- กรุงเทพฯ มันดีอยู่แล้ว ทุกอย่างอยู่ที่มุมมองของเราจะมอง แต่ผมมองว่ามันดี ซึ่งผมมองว่ากรุงเทพฯ มันดีกว่านี้ได้ ถ้าเอาการบริหารจัดการ หรือเทคโนโลยีมาช่วย
- จะให้ถูกใจ 100% เป็นไปไม่ได้ เรื่องของเมืองหลวงมันเป็นเรื่องจุกจิก ปัญหามันมีตั้งแต่เราออกจากบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะ ทางเท้าไม่ดี อยู่ที่ว่าเราแสดงให้คนกรุงเทพฯ เห็นแค่ไหนว่าเราตั้งใจและทำเต็มที่จริงๆ
- “สกลธี” ลั่น ถ้าเราทำเต็มที่ ถึงแม้ว่ามันจะไม่สำเร็จ 100% แต่ขอให้เราตั้งใจพยายามทำ เอาทุกอย่างมาทำแล้วจริงๆ ผมมั่นใจว่าทำได้ภายใน 4 ปีนี้แน่นอน คือ ไม่ใช่ว่าผมหาเสียงแล้ว พอถึงเวลาแล้วผมทำไม่ได้ตรงส่วนนั้น
หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตา นายสกลธี ภัททิยกุล เพราะก่อนจะมาลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ถึง 4 ปีเต็ม ส่วนก่อนหน้านั้นหลายคนอาจจะเคยเห็นในบทบาททั้งในและนอกสภา ในฐานะการเป็น ส.ส. และแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.กันมาแล้ว
...
มาวันนี้ “สกลธี” ในวัย 44 ปี ที่ถือว่าอายุเหมาะสม สะสมงานการเมืองมาอย่างพอดิบพอดี ผ่านทั้งงานราชการและงานการเมือง ตั้งแต่การเป็น ส.ส.เขต ของพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเดินประท้วงขับไล่รัฐบาล และการย้ายเข้าสู่บ้านหลังใหม่อย่างพรรคพลังประชารัฐ ในตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค จากนั้นได้ลาออกอีกครั้ง เพราะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ เพื่อขอชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
อะไรถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการตัดสินใจครั้งนี้ และทำไมถึงเลือกลงในนามอิสระแทนการสังกัดพรรคการเมืองแทน ทีมข่าวการเมือง ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้สัมภาณ์พิเศษในเรื่องนี้
ทำไมตัดสินใจลงผู้ว่าฯ กทม.
นายสกลธี กล่าวว่า จากตอนเป็นรองฯ คือเราก็ได้ทำเฉพาะงานที่ผู้ว่าฯ กทม.มอบหมาย และงานแค่เฉพาะที่ตนเองกำกับดูแล แต่บางทีเวลาลงพื้นที่ สิ่งที่อยากจะทำ หรือว่าสิ่งที่ประชาชนร้องเรียนมา เป็นการร้องเรียนในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นอำนาจที่ตนเองรับผิดชอบ บางทีมันตอบโจทย์ มันแก้ตรงนั้นไม่ได้ ก็เลยคิดว่าถ้ารวบรวมสิ่งที่อยากทำหลายๆ อย่างที่จะทำแล้วไม่ได้ทำ ถ้าได้ดูทั้งหมดมันน่าจะทำอะไรได้มากมาย หลายอย่าง
ตัดสินใจนานหรือไม่
ไม่นานหรอกครับ พอมาเป็นรองผู้ว่าฯ ได้สักพักก็เริ่มชอบลักษณะงาน ตนเองเคยเป็น ส.ส.เขตมาก่อน มันก็จะอีกแนวหนึ่ง แต่พอมาเป็นรองผู้ว่าฯ มันได้บริหาร มันได้ลงทำจริง แล้วมันสามารถแก้ปัญหาให้กับคนที่เขาร้องมาได้เร็วและจริงจังกว่า ก็เลยชอบงานลักษณะนี้เพราะว่ามันถูกจริตกับตนเอง ตรงนี้ก็เลยอยากจะมาทำต่อ
