บันทึกไว้ เช้าวันที่ 8 มีนาคม 2567 จังหวัดเชียงใหม่ มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงติดอันดับ 2 ของโลก มีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง วัดได้ “183 AQI US” มีผลกระทบต่อสุขภาพในระดับสูงสุด นอกจากนี้แล้ว...จุดความร้อนมีมาก “เผา” กันทั้งภาค รวมทั้ง ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วย

“เชียงใหม่” โมเดลแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกิดอะไรขึ้น...? อาจารย์ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ตั้งคำถาม

สนธิ คชวัฒน์
สนธิ คชวัฒน์

มุมมองหนึ่งสะท้อนไว้ว่า “ปัญหาฝุ่น...ปัญหาหมอกควัน” ไม่ใช่เป็นปัญหาท้องถิ่นอีกต่อไปแล้วและอาจไม่ใช่ปัญหาภูมิภาคด้วยซ้ำ มันน่าจะเป็นปัญหาฝุ่นและละอองน้ำสะสมในบรรยากาศที่ลอยไปตามกระแสลมในแถบเส้นศูนย์สูตร ที่กำลังคุกคามชีวิตของสิ่งที่มีชีวิต

จริงๆแล้วการสะสมนี้ก็เกิดจากฝีมือ... “มนุษย์”

ข้อมูลที่น่าจะนำมาวิเคราะห์ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างฮอตสปอตในประเทศและในประเทศเพื่อนบ้านกับระยะเวลาและค่า AQIหาก..AQI ยังสูง ขณะที่จำนวนฮอตสปอตลดลง ก็แสดงว่าบัดนี้... “ฝุ่น” เป็นภัยของมนุษยชาติจริงๆ

...

ตอกย้ำประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากฝีมือมนุษย์ อาจารย์สนธิ พุ่งเป้าต่อเนื่องไปที่ประเด็นการกำจัด “ขยะ”...อะไรทำให้ประเทศไทยมีแต่ “หลุมขยะ” และ “เตาเผาขยะ”

ข้อแรก...กฎกระทรวงการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ.2560 ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวด 2 การจัดการมูลฝอยทั่วไปกำหนดในข้อ 5 ...“เพื่อประโยชน์การเก็บมูลฝอยทั่วไปให้ผู้ซึ่งก่อให้เกิดมูลฝอยคัดแยกมูลฝอยที่อย่างน้อยต้องคัดแยกเป็นมูลฝอยทั่วไปและมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนโดยให้คัดแยกมูลฝอยนำกลับมาใช้ใหม่ออกจากมูลฝอยทั่วไป ด้วยราชการส่วนท้องถิ่นอาจออกข้อกำหนดของท้องถิ่นกำหนดให้มีการคัดแยกมูลฝอยอินทรีย์หรือมูลฝอยประเภทอื่นออกจากมูลฝอยทั่วไปได้”

ข้อสอง...กฎหมายกำหนดชัดเจนว่า ท้องถิ่นต้องกำหนดให้บ้านทุกหลังหรือร้านค้าทุกแห่งต้องทำการแยกขยะทั่วไป, ขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่และขยะพิษออกจากกัน และท้องถิ่นนำขยะที่แยกแล้วไปจัดการต่อไป

รวมทั้งควรต้องออกข้อบัญญัติให้ทุกแหล่งกำเนิดทำการคัดแยกขยะที่ต้นทาง....

แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่มีการกระทำดังกล่าว ท้องถิ่นรวมทั้ง กทม.ยังชอบเก็บขนขยะแบบรวมและนำไปฝังกลบหรือเอาไปเผาผลิตไฟฟ้าก่อให้เกิดปัญหามลพิษในหลายพื้นที่

ปัจจุบันมีกองขยะแบบเทกองเป็นภูเขาทั่วประเทศเกือบ 2,000แห่ง สิ่งที่แปลกก็คือ มีกฎหมายออกมาอย่างชัดเจนให้แยกขยะแต่ราชการส่วนท้องถิ่นก็ไม่ทำตาม หน่วยงานที่ออกกฎหมายตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 คือ กรมอนามัยโดยคณะกรรมการสาธารณสุขก็ไม่เคยสนใจ เมื่อออกกฎกระทรวงมาแล้วก็ทิ้งขว้าง ไม่ติดตาม ไม่ตรวจสอบว่า มีหน่วยงานใดทำหรือไม่...อย่างนี้เสียของ

ทุกวันนี้ที่แปลกก็คือ แทนที่จะเน้นการลดขยะที่ต้นทางด้วยการ Reduce...ลด Reuse...ใช้ซ้ำ และ Recycle...รีไซเคิล แต่กลับไปเน้นกำจัดที่ปลายทางทั้งการเผาและการฝังกลบ ซึ่งมีทั้งผลประโยชน์และก่อมลพิษ รวมทั้งยังเป็นสาเหตุให้โลกร้อนอีกด้วย

ข้อสาม...หากดูประเทศญี่ปุ่นซึ่งต้นแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองย่านการค้าของประเทศญี่ปุ่นจะไม่มีถังขยะตั้งอยู่เลย ทุกคนต้องเอาขยะกลับไปทิ้งที่บ้าน ยกเว้นบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินและสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น จึงจะมีถังที่แยกขยะติดป้ายชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่มี 3 ประเภทคือขยะเผาได้, เผาไม่ได้, รีไซเคิลได้

...

