เมื่อเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาท เป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกของเราค่อยๆ เกิดอาชีพใหม่ ที่ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์ม หรือที่หลายคนเรียกว่า GIG economy บวกกับไลฟ์สไตล์การทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ชอบการนั่งอยู่กับที่ ทำงานแบบเช้าชาม เย็นชาม จึงมีการพยายามมองหาโอกาสในการทำงานใหม่ๆ อยู่เสมอ

แล้ว GIG economy หรือการทำงานกับแพลตฟอร์ม คืออะไร คุณเกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ผู้อำนวยการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม อธิบายให้เราเข้าใจง่ายๆ ว่า

คำว่า GIG ในภาษาอังกฤษ หมายถึง งานที่ทำชั่วคราว หรือทำครั้งเดียว ตัวอย่างเช่น วงดนตรีที่เล่นอยู่ตามร้านอาหาร ในต่างประเทศ เวลาไปรับงานแต่ละครั้ง จะเรียกเป็น GIG ดังนั้น GIG economy สื่อถึงระบบเศรษฐกิจ หรือการทำงานที่มีลักษณะของความยืดหยุ่น เป็นการทำชั่วคราว ไม่ใช่งานประจำ หรือหลายคนอาจจะนึกถึงการทำงานแบบฟรีแลนซ์

ขณะที่ แพลตฟอร์ม เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นไม่นาน หากอยู่ในกลุ่มคนทำงานเทคโนโลยี ความหมายจะค่อนข้างกว้าง แต่มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า Platform Capitalism ของ Nick Srnicek นักวิชาการด้านเศรษฐกิจดิจิทัล อธิบายไว้ว่า แพลตฟอร์ม หมายถึงสาธารณูปโภคแบบดิจิทัลที่มีส่วนเชื่อมโยงตัวละครต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อยสองกลุ่ม

ทุกวันนี้เวลาพูดถึงบริษัทแพลตฟอร์มที่เป็นที่รู้จัก อาทิ แกร็บฟู้ด ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า ลาซาด้า Shopee ฯลฯ ซึ่งจะเชื่อมต่อคน 3 กลุ่ม คือ ผู้ผลิต คนส่งอาหาร และผู้บริโภค ฉะนั้นแพลตฟอร์มจะเน้นเรื่องการเชื่อมต่อ การสร้างเน็ตเวิร์ค หรือการสร้างเครือข่าย

...

แต่สิ่งที่ทำให้คนที่ทำงานกับแพลตฟอร์ม ต่างจากฟรีแลนซ์ คือ ฟรีแลนซ์ มักจะมีสัญญาจ้าง และอาจต่อรองเงื่อนไขสัญญาจ้างได้บ้าง แต่คนที่ทำงานกับแพลตฟอร์ม หรือ GIG พบว่าไม่มีสัญญาจ้าง ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ แม้หากพิจารณาการกำกับของผู้จ้างแล้ว จะเข้าข่าย "พนักงาน" หรือ "ลูกจ้าง" ก็ตาม

นอกจากนั้น ภาครัฐและภาคธุรกิจแพลตฟอร์ม ยังไม่ยอมรับคนงานเหล่านี้เป็น "ลูกจ้าง" ของบริษัทแพลตฟอร์ม การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มและคนงานแพลตฟอร์ม ทำให้ความหมายของคำว่า "ลูกจ้าง" และการแบ่งแรงงานออกเป็นแรงงาน "ในระบบ" และ "นอกระบบ" มีปัญหามากขึ้น จากเดิมการแบ่งแบบนี้มีปัญหาอยู่แล้ว

ข้อดี-ข้อเสีย การทำงานแบบแพลตฟอร์ม

ข้อดีของการทำงานกับแพลตฟอร์ม คือ มีความยืดหยุ่นสูง และอิสระ ใน เรื่องความยืดหยุ่น สำหรับคนที่มีภาระรับผิดชอบ เช่น ดูแลเด็กเล็ก ดูแลคนแก่ สามารถเลือกทำงานแบบที่ไม่ใช่งานเต็มเวลาได้ และสามารถบริหารรายรับ จากกระแสเงินสดที่มีรอบระยะเวลาการจ่ายสั้นกว่างานประจำ (แต่ละแพลตฟอร์มมีรายละเอียดต่างกันไป)