นายสกลธี กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ตัดสินใจลงอิสระตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะว่าคิดว่า อิสระ สามารถดึงคนที่จะมาช่วยจากหลายที่ได้มากกว่า เพราะบางครั้งคนที่อยากจะมาแก้ปัญหาเมืองกับตนเอง แต่อุดมการณ์ทางการเมืองอาจจะไม่เหมือนกับตนเองก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าไปลงอยู่พรรคไหนมันก็จะมีกรอบของมันจำกัดเอาไว้ ก็ทำให้คนที่อยากจะมาช่วยเราในหลายๆ จุด มันไม่ได้ ส่วนอีกอย่างคือ ตนเองอยากลงอิสระจริงๆ เพราะอยากจะทำงานที่วางคนที่ช่วยเรา อย่างเช่น รองผู้ว่าฯ หรือว่าที่ปรึกษา เพราะฉะนั้นถ้าลงในนามพรรคการเมือง บางครั้งก็จะต้อง คุณเอาโควตาพรรคไป 2 คนเป็นรองผู้ว่าฯ ซึ่งบางทีเราไม่ได้อยากได้ตรงนั้น
พลังประชารัฐมาทาบทามหรือไม่
ไม่นะครับ จะเห็นข่าวที่ผ่านมาตลอด แคนดิเดตของผู้ว่าฯ พลังประชารัฐ ไม่เคยมีชื่อตนเองเลย และตนเองก็แน่วแน่ในการลาออก แต่ถามว่าสนิทไหม สนิท เพราะว่าเราออกมาจากทั้งประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ ก็มีเพื่อนๆ อยู่หลายพรรค หลายวงการ ไม่เฉพาะแค่ 2 พรรคนี้ เพราะฉะนั้นคนที่อยากจะช่วยเรามันมีเยอะอยู่แล้วแต่ผมจะเป็นตัวแทนพรรคไหนไหม คงไม่
มีปรึกษากับเพื่อนๆ กปปส.เรื่องนี้บ้างหรือไม่
นายสกลธี บอกกับเราว่า คุยกันอยู่แล้ว เพราะนอกจากเป็นเพื่อนร่วมงาน ยังคบกินเที่ยวเหมือนพี่น้องกันมาเป็นสิบๆ ปี เพราะฉะนั้นทุกคนก็มีส่วนให้คำแนะนำอะไรกันอยู่แล้ว ส่วนลุงกำนัน (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) หลังๆ อาจจะไม่ค่อยได้เจอกัน แต่ตนเองมองว่าลุงกำนันก็คงมองตนเองเหมือนลูกหลาน ซึ่งตนเองก็รู้จักมานาน ตั้งแต่เป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ ท่านก็เป็นคนดูแล แล้วก็ติวให้ตั้งแต่อยู่พรรค แต่ว่าหลังจากที่ลุงกำนันตัดสินใจจะมาทำพรรคเอง ผมก็ไปตามทางของผม ซึ่งมันก็คนละแนวกันอยู่แล้ว ส่วนที่ออกมาช่วยพูดก็คงหมายถึงว่าสนับสนุนนะ รู้จักคนนี้มา ก็อยากจะแนะนำให้คนกรุงเทพฯ น่าจะประมาณนั้น เพราะอย่างของพรรคกล้า นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ก็เป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว เพราะก็บอกว่าถ้าคุณลง ผมก็ช่วย
การสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” มองว่าเป็นบวกหรือลบกับการลงผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้อย่างไร
