• วิถีชีวิตใหม่เปลี่ยนโลกคนออกกำลังกาย
  • ข้อดีข้อเสียจากการเทรนตัวต่อตัวไปสู่เทรนออนไลน์
  • ใดๆ วินัย และความอดทนเป็นสิ่งสำคัญ 

ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้ามาปฏิวัติเปลี่ยนวิถีชีวิตเดิมๆ ไปสู่วิถีชีวิตใหม่ หลายๆ อย่างที่เราเคยมองว่าอาจจะต้องใช้เวลาเปลี่ยนประมาณ 5-10 ปี แต่พอโควิดเข้ามาก็ย่นระยะเวลาจากเป็นปี กลายเป็นไม่กี่เดือนแทน 

เมื่อโควิดยังอยู่การรักษาระยะห่างระหว่างมนุษย์ก็ยังต้องดำเนินต่อไป ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายๆ อย่างต้องชะลอ และหยุดชะงักลง เห็นได้จากธุรกิจการเดินทาง หรือการท่องเที่ยวที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาอยู่

เช่นเดียวกับธุรกิจฟิตเนสที่ถูกสั่งปิดนานหลายเดือน เพราะกังวลว่าจะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ในการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งในประเทศไทยเอง ฟิตเนสก็ถูกปิดมาหลายครั้ง เมื่อฟิตเนสปิด เทรนเนอร์หลายคนก็ต้องผันตัวเองไปสอนออนไลน์ หรือบางคนก็ปรับเปลี่ยนอาชีพไปเลยก็มี และนี่คือสิ่งที่เทรเนอร์ต้องปรับตัว

โค้ชจ๋า ทัศนา คงเจริญ แชมป์เพาะกายในหลายเวทีที่สหรัฐฯ ที่ปัจจุบันกลับมาอยู่ไทยไม่ถึง 1 เดือน และเป็นเทรนเนอร์อยู่ที่ฟิตเนส Heart Rate Fitness รวมถึงรับเทรนออนไลน์ อธิบายถึงความแตกต่างการสอนแบบออนไลน์ และออฟไลน์ว่า ข้อดีของการสอนออนไลน์ คือ ลูกค้าสามารถจัดการเวลาของตัวเองได้ แต่ข้อเสีย คือ ลูกค้า หรือผู้เทรนต้องมีวินัยมากๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการรับประทานอาหารด้วย

...

"จริงๆ จ๋าชอบสอนแบบตัวต่อตัวมากกว่า ถ้าคุณทานอะไรมาแล้วคุณพลาด เพียงแค่บอก เราก็จะแก้ไขได้ทัน เช่น ในชั่วโมงนี้คุณต้องเบิร์นแคลอรีให้มากกว่าที่คุณเคยทำ คาร์ดิโอให้มากกว่าเวต หรือชั่วโมงนี้ต้องเวตให้มากกว่าคาร์ดิโอ การเทรนแบบตัวต่อตัวเวลาลูกค้าออกกำลังกายเราจะเห็นเลยว่าท่านี้ผิดหรือถูกก็จะแก้ไขเพื่อลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ แต่ถ้าสอนออนไลน์เราจะให้ได้แค่ให้ลูกค้าส่งวิดีโอกลับมาคอมเมนต์กลับไป ซึ่งบางทีก็มีการโกงกันได้ แต่เราก็ทำได้มากสุดแค่นี้ ฉะนั้นลูกค้าที่เทรนออนไลน์ต้องถือวินัยเป็นสำคัญ"

ก่อนหน้านี้โค้ชจ๋า เป็นเทรนเนอร์ที่อยู่ที่สหรัฐฯ และเดินสายประกวดเพาะกายกวาดรางวัลมาหลายเวที เธอจึงเลือกเรียนการเทรนเนอร์ และโภชนาการจนได้ใบประกอบอาชีพ ตอนที่สหรัฐฯ ก็มีลูกค้าพอสมควร และก็เริ่มมีการเทรนออนไลน์บ้าง เพราะลูกค้าไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่สหรัฐฯ แต่มีลูกค้าเทรนออนไลน์อยู่ปะปนกันในหลายประเทศ หลากทวีปเลยทีเดียว

"ตอนทำงานอยู่ที่สหรัฐฯ ช่วงโควิดมาพอดีเลย และยิมก็ถูกสั่งปิด ก็กลายเป็นสอนออนไลน์มากขึ้น แต่ถ้าถามโค้ชจ๋าชอบเทรนตัวต่อตัวมากกว่า ก็เลยสั่งของมาลงที่โรงรถที่บ้าน เพื่อที่จะได้เทรนตัวเอง และเทรนให้กับลูกค้าด้วย"

