“เจนค่ะ เจนค่ะ หนูชื่อเจน มากับนุ่นและก็มากับโบว์ นุ่นค่ะ นุ่นค่ะ หนูชื่อนุ่น มากับเจนและก็มากับโบว์ โบว์ค่ะ โบว์ค่ะ หนูชื่อโบว์ มากับนุ่นและก็มากับเจน” ท่อนเพลงสุดฮิตจากเพลง “ซุปเปอร์วาเลนไทน์” ของ 3 ลูกทุ่งสาว เจน เจนจิรา เหรียญทองคำ, นุ่น นัทธมน นิลคูหา, โบว์ กัลยาณัฎศนา แก่นแก้ว จากวง SUPER วาเลนไทน์ ค่ายท็อปไลน์มิวสิค เพลงที่โด่งดังชั่วข้ามคืนในยุคโควิด-19 ระบาดหนักรอบแรก ทั้งที่เป็นเพลงที่มีมานานเกือบ 10 ปีแล้ว

แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก เพราะถึงแม้จะกลายเป็นเพลงดัง แต่ 3 นักร้องสาวก็ไม่สามารถไปเล่นคอนเสิร์ตในช่วงนั้น แม้หลังคลายล็อกดาวน์ก็มีงานคอนเสิร์ตเข้ามาเรื่อยๆ แต่แล้วก็เจออุปสรรคเมื่อโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ทำให้งานคอนเสิร์ตต่างๆ ต้องถูกยกเลิกทั้งหมดอีกครั้ง ส่วนชีวิตคนเบื้องหลังคอนเสิร์ตได้รับผลกระทบหนักมากเช่นกัน

บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 3 สาว ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของศิลปินและทีมงานเบื้องหลังที่ลำบากเพราะผลกระทบจากโควิด-19 ไปจนถึงทางออกของปัญหา พวกเธอทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด

...


เมื่อโควิดระบาด

เราถามถึงชีวิตการเป็นนักร้องลูกทุ่งก่อนหน้าที่โควิด-19 ระบาด ว่าเป็นยังไงบ้าง 3 ลูกทุ่งดังเผยว่า ปกติวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จะเป็นช่วงเวลาที่เดินสายเล่นคอนเสิร์ตตามงานต่างๆ มีทั้งแยกกันและรวมตัวกัน โดยแต่ละเดือนจะมีงานประมาณ 15-20 งาน

เริ่มที่โบว์เล่าว่า “ก่อนโควิดพวกเราก็มีคอนเสิร์ตกันปกติอยู่แล้ว วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์จะมีคอนเสิร์ตตลอด วันหนึ่งจะวิ่งกันอยู่แค่งานเดียว แต่ถ้าเดือนหนึ่งก็จะตกอยู่ที่ 15-20 งาน ปกติเราก็มีงานวงด้วย แต่งานก็จะอยู่ใกล้ๆ กันแบบนี้ 15-20 งานต่อคน ถือว่าเป็นที่พอใจค่ะ อยู่ได้” เจนเสริม “ส่วนใหญ่จะเป็นงานกลุ่มค่ะ ไปด้วยกัน 3 คน ของเจนจะไม่ถึง 15-20 งาน เพราะของโบว์จะเป็นงานเดี่ยวด้วย”

แต่แล้วในช่วงเดือน มี.ค. 2563 เมื่อไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักในเมืองไทย ทำให้งานบันเทิงต่างๆ โดยเฉพาะคอนเสิร์ตถูกยกเลิกทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อคนในวงการบันเทิงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังอย่างมาก เจน-นุ่น-โบว์ ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากศิลปินคนอื่นเช่นกัน

โบว์เผยว่า ครอบครัวตนเองเป็นนักดนตรีมาตลอด พอเจอสถานการณ์ดังกล่าวก็ต้องหยุดนิ่งกันหมด “ช่วงแรกๆ พวกเราโดนงดงานทั้งหมด ไม่เหลืองานเลย เราไม่ได้ทำอะไรเลย ร้องเพลงอย่างเดียว เพราะที่บ้านก็เป็นวงดนตรีหมดเลย พี่ชายก็ทำซาวนด์ให้ศิลปิน ที่บ้านก็มีวงดนตรี และตัวเองก็เป็นศิลปินด้วย เล่นดนตรีกันทั้งบ้าน ก็คือหยุดนิ่งเลย เหมือนรอด้วยความหวังว่ามันอาจจะดีขึ้น เราก็นิ่งอยู่ประมาณเดือนนิดๆ ได้”

