นับถอยหลังเตรียมเข้าสู่ศักราชใหม่ อนาคตของการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป จากมุมมอง “ปณิธาน วัฒนายากร” จะดีขึ้นหรือจะแย่ลง ต้องเผชิญ รับมือ หรือปรับเปลี่ยนอะไรต่อไป พร้อมจับตาผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17

เผลอแป๊บเดียวอีกไม่นานก็จะเข้าสู่ศักราชใหม่ 2563 หรือปีคริสต์ศักราช 2020 แล้ว อนาคตของการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป จะดีขึ้นหรือจะแย่ลงขนาดไหน รัฐบาลต้องเผชิญหน้าหรือรับมือกับอะไร ไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในอดีตยังเคยเป็นที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อีกด้วย ซึ่งในมุมมองของ รศ.ดร.ปณิธาน สำหรับปี 2020 นี้ มองว่า ภาพรวมมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ในอดีตไม่ปกติ แต่จะปกติในปีหน้าและปีต่อๆ ไป โดยรัฐบาลจึงต้องเตรียม 2-3 เรื่อง ดังนี้

เรื่องที่ 1 คือ การทำงาน การบริหาร รัฐบาลต้องเตรียมการตอบสนองประชาชนในหลายรูปแบบมากขึ้น รวมถึงต้องรวดเร็วและหลากหลายขึ้นด้วย เพราะแรงกดดันในการเรียกร้องรัฐบาลให้มีผลงานมากขึ้นหลังจากครบ 1 ปี ของการดำรงตำแหน่ง รวมถึงคนต้องการเห็นเรื่องการแก้ไขรับธรรมนูญ ปัญหาปากท้อง และเกษตรกร

...

เรื่องที่ 2 รัฐบาลต้องเจอกับการตรวจสอบ ซึ่งในสภาผู้แทนราษฎรจะเข้มข้นขึ้น ทั้งฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ การอภิปรายเรื่องงบประมาณ กระทู้ต่างๆ และเรื่องที่กรรมาธิการแต่ละคณะจะเริ่มมีการตรวจสอบมากขึ้น รวมทั้งเรื่องการแก้ไขรับธรรมนูญก็จะถูกจับตามากขึ้นด้วยเช่นกัน

เรื่องที่ 3 การต่างประเทศจะซับซ้อนขึ้น ทั้งสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศเข้าสู่ฤดูการเลือกตั้ง การระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ของไทย ซึ่งไทยต้องเฝ้าระวังเรื่องค้ามนุษย์ด้วย และขณะนี้จีนเศรษฐกิจถดถอยพอสมควร แม้ว่ายังโตอยู่แต่ก็ต้องเฝ้าระวังผลกระทบกับเรา เพราะไทยพึ่งพาจีนอยู่มาก รวมทั้งการทยอยกลับมาของกลุ่มคนที่ไปรบในตะวันออกกลางมากขึ้นเรื่อยๆ การก่อเหตุร้ายในหลายประเทศ, 5G, การโจมตีทางไซเบอร์ ต้องรับมือเรื่องต่างๆ มากขึ้น แต่โดยรวมปีหน้าดูเรียบร้อยดี ยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงมาก แต่หนึ่งในปัจจัยที่ต้องดูให้ดี คือ “ความไม่พอใจเรื่องเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ไม่พอใจในความไม่เป็นธรรม”

ทั้งนี้ แม้การปั๊มเงินลงไปจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทุกรัฐบาลทำ จะทำให้คนระดับรากหญ้าสามารถอดทนต่อไปได้ แต่ก็คิดว่าคงอยู่แบบนี้ได้ไม่นาน มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องดูสภาพเศรษฐกิจด้วย ซึ่งพื้นที่ใหญ่จริงๆ คือคนชั้นกลางที่เสียภาษีเยอะมาก มีค่าใช้จ่ายเยอะมาก รัฐบาลต้องช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าครองชีพ เป็นต้น ถ้าลดลงมาได้คนกลุ่มนี้จะเริ่มออกมาใช้จ่าย ส่วนคนชั้นกลางระดับสูงเขาจะดูว่ามีวิธีการลดภาษีอย่างไร เขามีเงินแต่ไม่ซื้อ เก็บเงินเอาไว้ หากทำให้กลุ่มคนนี้ยอมทุบกระปุกจ่าย เศรษฐกิจเดินแน่ และในส่วนนี้เป็นจุดที่ฝ่ายค้านกลัวว่า ยอมรับว่าจะเพิ่มถ้าเศรษฐกิจเดินรัฐบาลได้เครดิตเต็มๆ ขณะที่คนระดับสูงเขาก็ซื้อของราคาแพงอยู่แล้ว รัฐบาลต้องให้คนชั้นกลางระดับสูงที่มีเงินออกมาใช้จ่ายให้มากขึ้น

รศ.ดร.ปณิธาน ยังบอกด้วยว่า หลังจากนี้ต้องดูตัวเลขหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ การกู้เงิน ถ้าไม่โหมหนักปีหน้าก็ยังคงทรงๆ ทรุดๆ ส่วนเรื่องการไม่เกณฑ์ทหาร ส่วนตัวเห็นว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว การเพิ่มเบี้ยคนชราเป็น 3,000 บาท จะทำให้หนี้ท่วมมโหฬาร เพราะกระโดดสูงมากไป แต่ถ้าไม่เพิ่มก็อยู่ลำบาก ก็ยอมรับว่า เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราก็เพิ่มได้แต่อาจจะเพิ่มได้ไม่มาก คือเพิ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป 

“โดยทั่วไปรัฐบาลควรเฝ้าระวังการกระตุ้นการใช้จ่ายให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้า จะทำให้ไม่ตกไปอยู่ในกลุ่มการปะทุจนเกิดการชุมนุม ซึ่งแต่ละประเทศไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้น แต่ปั๊มเงินลงไปนานๆ รัฐบาลก็แย่เหมือนกัน ถ้ารัฐตัดสินใจดี ตอบสนองดี โปร่งใส ก็อาจไม่เกิดปัญหา”

นอกเหนือจากที่ ดร.ปณิธาน กล่าวไปแล้ว ในปี 2563 ยังเป็นปีที่ประชาชนจับตาดูการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครด้วย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยพูดไว้ว่าในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แน่นอน ซึ่งรายชื่อแคนดิเดตบางส่วนที่เผยออกมาก็อยู่ในความสนใจของประชาชน แต่ใครจะได้มาเป็น ผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 เมื่อถึงเวลานั้นคงได้รู้กัน.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "ประเทศไทยปี 2020"