ส่วน "อิสระ" นั้น จากงานวิจัยและข้อมูลที่ได้จากคนงานแพลตฟอร์มกลุ่มต่างๆ มีเสียงสะท้อนว่า งานแพลตฟอร์ม อาจไม่มีความอิสระอย่างที่บริษัทมักโฆษณาหรือกล่าวอ้าง เพราะแต่ละแพลตฟอร์มกำหนดกฎระเบียบในการทำงานที่เข้มงวด มีบทลงโทษที่บางครั้งเข้มงวดกว่าทำงานประจำในโรงงาน เช่น ไรเดอร์รับงานแล้วห้ามยกเลิกเกินกี่ครั้ง ยกเลิกหนึ่งครั้ง ต้องชดเชยอีกหลายเท่าตัว

ส่วนข้อเสียนั้น มักจะพบใน "พนักงาน" หรือผู้ปฏิบัติงาน อาทิ การแบกรับภาระของต้นทุน ทั้งต้นทุนในการทำงาน (ค่าเดินทาง ยานพาหนะ เชื้อเพลิง ค่าอุปกรณ์) และความเสี่ยงของตลาด (งานน้อย, ถูกลดค่าแรงในช่วงโควิด)

ไม่มีสวัสดิการในการทำงาน เช่น ประกันอุบัติเหตุ ซึ่งการทำงานรายชิ้นทำให้ไรเดอร์ต้องเร่งรีบ อาจเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เสียชีวิต หรือบาดเจ็บ แต่บริษัทไม่รับผิดชอบ จนทำให้เกิดการประท้วงของไรเดอร์อยู่บ่อยครั้ง

ไรเดอร์คนหนึ่ง เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนที่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม โดยอ้างว่า
กลุ่มไรเดอร์จะได้ค่าจ้าง 60% นายจ้างหักไว้ 15% แต่ละแอปฯ ก็จะสตาร์ตไม่เท่ากัน อาจเริ่มที่ 30 40 หรือ 60 บาท นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายแรกเข้าทำงาน 200 บาท หากมีการลงโทษ หรือปรับ เงินจำนวนนี้ก็จะถูกยึด

...


นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของระยะทางที่ไม่เป็นธรรม จากเมื่อก่อนสตาร์ตไม่เกิน 5 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันขยับขึ้นเป็น 8 กิโลเมตร หรือรูปแบบการกดรับออเดอร์จากลูกค้า ที่ไรเดอร์แต่ละคนต้องแย่งชิงกัน ใครกดได้แล้ว ไม่สามารถยกเลิกงานได้ และหากไม่รับงาน ก็อาจส่งผลกระทบตามมา 

สำหรับคนงานแพลตฟอร์มหญิง เช่น แม่บ้าน และพนักงานนวด คล้ายกับไรเดอร์มีความเสี่ยงจากการเร่งรีบเดินทาง เพราะต้องทำงานแต่ละชิ้นให้เสร็จภายในเวลาจำกัด รวมทั้งมีความเสี่ยงจากการทำงาน เช่น สัมผัสสารเคมี ถูกของมีคมบาด ตกจากที่สูง และที่สำคัญ ต้องเจอกับความเสี่ยงจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

และเมื่อไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทแพลตฟอร์ม คนกลุ่มนี้จะไม่มีสัญญาจ้าง ฉะนั้นก็จะไม่สามารถเข้าระบบสวัสดิการประกันสังคมตามมาตรา 33 ได้ เหมือนคนที่ทำงานโรงงาน หรือบริษัท รวมถึงสิทธิ์ต่างๆ 7 ประการ ทั้งเงินชดเชยว่างงาน ลาคลอด หรือการเจ็บป่วยต่างๆ รวมทั้งสวัสดิการที่ลูกจ้างจะได้รับจากนายจ้างตามกฎหมายก็ไม่ได้ เช่น เมื่อประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน เสียชีวิต บริษัทก็จะไม่ได้รับผิดชอบ

นอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 คนงานแพลตฟอร์ม ทั้งไรเดอร์และแม่บ้านแพลตฟอร์ม ยังมีความเสี่ยงในการทำงานเพิ่มขึ้น แต่ความคุ้มครองไม่ได้เพิ่มขึ้น ไม่ได้รับแม้กระทั่งอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก ทั้งที่โดยหลักการควรได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ 

ที่ผ่านมา "ไรเดอร์" ไม่กล้าเรียกร้องเรื่องค่าแรง เพราะบริษัทแพลตฟอร์มมักอ้างว่าตัวเองขาดทุน แต่เขาจะนำวิธีคิดจากโมเดลธุรกิจแบบเก่ามาใช้กับธุรกิจแบบแพลตฟอร์มไม่ได้ เพราะบริษัทแพลตฟอร์มรู้อยู่แล้วว่าการขาดทุนเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ ในระหว่างที่กำลังสร้างระบบนิเวศ ผมยืนยันว่า เราต้องทำความเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในระหว่างที่แพลตฟอร์มกำลังขาดทุนให้ดี

ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ต่างกันตรงที่กฎหมายแรงงานในต่างประเทศมีความศักดิ์สิทธิ์กว่าบ้านเรามาก ขบวนการแรงงานมีความเข้มแข็งกว่า มีการต่อสู้เรียกร้องผ่านศาล (เช่นในยุโรป คือ อังกฤษ สเปน) หรือผ่านกลไกของสภาในระดับรัฐ (เช่น แคลิฟอร์เนีย) ที่จะนิยามหรือจัดกลุ่มของคนงานแพลตฟอร์มเป็น "คนงาน" หรือ "ลูกจ้าง" 

...

โอกาสในการได้รับสวัสดิการ เฉกเช่นพนักงานบริษัท?

คุณเกรียงศักดิ์ บอกว่า สำหรับโอกาสที่คนงานแพลตฟอร์มจะได้รับสวัสดิการเหมือนอาชีพอื่น จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจาก ประการแรก ความเข้าใจของภาครัฐและภาคประชาชน ว่า สภาพการทำงานของคนงานกลุ่มนี้เป็นอย่างไร ถูกควบคุมและลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมจากแพลตฟอร์มอย่างไร

ประการที่สอง วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ต้องปฏิรูปกฎหมาย ไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่ต้องสัมพันธ์กับระบบประกันสังคม และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ประการสุดท้าย ภาครัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ในกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเอง ไม่เคยบังคับใช้กฎหมายแรงงานในทางที่ปกป้องสิทธิ์และคุ้มครองแรงงานอย่างแท้จริง

การปล่อยให้นายจ้างและลูกจ้างที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจต่างกันมาก จัดการปัญหากันเอง เป็นปัญหาสำหรับฝ่ายแรงงานไทยมาโดยตลอด และกำลังทำให้ปัญหาของคนงานแพลตฟอร์มเลวร้ายมากขึ้น เพราะในปัจจุบันธุรกิจแพลตฟอร์มดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายอะไรเลยเข้ามากำกับ จึงเกิดการละเมิดสิทธิ์คนงานหลายกรณี และหลากหลายรูปแบบ

...

