พี่ตุ้ม สรกล อดุลยานนท์ เจ้าของนามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์” เผยมุมมองจากคนวัย Baby Boomer เชื่อทุกคนผลักดันให้เกิดรัฐบาลในฝันได้ แต่โลกที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นของคนรุ่นใหม่ สิ่งที่ควรแบ่งปันให้แก่กันคือ การให้โอกาส เปิดประตู และยอมรับความแตกต่าง
ที่งานสัมมนา Talk of the GENs: เปิดเวทีความคิด หลากหลายมุมมองของคนหลายเจน ซึ่งบนเวทีได้มีการแลกเปลี่ยนบทสนทนาของคน 4 เจน ได้แก่ สรกล อดุลยานนท์ คอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์” วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา ครีเอเตอร์, โบ๊ท พชร อารยะการกุล ซีอีโอ Bluebik Group และ แอนชิลี สก็อต-เคมมิส นางแบบ และนางงาม
...
บนเวที พิธีกร ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ ได้ถามพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ ถึงความแตกต่าง และความสนใจทางการเมืองของคนแต่ละ Gen ซึ่งพี่ตุ้ม อธิบายว่า ความสนใจการเมืองของคนแต่ละ Gen เป็นความสนใจในคนละมุม เหมือนยืนคนละฝั่งทางความคิด
“คนกลุ่มผมโดยส่วนใหญ่แล้ว ก็จะคุยอีกแบบหนึ่ง ไม่ตรงกับ Gen Z เป็นทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งเขาก็จะมีรากฐานการเติบโตมีความเชื่ออีกแบบหนึ่ง แต่ในแง่ความสนใจ แล้วแต่ยุคสมัย แล้วแต่กลุ่ม ไม่ใช่วัย กลุ่มคนที่สนใจก็สนใจ กลุ่มที่ไม่สนใจก็ไม่สนใจ รุ่นใหม่ก็เหมือนกันว่าจะมีกลุ่มคนที่สนใจ กับกลุ่มหนึ่งที่ เฮ้ย นายกฯ คนนี้ชื่ออะไร เขาก็จะไม่รู้ ก็มีอยู่บ้าง”
พี่ตุ้ม กล่าวต่อไปว่า ถ้าหากย้อนเวลาการเมืองกลับไป 20 กว่าปีที่แล้ว การเมืองยังไม่ขัดแย้งแรงขนาดนี้ การคุยการเมืองเหมือนคุยเรื่องฟุตบอล เป็นการบลัฟระหว่างแมนฯ ยู กับ ลิเวอร์พูล บลัฟเสร็จก็ยังเป็นเพื่อนกันได้
การมาของโซเชียลมีเดียก็นับเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้เกิดความเป็นพรรคพวกมากขึ้น แต่ในยุคก่อน ไม่ได้พูดตะโกนที่ไหน พูดแค่ในวงเล็กๆ บนพื้นฐานของความเป็นเพื่อน ความเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องธรรมดามาก และการเมืองยังไม่แบ่งสีขนาดนี้
คนไทยกับความคาดหวังต่อรัฐบาลในฝัน
อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบนเวที Talk of the GENs นั่นคือ เรื่องของรัฐบาลในฝัน ซึ่งพี่ตุ้มในฐานะคนที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ได้เปรียบเทียบการเมืองกับธรรมชาติ เอาไว้อย่างน่าสนใจ
“ธรรมชาติมันบอกอย่างหนึ่งว่า ต้นน้ำมันจะใสสะอาดอยู่เสมอ พอมันผ่านลำคลอง ไปสู่แม่น้ำ มันก็จะเจือจาง สีก็จะไม่ใสสะอาดแบบนั้น นี่คือธรรมชาติความเป็นจริง”
อย่างที่สอง พี่ตุ้มได้พูดถึงเรื่องของรัฐบาล โดยรัฐบาลที่ดีที่สุด ก็คือรัฐบาลที่เคารพเสียงประชาชน ต้องมาจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่จริงๆ
“เราก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่า ประเทศไทย สังคมไทย ประกอบด้วยคนหลากหลาย มีกลุ่มนักธุรกิจที่คิดแบบโบ๊ท (พชร อารยะการกุล) ได้ กับอีกอันหนึ่งก็คือเกษตรกร หรืออะไรต่างๆ เขามีวิธีคิดแตกต่างกัน ถ้าเราเคารพว่าเสียงส่วนใหญ่มันเป็นอย่างไร แม้ไม่ตรงกับใจเรา ผมว่าเราเคารพตรงนั้นได้ ดีไม่ดี 4 ปี รู้กัน”
