เปิดสกู๊ปกันด้วยคำถาม คุณผู้อ่านคิดว่า "ธุรกิจอะไรกำลังมาแรง?" หากคิดไม่ออก ลองสังเกตรอบๆ ตัว คุณผู้อ่านมองเห็น "ช่องว่าง" นั้นไหม? ในช่องว่างนั้นมี "ธุรกิจ" ที่ก่อเกิดมาจากพฤติกรรมของตัวเราเอง พฤติกรรมที่เรียกว่า ‘ความขี้เกียจ’
‘ความขี้เกียจ’ กลายเป็น "ธุรกิจ" ได้อย่างไร?
แล้วคุณผู้อ่านรู้จักคำนี้ไหม?
คำที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจขี้เกียจ’
เรามาทำความรู้จักกันอีกสักครั้ง เผื่อว่า ในปี 2563 คุณผู้อ่านจะมองเห็นและใช้ "ช่องว่าง" ในการก่อเกิดธุรกิจเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ‘เศรษฐกิจขี้เกียจ’ ที่มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษเก๋ๆ ว่า ‘Lazy Economy’
‘เศรษฐกิจขี้เกียจ’ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2562 แต่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว และไม่ได้มีแค่เฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปในตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะ ‘จีน’ ที่ ‘เศรษฐกิจขี้เกียจ’ เห็นภาพชัดเจนที่สุด โดยปี 2561 เว็บไซต์ ‘อาลีบาบา’ (Alibaba) อี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดในจีน มียอดกดสั่งซื้อ ‘Lazy Products’ หรือ ‘ผลิตภัณฑ์ตอบสนองความขี้เกียจ’ สูงถึง 16 พันล้านหยวน หรือราว 6.9 หมื่นล้านบาท
และ ‘เศรษฐกิจขี้เกียจ’ ที่ว่านี้ก็ไม่ได้เกิดมาจากพฤติกรรม ‘ความขี้เกียจ’ เพียงอย่างเดียว ในอีกแง่มุมหนึ่งก็มาจากไลฟ์สไตล์ของคนยุคดิจิทัลที่ ‘เวลา’ นั้นมีค่ามากเหลือเกิน ซึ่งมันคงจะดีไม่น้อยในความคิดของคนหลายๆ คน ที่มองว่า หากมี ‘บริการ’ หรือ ‘ผลิตภัณฑ์’ ที่เข้ามาทุ่นเวลาและแรงขณะเดียวกันก็สามารถทำสิ่งอื่นๆ ไปด้วยได้ พวกเขาก็พร้อมจะเลือกใช้มัน
...
แล้วธุรกิจที่เกิดจากช่องว่าง ‘ความขี้เกียจ’ นี้มีอะไรบ้าง?
หลักๆ ของ ‘เศรษฐกิจขี้เกียจ’ แล้วนั้น จะก่อเกิดเทรนด์หลักๆ 2 อย่าง คือ ธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับชีวิตประจำวัน และอุปกรณ์ไอทีที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย
ถ้าในยุคนี้ เห็นชัดที่สุด คือ ‘ธุรกิจอาหารพร้อมส่ง’ หรือที่เรียกว่า ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ (Food Delivery) กดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน ที่ไม่ว่าร้านดังจะอยู่ตรงไหน ใกล้ หรือไกล ก็ไม่ต้องเสียเวลาเดินไปซื้อเองให้เมื่อย นั่งรอ นอนรอ รับอาหารที่จะมาส่งถึงมือ ตอบสนองความ ‘ขี้เกียจ’ ความไม่อยากเสียเวลา แต่ได้อาหารอิ่มท้อง ซึ่งมีการคาดการณ์กันไว้ว่า มูลค่ารวมของ ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ ปี 2562 จะสูงถึง 3.3-3.5 หมื่นล้านบาททีเดียว
‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ นั้น ถือเป็นห่วงโซ่ธุรกิจตอบสนอง ‘เศรษฐกิจขี้เกียจ’ ที่ใหญ่ที่สุด ณ เวลานี้เลยก็ว่าได้ เพราะไม่ได้มีแค่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเท่านั้น แต่ยังมีผู้เล่นอีก 2 ส่วน เข้ามารับส่วนแบ่งและโอกาสทองจาก "ช่องว่าง" เล็กๆ นี้ด้วย นั่นคือ ร้านอาหารและคนส่งอาหาร โดยมีการคาดการณ์ว่า ร้านอาหารจะมีส่วนแบ่งรายได้ราว 2.6 หมื่นล้านบาท และคนส่งอาหารจะมีส่วนแบ่งรายได้ราว 3.9 พันล้านบาท ส่วนผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่เป็นผู้กุมห่วงโซ่ ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ นั้นคาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้ราว 3.4 พันล้านบาท
เห็นมูลค่ามหาศาลขนาดนี้ แน่นอนว่า "การแข่งขันย่อมดุเดือด" หลายแบรนด์ต่างกลยุทธ์โปรโมชันราคาออกมาดึงดูดผู้บริโภคและความ ‘ขี้เกียจ’ จากที่มีแค่แอปพลิเคชันเดียวอย่าง ‘แกร็บฟู้ด’ ปัจจุบัน มีมากกว่า 10 แอปพลิเคชัน
จากผลวิเคราะห์เชิงลึกของ CMMU พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมขี้เกียจทำอาหารมากถึง 69% หรือประมาณ 45 ล้านคน
นอกจาก ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ แล้ว อีกหนึ่งธุรกิจที่เริ่มเข้ามาตอบสนองความ ‘ขี้เกียจ’ ของมนุษย์เรา ก็คือ ‘ช็อปปิ้งออนไลน์’ หรือเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซทั้งหลาย เห็นได้จากมูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซที่มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 มูลค่าสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่า ปี 2562 ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยจะเติบโตสูงยิ่งขึ้นอีก มูลค่าอาจสูงถึง 3.8 ล้านล้านบาททีเดียว
ซึ่งจากช่วงเทศกาล 9.9, 11.11 หรือ 12.12 ที่ผ่านมา เห็นได้ว่า ยอดสั่งซื้อของแต่ละเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมในไทยสูงขึ้นหลายเท่า โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่คนนิยมสั่งซื้อก็ยังหนีไม่พ้น ‘สินค้าตอบสนองความขี้เกียจ’ อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
...
