คุยกับตัวแทนคนต่าง GENs เปิดมุมมอง Work Life Balance และรัฐบาลในฝัน พร้อมแนวคิดที่อยากส่งต่อและไม่อยากส่งต่อในสังคมไทย

ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ข้อมูลจากสำนักบริการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เผยว่า 'ประเทศไทย' มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 13,064,929 คน คิดเป็น 20.17% ของประชากรทั้งประเทศ และมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 8,901,145 คน คิดเป็น 14% ของประชากรโดยรวม ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ไทยแลนด์ได้ก้าวเข้าสู่ 'สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์' (Aged Society) 

อย่างไรก็ตาม ถึงจะได้ชื่อว่า 'สังคมผู้สูงอายุ' แต่เมืองไทยยังมีผู้คนอีกหลากหลายช่วงวัย ซึ่งแต่ละเจเนอเรชันก็มีแนวคิดในวิถีของตน เป็นผลให้คนในสังคมมีทัศนคติที่ต่างกันออกไป และแม้ว่าเราจะรู้กันอยู่แล้วว่านั่นเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลายต่อหลายครั้ง สิ่งนั้นทำให้เกิด ช่องว่างระหว่างวัย หรือ Generation Gap โดยชนวนหลักมาจากขาดการสื่อสาร และความเข้าใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคม

จากข้อน่ากังวลดังกล่าว 'ไทยรัฐกรุ๊ป' ในฐานะเครือบริษัทด้านการสื่อสารเพื่อมวลชน จึงพยายามและมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนให้สังคมไทย เกิดความเข้าใจอันดีร่วมกัน จึงได้เปิดพื้นที่เสวนา 'THAIRATH FORUM 2024' ในหัวข้อ "Talk of the GENs : เปิดเวทีความคิด หลากหลายมุมมองของคนหลายเจน" ชวนคนต่างวัยมานั่งคุยแลกเปลี่ยนความคิด เพราะไทยรัฐกรุ๊ปเชื่อมั่นว่า "ถึงเราจะต่าง Gen แต่ไม่ต่างใจ"

...

ทีมข่าวฯ มีโอกาสได้เข้าร่วมฟังเสวนาอันน่าสนใจนี้ เมื่อเข้าถึงบริเวณพื้นที่จัดงาน บรรยากาศเต็มไปด้วยความครึกครื้นและรอยยิ้ม แบ็กดรอปสีสันสดใสวางเด่นเป็นสง่า สื่อถึงความหลากหลายของคนต่างเจนได้เป็นอย่างดี

ณ จุดนั้นเอง! ที่เราได้พบกับสปีกเกอร์ตัวท็อปของคนแต่ละเจน เริ่มต้นด้วยนักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง ผู้เป็นตัวแทนของ Baby Boomer 'คุณตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์' ตามมาติดๆ กับตัวแทน Gen X 'คุณวู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา' ครีเอเตอร์และพิธีกรชื่อดังระดับประเทศ! ไม่หมดเพียงเท่านั้น ยังมี 'คุณโบ๊ท พชร อารยะการกุล' CEO บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทน Gen Y และคนสุดท้าย สาวสวยร่างสูงดีกรีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2564 'คุณแอนชิลี สก๊อต-เคมมิส' ตัวแทน Gen Z คนรุ่นใหม่ไฟแรง!

เอาละครับคุณผู้อ่าน เดี๋ยวเราจะพาไปดูบทเสวนาบางส่วนภายในงานครั้งนี้กัน เป็นที่น่าเสียดายว่าเราไม่อาจสามารถยกความสนุกและสีสันมาได้ทั้งหมด จึงต้องขอนำบางส่วนอันเข้มข้นมาเล่าสู่กันฟัง อย่างไรก็ดี สามารถติดตามคลิปย้อนหลังได้ที่ทุกแพลตฟอร์มของไทยรัฐ!!!

Work Life Balance VS Work ไร้ Balance : 

คำว่า 'Work Life Balance' เป็นแนวคิดที่พูดถึงเรื่องความสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งถือเป็นคำยอดฮิตที่ช่วงที่ผ่านมา แนวคิดนี้ทำให้คนวัยทำงานและคนรุ่นใหม่บางส่วน เริ่มกลับมาฉุกคิดและตั้งคำถามว่า ชีวิตของพวกเขามีความสมดุลในการทำงานมากแค่ไหน "นี่ฉันทำงานหนักไปหรือเปล่านะ?"

