โหมโรงมาเกือบๆ 2 ปี สำหรับเทคโนโลยี 5G ที่หลายคนตั้งตารอคอย แต่ก็ยังอีกหลายคนอยากรู้ว่าถ้าหากมี 5G แล้วชีวิตพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ถ้ามี 5G แล้วจะทำให้การใช้ชีวิตดีกว่าตอนมี 4G อย่างไร...เรามาหาคำตอบกัน
5G ดียังไง
ย้อนกลับไปยุคสื่อสารแบบไร้สายแบบง่ายๆ เราอาจจะได้ยินคำว่า 1G ถึง 4G แต่หลายคนก็ยังสงสัยจำสลับไปสลับมา พอสรุปแบบคร่าวๆ ก็ได้ตามนี้
1G คือ การสื่อสารด้วยเสียง (voice)
2G คือ การสื่อสารด้วยเสียง และข้อความ (text)
3G คือ การสื่อสารด้วยเสียง ข้อความ และเว็บไซต์ผ่านมือถือ
4G คือ การสื่อสารด้วยเสียง ข้อความ ภาพเคลื่อนไหว (video) และแอปพลิเคชันใหม่ๆ ในสื่อสังคมออนไลน์
หากมีเทคโนโลยี 5G จะทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น รวดเร็วขึ้น ที่สำคัญจะมีเสถียรภาพในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ที่ต่ออินเทอร์เน็ต หรือ IoT (Internet of Things) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า และเร็วกว่า เพราะ 5G เร็วกว่า 4G ถึง 20 เท่า
...
หากการวางระบบเครือข่าย 5G เสร็จสิ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คือ
1. Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) หรือ การจำลองภาพเสมือนจริง แบบเรียลไทม์ไม่มีสะดุด นอกเหนือจากบรรดาคอเกม และผู้ที่ชื่นชอบการจำลองภาพแบบ 3 มิติแล้ว ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการจำลองภาพแบบเสมือนจริงมากที่สุดคือ การศึกษาทางไกล, การแพทย์, การเกษตร รวมไปถึงวงการนักออกแบบอีกด้วย
2. VDO Call ที่มีความละเอียดสูงระดับ Full HD - 4K และสัญญาณเสียงที่คมชัดระดับ Ultra HD voice
3. รถอัจฉริยะขับเคลื่อนตัวเอง (Remote Control Vehicle)
4. อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle) หรือโดรน
5. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ (Artificial Intelligence) หรือ AI
เอเชียมี 5G ก่อนใคร
เมื่อวันที่ 5 เม.ย.62 ที่ผ่านมา ประเทศเกาหลีใต้ ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศใช้ 5G อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีประชาชนลงทะเบียนใช้ระบบ 5G กับ 3 ค่ายผู้ให้บริการ คือ SK Telecom, KT และ LG Uplus
ข้ามไปที่ฝังสหรัฐฯ ซึ่งในวันเดียวกันคือ 5 เม.ย. ซึ่งห่างกันแค่ไม่กี่ชั่วโมง บริษัท เวอไรซอน (Verizon) ก็เปิดตัว 5G เช่นกันแต่สามารถใช้งานได้เพียง 2 รัฐเท่านั้นคือ ชิคาโก และมินนิโซตา ที่สำคัญยังจำกัดเป็นแค่บางเมืองอีกด้วย
5G อีสคัมมิ่งทูไทยแลนด์
หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดประชาพิจารณ์ร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมคลื่นความถี่สากล ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) หรือการประมูล 5G เสร็จสิ้น
ในวันที่ 16 ก.พ.2563 จะมีการประมูลเกิดขึ้น ซึ่งไทม์ไลน์หลังจากนี้ ค่ายมือถือที่ชนะการประมูลต้องเปิดบริการในเดือน ก.ค.2563 โดยการประมูลใน 4 ย่านคลื่นความถี่ได้กำหนดราคาเริ่มต้นไว้แล้ว ได้แก่
1. คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz นำมาประมูล 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 8,792 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต
2. คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นำมาประมูล 7 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 12,486 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต
3. คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz นำมาประมูล 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นการประมูล 1,862 ล้านบาท
4. คลื่นความถี่ย่าน 26 GHz นำมาประมูล 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นการประมูล 423 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต
จากเวทีประชาพิจารณ์ พบว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือค่ายมือถือต่างสนใจเฉพาะคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น ในประเด็นนี้คงต้องติดตามต่อไปว่าผลการประมูลจะเป็นอย่างไร
สวัสดี 5G
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการทดสอบระบบ 5G มาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 ที่ผ่านมา แม้จะยังไม่สมบูรณ์แบบเต็มร้อย แต่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เข้าร่วมการทดลองนี้ก็ได้บทสรุปนำไปปรับปรุงพัฒนาให้ 5G ในประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดย ผู้ให้บริการ (Operator) ที่ประมูล 5G ได้ต้องพร้อมให้บริการได้ในเดือน ก.ค. 2563 นี้ ซึ่งกสทช.เอง ได้ให้สิทธิพิเศษหากผู้ชนะประมูลลงทุนขยายโครงข่าย 5G ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้ครอบคลุมพื้นที่ 50% ในปีแรก ได้แก่
- เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ บางปะกง
- นิคมอุตสาหกรรม ทีเอฟดี 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา
- นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร
- นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก มาบตาพุด
- เมืองการบินภาคตะวันออก
รวมถึงขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ภายใน 4 ปี สำหรับพื้นที่สมาร์ทซิตี้ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต และ สงขลา