ส่วนเจนเผยว่า ช่วงนั้นยังมีรายได้จากธุรกิจร้านอาหารอยู่บ้าง แต่รายได้หลักจริงๆ มาจากงานร้องเพลง “พอโควิดมา ช่วงวันที่ 18 มี.ค. เป็นงานสุดท้ายที่พวกเราได้เล่นกัน ช่วงที่เริ่มระบาดหนัก ถามว่าทำยังไงบ้าง ช่วงนั้นก็จะเลี้ยงลูกอยู่บ้าน ขายของ ขายข้าวแกง แต่จริงๆ ส่วนใหญ่จะเป็นงานร้องเพลงของพวกเรา 3 คนมากกว่า อาชีพของพวกเราคือร้องเพลงเป็นหลัก ที่บ้านก็จะมีธุรกิจขายข้าวแกง ขายก๋วยเตี๋ยวเรือ ก็ยังพอมีรายได้จากตรงนี้”

ด้านนุ่นเผยว่า นอกจากงานร้องเพลง ตนมีอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มอยู่แล้ว เพราะรู้ดีว่าอาชีพร้องเพลงไม่มีความแน่นอน “ปกตินอกจากร้องเพลงที่บ้านก็จะขายของ พ่อกับแม่ก็จะขายของตามตลาดนัดอยู่แล้ว และเราก็จะไปขายน้ำเต้าหู้ ถ้าเราว่างจากงานร้องเพลง เราก็จะไปเรียนตัดผม ไปขายของ ก็จะมีอาชีพเสริมอยู่ตลอด เพราะรู้อยู่แล้วว่าอาชีพร้องเพลงมันไม่ได้แน่นอนกับเรา ก็เลยไม่ทำตัวให้ว่าง อย่างพ่อแม่ก็มีอาชีพเป็นพ่อค้าแม่ค้า เราก็จะเรียนรู้จากพ่อแม่ด้วย”

เพลงดังยุคโควิด

แม้จะเจอวิกฤติชีวิตจากโควิด-19 แต่ก็ยังมีเรื่องที่ทำให้ 3 สาวพอยิ้มออกได้บ้าง เมื่อเพลง “ซุปเปอร์วาเลนไทน์” เพลงแนะนำตัวของ เจน-นุ่น-โบว์ ในคอนเสิร์ตต่างๆ ซึ่งอยู่ในอัลบั้ม “อยากเป็นซุปตาร์” วางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2554 โด่งดังในโซเชียล เรียกว่าพลิกชีวิต 3 ลูกทุ่งสาวอย่างมาก จนมีงานติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ แต่ก็อดเซ็งไม่ได้ที่เพลงมาดังในยุคโควิด ทำให้ไปเล่นคอนเสิร์ตไม่ได้

...

ซึ่งนุ่นเล่าว่า “อย่างของเราก็มีออกงาน และสินค้าด้วยทั้ง 3 คน แต่ถึงเพลงดังก็ไปเล่นคอนเสิร์ตไม่ได้ ก็ทั้งเซ็งทั้งเสียความรู้สึก เพราะเราคิดว่าเวลาเพลงดังหรือเพลงไหนที่เป็นกระแสขึ้นมา ทุกศิลปินต้องได้ออกคอนเสิร์ต ได้ทัวร์คอนเสิร์ตรัวๆ ไม่มีวันหยุด แต่ของเรามีกระแส แต่มาติดโควิด ต้องบอกว่าเสียดายโอกาส เพราะไม่สามารถไปเล่นคอนเสิร์ตได้ แต่ถือว่ายังอยู่ในความโชคดีที่ยังมีสินค้าตัวอื่นๆ ให้เรา 3 คนได้มีรายได้เข้ามา” โบว์เสริม “ถามว่ามีงานรีวิวสินค้าเข้ามาเยอะมั้ย ก็ไม่ได้ถึงกับเยอะมาก แต่พอมี พอให้เรามีรายได้อยู่ได้ ในช่วงเวลาที่คนอื่นไม่มีงานเลย แต่เรามีงานตรงนี้เข้ามา มีรายได้เข้ามาช่วยเหลือ ช่วยเลี้ยงครอบครัวได้”

