อยากรู้ปีชวด ในปี 2020 จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง? ต้องติดตาม นอกเหนือจากเทคโนโลยี ซึ่งมีผลต่อการทำธุรกิจ หลายองค์กรบริษัทต้องรีบปรับตัวให้ทันกระแส และน่าชัดเจนมากยิ่งขึ้นกับ “เทรนด์รักษ์โลก” จากการเริ่มรณรงค์งดใช้พลาสติก หรือสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแพร่หลาย ท่ามกลางภูมิอากาศโลกที่ผันผวน จากฝีมือมนุษย์ หากไม่เริ่มต้นลดละเลิก จะเข้าสู่วิกฤติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ช่วงที่ผ่านมากระแส “รักษ์โลก” ด้วยการรณรงค์ลด เลิก ใช้ถุง กล่อง แก้ว ทำมาจากพลาสติกและโฟม และหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ หรือ “แพ็กเกจจิ้ง” ที่ย่อยสลายได้มาแทนที่ ส่งผลให้ตลาดผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมเติบโตขึ้นต่อเนื่องไม่หยุด และธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจกับแนวคิดสีเขียวสร้างความจดจำให้กับผู้บริโภคและเพิ่มการตัดสินใจซื้อได้มากขึ้นในอนาคต
จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ พบว่าขยะพลาสติกมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก โดยประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตันต่อปี มีการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่การนำกลับมาใช้ประโยชน์ หรือรีไซเคิล มีเพียง 0.5 ล้านตัน หรือ 25% เท่านั้น ส่วนที่เหลือถูกนำไปฝังกลบ, เผา หรือตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายๆ ภาคส่วนมีการตื่นตัวรณรงค์ประชาชนให้ใช้ถุงผ้า หรือตะกร้า แทนถุงพลาสติก รวมใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้
...
กระทั่งที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2562 มีท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้น ได้มีมติงดใช้ถุงพลาสติก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอด้วยการงดให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ดีเดย์วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป เพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หากได้รับความร่วมมืออย่างพร้อมเพรียง เชื่อว่าเร็วๆ นี้ ประเทศไทยจะปราศจาก “ถุงก๊อบแก๊บ” ในไม่ช้า เหมือนหลายๆ ประเทศในโลก
“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ "ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล" รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในมุมมองของนักการตลาด มองว่า เทรนด์รักษ์โลก ในปี 2020 จะชัดเจนมากขึ้น ในการลดใช้พลาสติกจะขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งในยุโรป ได้เริ่มมาแล้วก่อนหน้า และต่อไปนี้จะเห็นคนไทยมีจิตสำนึกมากขึ้น โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ต มีการเลิกใช้ถุงพลาสติก หันมารณรงค์ใช้ถุงผ้า
“สมัยก่อนใครถือถุงผ้าถูกมองเป็นเรื่องแปลก แต่ปัจจุบันใครถือถุงพลาสติกก็จะดูแปลก ยกตัวอย่างร้านกาแฟอินทนิล ในกลุ่มธุรกิจบางจาก ได้ออกแบบฝาใหม่ ไม่ใช้หลอด หรือร้านเครื่องดื่มหลายแห่ง หันมาใช้หลอดกระดาษ ทำให้ธุรกิจทำหลอดกระดาษและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเติบโตต่อเนื่อง จากเดิมคนที่เคยซื้อลูกชิ้นใส่ถุงพลาสติก ซ้อนอีกชั้นด้วยถุงก๊อบแก๊บ เท่ากับใช้ถุงพลาสติกเบิ้ล ก็จะหมดไป เราจะเริ่มใช้จานชามแบบรีไซเคิลมากขึ้น พร้อมกับเปลี่ยนจากการใช้ไบโอพลาสติก ไม่สามารถย่อยสลายได้ มาเป็นโนพลาสติกมากขึ้น เพราะสามารถย่อยสลายได้”