แนวทางเรียกร้องสวัสดิการ

คุณเกรียงศักดิ์ บอกว่า ต้องย้อนกลับไปประเด็นเรื่องกฎหมาย หมายถึงว่า มันไม่มีกฎหมายที่พูดถึงคนทำงานแพลตฟอร์ม เพราะเป็นเรื่องใหม่ ถ้าถามว่าภาครัฐสามารถใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่คุ้มครองได้ไหม จริงๆ แล้วถ้าเจ้าหน้าที่ภาครัฐอยากจะมีเจตนาคุ้มครอง คิดว่าอาจจะตีความเป็นรายบริษัท เพราะวิธีการทำงานของแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน เช่น ไรเดอร์ส่งอาหารเหมือนกัน แต่การทำงานของแต่ละบริษัทก็ต่างกัน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องยากในการเขียนกฎหมายใหม่ ซึ่งครอบคลุมได้คนละแพลตฟอร์ม ฉะนั้นอาจจะต้องแยกเป็นอาชีพ

ถ้าภาครัฐต้องการตีความใช้กฎหมายเดิม คือ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ก็อาจจะใช้ได้ แล้วบังคับใช้ให้เจ้าของบริษัทเพิ่มสวัสดิการ ซึ่งแนวคิดนี้ในบ้านเรายังไม่ตกผลึก แต่ในงานวิจัยของต่างประเทศมีข้อเสนอที่ระบุว่า การที่จะเรียกร้องความรับผิดชอบในเรื่องสวัสดิการกับบริษัทแพลตฟอร์ม เราอาจจะต้องดูจากหลักเกณฑ์ การควบคุมการทำงาน หลักการง่ายๆ คือ ถ้าหากแพลตฟอร์มควบคุมการทำงาน หรือพฤติกรรม และวิธีการทำงานของคนทำงาน ก็ควรจะต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องของสวัสดิการ เช่น ไรเดอร์ส่งอาหาร ควรต้องมีประกันอุบัติเหตุให้ไรเดอร์ทุกคน ควรจะมีสวัสดิการบางอย่าง เช่น จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เหมือนคนในมาตรา 33 แต่ทั้งหมดเป็นเพียงหลักการ เพราะ 1.กฎหมายไม่มี 2.เจ้าหน้าที่ไม่เอาจริงที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ ทำให้ตอนนี้มีช่องว่าง

หลายบริษัทได้ส่งเสริมให้พนักงานไปขึ้นทะเบียนมาตรา 39, 40 ในลักษณะการจ้างงานตัวเอง หรือคนที่ทำงานอิสระ แต่ผมมองว่า ถ้าหากบริษัทแพลตฟอร์มอยากจะส่งเสริมจริงๆ ก็ควรทำจริงจังในกระบวนการที่บริษัทเป็นผู้รับผิดชอบให้ ถ้าหากเราผลักภาระให้พนักงานจัดการหมด ไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะเปรียบเหมือนการโอนภาระให้กับพวกเขา

รื้อกฎหมาย อุดช่องว่าง ทางรอดแรงงานแพลตฟอร์ม

คุณเกรียงศักดิ์ ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับ สวัสดิการของพนักงานแพลตฟอร์ม หรือ GIG economy ด้วยว่า อย่างที่รู้ คือ ต้องหารือทั้งโมเดลเศรษฐกิจเก่า และกฎหมายในเรื่องแรงงาน ฉะนั้นจำเป็นที่ต้องทบทวนเกี่ยวกับกรอบความคิดของแรงงาน, รื้อกฎหมายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนิยามของคนงาน หรือลูกจ้าง ที่กฎหมายไทยมีอยู่อย่างจำกัด ต้องเขียนใหม่ให้รัดกุมและครอบคลุมคนงานกลุ่มใหม่ให้ได้

อีกปัญหาที่ซ้อนเข้ามา คือ บ้านเรามีการแบ่งแยกคนงานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ คนงานในระบบ และคนงานนอกระบบ ซึ่งประเด็นนี้ในเชิงวิชาการมีการวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านการแบ่งแยกแบบนี้มานานแล้ว ว่าไม่มีหลักการ และทำให้คนงานกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจแต่ไม่ทางการ ถูกจัดกลุ่มในลักษณะที่เสียสิทธิ์มากขึ้น วิธีคิดแบบนี้ทำให้คนงานกลุ่มหนึ่งไม่ชัดเจนว่าเป็นแรงงานที่มีนายจ้าง

