หน้าแรกแกลเลอรี่

โควิด-19 บทเรียนนักกีฬาอาชีพ ที่ "ก้าวผ่าน" อย่างภาคภูมิ

ไทยรัฐออนไลน์

1 มี.ค. 2564 06:20 น.

ในแวดวงกีฬา โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนกีฬาอย่างมหาศาล การแข่งขันในรายการสำคัญต้องถูกเลื่อนออกไป ทำให้นักกีฬาขาดรายได้และไม่มีทัวร์นาเมนต์ลงแข่งขัน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นักกีฬาฟุตบอล ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ฟุตบอลไทยลีกต้องเลื่อนการแข่งขันออกไป อีกทั้งผลพวงจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ที่สโมสรไม่ได้รับตามที่กำหนด เนื่องจากการเลื่อนการแข่งขันไม่เป็นไปตามข้อสัญญาที่มีการตกลงกันไว้ ผลที่ตามมาคือ สโมสรจำเป็นต้องประหยัดค่าใช้จ่าย นักฟุตบอลไม่ได้รับเงินเดือนตามปกติ บางคนต้องหันหน้าหาอาชีพเสริม

แต่ก็มีนักกีฬาที่สามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ อย่างเช่น "ซูลกิฟลี บือราเฮง" นักฟุตบอลสโมสรนรา ยูไนเต็ด ในวัย 30 ปี ที่ได้รับผลกระทบเมื่อการแข่งขันไทยลีก 3 ต้องหยุดแข่งขันไปนานร่วม 5 เดือน และไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว เขาจึงตัดสินใจเลือกเส้นทางที่ไม่เคยลองมาก่อน นั่นก็คือ การขายไอศกรีม

โดยพื้นฐานแล้ว "ซูลกิฟลี" เป็นคนที่มีอัธยาศัยดี และมีความตลกอยู่ในตัว เขาจึงเลือกใส่ความเป็นตัวเองลงไป คือ การสวมชุดสไปเดอร์แมนขับรถขายไอศกรีมให้เด็กๆ ในท้องที่จังหวัดนราธิวาส

"ซูลกิฟลี" กล่าวว่า เขาเริ่มต้นจากการสั่งชุดสไปเดอร์แมนมาจากทางออนไลน์ด้วยเงิน 600 บาท เมื่อเริ่มขายจริง ปรากฏว่า กระแสตอบรับก็ดีเกินคาด เด็กๆ และผู้ปกครองต่างชื่นชอบ และเข้ามาอุดหนุนเป็นจำนวนมาก บางวันมีรายได้จากการขายไอศกรีมวันละ 3-4 พันบาท นั่นทำให้เขารู้สึกว่า สถานการณ์โควิด-19 แม้จะส่งผลกระทบต่ออาชีพหลัก แต่การขายไอศกรีมถือเป็นช่องทางที่สร้างรายได้ให้กับเขาไม่น้อย

หากเทียบแล้ว รายได้ที่เขาได้รับในช่วงโควิด-19 นับว่ามากกว่าการเตะฟุตบอลเสียอีก เพราะเจ้าตัวมีรายได้จากการขายไอศกรีมถึงประมาณ 6-7 หมื่นบาท จนปัจจุบันเขายึดการขายไอศกรีมเป็นงานอีกหนึ่งด้าน ภายใต้ชื่อ "ไอติมสไปเดอร์แมน" ที่มีบริการรับส่งไอศกรีมถึงที่

สิ่งที่เขาทำไม่ใช่เพราะความอยู่รอดเพียงอย่างเดียว แต่ที่ตัดสินใจมาทำธุรกิจนี้ เพราะเขาอยากเห็นเด็กๆ มีความสุข อีกทั้งเขาเองก็ยังมีกิจกรรมเพื่อสังคม ด้วยการแจกไอศกรีมให้กับเด็กกำพร้า หรือเเจกไอศกรีมฟรีในวันสำคัญของศาสนาอิสลาม

ถือว่า โควิด-19 เปลี่ยนชีวิตนักฟุตบอลรายนี้อย่างแท้จริง แต่ชีวิตเขาเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

หากมองย้อนกลับไปในเดือนพฤษภาคม กับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก ชื่อของ "มุทิตา เสนคราม" นักฟุตซอลหญิงทีมชาติไทย ชุดแชมป์ซีเกมส์ และเอเชียนอินดอร์เกมส์ 2018 เป็นชื่อที่หลายๆ คนจดจำ เพราะเธอคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ฟุตซอลลีกหญิง ไม่มีทัวร์นาเมนต์แข่งขันในช่วงเวลานั้น จนตัดสินใจผันตัวเป็นแม่ค้าขายลอตเตอรี่ตามคุณแม่ของเธอที่ประกอบอาชีพนี้มาก่อน เงินแต่ละบาทที่ได้มานั้น ต้องแลกมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเธออย่างแท้จริง

ในช่วงเวลานั้น เธอจะออกจากที่พักในช่วงเช้า ก่อนเดินขายสลากกินแบ่งรัฐบาล และกลับที่พักในช่วงเย็น ระยะทางในแต่ละวันที่เธอต้องเดิน ประมาณ 16 กิโลเมตรต่อวัน แต่ด้วยความที่เธอเป็นนักกีฬาฟุตซอล ระยะทางจึงไม่เป็นอุปสรรคเท่าใดนัก

เธอยอมรับว่า รู้สึกน้อยใจที่เธอเคยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ แต่เมื่อถึงช่วงเวลาวิกฤติ กลับมีเพียงผู้ใหญ่ในวงการฟุตซอลที่ให้การช่วยเหลือ แต่กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าใดนัก แต่เวลานั้น จะรอพึ่งให้ใครมาช่วยเหลือก็คงไม่ได้ ถ้าอายก็ไม่มีเงิน เธอจึงตัดสินใจสู้ชีวิตในสิ่งที่เธอเองก็ไม่เคยทำมาก่อน และคิดเสมอ ที่เธอมีวันนี้เพราะอาชีพขายลอตเตอรี่ของคุณแม่

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เธอได้ข้อคิดว่า ในช่วงเวลาปกติ เธอใช้จ่ายเงินไปแบบไม่คิดอะไร แต่พอเจอกับวิกฤติครั้งนี้ เธอได้เรียนรู้ว่า เงินที่ได้มามันยากลำบากมาก ถือเป็นบทเรียนให้ชีวิตว่า ต้องใช้ชีวิตอยู่บนความพอดี และไม่ประมาท

ถึงเวลานี้ วิกฤติช่วงเวลานั้นได้ผ่านพ้นไป เธอได้รับโอกาสจากสโมสรฟุตซอลหญิงกรุงเทพมหานคร และยังคงโชว์ผลงานช่วยทีมคว้าแชมป์ฟุตซอลลีกหญิงอีกด้วย เส้นทางของเธอจากนี้ คือการเตรียมความพร้อมกับทีมชาติไทย ในการแข่งขันฟุตซอลหญิงซีเกมส์ และฟุตซอลหญิงเอเชียนอินดอร์ มาร์เชียล อาร์ตสเกมส์ ที่ประเทศไทย


วงการกีฬาแแม้จะเป็นหนึ่งภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ด้วยหัวใจของนักกีฬาที่ยังพร้อมสู้กับสถานการณ์ ก็แสดงให้เห็นว่า การไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เมื่อผ่านพ้นมาได้ จะทำให้เราเเข็งแกร่งขึ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง