• Future Perfect
  • Articles
  • สูญเสียยิ่งกว่าอาหารพะยูน ปัญหา "หญ้าทะเล" เสื่อมโทรม จากภาวะ "โลกเดือด"

สูญเสียยิ่งกว่าอาหารพะยูน ปัญหา "หญ้าทะเล" เสื่อมโทรม จากภาวะ "โลกเดือด"

Sustainability

ความยั่งยืน11 มี.ค. 2567 20:35 น.

อาจสูญเสียยิ่งกว่าอาหารพะยูน "หญ้าทะเล" แหล่ง Blue Carbon ชั้นยอด กำลังเสื่อมโทรมหนัก จากสภาวะ "โลกเดือด"

จากกรณีข่าวเศร้า พบซาก "พะยูน" โตเต็มวัย แต่ร่างกายซูบผอม ได้เกยตื้นบริเวณปากคลองบ้านพร้าว ต.เกาะลิบง จ.ตรัง และต่อมาได้เสียชีวิตลง โดยผลการชันสูตร คาดว่า ป่วยตามธรรมชาติ จากการป่วยเรื้อรัง ร่วมกับภาวะอ่อนแอ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป ทำให้หลายเริ่มเห็นปัญหาของสภาพสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล ที่ธรรมชาติกำลังฟ้องว่าเกิดวิกฤติอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการค้นพบซากของสัตว์ทะเลเกยตื้นตาย จากปัญหาขยะสะสมในอวัยวะภายใน การถูกใบมีดของใบพัดเรือ อวนของชาวประมงรัดจนบาดเจ็บ การเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีบ่อยครั้ง หรือปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว รวมถึง "หญ้าทะเล" หนึ่งในแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน ที่กำลังเกิดวิกฤติเสื่อมโทรมอย่างหนัก มีการแห้งตายในหลายพื้นที่ ซึ่งนักวิจัยหลายคน ต่างก็บอกว่าปัญหาเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้น อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลกระทบกับสภาพความเป็นอยู่ของ "พะยูนไทย" อีกด้วย

"หญ้าทะเล" แหล่ง Blue Carbon ที่เป็นมากกว่าอาหารพะยูน

หญ้าทะเล หรือ Seagrass เป็นกลุ่มของพืชดอกเพียงกลุ่มเดียว ที่มีวิวัฒนาการและปรับตัวจนดำรงชีวิตอยู่ได้ในทะเล โดยลักษณะโครงสร้างภายนอกคล้ายคลึงกับหญ้าที่อยู่บนบก และสามารถเจริญเติบโตได้ดี ในบริเวณน้ำตื้นที่มีแสงแดดส่องถึง

โครงสร้างของใบมีความซับซ้อน เป็นส่วนที่ใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงเพื่อสร้างอาหาร มีรากเป็นส่วนที่ใช้ในการดูดซึมสารอาหารและแร่ธาตุจากในดิน ทั้งยังช่วยในการยึดเกาะกับพื้นดิน ทำให้หญ้าทะเลมีความมั่นคง นอกจากนี้ยังมี เหง้า เป็นส่วนของลำต้นที่เจริญคืบคลานไปใต้พื้นผิวดินอีกด้วย 

แต่อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า แหล่งหญ้าทะเล คือระบบนิเวศแสนสมบูรณ์ เป็นที่อยู่สรรพสัตว์ รวมทั้งแหล่งหากินเลี้ยงปากท้องชาวบ้าน ซึ่งนอกจากจะเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารที่สำคัญของพะยูนแล้ว ยังถือว่าเป็น "แหล่งกักเก็บคาร์บอน" ชั้นยอดของโลกที่เป็นกำลังสำคัญในอนาคต

เพราะดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด แม้ว่าจะมีพื้นที่น้อยกว่าร้อยละ 0.2 ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่กลับกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ถึงร้อยละ 10 ต่อปี หรือเกือบ 50 เท่า ถือเป็นหนึ่งในแหล่ง Blue Carbon ร่วมกับระบบนิเวศทางทะเลอื่นๆ อาทิ พื้นที่ป่าชายเลน และป่าพรุน้ำเค็ม ที่ล้วนแต่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนในอากาศลงไปในใต้ดิน ได้ถึงร้อยละ 50-99 ซึ่งถือเป็นความหวังในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยั่งยืน

สถานการณ์ "หญ้าทะเล" ในปัจจุบัน เกิดวิกฤติหนัก ตายหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเสื่อมโทรมของ "หญ้าทะเลไทย" ได้ปรากฏให้เห็นอย่างหนักในหลายพื้นที่ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะะอย่างยิ่งในจังหวัดตรังและกระบี่ พื้นที่หญ้าทะเลหลายหมื่นไร่ของไทย ที่มีความหมายมากมายต่อความอุดมสมบูรณ์ของทะเล และการทำมาหากินของมนุษย์

อีกทั้งยังเป็นที่อยู่ของสัตว์หายาก โดยเฉพาะพะยูนกว่า 70% ของไทยอยู่ในบริเวณนั้น โดยปัจจัยสำคัญที่หลายคนมุ่งเป้าไปนั่นก็คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่ทำให้เกิดภาวะ "โลกเดือด" อันส่งผลกระทบให้ "ทะเลเดือด" ตามมาด้วยเช่นเดียวกัน ประกอบกับการได้รับผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ จากมนุษย์ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็น

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ท้องทะเลต่างๆ เช่น การขุดลอกร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ และการก่อสร้างท่าเรือ เป็นต้น ส่งผลให้พื้นที่หญ้าทะเลถูกทำลายโดยตรง
  • การพัฒนาชายฝั่งทะเล เช่น การก่อสร้างที่ก่อให้เกิดตะกอนชะล้างลงสู่ทะเล โดยตะกอนดังกล่าวจะปกคลุมใบหญ้าและปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของหญ้าทะเล
  • การเดินเรือ และการสัญจรทางน้ำ ที่ทำให้ใบหญ้าทะเลถูกตัดขาด หน้าดินถูกคุ้ย เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนในน้ำ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล
  • การทำประมงบางประเภท เช่น คราดหอย เรืออวนลากขนาดเล็ก เรืออวนรุน เรืออวนทับตลิ่งขนาดใหญ่ ที่ทำการประมงในแหล่งหญ้าทะเล ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่แหล่งหญ้าทะเล และสัตว์ทะเล
  • น้ำเสียตามชายฝั่งทะเล เช่น การทำเหมืองแร่ ท่าเทียบเรือ สะพานปลา โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนบ้านเรือน และการทำนากุ้ง ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงการฟื้นฟูปัญหา "หญ้าทะเล" กับ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า ทำอะไรไม่ได้ ลดโลกร้อน เป็นปัญหาที่ยากเย็นแสนเข็ญในการแก้ ปลูกก็ไม่น่ารอด เพราะในธรรมชาติยังไม่รอดเลย ต้องรอให้มีข้อมูลมากกว่านี้อีกหลายด้าน ตอนนี้ได้แต่รอ เรียกร้องให้มีการสนับสนุนการศึกษาวิจัยมากกว่านี้ ตอนนี้แทบไม่มีเงินงบประมาณเลย เมื่อถามว่าหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ สัตว์น้ำของเราตามแหล่งน้ำธรรมชาติจะเป็นอย่างไร อ.ธรณ์ เผยว่า เป็นวิกฤติสุดๆ ตั้งแต่เคยมีมาคงได้.

อ้างอิงข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ, ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์