ขณะเดียวกันเรื่องความเชื่อในการรับประทานอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ สิ่งแรกที่โค้ชจ๋าจัดการในอันดับต้นๆ คือ ระบบเมตาบอลิซึมของลูกเทรน ซึ่งระบบเผาผลาญของแต่ละคนไม่เท่ากัน โค้ชก็ต้องวางแผนด้านโภชนาการก่อน หลังจากนั้นก็ออกแบบตารางการออกกำลังกายที่เหมาะสมในแต่ละวัน

"โค้ชก็จะเริ่มถามลูกค้าก่อนว่า ชอบกินอะไร ถ้าชอบก็เก็บสิ่งนี้ไว้ และตัดอย่างอื่นออก บางคนคิดเป็นแคลอรีต่อวัน แต่โค้ชจ๋าจะคิดมาให้เป็นรายอาทิตย์ และคุณก็ไปบริหารจัดการเอาเอง ซึ่งถ้าต้องให้คิดทุกๆ วัน ลูกค้าก็เครียด แต่ทุกอย่างก็ยืดหยุ่นได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้เรียนเป็นสำคัญ"

โค้ชจ๋า บอกอีกว่า จะมีท่าออกกำลังกาย หลายท่าที่ส่วนใหญ่มักจะออกผิด และไม่ตรงจุด ยกตัวอย่างเช่น การสควอต ซึ่งกว่า 70% คนส่วนใหญ่จะเล่นผิด สิ่งที่เราต้องสังเกต คือ ลูกค้าหนีบเข่าไหม ซึ่งหลักการจริงๆ คือ เข่าต้องเปิดออกเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า เวลาสควอตลงไปหลังงอไหม โน้มหน้าเกินไปหรือเปล่า เพราะมันควรจะเปิดอกเพื่อจะได้เกร็งหน้าท้องและใช้หลังดึงขึ้น น้ำหนักควรลงไปที่ส้นเท้า ไม่ใช่ปลายเท้า ซึ่งถ้าผิดพลาดแปลว่า กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายไม่แข็งแรงพอ

นอกจากนี้ยังมีท่า Deadlift ที่เหมือนยืนขาคู่แต่ว่าไม่ได้ขาติดกันแค่อยู่ตรงกับไหล่แล้วก็หยิบดัมพ์เบล หรือบาร์เบลมาก็ได้ จากนั้นพักตัวลงเหมือนก้มลงไป และยืดตัวขึ้น ถ้าเกิดงอขานิดนึงจะได้ก้นด้วย ซึ่งลูกเทรนจะทำผิดด้วยการห่อไหล่ เพราะน้ำหนักจาก ดัมพ์เบล หรือบาร์เบล หรือยกอุปกรณ์ห่างจากขาเกินไป แต่จริงๆ แล้วควรอยู่ใกล้ๆ ขาเลย บางคนก็ขึ้นมาเร็ว บางคนก็หน้าจะทิ่ม โค้ชจ๋าเคยเจอลูกเทรนกว่าจะทำท่านี้ได้ก็ประมาณ 2-3 เดือนเลยก็มี

"จริงๆ แล้วการเป็นเทรนเนอร์ออนไลน์ จุดสำคัญเลย เทรนเนอร์ต้องขยันมากๆ ห้ามมีข้อจำกัดด้านเวลา เพราะต้องยึดเวลาของลูกค้าเป็นหลัก เรื่องการวัดผลก็สำคัญ เพราะลูกค้าอยากเห็นผลลัพธ์มาก ซึ่งเราก็ต้องออกแบบว่า เราจะวัดผลลูกค้าแต่ละคนอย่างไร ทำยังไงให้เขารู้สึกดีขึ้น ถ้าเขารู้สึกทำไม่ได้ เราก็ต้องโน้มน้าวให้เขากลับมา เพื่อสุขภาพของตัวเองในอนาคต"

ด้าน โค้ชซาร่า-นริศรา ปาลคำ มองว่า คนส่วนใหญ่ประมาณ 80-90% ที่เลือกเทรนออนไลน์ จะไม่ซีเรียสว่าจะต้องมีอุปกรณ์เหมือนในฟิตเนส ซึ่งการแบ่งลูกค้าเป็นออนไลน์กับออฟไลน์ เราคิดว่ามันแตกต่างกัน เพราะว่าถ้าลูกค้าออฟไลน์คือคนที่เขาจะไปเทรนกับเทรนเนอร์ คือเขาต้องการแบบตัวต่อตัว ชอบพูดคุย มีอะไรก็สามารถซักถามได้เลย ชอบบรรยากาศ ก็จะไปที่ฟิตเนสส่วนใหญ่

