แป๊บๆ ก็เหลืออีกแค่เพียงเดือนเดียวจะผ่านพ้นไปอีกปี เปลี่ยนผันจากปีกุนสู่ปีชวด เตรียมเข้าสู่ปี 2563 หรือ ค.ศ. 2020 ปีใหม่ๆ กับสิ่งใหม่ๆ ประเทศไทยจะมีอะไรเพิ่มขึ้นมา จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง มาสำรวจไปพร้อมๆ กัน

ตลอดช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ภาพที่เราคุ้นตาและคุ้นเคยตามแนวเส้นทางถนนในหลายๆ จุดของกรุงเทพมหานคร คงหนีไม่พ้นการก่อสร้าง "รถไฟฟ้า" ที่คาดว่าจะค่อยๆ ทยอยเปิดให้บริการกันทีละสาย และในปี 2568 ก็คงได้ใช้บริการเกือบครบทุกสาย

แน่นอนว่า "ประเทศไทย 2020" ก็มี "รถไฟฟ้า" สายใหม่เปิดให้บริการเช่นกัน และเปิดเพิ่มถึง 3 เส้นทาง ทั้งลอยฟ้าและใต้ดิน เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน จากนอกเมืองสู่ในเมือง และจากในเมืองออกไปเที่ยวนอกเมือง

ซึ่งแต่ละสายมีอะไรน่าสนใจอยู่ข้างทาง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์จะพาคุณผู้อ่านไปสำรวจกัน!!

เริ่มกันที่สายแรก รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

ปัจจุบัน สายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้เปิดทดลองให้บริการไปแล้ว 1 สถานี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 ซึ่งเชื่อมต่อมาจาก "สถานีหมอชิต" ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสถานีที่ว่านั้นคือ "สถานีห้าแยกลาดพร้าว" หรือที่หลายๆ คนเรียกกันว่า "สถานีเซ็นทรัลลาดพร้าว" ตามทำเลที่ตั้งที่อยู่ติดกับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว และมีทางเชื่อมที่เหล่านักช็อปสามารถเดินทะลุเข้าไปภายในห้างได้เลย

...

ทำเลของ "สถานีห้าแยกลาดพร้าว" ถือเป็นสถานีที่มีศักยภาพสูงมากทีเดียว เพราะรายล้อมไปด้วยห้างสรรพสินค้า ทั้งเซ็นทรัลลาดพร้าว, ยูเนี่ยนมอลล์ และเทสโก้ โลตัส ซึ่งเชื่อมต่อกับ "สถานีหมอชิต" ที่หากนักช็อปยังไม่จุดใจกับ "ตลาดนัดสวนจตุจักร" แหล่งช็อปปิ้งกลางแจ้งที่เป็นสถานที่แนะนำของชาวต่างชาติ ก็สามารถนั่งต่อมาอีก 1 สถานี ลงที่ "สถานีห้าแยกลาดพร้าว" ได้ หรือถ้าจะเชื่อมต่อไปยังสถานที่อื่นๆ ด้วยบริการรถสาธารณะอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน มีทั้งรถโดยสารสาธารณะ (รถเมล์) ทั้ง ขสมก. และรถร่วมบริการ นั่งเชื่อมต่อไปยังถนนลาดพร้าว (เส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) หรือจะนั่งต่อไปตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือที่ต่อจาก "สถานีห้าแยกลาดพร้าว" เพื่อมุ่งสู่นอกเมืองก็ย่อมได้ หรือจะเป็นรถตู้โดยสารสาธารณะก็มีให้เลือกหลายเส้นทาง

นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อกับ "สถานีพหลโยธิน" ของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) ที่มุ่งหน้าไปย่านพระราม 9 แหล่งใจกลางเมืองย่านธุรกิจ

ส่วนการเปิดให้บริการเส้นทางแบบเต็มสูบของ "รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต" รวมระยะทาง 19 กิโลเมตร ภายในสิ้นปี 2563 ได้นั่งกันแน่นอน

โดยตลอดเส้นทาง "รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ" นี้ เป็นที่กล่าวขานกันมานานว่า รถติด รถแน่น ติดกันยาวๆ หลายชั่วโมง เชื่อว่า หลังการเปิดให้บริการแบบฟูลทุกเส้นทางจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้มากทีเดียว เพราะมีการประมาณการว่า "รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ" จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง หากเทียบกับรถยนต์ขนาด 4 ที่นั่ง ก็อาจลดจำนวนรถยนต์ไปได้เกือบ 10,000 คัน