เจนเล่าต่อถึงช่วงที่เริ่มคลายล็อกดาวน์รอบแรกว่า มีงานคอนเสิร์ตติดต่อถึง 20 งาน ซึ่งถือว่าเยอะสำหรับในช่วงนั้น แต่พอเจอโควิดระบาดระลอกใหม่ ทำให้งานคอนเสิร์ตหายไปหมดอีกครั้ง “ช่วงคลายล็อกดาวน์รอบแรกต้องบอกว่า 20 กว่างานได้ แต่มันก็ยังไม่สามารถเล่นได้ทุกพื้นที่ แต่ 20 งานมันเยอะสำหรับเรา แล้วในช่วงคลายล็อกรอบแรก ตอนแรกก็เหมือนใจชื้นขึ้นมา เพราะเริ่มเล่นคอนเสิร์ตได้แล้ว ถามว่ามีงานอื่นๆ เพิ่มเติมมั้ย ส่วนใหญ่จะไปตามสื่อมากกว่า ก็มีงานทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ช่วงแรกๆ ที่โควิดเริ่มคลี่คลายถือว่าได้พอสมควร เราเล่นคอนเสิร์ตเกือบทุกวัน พอเจอโควิดรอบ 2 จากเดือนธันวาคมที่เราจะต้องเล่นคอนเสิร์ตแทบทุกวันก็หายไปหมดเลย”

...

โควิดระลอกใหม่ กระทบหนักกว่าเดิม

นุ่นยอมรับโควิดระลอกใหม่ระบาดส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะไปขายของตลาดนัดที่ตลาดใน อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ก็ขายไม่ดีเหมือนรอบแรก จึงต้องใช้เงินเก็บตัวเอง “ตอนรอบ 2 ส่วนใหญ่ก็เงียบ เวลาออกไปขายของ ชาวบ้านก็ไม่ค่อยกล้าออกจากบ้านมาใช้จ่ายเท่าไร ก็เงียบไปตามๆ กัน ก็ใช้เงินเก็บหยุดอยู่กับบ้าน ใช้เงินประหยัด เพราะรอบแรกเราก็มีประสบการณ์อยู่แล้ว เราก็รู้จักเก็บ รู้จักทำมาตั้งแต่รอบแรก พอมารอบ 2 เราก็ต้องอยู่ให้ได้ ความหนักต่างกันมาก เพราะรอบนี้มันหยุดเลยจริงๆ เวลาไปขายของมันไม่เหมือนเดิมแล้ว เขาก็จะสั่งให้หยุดเป็นช่วงๆ ของการที่ไปขายของตามตลาดนัด ก็ต้องทำใจ”

ด้านเจนเล่าว่า โควิดระลอกใหม่กระทบหนักกว่ารอบแรก จนทำให้ธุรกิจร้านอาหารของตนต้องหยุดไป เพราะห่วงคนที่บ้าน ลูกน้องในร้าน และต้องใช้เงินเก็บของตนเองเช่นกัน “ต้องบอกว่าตอนแรกพวกเรา 3 คน วันสุดท้ายที่เราไปเล่นงานกัน คืองานบิ๊กเมาน์เท่น มิวสิก เฟสติวัล เรายังคุยกันอยู่เลย โบว์ยังพูดว่า เฮ้ยพี่ เราเล่นกันมาถึงครึ่งเดือนแล้ว เรารอดแล้ว งานเราไม่ต้องหยุด

...

พอหลังจากนั้นมันต้องหยุดเลย เราก็เหมือนช็อกไปเลยว่าต้องหยุด งานก็เงียบไปเลย หนักกว่ารอบแรกเพราะเราต้องหยุดไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะรอบแรกยังมีเพลงของเราดัง ยังมีรายได้เข้ามา แต่ตอนนี้พอหยุดไปปุ๊บก็เงียบไปเลย ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ธุรกิจที่ร้านก็ต้องหยุดไปประมาณ 1-2 เดือน เพราะเราก็ห่วงลูกน้องในร้าน ห่วงคนที่บ้านด้วย คนที่จะมาทานอาหารที่ร้านเราก็ไม่กล้าออกจากบ้าน ก็ต้องใช้เงินเก่า”