นอกจากนี้ “เทรนด์รักษ์โลก” ยังทำให้เกิด ”เอ็นเนอร์จี เซฟวิ่ง” อย่างเห็นได้ชัด เช่น รถยนต์อีวี รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถบัส รถบรรทุก ซึ่งใช้ไฟฟ้า ไม่ใช่แค่เฉพาะแอร์ หรือตู้เย็นที่ใช้กันในบ้านเท่านั้น แต่จะขยายวงกว้างมากขึ้นมีการทำบ้าน "โซลาร์รูฟ" ซึ่งจะมาแรง โดยที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งเริ่มเปลี่ยนเป็นหลังคาโซลาร์ ใช้พลังงานจากฟ้าให้มา แทนการใช้ถ่านหินซึ่งสร้างมลพิษ ทำให้คนไทยตระหนักมากขึ้นจนทำให้เทรนด์เปลี่ยน ส่งผลให้มูลค่าตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเติบโตมากขึ้นภายใน 5 ปี
หรือกรณีรองเท้าแบรนด์ต่างๆ เริ่มใช้ขวดพลาสติกนำมารีไซเคิลทำรองเท้า เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ "เซอร์คูลาร์อีโคโนมี" (Circular Economy) มาดำเนินธุรกิจแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยการหมุนเวียนนำวัสดุที่ใช้แล้ว นำมาใช้อีก และงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ปี 2563 ชูแคมเปญ “Waste This Way” จุดกระแสนิสิตนักศึกษา ลงมือช่วยลดปัญหาขยะ โดยผลิตเสื้อทำมาจากขวดพลาสติก เช่นเดียวกับสินค้าแบรนด์ระดับโลก
ส่วนอีก 2 เทรนด์ที่จะตามมาแน่ๆ จะเห็นการลดใช้เนื้อสัตว์ในการแปรรรูปอาหาร โดยใช้พืชแทน หรือ "แพลนต์-เบสต์" (Plant-Based) เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์ก่อให้เกิดคาร์บอนจำนวนมาก แม้ขณะนี้คนยังไม่ยอมรับมากพอ แต่จะเป็นการเริ่มต้น แม้ต้นทุนช่วงแรกแพง แต่เมื่อมีคนนิยมมากขึ้นจะทำให้ต้นทุนถูกลง และอีกเทรนด์จะเป็นการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เช่น กระเป๋าแบรนด์ “ไฟร-ทาร์ก” (Freitag) ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ใช้ผ้าใบคลุมรถบรรทุกมาทำกระเป๋า และนำเข็มขัดนิรภัยรีไซเคิลมาทำสายหิ้ว เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในยุโรป
...
ขณะเดียวกันได้นำมาซึ่งการสร้างสังคมในชุมชน เป็นการทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือ "โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์" (Social Enterprise) แตกต่างกับการทำโอทอป อยากให้รัฐบาลไทยนำมาดำเนินการมากกว่าการให้เงิน ถือเป็นหลักการตลาดที่ดี โดยเทรนด์ดังกล่าวกำลังเข้ามาในไทย ซึ่งเอกชนหลายแห่งกำลังประสบความสำเร็จในการพัฒนาสังคมในชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งกินที่หรูหราระดับโรงแรม
“อยากให้บริษัทต่างๆ เอาส่วนนี้ไปดำเนินการ เลิกใช้เงินบริจาค แต่ให้ไปสร้างอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นในชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยใช้วัสดุอย่างคุ้มค่ามากขึ้น เช่น ออสเตรเลีย นำหนังแกะมาทำรองเท้าหนัง หรือไทยมียางพารา ควรนำมาทำสินค้าสร้างแบรนด์ ทั้งๆ ที่เมืองไทย มีของมากมาย ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการต่อยอด จึงถึงเวลาแล้วในการพัฒนาให้เป็นแบรนด์ระดับโลก ด้วยการใช้เทรนด์รักษ์โลก”.