นายสกลธี มองว่าการสนับสนุนใครหรือใครสนับสนุนเรามันมีทั้งบวกและลบอยู่แล้ว อย่างกำนันสุเทพ และนายกฯ ก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เหมือนตัวผมเองที่มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ เพราะฉะนั้นสำหรับผมใครที่ช่วยเหลือสนับสนุนก็ขอบคุณและดีใจ แต่ถ้าจะมองว่าเป็นผลได้หรือผลเสียไหม มันเป็นได้ทั้งคู่ อยู่ที่ว่าคนเขาจะมอง จะมองอย่างไร ผมไม่กังวลเท่าไหร่ครับ
ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะทำอะไรเป็นอย่างแรก
อาจจะเป็นเรื่องของการบริหารจัด แล้วก็การเอาเทคโนโลยี พวกไอทีหรือดิจิทัลทั้งหลายมาช่วยนะครับ อย่างเช่นงานของผมที่ทำได้เยอะ คือการกวดขันบนทางเท้า ถ้าเราเอาเทคโนโลยีมาช่วย มันอาจจะทำให้ประสิทธิภาพมันดีขึ้น ไม่ต้องเอาคนไปนั่งเฝ้าจับตาดู นี่ก็เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเดียว ซึ่งมันมีอีกหลายๆ อย่างที่สามารถเอาตัวเทคโนโลยี หรือการบริหารจัดการงานที่ทำประจำอยู่ให้มันดีขึ้น
แก้น้ำท่วม รถติด PM 2.5 ให้คนกรุงเทพฯ อย่างไร
เรื่องของ PM 2.5 กทม. นายสกลธี ระบุว่า มองอย่างเดียวคงแก้ปัญหาหมดไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่ กทม. รับผิดชอบ อย่างเช่น การลงโทษ การปรับคนเผาซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง ก็จะต้องไปเข้มงวด หรือการตรวจตรารถบรรทุก การตรวจไซต์งานก่อสร้าง หรือการทำสปริงเกอร์น้ำในทุกสถานีรถไฟฟ้า หรือการทำขนส่งสาธารณะให้มันสะดวกขึ้น ทำให้คนใช้รถส่วนตัวน้อย ลดการสันดาปของรถ ก็จะช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมันเป็นหน้าที่ที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด
ส่วนเรื่องการซื้อรถมันอาจจะตอบโจทย์เพราะว่ามันถึงจุดหมาย แต่สำหรับบางคนการซื้อรถมันไม่ใช่คำตอบ ถ้าเราทำให้การต่อของเขาง่ายขึ้น คนจะใช้รถสาธารณะเยอะขึ้น เรื่องบัตรโดยสารร่วม ก่อนที่ผมจะลาออกมา ก็ได้ข่าวว่าทางนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รวมแล้ว ปัญหาที่ผ่านมามันรวมไม่ได้เพราะว่า หนึ่ง คือเราไม่รู้ว่าค่าแรกเข้าใครจะได้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมันไม่เบ็ดเสร็จ เหมือนนายกเทศมนตรีต่างประเทศ ที่เขาคุมทุกอย่าง เอาง่ายๆ แค่เรื่องจราจร ผู้ว่าฯ ทุกคนหาเสียงอยากแก้จราจร แต่ว่าไม่ได้คุมเบ็ดเสร็จ มันจะแก้ยังไง เพราะ กทม.เราดูแค่ขีดสีตีเส้น ปรับไฟสัญญาณจราจร ติดป้าย แต่คนใช้เป็นตำรวจอย่างนี้มันคนละหน่วย เพราะฉะนั้นเวลาทำงานมันก็จะมีปัญหา ถ้าสมมติทุกอย่างมันเบ็ดเสร็จ ผมว่าการแก้ปัญหามันก็จะง่าย แต่ว่าในขณะที่มันยังไม่รวมเบ็ดเสร็จ เพราะฉะนั้นผู้ว่าฯ ก็จะต้องมีการประสาน หรือบูรณาการ เพื่อจะให้หลายๆ อย่างให้งานในกรุงเทพฯ มันจบไปได้
นโยบายหมัดเด็ด คืออะไร