ส่วนโบว์เผยว่า พี่ชายของตนไปรับกุยช่ายมาขายตั้งแต่โควิดระบาดรอบแรก แต่พอโควิดมาอีกก็ขายไม่ดีเท่าเดิม แต่ยังไม่ลำบากถึงขั้นเอาของไปขาย “ความรู้สึกคือเหมือนความหวังมันหายไป เพราะเราหวังว่ามันจะดีขึ้นแล้ว เราจะได้เล่นงานแล้ว แล้วมันก็หยุดอีก ช่วงแรกที่มีโควิดมา พี่ชายไปรับกุยช่ายมาทอดขายหน้าบ้านแก้เหงากัน แล้วพอมารอบ 2 ก็รับกุยช่ายมาขายอีกเหมือนเดิม แต่ขายไม่ดีเหมือนรอบแรก คนแถวบ้านเรายังไม่กล้าออกมาตลาดนัดกันเลย ก็เงียบไปเลย ถามว่ามีเอาทรัพย์สินส่วนตัวไปขายมั้ย เรายังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ถ้าติดยาวไปมากกว่านี้ก็ไม่แน่”

ชีวิตคนเบื้องหลัง กระทบหนักยิ่งกว่าศิลปิน

เราถามต่อถึงชีวิตคนทำงานเบื้องหลังคอนเสิร์ตว่าได้รับผลกระทบยังไงบ้าง โบว์เล่าทันทีว่า ลำบากพอกัน และทุกวันนี้คนเหล่านี้กลายเป็นพ่อค้าแม่ค้ากันหมดแล้ว แต่ก็ขายได้แค่ช่วงแรกๆ เท่านั้น

“ลำบากพอกับเรานี่แหละค่ะ เพราะทุกอย่างขาดรายได้ทั้งหมด คือไม่มีเลย ถ้าคอนเสิร์ตมี 10 คืน เขาก็ได้เงิน 10 วัน แต่ถ้าไม่มีงานเลยสักวัน เขาก็ไม่ได้เงินเลย อย่างแดนเซอร์ทีมหนึ่งค่าจ้างจะเริ่มที่ 6,500 ถ้าไม่มีงานเลย เด็กบางคนก็ไม่มีเงินเลยเหมือนกัน คือวงการเพลงมันไม่ใช่แค่นักร้องศิลปิน มีทั้งคอนวอย ฝ่ายเวที ฝ่ายเครื่องเสียง ฝ่ายสตาฟฟ์ รวมไปถึงโต๊ะจีนนี่ก็มีส่วนนะคะ เด็กโต๊ะจีน ทีมงานโต๊ะจีน เครื่องไฟ รั้วเวทีทั้งหมด ได้รับผลกระทบหมดค่ะ

ถามว่าพวกเขาทำยังไง เท่าที่สังเกตหน้าเฟซบุ๊กก็คือ เป็นแม่ค้ากันหมดแล้วค่ะ อุดหนุนกันเอง ถ้าถามว่าขายได้มั้ย คิดว่าก็จะขายได้ช่วงแรกๆ เพราะว่าธรรมดาแม่ค้าตลาดนัดก็เยอะอยู่แล้ว แม่ค้าตามบ้านก็เยอะอยู่แล้ว แล้วยิ่งนักร้อง นักดนตรี เครื่องเสียง ว่างงาน มาเป็นแม่ค้ากันอีก” เจนเสริม “ต้องบอกว่าคนขายมากกว่าคนซื้อ เราก็พยายามช่วย เหมือนเขาช่วยเรา เราช่วยเขา แต่ว่าช่วยทุกวันเลยก็ไม่ได้ค่ะ”

จากนั้นเจนเล่าอีกว่า คนทำงานด้านดนตรีบางวงก็ลำบาก ต้องไปรับจ้างล้างจาน ปลูกผัก บางคนก็เอาของที่มีอยู่ไปขาย “ก็มีนักร้องที่สระบุรีหลายคนก็ไปรับจ้างล้างจานนะคะ บางคนก็ปลูกผัก มันลำบากจริงๆ นะคะ เจ้าของวงดนตรีบางที่ก็ขายเครื่องเสียง แล้วเอารถ 6 ล้อ รถ 10 ล้อเข้าไร่เข้านา ขนอ้อยกันแล้วนะคะ มันลำบากมากตอนนี้ คือเจ้าของวงเขาเลี้ยงหลายชีวิตมากกว่าพวกหนูนะ และอีกหลายชีวิตเขาต้องเลี้ยงครอบครัวเหมือนกัน อะไรที่พอขายออกไปได้ก็ขายไปก่อน เพื่อช่วยเหลือตัวเองและลูกน้องค่ะ”

คอนเสิร์ตออนไลน์ ทางออกศิลปินยุคโควิด

ในช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิดยังไม่จบง่ายๆ การแสดงคอนเสิร์ตตามสถานที่ต่างๆ จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างมาก ดังนั้น “คอนเสิร์ตออนไลน์” จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดของวงการเพลงในช่วงนี้ และ 3 สาวก็ได้มีโอกาสไปร่วมเล่นคอนเสิร์ตยุคโควิดเช่นกัน