หากทิ้งขยะบนพื้นจะถูกกล้องถ่ายไว้และมีระบบติดตามตัวให้ไปเสียเงินค่าปรับราคาแพง ร้านค้าทุกแห่งทั้งสะดวกซื้อและตลาดทั่วไปยังแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้าทุกคนถ้าต้องการ

ข้อสี่...เนื่องจากญี่ปุ่นมีกฎหมายบังคับให้ทุกครัวเรือนและร้านค้าต้องแยกขยะก่อนให้เทศบาลมาเก็บขน ทุกแหล่งกำเนิดจะแยกขยะตามข้อกฎหมาย โดยเทศบาลจะนำเศษพลาสติก...ขยะที่เผาได้ไปเป็นเชื้อเพลิงของโรงงานเผาขยะผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ (มากกว่า 50 เมกะวัตต์ ไม่ใช่แค่ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ แบบบ้านเรา)

โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเป็นของรัฐบาลซึ่งจะมีระบบป้องกันมลพิษอย่างดีเยี่ยม ส่วนขยะพลาสติกจะส่งเข้าโรงงานรีไซเคิล ทำการล้างทำความสะอาดอย่างดีและแยกออกมาเป็นพลาสติกรีไซเคิล และนำส่งไปเข้าโรงงานผลิตพลาสติกในประเทศ รวมทั้งยังส่งออกไปขายประเทศอื่นด้วย

น่าสนใจว่า...ทุกวันนี้ “ญี่ปุ่น” ส่งออกมายัง “ประเทศไทย” เป็นอันดับ 1

...

มนุษย์สร้าง “มลพิษ” เป็นสาเหตุให้ “โลกร้อน”...ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราๆท่านๆต้องเจอกับสภาพอากาศร้อนอย่างโหด วัดด้วย “ค่าดัชนีความร้อน” ที่บอกถึงอันตรายต่อสุขภาพชัดเจนมาก

กรมอุตุนิยมวิทยาออกคำเตือน (6 มี.ค.67) จะมีค่าดัชนีความร้อนสูงสุดที่จังหวัดชลบุรีที่ 51.4 องศาฯ อยู่ในเกณฑ์ระดับอันตราย (สีส้ม) และ กทม.จะมีค่าที่ 48.1 (สีส้ม) และวันอื่นๆมีค่าสูงถึงเดือนเมษายน

ถัดมา...ดัชนีความร้อน (Heat Index) คือ อุณหภูมิของร่างกายที่เรารู้สึก เป็นไปตามความสัมพันธ์กันระหว่างอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่มนุษย์รู้สึกได้ว่าบรรยากาศในขณะนั้นร้อนหรือเย็นแค่ไหน ซึ่ง...จะไม่ตรงกันกับอุณหภูมิที่เกิดขึ้นจริงในบรรยากาศ

แต่...เป็นอุณหภูมิที่รวมถึงความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศด้วย เช่นหากอุณหภูมิในบรรยากาศมีค่า 38.0 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 70% ค่าดัชนีความร้อนดังกล่าวเราจะรู้สึกว่าอยู่ในอุณหภูมิถึง 62 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นความร้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก (ระดับสีแดง)

ให้รู้ต่อไปอีกว่า...การเตือนภัยต่อสุขภาพของค่าดัชนีความร้อนกรณีที่ค่าดัชนีความร้อนมีค่า 27–32 องศาฯ (สีเขียว) อาจจะเกิดอาการอ่อนล้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียนได้ หากมีกิจกรรมกลางแจ้งอาจเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนเพิ่มขึ้นได้

32–41 องศาฯ (สีเหลือง) เกิดอาการตะคริว เพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานานอาจเกิดอาการเพลียแดดได้ (Heat Exhaustion) ...41–54 องศาฯ (สีส้ม) เกิดอาการปวดเกร็ง เพลียแดด หน้ามืด หากทำกิจกรรมต่อเนื่องกลางแดดเป็นเวลานานอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการลมแดด (Heat Stroke) ได้

...

กรณี 54 องศาฯขึ้นไป (สีแดง) อาจเกิดสภาวะลมแดดหรือHeat Stroke ได้ตลอดเวลา และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต อาจารย์สนธิ ย้ำว่า ช่วงอากาศร้อนจัด ไม่ควรตากแดดในช่วงเวลากลางวันจนถึงบ่าย 3 โมง...ควรอยู่ในที่ร่มเท่านั้น ดื่มน้ำบ่อยๆ ออกกำลังในร่มช่วงนี้ดีที่สุด

อาชีพที่เสี่ยงกับโรคร้อนตับแลบจำเป็นต้องรู้ ปีนี้ช่วงที่อากาศร้อนที่สุด...อาจจะมีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาฯ...โรคที่จะเกิดเมื่ออยู่ในสถานที่อากาศร้อนจัดที่ต้องระวัง ได้แก่ โรคลมแดด, โรคเพลียแดด, ตะคริว,โรคแดดเผา และโรคผดร้อน โดยเฉพาะโรคลมแดดเป็นภาวะวิกฤติ...หากได้รับการรักษาที่ล่าช้าก็มีอันตรายถึงตาย

อาชีพที่ควรระวัง...การก่อสร้างกลางแจ้งที่ต้องตากแดด พ่อค้าแม่ค้าริมถนน คนเก็บขยะ ชาวไร่ชาวนา ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ผู้ออกกำลังกายกลางแจ้ง ขอทานรินถนน ฯลฯ อากาศร้อนอย่างรุนแรงในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมปีนี้ “Extreme heat”...ร้อนสุดขั้ว...ระวังตัวกันด้วยนะครับ.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม