ในห้วงเวลาที่โควิด-19 คุกคามประชากรโลกอย่างไม่ทันตั้งตัว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความสับสนอลหม่าน ทุกฝ่ายต้องแปรสภาพจากคนทำงานมืออาชีพ กลายเป็นนักรบที่ต้องต่อสู้ ฟาดฟันกับสัตว์ประหลาดที่มองไม่เห็นในชื่อโควิด-19 เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างไม่สู้ดี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าใครหลายคนจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ชนิดเจอกันแบบทางตรงไม่มีอ้อม แต่อุตสาหกรรมไอที หรืออุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก

เป็นเพราะอะไร?

ธนัช จุวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิ๊กดราซิล จำกัด (มหาชน) ผู้อยู่เบื้องหลังเกมที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่าง Home Sweet Home และเคยร่วมพัฒนาภาพยนตร์แอนิเมชันระดับโลกอย่าง Kingsglaive: Final Fantasy XV

ประเด็นแรกที่ถูกส่งตรงไปยังธนัช นั่นคือสภาวะโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนในบริษัท อิ๊กดราซิล

“ต้องเท้าความก่อนว่าอิ๊กดราซิล เป็นบริษัทด้านดิจิทัล คอมเทนต์ เพราะฉะนั้นการสร้างสรรค์ทุกสิ่งจะเกิดขึ้นจากคอมพิวเตอร์” ธนัช เกริ่น “เมื่อทุกอย่างอยู่ในโลกของคอมพิวเตอร์ เมื่อเผชิญหน้ากับโควิด-19 จึงได้ใช้งานในโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทที่เคยเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า”

ธนัช เล่าต่อไปว่า โครงสร้างพื้นฐานที่อิ๊กดราซิลได้วางเอาไว้ เป็นเรื่องของคนทำงานที่ทำจากที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ ซึ่งคนทำงานต่างประเทศ สามารถต่อปลั๊กตรงมาที่บริษัทได้เลย

“เมื่อเราวางโครงสร้างไว้ทั้งหมดดีแล้ว จึงเป็นโอกาสที่ได้ ‘ทดลอง’ ระบบที่วางเอาไว้ว่ามันต้องแก้ไขอะไรบ้าง ถือเป็นจังหวะที่ประจวบเหมาะ”

ในส่วนการทำงาน หัวเรือใหญ่แห่งอิ๊กดราซิล ยอมรับว่าเจอปัญหาอยู่บ้างในแง่ของการทำงานที่ช้าลง โดยการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ตั้งแต่เนิ่นๆ

ขณะที่ลูกค้าของอิ๊กดราซิล เจอความขลุกขลักอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นของใหม่ ทำให้มีการโต้ตอบสื่อสารที่ช้าลง แต่ไม่นานหลังจากนั้น ทุกอย่างก็ดำเนินการไปได้ด้วยดี

...

ธนัช อธิบายต่อไปว่า คนภายนอกเข้าใจว่าอิ๊กดราซิลทำเกม ซึ่งเข้าใจถูกต้องแล้ว เพียงแต่เกมเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ภายในบริษัทยังมีหน่วยธุรกิจ เช่น โฆษณา-ภาพยนตร์, แอนิเมชัน-การ์ตูน, เกม ไปจนถึงเทคโนโลยีจำพวก VR (Virtual Reality) - AR (Augmented Reality) - XR (Extended Reality)

“เราได้รับอานิสงส์จากการที่คนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ทำให้เกิดการบริโภคคอนเทนต์ออนไลน์เป็นจำนวนมาก นั่นเท่ากับว่าตลาดโลกเปิดกว้าง กลายเป็นงานให้กับเรา”

ธนัช กล่าวว่า เมื่อ 5 ปีก่อน บริษัท อิ๊กดราซิล มีธุรกิจแค่โฆษณา ซึ่งงานโฆษณาเป็นงานระยะสั้น ทำแล้วหมดไป จึงตัดสินใจเพิ่มหน่วยธุรกิจใหม่อย่างการ์ตูนและแอนิเมชัน

“พอเป็นงานการ์ตูนและแอนิเมชัน มันจะสวนทางกับงานโฆษณา เพราะเป็นงานระยะยาวจากทางฝั่งต่างประเทศ ทำให้บริษัทมีเงินไหลเวียนได้ดีทั้งระยะสั้นและระยะยาว”

ในท้ายที่สุดก็ได้เพิ่มธุรกิจเกม เพราะ ธนัช เชื่อว่าธุรกิจเกมมันสามารถต่อยอดไปได้ไกล ก่อให้เกิดสื่อรูปแบบใหม่ของโลก

“ซึ่งทุกวันนี้ ธุรกิจเกมมันก็รุดไปข้างหน้าอย่างมากจริงๆ”

บริหารท่ามกลางวิกฤติ

ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด เวลานั้นสิ่งที่ต้องบริหารมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะงานเอกสาร “เพียงแต่เรามองให้คล้ายเหมือนกับการออกรบ” ธนัช กล่าว “โดยจะให้ความสำคัญกับหัวหน้าทีม ซึ่งหัวหน้าทีมจะมีหน้าที่ในการสั่งงาน ดังนั้นแล้วหัวหน้าจะเป็นคนที่เข้าใจคนทุกคน แต่ละแผนกจะมีความยืดหยุ่น (Flexible) สามารถออกนโยบายต่างๆ ได้เลยตามที่ควรจะเป็น เพราะหัวหน้าจะเข้าใจคนในทีมได้ดีที่สุด”

ในขณะที่งานของซีอีโอเป็นการดูภาพรวมอีกชั้นหนึ่ง เพื่อดูว่าแต่ละนโยบายที่ออกมานั้น มีความต่างกัน มีความขัดแย้งภายในองค์กรหรือไม่

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจจะเห็นได้ชัดว่าในสภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทไอทีเป็นบริษัทที่ได้รับผลกระทบน้อยมาก

ธนัช ตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ว่า บริษัทเกี่ยวกับไอที และเทคโนโลยี เป็นธุรกิจที่มีความต้องการ (Demand) ในตลาดสูง แน่นอนว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ย่อมต้องมีผลกระทบกับธุรกิจบ้างในช่วงแรก เพราะเป็นเหตุการณ์กะทันหัน ที่ทุกธุรกิจต้องปรับตัว

“แต่ธุรกิจไอที เทคโนโลยี อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ เพราะสามารถทำงานบนอินเทอร์เน็ตได้ และมีความต้องการมากขึ้นจาก Work from Home”

ธนัช กล่าวเสริมว่า ถ้าในกรณีที่บริษัทนั้นๆ มีการวางแผนการทำงานไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบน้อยลง

อย่างไรก็ดี จากการฟังเสียงของพนักงาน พบว่า โดยส่วนใหญ่ก็ยังอยากกลับมาร่วมงานแบบเห็นหน้าค่าตา เพราะไม่ว่ายังไงมนุษย์ก็เป็นสัตว์สังคม การได้เจอหน้าถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งของการทำงาน

ข้อคิดจากสภาวะที่ไม่ปกติ

ซีอีโอใหญ่แห่ง เปิดเผยว่า ในสภาวะที่โควิดกำลังฟาดงวงฟาดงาใส่ทุกคนในสังคมอยู่นั้น เมื่อมองย้อนกลับ ค้นพบว่าในวิกฤตินั้น ก็มีสิ่งที่ทำให้ตกผลึกทางความคิดมาจนถึงตอนนี้

...

“มันก็เป็นโอกาสที่เราจะได้เห็นภาพของเทคโนโลยีชัดขึ้น ความสำคัญของบุคลากร และไม่ว่าวิกฤติใดจะมา การรักษาบุคลากรถือเป็นเรื่องสำคัญมาก”


ในห้วงเวลาเดียวกัน ที่อิ๊กดราซิลได้ตัดสินใจปรับเวลาการออกเงินเดือนให้เร็วกว่าปกติ

“ตามปกติเงินเดือนออกทุกสิ้นเดือน เราก็ปรับให้เงินเดือนออกเร็วขึ้น เพื่อให้พนักงานสามารถจับจ่ายใช้สอย สำหรับตุนอาหาร ตุนเสบียง ไม่ให้ขาดไม่ให้เหลือ”

หลังจากนั้น ในช่วงที่การแพร่ระบาดค่อยๆ นิ่งขึ้น ก็ปรับให้การออกเงินเดือนกลับไปเป็นเวลาเดิม โดยที่ไม่มีการปรับลดเงินเดือนของพนักงานลงแต่อย่างใด

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องเล่าของหนึ่งในบริษัทที่สามารถเอาตัวรอดท่ามกลางมหาวิกฤติที่ชื่อว่าโควิด-19