ซึ่งเจนเล่าถึงการทำงานในรูปแบบใหม่ให้ฟังว่า “เป็นครั้งแรกที่พวกเราซุปเปอร์วาเลนไทน์เปิดคอนเสิร์ตออนไลน์ ก็รู้สึกสนุกอีกแบบหนึ่ง เราได้ขึ้นคอนเสิร์ตแบบปิด ได้ทักทายคุณผู้ชมผ่านหน้าสตรีมไลฟ์สด เป็นความแปลกใหม่อีกหนึ่งรูปแบบ ถามว่าตื่นเต้นมั้ย ตื่นเต้นในเรื่องของการทำโชว์ ซึ่งพวกเราไม่เคยทำ ปกติพวกเราร้องเพลงก็จะมีแดนเซอร์ประกอบอยู่บนเวทีอยู่แล้ว แต่ ณ วันที่เราไปเล่นสตรีมไลฟ์สด เราก็เพิ่มความพิเศษมากขึ้นคือ มีการจัดโชว์คล้ายๆ ละครเวทีด้วย เป็นการเพิ่มอรรถรสให้คนดู”

นุ่นเสริมว่า ผลตอบรับดี สำหรับตนแล้วอะไรที่ทำแล้วได้เงินก็ทำหมด “ผลตอบรับก็ดีค่ะ อ่านคอมเมนต์แฟนคลับเขาก็ชมกันค่ะ ก็ชมว่าดี ไม่เคยเห็น ก็อยากให้จัดบ่อยๆ ถามว่าชอบมั้ย สำหรับนุ่นเอง นุ่นทำได้หมด ถ้าทำแล้วได้ตังค์ นุ่นได้หมดค่ะ” ส่วนโบว์บอกว่า “สนุกดีค่ะ จริงๆ คอนเสิร์ตที่เป็นผ่านกล้องแบบนี้เราก็ไม่เคยเหมือนกัน อันนี้อาจจะเป็นครั้งที่ 2-3 แต่ว่าคอนเสิร์ตล่าสุดอาจจะเป็นยิ่งใหญ่หน่อย เพราะว่ารวมศิลปินหลายค่าย”

แต่เมื่อถามถึงบรรยากาศว่าเป็นไงบ้าง โบว์บอกว่า “มันก็เงียบ คือฟีลบางเพลงมันไม่ได้ ฟีลมันไม่มา ไม่มีฟีลในการร้องเท่าไร แต่ก็สนุกดีค่ะ เป็นอีกหนึ่งงานที่เราไม่เคยทำ แล้วเราได้ลองทำเหมือนร้องเพลงในสตูเลย ร้องให้ตากล้องฟัง ร้องให้ผู้กำกับเวทีได้ดูแบบนี้ค่ะ” เจนเสริม “แล้วเราก็นั่งดูกันเองด้วย” ก่อนที่ทั้ง 3 สาวจะหัวเราะออกมา โบว์เล่าต่อ “จริงๆ ก็ชอบ แต่ว่าเรามีโอกาสน้อยค่ะ ถ้ามีโอกาสได้ซ้อมก็คงจะออกมาดีมากกว่านี้ แต่ว่าอันนี้ก็ทำดีที่สุดในวันนั้นแล้วค่ะ”

อยากทัวร์คอนเสิร์ตอีกครั้ง

ถึงแม้จะมีคอนเสิร์ตออนไลน์เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการเพลงยุคโควิด แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรก็คงไม่เหมือนกับการเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตตามจังหวัดต่างๆ ที่จะมีรายได้เข้ามามากกว่า อีกทั้งอาชีพนักร้องในยุคโควิดได้รับผลกระทบก่อน และกลับมาทำงานทีหลังกว่าอาชีพอื่นๆ แถมยังมีการซัพพอร์ตเยียวยาน้อย

ซึ่งนุ่นเล่าว่า “พวกเราก็จะมองกันอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่รอบแรกแล้วว่าเหตุการณ์โควิดเกิดขึ้น อาชีพของเรามักจะโดนก่อน ละเวลาปลดล็อกก็จะเป็นทีหลัง เรื่องการซัพพอร์ตเยียวยาก็น้อยมาก” โบว์เสริม “อยากให้มีการซัพพอร์ตเนอะ ค่าใช้จ่ายพวกเรามีอยู่ทุกเดือนตลอด ไม่ได้หยุดเหมือนที่งานเราหยุด ถ้าให้ซัพพอร์ตคืออยากออกงานออกสื่อมากกว่า ช่วยโปรโมตให้เรา ให้เราทำงานได้ เหมือนช่วงที่เริ่มผ่อนปรนรอบแรกจัดคอนเสิร์ตเว้นระยะแบบนิวนอร์มอล ให้เราได้มีงานทำ ให้พ่อค้าแม่ค้าได้ออกแผงออกร้านกัน คนจัดมีงานจ้างเรา”

ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นอีกครั้ง คิดว่าจะมีงานเยอะเหมือนเดิมหรือไม่ เจนตอบว่า “คิดว่าไม่เยอะค่ะ ดูจากเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ตอนนี้มันแย่จริงๆ แล้วคนที่เขาเคยจัดงานได้มาเจอช่วงที่หยุดไปเลยเขาก็ต้องมีรายจ่าย แล้วเวลาหาศิลปินทีหนึ่ง ก็ใช้เงินสูงเหมือนกัน จัดงานทีก็ต้องคิดแล้วว่าจะมีคนมาดูมั้ย แม่ค้ามาตั้งแผงเยอะมั้ย ซึ่งถ้าคลายล็อกจริงๆ ก็อาจจะไม่ได้ตั้งเยอะๆ คนจัดงานก็ต้องคิดแล้วว่าคุ้มมั้ย”

ส่วนงานที่ถูกยกเลิก หรือเลื่อนไปก่อนหน้านี้ โบว์บอกว่า ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะได้เริ่มงานอีกทีจริงๆ ตอนไหน “ก็มีงานที่เลื่อนไม่มีกำหนดค่ะ งานที่เราเล่นส่วนใหญ่จะเป็นงานวัด งานกาชาด งานใหญ่คนเยอะ เราไม่มีสิทธิ์ที่จะรู้เลยว่าจะเริ่มงานจริงๆ ได้เมื่อไร ต้องลุ้นงานต่องาน อย่างคอนเสิร์ตออนไลน์พวกเราก็ไม่ได้มีชื่อเสียงหรือมีแฟนคลับเยอะ” นุ่นเสริม “เขาก็ไม่ได้เข้ามาดูทุกวัน เราก็เข้าใจแฟนคลับที่ติดตาม ทุกคนต้องใช้เงินเหมือนกับเรา เขาก็ลำบากเหมือนเราตอนนี้”

แต่หากมีการระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง โบว์บอกว่า ต้องหาอาชีพใหม่อย่างจริงจัง เพราะอายุที่เพิ่มขึ้นทุกวัน “ตอนนี้พวกเราก็เตรียมหาอาชีพกันแล้วค่ะ ถึงมันจะได้เงินเยอะหรือเงินน้อย ก็ต้องเอากันแล้ว เพราะอายุที่มากขึ้น เราต้องมีอาชีพสำรองอยู่แล้ว ถามว่าทำด้วยกัน 3 คนมั้ย ก็ไม่แน่นะคะ คนนึงอาจมีหลายๆ อาชีพ อาจมีอาชีพไหนที่หุ้นกัน เพราะต้องดูด้วยว่าธุรกิจตอนนี้ก็มีมากขึ้นหลายแบบ เราก็ไม่รู้เลยว่าผู้บริโภคจะชอบมั้ย ไปได้แค่ไหนยังไง”

ปิดท้ายกับคำถาม ถ้าเป็นไปได้อยากฝากถึงผู้เกี่ยวข้องว่าอยากให้มีทางออกยังไง โบว์ตอบว่า ถึงยังไงก็ยังอยากกลับมาเล่นคอนเสิร์ตอีกครั้ง และพร้อมจะร่วมมือทุกอย่างที่ทำได้ “จริงๆ ช่วงนี้หลายจังหวัดก็คลายล็อก เริ่มให้จัดงานได้แล้ว แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขต กฎที่เขากำหนด ก็อยากให้อีกหลายๆ จังหวัดช่วยผ่อนปรนให้พวกเรามีพื้นที่ในการทำงาน พวกเรายินดีให้ความร่วมมือในทุกข้อที่เราจะช่วยได้ เพราะว่าไม่ใช่แค่นักร้อง นักดนตรี ไหนจะแดนเซอร์ เครี่องเสียง ยิ่งงานร้าน ไหนจะเด็กเสิร์ฟ พริตตี้ พีอาร์ ทุกคนเดือดร้อนหมดค่ะ”.