ส่วนคนที่เลือกเทรนออนไลน์ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ชอบความสะดวก เช่น คุณแม่ที่มีลูก เขาไม่ค่อยมีเวลาที่จะไปฟิตเนสนานๆ สะดวกที่จะออกกำลังกายที่บ้านมากกว่า หรือผู้บริหารที่เขาเหนื่อยล้าจากการทำงาน อยากที่จะผ่อนคลาย ต้องการความเป็นส่วนตัวที่บ้าน อีกอย่างก็คือเขาจะเป็นห่วงเรื่องสุขภาพหากเขาต้องไปฟิตเนสแล้วต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกับคนอื่น ก็จะมีความกังวล การเทรนออนไลน์จึงเป็นตัวเลือกที่ดี

นอกจากนี้ คลิปออกกำลังกายเราก็ทำเอง ซึ่งเราจะบอกลูกค้าว่า ท่านี้คืออะไร จะต้องโฟกัสกล้ามเนื้อส่วนไหน หายใจยังไง เราก็จะบอกอย่างละเอียด ประมาณ 80-90% ที่ได้คลิปออกกำลังกายจากเราไป มีผลตอบรับกลับมาว่าเหมือนเรามาเทรนอยู่ข้างๆ เขารู้สึกโอเคมาก จากนั้นเราก็พัฒนาไปเรื่อยๆ

สำรับข้อเสียของการเทรนออนไลน์ คือ เราไม่สามารถรู้ได้ว่า เขาออกกำลังกายจริงหรือเปล่า แต่เราก็จะให้เขาถ่ายรูปหลังออกกำลังกายมาให้ดู แล้วให้บอกว่าท่านี้ติดขัดตรงไหนบ้าง ทำแล้วโดนกล้ามเนื้อที่เราอธิบายไปในคลิปหรือเปล่า ซึ่งถ้าเขาตอบไม่ได้ก็อาจจะเป็นเพราะว่าไม่ได้ทำ

อีกเรื่องคือในเรื่องของอาหาร บางทีแอบคิดว่าเขาแอบไปกินชานมไข่มุกหรือเปล่า แต่ก็ต้องให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกับลูกเทรน เพราะว่าเราก็ไม่สามารถดูแลเขาได้ 24 ชั่วโมง การพูดคุยกับลูกเทรนตลอด ก็ทำให้เราตัดสินได้ว่าเขาทำจริงหรือเปล่า สิ่งที่ยากกว่านี้ คือ การรับมือกับความคาดหวัง เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ซึ่งเราต้องมาคอยลุ้นว่า การประเมินผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง ลุ้นว่าจะจบคอร์สแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ บางคนมีความสุข แต่บางคนไม่กล้าส่งมาให้เราดู เพราะผลลัพธ์ไม่น่าพอใจ จนเขารู้สึกนอยด์ เราก็จะปลอบใจเขาว่ายุคสมัยนี้ไม่ได้ดูกันที่น้ำหนัก อย่างบางคน ตื่นนอนมาก็ชั่งน้ำหนัก ออกกำลังกายก็ชั่งน้ำหนัก ซึ่งคำถามที่มันเกี่ยวกับน้ำหนัก เป็นคำถามที่มาเยอะมาก ซึ่งเราก็ไม่ได้ว่าอะไรเพราะเราก็เคยเป็น เพราะเคยผ่านจุดนั้นมาก่อน ก็ต้องใช้ความเข้าใจกับลูกเทรนประกอบไปกับข้อมูลที่ได้ไปศึกษามา ซึ่งมันจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไป

"เรามองว่าการออกกำลังกาย เป็นเรื่องของการสร้างวินัยให้กับตนเอง เราอยากให้ลูกเทรนเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ สามารถแบ่งเวลาวันละ 30 นาที ไปออกกำลังกาย หรืออย่างน้อย 5-10 นาทีก็ได้ ต้องเริ่มสร้างวินัยให้กับตนเองก่อน เพราะคนเราไม่สามารถหยุดอายุของตัวเองได้ ไม่สามารถเป็นหนุ่มสาวไปได้ตลอด วันหนึ่งคุณต้องแก่ตัวลง อยากให้การออกกำลังกาย เป็นกิจวัตรประจำวัน เพื่อสะสมความแข็งแรงของร่างกาย ถ้าไม่อยากเจ็บป่วย อยากมีรูปร่างที่ดี การดูแลสุขภาพเหมือนกับการหยอดกระปุก เราทำเล็กๆ น้อยๆ เป็นประจำ ถ้าเราเริ่มทำได้ผลลัพธ์คือ ประสาทสัมผัสและระบบต่างๆ ของร่างกาย มันจะดีหมดทุกอย่าง"