พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศพร้อมเป็นนายกฯ หลังรวมเสียงสนับสนุนได้ 309 เสียง แต่การปิดสวิตช์ ส.ว. ก้าวขึ้นเป็นนายกฯ ต้องมี 376 เสียง ที่ต้องพยายามโน้มน้าวกลุ่มอำนาจเดิม ให้ฟังเสียงประชาชน จากผลการเลือกตั้ง
รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์กับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ผลเลือกตั้งไม่เป็นทางการ ชี้ไปในทิศทางที่ฝ่ายประชาธิปไตยแลนด์สไลด์ร่วมกัน โดยคะแนนนิยมแบบบัญชีรายชื่อสูงถึง 26 ล้านเสียง ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมรัฐบาลเดิมมีอยู่ 7 ล้านเสียง แสดงให้เห็นถึงคะแนนเสียงจากประชาชนที่แตกต่างกันกว่า 3 เท่าตัว และบ่งบอกว่าประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนใช้บัตรเลือกตั้งบอกเจตนารมณ์ของตนเองอย่างชัดเจน
“การเลือกตั้งกว่า 40 ปี ที่ผ่านมา ไม่เคยเห็นปรากฏการณ์ของผลเลือกตั้งที่ได้รับการสนับสนุนอย่างถล่มทลายขนาดนี้ สภาวะนี้แสดงให้เห็นว่า คนในสังคมไทย มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารบนโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพราะ 3 ปี ของการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ประชาชนรากหญ้าเข้าถึงแอปพลิเคชันในมือถือมากขึ้น จนเกิดสถานการณ์ภาวะตาสว่างทั้งแผ่นดิน”
...
โดยเฉพาะพรรคของสองลุง ในเขตเลือกตั้งแบบ ส.ส. ได้คะแนนประมาณ 7.6 ล้านเสียง แต่บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ได้เพียง 5 แสนเสียง จาก 4 ล้านกว่าเสียงของผู้ลงคะแนน
“คะแนนการเลือกตั้งสะท้อนว่า ประชาชนอาจปฏิเสธที่จะไม่เลือก ส.ส. ในพื้นที่ไม่ได้ แต่สามารถปฏิเสธไม่ให้คะแนนกับพรรคการเมืองได้ ตัวอย่างผลคะแนนแบบไม่เป็นทางการของพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนเสียงจาก ส.ส. เขต 2.26 ล้าน เฉลี่ยน้อยกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ แต่พอมาเป็นความนิยมของพรรค ได้คะแนนเสียงเพียง 9 แสน โดยเฉพาะฐานเสียงทางภาคใต้ อย่าง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฐานเสียงเดิมของกลุ่มอนุรักษนิยม เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม”
ส.ว. ต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่
รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า 376 เสียง เป็นตัวเลขที่จะทำให้ “พิธา” ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ท่ามกลางความท้าทายของ ส.ว. ฝั่งอนุรักษนิยม เพราะกระบวนการลงมติเลือกนายกฯ เป็นเกมที่ คสช. วางไว้ ต่างจากหลักการของประชาธิปไตย ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ที่จะคัดเลือกตามกลไกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ซึ่งในอดีตถ้าพรรคไหนได้คะแนนมากสุด จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเป็นนายกฯ แต่กลไกการคัดเลือกนายกฯ ตอนนี้ กลับกลายเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจาก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง
“การเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการ ตัวแทนพรรคก้าวไกล และเพื่อไทย ต่างออกมาแสดงความยอมรับในผลคะแนน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในระบบประชาธิปไตย ในการยอมรับซึ่งกันและกัน ว่าถ้าใครได้คะแนนสูงสุด ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ระบบที่ คสช. ได้วางไว้ ระบุว่า ต้องนำเสียงของ ส.ว. 250 คน มารวมกับคะแนนของ ส.ส. 500 คน หากได้คะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด 750 เสียง คือ 376 เสียง ถึงจะได้เป็นนายกฯ สิ่งนี้ทำให้ ส.ว. กลายเป็นรัฐทหารขนาดใหญ่ ที่ได้รับชัยชนะโดยไม่ต้องเลือกตั้ง และยังครองอำนาจอยู่”
สิ่งนี้ทำให้ต้องมาลุ้นว่า ถ้า ส.ว. หันมาโหวตให้ บิ๊กตู่ เป็นนายกฯ ต่อ แม้เป็นเสียงข้างน้อย แต่เมื่อมารวมกับคะแนนของพรรคฝั่งรัฐบาลเดิมกับกลุ่ม ส.ว. ที่ฝักฝ่ายทหาร หากได้เกิน 376 เสียง สามารถจัดตั้งรัฐบาลตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้ฝั่งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะจัดตั้งได้ แต่การทำงานเป็นเรื่องของ ส.ส. ซึ่งทำให้การทำงานยากลำบาก เพราะไม่มี ส.ว. คอยช่วยเหลือ
หากคุณประยุทธ์ หรือคุณประวิตรจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ถือว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากเจตจำนงตามมติของประชาชน จึงต้องมามองในหลักคิดตามแนวทางประชาธิปไตย ว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
“การที่ประเทศไทย จะเดินไปข้างหน้าได้ ส.ว. พึงละอายใจ ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมติของประชาชน เพราะผลจากโพลเลือกตั้ง ที่ถามผู้ถูกสำรวจว่า ควรให้ ส.ว. เลือกนายกฯ แบบไหน โดยความเห็นส่วนใหญ่บอกว่า ควรให้ ส.ว. เลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมากของ ส.ส. นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ประชาชนมีความคิดเห็นตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ถึงบทบาทของ ส.ว. ที่ควรกระทำหลังเลือกตั้ง”.
...