พี่ตุ้ม กล่าวว่า นี่คือกลไกประชาธิปไตยที่ควรเกิดขึ้น แต่เนื่องจากเมืองไทย รัฐบาลที่ผ่านมา หรือ ณ วันนี้ก็ตามที มันมีกลไกที่นอกเหนือจากนั้น ทำให้เป็นแบบนี้ ซึ่งพี่ตุ้มยังมองโลกในแง่ดีว่า วันหนึ่งมันก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ในส่วนการผลักดันรัฐบาลในฝัน พี่ตุ้ม เชื่อว่า Gen Z เป็นช่วงวัยที่สามารถผลักดันให้เกิดรัฐบาลในฝันได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทุกเจน ทุกคน ก็สามารถร่วมผลักดันความฝันนี้ได้ร่วมกัน
“กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ทำให้คนรุ่นผม ตั้งคำถามที่ไม่เหมือนเดิมเยอะขึ้น สิ่งที่เคยทำมาแล้วไม่สำเร็จในยุคผม มันไม่ใช่หมายความว่า จะไม่สำเร็จในยุคนี้ ประสบการณ์ในยุคผม ที่คิดว่าต้องมีประสบการณ์เท่านั้น ถึงจะบริหารประเทศได้ บางทีไม่ใช่ อาจเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ แต่เขามีวิธีคิดใหม่ วิธีการทำงานใหม่ ซึ่งคนรุ่นผมไม่รู้จัก ไม่คุ้นชิน แล้วก็เชื่อแบบเดิมตลอดเวลา”
...
หนุ่มเมืองจันท์ กล่าวเสริมว่า โลกมันต้องหมุนเปลี่ยนผ่าน คนรุ่นผม (พี่ตุ้มชี้มาที่ตัวเอง) คือคนรุ่นอดีตยาว อนาคตสั้น พวกนี้ (คน Gen Z) คืออดีตสั้น อนาคตยาว มันเป็นโลกของเขา
“คนรุ่นผมจะต้องปล่อยวาง ยอมรับความจริงว่า โลกเป็นของคนรุ่นใหม่ ฉะนั้นควรจะให้โอกาส หรือเปิดประตูความคิด ยอมรับความแตกต่างทางความคิดเหล่านี้”
ย้ายประเทศ ไม่ต้องรู้สึกผิด
ประเด็นต่อไปที่ถูกหยิบยกบนเวทีเสวนา ก็คือ การที่คนรุ่นใหม่มีแนวความคิดที่จะย้ายออกจากประเทศที่ตัวเองเกิด ซึ่งพี่ตุ้มชี้ชวนให้ฉุกคิดว่า คนรุ่นใหม่ไม่เหมือนคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่มีความเป็นพลเมืองโลก ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเมืองไทย
“แต่ความน่ากลัวของสังคมไทย ก็คือว่า คนที่คิดเรื่องย้ายประเทศ หรือมีสิทธิ์ที่จะคิดย้ายประเทศ เกือบส่วนใหญ่เป็นระดับครีมของประเทศ สิ่งเหล่านี้แสดงว่า เขาไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ในเมืองไทย แล้วถ้าคนกลุ่มนี้ไป ถ้ามองในภาพรวม ครีมของประเทศจะหายไป” พี่ตุ้มกล่าวต่อไปว่า “ฉะนั้นวิธีการง่ายๆ ก็คือ ไม่ต้องไปคิดว่า เขาจะย้ายประเทศ แต่ทำประเทศให้มันน่าอยู่ เขาก็จะอยู่เองโดยที่ไม่ย้าย”
...
ในช่วงท้ายของงานสัมมนา Talk of the GENs พี่ตุ้ม สรกล ได้พูดถึงเรื่องของช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งเป็นผลพวงจากความไม่เข้าใจ หรือความเกลียดชัง โดยยกคำกล่าวของพระไพศาล วิสาโล ขึ้นมาเปรียบเทียบอย่างคมคาย
“ท่านเคยพูดว่า สังเกตหรือไม่ ทำไมคนโกรธกันอยู่ใกล้กันถึงตะโกนเสียงดังต่อกัน ทั้งที่อยู่ใกล้กัน แต่ถ้าเรารักกัน เราจะพูดกันเบาๆ”
“จริงๆ แล้ว ที่อยู่ไกล อยู่ใกล้ มันอยู่ที่หัวใจ ถ้าคนโกรธกันหัวใจมันไกลกัน มันเลยต้องตะโกนหากัน แต่ถ้าสมมติว่ารักกัน ชอบกัน ถ้าเรามีความรักอยู่ในใจ อยู่ไกลแค่ไหน ก็พูดเสียงเบาได้ เพราะหัวใจเราใกล้กัน” พี่ตุ้มปิดท้าย