อีกหนึ่งพฤติกรรมความ ‘ขี้เกียจ’ ที่กลายมาเป็นธุรกิจ นอกเหนือจากอาหารและการช็อปปิ้งแล้ว นั่นก็คือ ความขี้เกียจทำงานบ้าน
ธุรกิจนี้ไม่ได้ตอบสนองเพียงสาวๆ เท่านั้น แต่ตอบสนองทุกคนที่ขี้เกียจทำงานบ้านและคนที่ไม่มีเวลามาดูแลทำความสะอาด เพราะต้องออกไปทำงาน ดังนั้น บริการ ‘แม่บ้านออนไลน์’ และ ‘ช่างซ่อมบ้านออนไลน์’ จึงตอบโจทย์และเกิดเป็นธุรกิจที่มาเติมเต็มช่องว่างนี้ จากเดิมที่มีเพียงไม่กี่แอปพลิเคชัน ปัจจุบันมีมากกว่า 5 แอปพลิเคชัน และยังมีสตาร์ตอัพอีกหลายเจ้าคอยให้บริการ สร้างรายได้ให้แม่บ้านออนไลน์เกือบเท่าตัว
จากผลวิเคราะห์เชิงลึกของ CMMU พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมขี้เกียจทำงานบ้านมากถึง 77% หรือประมาณ 50 ล้านคน
...
และอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจและเกิดจาก ‘ความขี้เกียจ’ คือ ‘นักรับจ้างต่อคิว’ ธุรกิจที่มี ‘เวลา’ เป็นต้นทุน ถือเป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เห็นได้จากงานเปิดตัวสินค้าแบรนด์ดังต่างๆ ที่มักจะมีคนแห่มาต่อแถว หรือที่เรียกว่า ‘ตั้งแคมป์’ เพื่อต่อคิวซื้อสินค้า รายได้ต่อครั้งอย่างต่ำก็คนละ 300 บาท หลายคนอาจมองว่าธุรกิจนี้ไม่แฟร์เท่าไร หรือเป็นธุรกิจที่ไม่น่าพิสมัย แต่ธุรกิจ ‘นักรับจ้างต่อคิว’ ก็นับเป็นธุรกิจที่เกิดจากความพึงพอใจและการตกลงของ 2 ฝ่าย ระหว่างผู้จ้างและผู้ถูกจ้าง ที่ผู้จ้างยอมจ่ายเงินเพื่อเอาเวลาไปทำอย่างอื่น และผู้ถูกจ้างก็ยอมสละเวลาตัวเองเพื่อต่อคิวเพื่อแลกกับเงิน ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตาในอนาคตทีเดียว
จากผลวิเคราะห์เชิงลึกของ CMMU พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมขี้เกียจรอคิวมากถึง 81% หรือประมาณ 53 ล้านคน
ทั้งนี้ทั้งนั้น จาก ‘เศรษฐกิจขี้เกียจ’ หรือ ‘Lazy Economy’ ก็มีลักษณะสำคัญที่น่าตระหนักว่า อาจจะทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายมากเกินความจำเป็น.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- "ส่งด่วน" ล่องหน รับผิดชอบหลักพัน คดีความต้องตามเอง
- ผ่าแผนทางรอด PM 2.5 ที่ทั่วโลกใช้ สูตรสำเร็จที่ไทยต้องลอง
- เผยโฉม "ผู้ร้ายตัวจริง" ที่ซุกซ่อนใน PM 2.5 หลบในบ้านก็หนีไม่พ้น
- "กองทุน SSF" ฉบับเข้าใจง่าย ตอบโจทย์ อายุต่ำกว่า 50 มั่นใจวินัยออมเป๊ะ
- เส้นทาง "รถไฟฟ้า" ปี 2020 ปลุกทำเลทอง ท่องเที่ยวเมืองเก่า สู่แหล่งช็อปปิ้ง
...