอของพรรคการเมืองที่สามารถรวมเสียง ส.ส.ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในที่นี้ก็คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
สำหรับวาระของ ส.ว.ชุดปัจจุบันจะหมดลงในเดือนพฤษภาคม 2567