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจรอบข้างแนว "รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ" เส้นนี้ นอกจากแหล่งใจกลางห้าแยกลาดพร้าวแล้ว ยังมี "สถานีรัชโยธิน" ที่อยู่ติดแหล่งความบันเทิงอย่างโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และสวนสนุกแดนเนรมิต (เก่า) ที่เปลี่ยนมาเป็นแหล่งรวมร้านอาหารนั่งชิล, "สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ที่อยู่ตรงแยกเกษตร จุดตัดและเชื่อมต่อ 3 ถนน คือ ถนนพหลโยธิน, ถนนเกษตร-นวมินทร์ และถนนงามวงศ์วาน แถมยังอยู่ติดรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยให้การเดินทางของนักศึกษาสะดวกมากขึ้น, "สถานีกรมทหารราบที่ 11" ที่มีบ้านบางเขน สถานที่ที่คนมักจะมานั่งอ่านหนังสือ ดื่มด่ำบรรยากาศคาเฟ่สไตล์วินเทจ และยังเชื่อมต่อกับอู่รถโดยสารประจำทาง ขสมก. เขตการเดินรถที่ 1 บางเขนอีกด้วย

...

ส่วนใครที่อยากจะมาไหว้พระทำบุญที่วัดพระศรีมหาธาตุ แน่นอนว่าต้องมาลงที่ "สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ" ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งตรงสถานีนี้ในอนาคตจะสามารถเชื่อมต่อกับสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ได้อีกด้วย (คาดเปิดให้บริการในปี 2564)

อีกหนึ่งสถานีที่เป็นไฮไลต์ของ "รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ" คือ "สถานีสะพานใหม่" ซึ่งมีตลาดยิ่งเจริญ แหล่งรวมอาหารการกินและเป็นตลาดชื่อดังในย่านนี้

สำหรับคนที่อาศัยอยู่นอกเมืองแล้วต้องการขับรถยนต์ส่วนตัวเพื่อมาต่อ "รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ" เข้าทำงานหรือเที่ยวต่อในเมือง ก็สามารถขับรถยนต์มาจอดที่อาคารจอดรถ (Park & Ride Building) ได้ที่ "สถานีแยก คปอ." รองรับ 1,042 คัน และ "สถานีคูคต" รองรับ 713 คัน และจักรยานยนต์ 70 คัน

...

รวมแล้ว "รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต" มีทั้งหมด 16 สถานี นั่งกันเพลินๆ ยาวๆ ไป จากกรุงเทพมหานครสู่ปทุมธานี และจากปทุมธานีสู่กรุงเทพมหานคร ในราคาตลอดสายไม่เกิน 65-150 บาท (ณ 28 พ.ย. 62 : ยังไม่สรุปราคาแน่ชัด แต่เบื้องต้น กทม. กำหนดเพดานอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดสายสูงสุดจะไม่เกิน 65 บาท ส่วน ครม.เศรษฐกิจ คาดว่าจะไม่ให้เกิน 150 บาท)

ความน่าสนใจอีกหนึ่งอย่างที่มาพร้อมกับ "รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต" คือ ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ตลอดแนวเส้นทาง หากมองย้อนกลับไปในช่วงก่อนมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ราคาขายถือว่าถูกมาก อยู่ที่ 72,000-110,000 บาทต่อตารางเมตรเท่านั้น แต่ปัจจุบัน จากการสำรวจของทีมข่าวฯ พบว่า อยู่ที่ 78,000-140,000 บาทต่อตารางเมตร เพิ่มขึ้นกว่า 27% และคาดว่า ในอนาคต "รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต" จะกลายเป็นทำเลทองของนักลงทุนในการพัฒนาแหล่งช็อปปิ้งหรือแม้แต่อสังหาริมทรัพย์อย่างคอนโดมิเนียมเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง

สำหรับสายที่สอง คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ

ที่เตรียมเปิดให้บริการภายในไตรมาส 1 ของปี 2563 ซึ่งหลังจากเปิดบริการ "รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ" นี้ จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสมบูรณ์และเส้นทางเดินรถวนเป็นวงกลม เชื่อมต่อสถานีกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเส้นทางที่เปิดให้บริการไปก่อนแล้ว โดยราคาที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ประมาณ 16-42 บาท

สำหรับความน่าสนใจตลอดสองข้างทางของแนว "รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ" นั้น จะเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นย่านชุมชนเก่าแก่ ตลอดสองข้างทางจึงเต็มไปด้วยวิถีชุมชนวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ทั้งอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงสายบุญที่ชื่นชอบการเข้าวัดเข้าวา

...

ก็เริ่มตั้งแต่ "สถานีเตาปูน" ที่นอกจากจะเชื่อมต่อกับเส้นทางเดิมของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางไป "สถานีเตาปูน" ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพื่อข้ามไปฝั่งนนทบุรีได้อีกด้วย

อย่างที่บอกว่า เส้นทาง "รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ" เหมาะกับสายบุญที่ชื่นชอบการเข้าวัด นั่นก็เพราะมีวัดอยู่เกือบทุกๆ สถานี ไล่เรียงตั้งแต่ วัดบางโพโอมาวาส ของ "สถานีบางโพ", วัดสามัคคีสุทธาวาสและวัดฉัตรแก้วจงกลณี หรือที่เรียกกันว่า วัดบางอ้อ ของ "สถานีบางอ้อ" ซึ่งมีประวัติมายาวนาน ส่วนใหญ่มักเดินทางมาสักการะเจดีย์ทรงปรางค์และชมวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ต่อกันที่วัดอาวุธวิกสิตาราม ของ "สถานีบางพลัด", วัดสุทธาวาส และวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ของ "สถานีบางยี่ขัน" ซึ่งสถานีนี้สามารถเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟธนบุรีได้ด้วย ยังไม่หมดไปต่อกันที่วัดรวกสุทธาราม ของ "สถานีไฟฉาย" และวัดโพธิ์เรียง ของ "สถานีวัดจรัญฯ 13"

สุดท้ายมาบรรจบที่ "สถานีท่าพระ" และอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีสถานีที่มีความงดงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อยู่ 4 สถานี นั่นก็คือ สถานีวัดมังกร, สถานีสามยอด, สถานีสนามไชย และสถานีอิสรภาพ หากอยากไปยลโฉมก็สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ทันที เพราะเส้นทางรถมีลักษณะเป็นวงกลม

เรียกได้ว่า "รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน" คือ รถไฟฟ้าเส้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

อีกหนึ่งเส้นทางรถไฟฟ้าที่เป็นไฮไลต์เด็ด และเรียกได้ว่า "สั้นที่สุด" ก็ว่าได้ มีเพียง 4 สถานีเท่านั้น คือ รถไฟฟ้าสายสีทอง

ซึ่งความน่าสนใจของ "รถไฟฟ้าสายสีทอง" นี้ เริ่มตั้งแต่ลักษณะรถไฟฟ้าที่เป็นรูปแบบรางเบาไร้คนขับ แต่ใช้รางนำทางแทน คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4,000-12,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง

เริ่มต้นที่ "สถานีกรุงธนบุรี" ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีกรุงธนบุรี ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) หากใครที่ชื่นชอบท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอยากไปจบที่การช็อปปิ้ง "รถไฟฟ้าสายสีทอง" ก็ตอบโจทย์ได้ดี เพราะห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ย่านฝั่งตะวันตกที่รวมร้านเด็ดร้านดัง งานอีเวนต์อลังการๆ อย่าง "ไอคอนสยาม" (ICONSIAM) นั้นอยู่ที่ "สถานีเจริญนคร" นั่งต่อมาอีกเพียง 1 สถานีแค่นั้นเอง

และถ้านั่งไปต่ออีก 2 สถานี คือ "สถานีคลองสาน" และ "สถานีประชาธิปก" ก็สามารถเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (ตามลำดับ)

และในอนาคต คาดว่า "รถไฟฟ้าสายสีทอง" จะทำให้ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ดีดขึ้นไม่ต่างจากแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต อย่างแน่นอน

แม้ในปีหน้าจะมีรถไฟฟ้าเพิ่มเพียง 3 เส้นทาง แต่นับเป็นก้าวหนึ่งที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลง เพราะการคมนาคมถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับประเทศ หลังจากนี้ สิ่งที่ต้องคิดและคำนวณให้ดี คือ ค่าบริการ หรือ "ราคา" ที่ต้องตอบโจทย์และไม่สร้างภาระค่าครองชีพของประชาชน

เริ่มนับถอยหลัง ภาพและบรรยากาศของ "ประเทศไทย 2019" ที่คุ้นตาและคุ้นเคย กำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่ภาพและบรรยากาศแบบใหม่ๆ ที่อาจมีคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า และการพัฒนาพื้นที่จากชุมชนเดิมเป็นย่านเศรษฐกิจ เพื่อก้าวเข้าสู่ "ประเทศไทย 2020".

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "ประเทศไทยปี 2020"