ฉะนั้น ตอนนี้กระทรวงแรงงานกำลังจะร่างกฎหมายใหม่ และ พ.ร.บ.เกี่ยวกับแรงงานนอกระบบขึ้นมา ซึ่งมองว่าตรงนี้จะยิ่งทำให้ปัญหามันซับซ้อนมากขึ้น เพราะคนงานแพลตฟอร์มจะไปอยู่กลุ่มนี้ และจะกลายเป็นแรงงานนอกระบบไปโดยปริยาย ทั้งที่จริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มที่ซับซ้อนมาก เป็นคนงานซึ่งจะมีการจ้างงานแบบที่ไม่เป็นทางการ อยู่ในระบบภาคเศรษฐกิจ มีนายจ้างที่มีบริษัทชัดเจน ฉะนั้นต้องมีนิยามใหม่ที่รัดกุม และสิทธิ์ชัดเจน เพื่อกำหนดความคุ้มครองให้พวกเขา


แม้กระทั่งในประเทศแถบยุโรป ยังมีการพูดถึงสิทธิ์ในการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง เพราะเขารู้ว่าวิธีเดียวที่คนทำงานแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะ ไรเดอร์ส่งอาหาร จะพัฒนา หรือเพิ่มคุณภาพการทำงานของตัวเองได้ ด้วยการต่อรองกับนายจ้าง แต่เมื่อไม่มีสิทธิ์ ไม่มีสถานะเป็นลูกจ้าง กฎหมายก็ไม่ได้ให้สิทธิ์ในการรวมตัวเจรจาต่อรอง และแรงงานส่วนใหญ่ก็เข้าใจกันว่า จะต้องมีสหภาพแรงงาน ลูกจ้างในสถานประกอบการถึงจะรวมตัวเรียกร้องได้ แต่จริงๆ ไม่จำเป็นต้องจดสหภาพแรงงานก็ได้ ขอแค่ให้มีการรวมตัวกันอย่างน้อย 15-20% ของคนงานในสถานประกอบการก็สามารถทำได้

ดังนั้น สิทธิ์เรื่องนี้สำคัญมาก ถึงแม้ที่สุดถ้าหากคนกลุ่มนี้จะไม่มีสถานะเป็นลูกจ้าง กฎหมายจะไม่รับรองให้พวกเขามีสถานะของคนงาน ถ้าเขามีสิทธิ์ก็จะสามารถรวมตัวกันแล้วขอสวัสดิการที่ดีขึ้นได้

ทั้งนี้ ทางสถาบันฯ พยายามผลักดันเรื่องกรอบกฎหมายใหม่ กับกรรมาธิการแรงงานของสภาผู้แทนอยู่ เราก็เรียกร้องให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา ร่างกรอบกฎหมายของแรงงานแพลตฟอร์มจริงๆ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้า และไม่มีหน่วยงานไหนเสนอเข้ามาช่วย มีเพียงองค์กรเราเพียงที่เดียวในการนำสิทธิ์แรงงานมาร่วมผลักดัน

โดยความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาในเมืองไทย คิดเป็น 2 เรื่อง กฎหมายทางการค้า พยายามเข้ามาดูแลกลุ่มร้านค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ซัพพลายเออร์ ที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม ที่เคยเห็นชัดที่สุด กรณีของธุรกิจส่งอาหารจะเห็นว่า ร้านอาหารที่เป็นร้านเล็กๆ ก็เสียผลประโยชน์ เช่นเดียวกับกลุ่มคนงาน คือถูกหักค่าคอมมิชชั่นประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นจึงมีการพยายามเขียนกฎหมายทางการค้าขึ้นมากำหนดค่าคอมมิชชั่นไม่ให้มันมีเพดานเอาไว้ ในทำนองเดียวกัน คนงานเองก็เจอกับการเก็บค่าธรรมเนียมทุกครั้งที่ได้ค่ารอบ รวมทั้งต้องหักภาษี 3% และค่าอย่างอื่นที่แฝงเอาไว้ด้วย.