พิธีกรเวทีเสวนาส่งคำถามไปยัง 'คุณตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์' ว่าคิดเห็นอย่างไรกับคำดังกล่าว คอลัมนิสต์ชื่อดัง แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเหมือนแนวคิดของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากการทำงานในอดีตจะเน้น 'ทำงานหนัก' และเมื่อได้ทำงานที่บริษัทใดแล้ว จะคงอยู่ที่นั่นระยะยาว 

คุณตุ้ม เล่าชีวิตการทำงานให้ฟังว่า อย่างตัวผมเองเริ่มต้นจากการทำข่าว ใช้ชีวิตอยู่กับงานแทบจะ 24 ชั่วโมง ทั้งกินข้าว พูดคุย ออกไปสังสรรค์ก็ยังกลับมาทำงาน แม้จะดูหนักแต่ช่วง 20 ถึง 30 ปีแรกเป็นการทำงานที่สนุกมาก "พอดีว่าเราสนุกกับสิ่งที่ทำ เราเลยไม่ได้อยากไปหาอย่างอื่นทำ"

"ผมมองว่า Work Life Balance เป็นเพียงคำนิยามและการให้คุณค่าของชีวิตที่ต่างออกไป เป็นแนวคิดที่ผมมองว่าโอเคนะ เพราะเขาแค่มองว่า ไม่รู้ชีวิตจะไปจบลงที่ตอนไหน ถ้าเป็นคนรุ่นก่อนก็คงทำงานหนักแล้วเลือกสบายตอนเกษียณ แต่คนรุ่นใหม่เขาเลือกที่จะบาลานซ์ตั้งแต่วันนี้"

คอลัมนิสต์ชื่อดัง เสริมว่า ชอบแนวคิดนี้และมันทำให้ฉุกคิดอะไรบางอย่างได้ เพราะส่วนตัวเคยเห็นคนตั้งคำถามว่า "คนรุ่นใหม่ทำไมไม่ทน" ซึ่งก็ได้รับคำตอบที่เป็นเหมือนคำถามกลับว่า "ทำไมต้องทน"

ฝั่งของ CEO บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตัวแทน Gen Y มองว่า คนรุ่นตนเป็นช่วงรอยต่อแห่งการเปลี่ยนผ่าน ทำให้เกิดการผสมกันระหว่าง Work Hard Play Hard และ Work Life Balance เรื่องการย้ายงานก็อาจจะไม่ได้ย้ายบ่อย แต่จะมีการตั้งเป้าหมายชัดเจนว่า "จะอยู่ที่ไหนกี่ปีๆ" ส่วนแนวคิดออมเงินเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณ ก็เปลี่ยนเป็นออมเงินเพื่อต่อยอดสู่การลงทุน

...

พายุโซเชียล กับ สังคมไทยที่ขับเคลื่อนด้วยการด่า? : 

"ประเทศไทยนี่ขับเคลื่อนด้วยการด่าจริงๆ" หนึ่งในประโยคยอดฮิต ที่คุณผู้อ่านอาจเคยได้ยินหรือเห็นผ่านตากันมา ก็ถูกนำมาสอบถามความคิดเห็นจากคนต่างเจนบนเวทีเสวนานี้ว่า พวกเขาคิดเห็นกันอย่างไร!?

'คุณตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์' มองว่า การด่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการด่ามีมาตั้งแต่ยุคที่ยังไร้ซึ่งโซเชียลมีเดีย เพียงแต่ว่า ในอดีตการด่าหรือพูดคุยนั้น จะคุยกันแค่ไม่กี่คนแล้วบทสนทนาก็จบไป ไม่ถูกส่งต่อเป็นวงกว้าง แต่ปัจจุบัน โซเชียลมีเดีย ทำให้เกิด พายุข่าวสาร เมื่อคนรู้สึกไม่พอใจต่อเรื่องไหน ก็จะแสดงความคิดเห็น และถูกส่งต่อหากันได้โดยง่าย ทำให้บางครั้งเราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการด่า

"การด่าเป็นเหมือนดาบสองคม บางคนอาจจะโดนด่าจนจมดินไปเลย แต่บางทีคนก็ชอบ อย่างกรณีลุงพลเราจะเห็นว่านั่นเป็นอีกมุมเลย การด่าจึงทำให้บางคนที่ไม่มีตัวตน เลือกจะหาแสงจากตรงนี้"

...

'คุณแอนชิลี' มองว่า โซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้สังคมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่สำหรับการด่า ส่วนตัวมองว่าคนที่ชอบด่า เขาเลือกจะด่าเพราะฟิน และเสพติดการแสดงความคิดเห็นแบบนั้น บางคนด่าไม่รู้จักพอ ด่าแบบไม่มีสาระ ด่าแต่ไม่ได้ขับเคลื่อนสังคม 

"การด่าไม่ช่วยขับเคลื่อนทุกอย่างเสมอไป บางคนที่เขาโดนด่าอาจจะต้องอยู่กับความรู้สึกนั้น ไม่ใช่เรื่องจริงที่บอกว่า คนไทยเดี๋ยวก็ลืม เพราะแอนเคยโดนด่าตอนประกวด ทุกวันนี้ก็ยังมีคนมาถามว่า ผ่านช่วงนั้นมาได้อย่างไร"

ขณะเดียวกัน 'คุณวู้ดดี้' ได้กล่าวเสริมคุณแอนชิลี จนเรียกเสียงหัวเราะ และเสียงปรบมือจากผู้ร่วมฟังเสวนา ด้วยประโยคที่ว่า "คนไทยไม่ได้ลืมง่าย ทุกวันนี้ยังมีคนถามผมอยู่เลยว่า กระทะโคเรียคิงนี่ยังไง! คือ อยากจะบอกว่า ผมไม่ได้เป็นพรีเซนเตอร์" 

...

การเมืองไม่มีสีขาว : 

อีกประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นคำถามแสนจะคลาสสิก ที่เชื่อว่าคนทุกเจนต้องผ่านมาแล้ว คือ "รัฐบาลในฝันเป็นอย่างไร" คำตอบของตัวแทนแต่ละช่วงวัย ถือว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน

ครีเอเตอร์ ตัวแทน Gen X แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลในฝันไม่ใช่รัฐบาลแบบที่ผ่านๆ มา เพราะภาพรวมเหมือนจะดี แต่ไส้ในยังไม่สะอาด ส่วนรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังต้องให้โอกาส ให้เวลาหน่อย มันมีหลายตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกครึ่งปีน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น 

"ผมไม่คิดว่ารัฐบาลไหนจะเพอร์เฟกต์ อันนี้หมายถึงในประเทศอื่นๆ ในโลกด้วย เพราะโลกแห่งความเป็นจริง ในทุกที่มันย่อมมีเคสพิเศษของมัน ไม่มีที่ไหนขาว 100% เราต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ส่วนรัฐบาลของไทย" คุณวู้ดดี้เสริมว่า แม้จะไม่ขาว 100% แต่ก็ขอให้ไม่แย่เกินรับได้ และเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้ในสักวัน 

'คุณแอนชิลี' มีความคิดไปในทิศทางเดียวกับตัวแทน Gen X เธอมองว่า "หนูเชื่อว่ามันไม่มีทางขาวได้  100%" แต่ถ้ารัฐบาลในฝัน อยากได้แบบนิวซีแลนด์ คือ เขากลับมาดูก่อนว่าคนในประเทศต้องการอะไร ส่วนของเมืองไทย เหมือนว่ายังไม่ได้ดึงคนในชาติเข้าไปมีส่วนร่วม เรามองแค่ว่าประเทศจะพัฒนาไปอย่างไร ไม่ได้มองว่าจะพัฒนาคนในประเทศอย่างไร

ด้านตัวแทน Gen Y ผู้เป็น CEO หนุ่ม แสดงความคิดเห็นอย่างน่าสนใจว่า รัฐบาลในฝันคือรัฐบาลที่มองภาพในระยะยาว มีการวางแผนโครงสร้างระยะยาว เพราะทุกวันนี้มันจะเป็นเหมือนแผนระยะสั้นๆ อยากให้มีการทำโครงการที่คิดยาวกว่านี้ ไม่ใช่ว่าทำวันนี้เพื่อหวังได้รับการเลือกตั้งในครั้งหน้า 

ด้านคอลัมนิสต์วัยเก๋า ตัวแทนชาวเบบี้บูมเมอร์ ย้อนวันวานก่อนว่า รุ่นผมถ้าย้อนเวลากลับไป การเมือง 20 ปีก่อนยังไม่ขัดแย้งขนาดนี้ การเมืองก่อนการแบ่งสีไม่ได้รุนแรง เราคุยกันเหมือนคุยเรื่องฟุตบอล ยุคนั้นคุยกันได้หมด บลัฟกันเล่นๆ แต่สมัยนี้เป็นการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาและรุนแรงขึ้น

ก่อนจะพูดถึงรัฐบาลในฝันว่า "ประเทศไทยและสังคมไทยห่อด้วยความหลากหลาย ดังนั้น เราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ รัฐบาลต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ นี่เป็นกลไกที่ควรจะเกิดขึ้น แต่รัฐบาลที่ผ่านมา หรือรัฐบาลปัจจุบัน มันมีกลไกบางอย่างเข้ามาแทรกอย่างที่เราเห็นกัน"

เรื่องที่อยากส่งต่อ และไม่อยากส่งต่อ : 

คุณตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ ตัวแทน Baby Boomer กล่าวว่า รุ่นผมเป็นรุ่นที่เห็นความงดงามของความช้า ทุกอย่างช้าและรอคอย ผมรู้สึกว่าตรงนี้มันก็มีเสน่ห์ของมัน สิ่งที่อยากส่งต่อก็คงเป็นเรื่องนี้ ผมไม่อยากส่งต่อความเกลียดชังในสังคมไทย ต้องบอกว่าคนรุ่นผมก็มีส่วนสร้างมันเยอะมาก 

"สิ่งหนึ่งที่ผมอยากฝากไว้จริงๆ คือ เวลาพูดถึงช่องว่างระหว่างวัย ผมไม่คิดว่ามันเป็นช่องว่าง ผมคิดว่าเป็นที่ว่าง ช่องว่างมันเป็นหลุมลึกที่ไม่สามารถก้าวข้ามได้ แต่ที่ว่างคือความงาม อย่างความงามในสถาปัตย์ Space เป็นสิ่งสำคัญ มีนัยที่เหมาะสม ผมรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่และคนรุ่นผม มีทัศนคติมุมมองที่ต่างกัน ที่ว่างมันควรจะต้องมี มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา"

คุณวู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา ตัวแทน Gen X กล่าวว่า ผมไม่อยากส่งต่อการตัดสินคนล่วงหน้า ผมอยากให้ทุกคนมองทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน สิ่งที่อยากส่งต่อคือความอดทน ไม่ใช่ว่าต้องทนไปจนวันตาย แต่อดทนสักนิดนึง นิดเดียว เราอาจจะเห็นผลลัพธ์ที่เรารอคอย 

คุณโบ๊ท พชร อารยะการกุล ตัวแทน Gen Y กล่าวว่า สิ่งที่อยากส่งต่อคือ ถ้าเรามองคนอื่น แล้วพยายามมองในจุดดี น่าจะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น 

คุณแอนชิลี สก๊อต-เคมมิส ตัวแทน Gen Z อย่างแรกที่หนูอยากให้คน Gen Z ปรับ ซึ่งหมายถึงตัวหนูด้วย คือ เราติดโทรศัพท์เยอะกันมาก บางทีเราลืมการใช้ชีวิต ลืมคุยกับคน ลืมสโลว์ไลฟ์ หนูอยากให้ Gen Z กลับมาทำตรงนี้ เผื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งที่หนูอยากให้ Gen Z ทำต่อ คือหนูภาคภูมิใจเจนนี้มาก กล้าที่จะพูด กล้าที่จะทำ กล้าที่จะถามคำถามที่ออกจากกรอบ 

แล้วคุณล่ะ มีอะไรที่อยากส่งต่อหรือไม่ส่งต่อ ให้แก่สังคมนี้หรือไม่?


อ่านบทความที่น่าสนใจ :