นายสกลธี กล่าวว่า ตนเองจะเสนอเป็น 6 ด้านหลักๆ เช่น ขนส่งสาธารณะ สาธารณสุข การศึกษา เรื่องระบบดิจิทัล เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตความปลอดภัยและผังเมือง ประมาณ 6 ด้าน แต่ว่าถ้าจะเจาะลงไปแต่ละนโยบายที่เก็บสะสมประสบการณ์มา 4 ปี ว่าเราเจออะไรมาบ้าง อยากทำอะไรเพิ่มบ้าง ก็คิดว่านโยบายที่เราเสนอ ผมมั่นใจว่าเราทำได้ภายใน 4 ปีนี้แน่นอน เพราะเป็นนโยบายที่ดูแล้วว่าทำได้จริงด้วย คือไม่ใช่ว่าผมหาเสียงแล้ว พอถึงเวลาแล้วผมทำไม่ได้ในส่วนนั้น
“ผมมองว่าเรื่องที่จะให้ใครถูกใจ 100% เป็นไปไม่ได้ มันอยู่ที่มุมมองว่าของเหมือนกัน บางคนชอบ บางคนอาจจะไม่ชอบ ผมว่าเรื่องของเมืองหลวงมันเป็นเรื่องของจุกจิก ปัญหามันมีตั้งแต่เราออกจากบ้าน ไม่ว่าจะเป็นออกมาขยะเยอะ หรือว่าทางเท้าไม่ดี อยู่ที่ว่าเราแสดงให้คนกรุงเทพฯ เห็นแค่ไหนว่าเราตั้งใจ เราทำเต็มที่จริงๆ ผมว่าถ้าเราทำเต็มที่ ต่อให้มันไม่สำเร็จ 100% มันจะมีจุดบอดอะไรสักอย่างหนึ่ง ผมว่าคนกรุงเทพฯ เขารับตรงนั้นได้ แต่ขอให้เราตั้งใจและพยายามทำ เอาทุกอย่างมาทำแบบนี้จริงๆ”
มั่นใจมากน้อยแค่ไหน
นายสกลธี กล่าวว่า ตนเองก็มั่นใจในการนำเสนอ ไม่เช่นนั้นคงไม่เสนอตัวลงมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ต้องวัดจากคะแนนของประชาชนในวันเลือกตั้งเป็นสำคัญ คือมั่นใจในส่วนตัวของเราว่าเราทำดีที่สุดอยู่แล้ว แต่ว่าส่วนจะได้ไม่ได้ ก็อยู่ที่ชาวกรุงเทพฯ จะเลือกในวันนั้น วันที่ 22 พฤษภาคมนี้
กังวลคู่แข่งคนไหนเป็นพิเศษหรือไม่
นายสกลธี ระบุว่า ไม่ เพราะแต่ละคนก็มีจุดเด่นต่างกัน แล้วที่ถามว่ากังวลไหม ก็คงไม่ เพราะว่าลงมาอยู่ในสนาม ถือว่าทุกคนก็มีโอกาสเท่าๆ กันหมด
“ไอ้เรื่องการตัด(คะแนน) มันมีแน่ เพราะว่าปกติกรุงเทพฯ เนี่ย ผู้สมัครมันจะมีตัวเด่นๆ เต็มที่ 2-3 คน แต่ว่าคราวนี้เนี่ย เนื่องด้วยผู้สมัครเยอะ เด่นๆ ไม่ต่ำกว่า 6 หรือ 7 หรือ 8 ตัวเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นโอกาสในการตัดกันด้วยฐานคะแนนความนิยมมันมีอยู่แล้ว ทีนี้มันอยู่ที่ว่าใครจะได้ ตัดใครได้มากกว่าแค่นั้นเอง
คนกรุงเทพฯ เนี่ยเป็นเสน่ห์มากเวลาเลือกตั้ง เพราะไม่สามารถวัดอะไรได้ รวมถึงใครจะอ้างว่าเป็นเจ้าแห่งกรุงเทพฯ กทม.เนี่ย ผมไม่เชื่อตรงนั้น
คนที่นำโพลมาสุดๆ ก็ไม่ใช่แปลว่าชนะเสมอไป ที่ผ่านมามันก็มีประวัติศาสตร์ ส่วนตัวผมที่ว่าถ้าจะขายคนกรุงเทพฯ ก็จะขายความเป็นตัวตนตัวเราให้มากที่สุด เพราะผมคิดว่าอะไรที่มันประดิษฐ์ ที่มันปลอม มันอยู่ไม่นาน ถึงผมจะชนะด้วยนโยบายของผมและความประดิษฐ์ของผม แต่ตัวตนของผมต้องออกมาสักวันหนึ่ง มันอยู่ไม่ได้นานหรอกครับ เพราะฉะนั้นขายความที่เป็นตัวเรา แล้วก็สิ่งที่เราทำจริงๆ จะดีกว่า” นายสกลธี กล่าวทิ้งท้าย
ผู้เขียน : Supattra.l
กราฟิก : Chonticha Pinijrob