• เปิดใจ ทำไม? ถึงตัดสินใจลงสู้ศึกชิงเก้าอี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
  • นโยบายมัดใจคนกทม.ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้-ลดหนี้สิน ช่วยคนชุมชนแออัด ต้องไม่มีเลี้ยงลูกด้วยนมข้นหวานอีกต่อไป ส่วน “ม้านอกสายตา” หากพ่ายศึก ก็ไม่เป็นไร เราก็ยังตั้งหน้าตั้งตา ทำงานช่วยประชาชนต่อไป
  • คุณ "ชัชชาติ" จะมีสโลแกน "ทำงาน ทำงาน ทำงาน" "คุณเอ้ สุชัชวีร์" แกก็มา "โฟกัส โฟกัส โฟกัส" ถ้าเป็น "ดิฉัน" ก็จะบอกว่า "รับใช้ รับใช้ รับใช้-ใส่ใจ ใส่ใจ ใส่ใจ" ทำเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พี่น้องประชาชน



แล้วปี่กลองการเมือง ในการเลือกตั้งท้องถิ่นก็เชิดอย่างเป็นทางการเสียที เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคาะให้ 22 พ.ค. 2565 เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และเลือกตั้งนายกพัทยา ในวันเดียวกัน 

...

ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ ได้ทยอยสัมภาษณ์เหล่าผู้ประกาศตัวลงสมัครศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.มาโดยตลอด ไล่ตั้งแต่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ต่อด้วย ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ปชป.แชมป์เก่า หรือแม้แต่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จาก พรรคก้าวไกล ซึ่ง บุคคลเหล่านี้ ต้องยอมรับว่า เป็นตัวเต็งในการชิงผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ 

หันกลับมามองอีก 1 คน ที่ชิงประกาศตั้งแต่ไก่โห่ ว่า พร้อมลงชิงตำแหน่งพ่อเมืองหลวง อย่าง น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ถึงแม้ต้องยอมรับว่า น.ส.รสนา อาจดูเป็นรอง เป็น "ม้านอกสายตา" ของใครหลายๆ คน แต่ก็ใช่ว่าจะประมาทได้ 

งานนี้ อยากลองให้ไปดูถึงเหตุผล การตัดสินใจลงสมัคร เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ของเจ้าตัวกัน ว่า มีดี และมั่นใจอะไร ถึงตัดสินใจ ลงชิงเก้าอี้พ่อเมืองกรุง อย่างกทม. ไม่แน่หลายคนดูจบ อาจเปลี่ยนใจยอมเลือกคนๆ นี้ เป็นผู้ว่าฯ กทม.หญิงคนใหม่ก็ได้ ใครจะไปรู้ 

ทำไม ตัดสินใจลงผู้ว่าฯ กทม.

น.ส.รสนา กล่าวว่า การสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณไม่จำเป็น ที่จะต้องไปสังกัดพรรค เพราะฉะนั้นในฐานะประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่งที่ได้ทำงานในเรื่องความไม่เป็นธรรมต่างๆ นะคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางสังคม เรื่องทางการเมือง เราได้ทำมาตลอดนะคะ แล้วเราก็คิดว่าถ้าหากว่าเราสามารถเข้ามาในพื้นที่ตรงจุดนี้เราจะสามารถที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้มากขึ้น อันนี้เป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้ตัดสนใจที่จะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.

คนแบบไหนเหมาะเป็น ผู้ว่าฯ กทม.

"มันเคย มีการทำสำรวจเรื่องว่าคนกทม.ต้องการคุณลักษณะแบบไหนของผู้ว่าฯ กทม. ประเด็นสำคัญคือเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งดิฉันคิดว่าตัวเองมีคุณสมบัติในส่วนนั้น ในส่วนนั้นก็คือว่าดิฉันเองต่อสู้ก็เพื่อที่จะพิทักษ์ปกป้องสาธารณสมบัติของแผ่นดินมาโดยตลอด แล้วก็ทำกิจกรรมทั้งหลายก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของประชาชน มันเป็นคุณสมบัติ ที่เราจะสามารถนำมาพัฒนา กทม.ไปพร้อมๆ กับการมีธรรมาภิบาล"

นโยบายมัดใจคนกรุงเทพฯ

น.ส.รสนา กล่าวต่ออีกว่า ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ แล้วรวมถึงเรื่องการลดหนี้ด้วยนะ เราอยากทำให้ประชาชนคนกรุงเทพเนี่ย เงยหน้า อ้าปาก แล้วอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เด็กอุแว้ขึ้นมาหนึ่งคน หนี้สองแสนกว่าบาท ตายแล้ว มีหนี้ทุกคน ดิฉันคิดว่าไอ้แบบนี้เราจะยิ่งต้องทำให้คนกรุงเทพฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น กทม.มันมีหน่วยธุรกิจอยู่แล้วคุณอาจจะสามารถทำกองทุน ให้แม่ค้ารายเล็กรายน้อยเนี่ยกู้ยืม แทนที่เขาจะต้องไปกู้หนี้นอกระบบร้อยละ 20 ต่อวัน โอ้โห ดิฉันคิดว่า อันนี้มันโหดร้ายทารุณเกินไปหน่อยนะ

แล้วอีกเรื่องหนึ่งคงเรื่องการศึกษาว่า เด็กเล็กมีความสำคัญมาก เพราะเราเป็นสังคมผู้สูงอายุ เรามีเด็กที่เกิดน้อยลง ในปี 64 เด็กเกิดน้อยที่สุดเลยในประวัติศาสตร์ และในช่วงโควิดนะคะ อาสาสมัครที่ดิฉันมีคอนแท็กเนี่ย เขาลงไปสำรวจชุมชนแออัดในทองหล่อเลยนะคะปรากฏว่าบ้านคนรายได้น้อย คนยากจนในชุมชนแออัด ลูกไม่มีนมนะ ต้องใช้นมข้นหวาน ซึ่งดิฉันคิดว่า ถ้าดิฉันเป็นผู้ว่าฯ กทม.สิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน เพราะว่า ภารกิจ กทม.มีอยู่แล้ว ที่จะทำในเรื่องนี้ เขาต้องได้อาหารที่ดี แม่ต้องได้อาหารที่ดี ไม่ว่าคุณจะมีอาชีพ หรือ คุณจะมีปัญหาอะไร กทม.ต้องสนับสนุนในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นอันนี้แหละมันคือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่อาจารย์ป๋วย พูดว่าคุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ดิฉันคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ แล้วดิฉันอยากทำสิ่งนี้ให้มันเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด ถ้าดิฉันมีโอกาส

"แล้วก็รวมไปถึงอากาศบริสุทธิ์ ที่เราต้องการหายใจเนี่ย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นคุณภาพชีวิตที่สำคัญที่สุด และข้อต่อมาคือการมีส่วนร่วม คือที่ผ่านมาดิฉันคิดว่า กทม.มีปัญหาเยอะ ผู้ว่าฯ หนึ่งคน รองผู้ว่าฯ สี่คน ทำอะไรไม่ได้หรอกมันต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือของประชาชนในการที่จะบอกเล่าปัญหา แล้วก็รวมไปถึงวิธีการแก้ไข อันนี้แหละมันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดิฉันเรียกว่าประชาธิปไตยทางตรง หรือประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ คือ เราต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตลอดเวลา ไม่ใช่ว่า เมื่อคุณเลือกตั้งหย่อนบัตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณไม่มีอำนาจอะไรเลยนะ คุณถอยเลยกลับไปนอนบ้าน ทุกอย่างฉันทำให้หมด ฉันรับเหมาทำแทน ไม่ใช่ดิฉันจะไม่ทำแบบนั้นนะคะ" น.ส.รสนา กล่าว...

งบประมาณกทม.ทำยังไงให้เพียงพอ

กทม.เวลานี้ ปี 65 เขามีงบฯ อยู่ เจ็ดหมื่นเก้าพันล้าน ก็เกือบแปดหมื่นล้านแล้วก็มีงบฯ ของรัฐบาลที่ฝากเข้ามาในนี้ก็ประมาณแสนล้าน ดิฉันคิดว่าดิฉันจะพยายามเกลี่ยงบประมาณใหม่ที่จะทำให้กิจกรรมที่มีความสำคัญต่อชุมชน ต่อประชาชน ต่อเด็ก ต่อคนกรุงเทพฯ เนี่ยมีงบประมาณใหม่มากขึ้นและดิฉันเองก็ไม่ได้คิดว่าเราจะทำเมกะโปรเจกต์อะไร เมกะโปรเจกต์ที่คนก่อนๆ ทำมาแล้ว ดิฉันก็ยังไม่รู้เลยนะว่าเงิน จริงๆ มันจะเหลือเท่าไร แต่ดิฉันเอง เชื่อมั่นว่าจะไม่มีเงินทอน เงินใต้โต๊ะในยุคสมัยดิฉัน เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าถ้าเราใช้เม็ดเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เต็มที่ ไม่ให้มีการตกหล่น มันก็สามารถที่จะช่วยได้ แล้วก็กิจกรรมในส่วนที่เป็นธุรกิจของ กทม. ดิฉันก็ต้องไปดูว่ามันมีเงินบางส่วนที่จะมาช่วยเหลือภาคสังคมได้อย่างไรบ้าง

ถ้าเป็นผู้ว่าฯ มั่นใจประสานงานกับรัฐบาลได้

สบายอยู่แล้ว ในสมัยที่เป็น ส.ว. เราก็ยังประสานงานได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นผู้ว่าฯ ทำไมเราจะประสานกับรัฐบาลไม่ได้ ดิฉันคิดว่าถ้าเป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่การแย่งชิงทางการเมือง เป็นเรื่องของการทำประโยชน์ให้กับชาวบ้านโดยตรง ทำไมจะประสานไม่ได้ เพราะฉะนั้นไอ้ที่เราคิดกันนะว่า เอ๊ย ผู้ว่าฯ กับพรรคที่เป็นรัฐบาลต้องเป็นพรรคเดียวกัน ไม่เคยเป็นจริงเลยใช่ไหม เพราะว่าคนกทม.เขามีวิจารณญาณ เขาไม่ต้องการจะให้มาแบบเป็นผ้าผืนเดียวกันอย่างที่ บางคนชอบพูดนะ ใช่ไหมฮะ เขายังคิดว่าที่จะเอาไว้คานดุลซึ่งกันและกัน

ปัญหาคนกทม.ที่ควรเร่งแก้ไข

ยกตัวอย่างได้เลยโรงกำจัดขยะ ตอนนี้ทำที่อ่อนนุช ปรากฏว่าหมู่บ้านเขาอยู่กันมายี่สิบปี เขาไม่เคยได้กลิ่นขยะ แต่พอคุณเอาโรงกำจัดขยะไปตั้งปุ๊บ โอ้โหเหม็นไปหมด เหม็นไปถึงศรีนครินทร์ ดิฉันบอกได้เลย ถ้าดิฉันเป็นผู้ว่าฯ กทม.อันนี้ทำไม่ได้ คุณต้องหยุดก่อนเลย จนกว่าคุณจะแก้ไขได้ ถ้าคุณแก้ไขไม่ได้คุณต้องย้ายออกไป ไม่ใช่บอกว่าเอ๊ยฉันก็แก้ไปเรื่อยๆ ชาวบ้านก็เหม็นไปเรื่อยๆ คนที่มาเป็นผู้ว่าฯ มาบริหารเนี่ยคุณจะต้องมาทำงานเพื่อรับใช้ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับชาวบ้าน ไม่ใช่คุณมากำจัดสุขของเขาแล้วก็มาเอาทุกข์มาให้เขายังเงี้ย คุณเป็นผู้ว่าฯ ไม่ได้

“ม้านอกสายตา” หากพ่ายศึก

อดีต ส.ว.กล่าวว่า ดิฉันไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแพ้ชนะ ดิฉันคิดว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ให้ดีที่สุดเราก็เสนอตัวเพื่อให้เป็นตัวเลือก ถ้าชาวกทม.เขาเลือกดิฉันก็จะทำงานให้เต็มที่ แต่ถ้าชาวกทม.ไม่เลือก ดิฉันก็ยังทำงานในฐานะคนทำงานทางสังคม คนทำงานทางการเมืองภาคประชาชนต่อไปนะคะ ดิฉันก็คิดว่าเราก็เป็นประชาชนนะ การทำเราเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เราก็ได้รับส่วนดีอันนั้นด้วย เฉพาะฉะนั้นไม่ว่าดิฉันจะมีตำแหน่งไม่มีตำแหน่งดิฉันก็ยังทำของดิฉันอยู่

ช่วงหนึ่ง ที่ น.ส.รสนา พยายามเน้นตลอดการให้สัมภาษณ์ ยืนยันว่าหากตนเองมีโอกาสได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.จริง ก็จะขอทำงานในคนกทม.เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข

"ว่าที่ผู้สมัครหลายคน อย่างคุณชัชชาติ จะมีสโลแกน "ทำงาน ทำงาน ทำงาน" คุณเอ้ สุชัชวีร์ แกก็มา "โฟกัส โฟกัส โฟกัส" ถ้าเป็นดิฉันก็จะบอกว่า "รับใช้ รับใช้ รับใช้ - ใส่ใจ ใส่ใจ ใส่ใจ" ทำเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข"

งานนี้ก็ต้องรอดู หากผู้หญิงคนนี้ มีโอกาสจับพลัดจับผลูได้ไปนั่งในตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม.จริง ว่าจะสามารถทำได้อย่างที่พูดหรือไม่ "ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน".



ผู้เขียน : เดชจิวยี่ 

กราฟิก:sathit chuephanngam