“สหภาพแรงงาน” เป็นการรวมตัวจัดตั้งองค์กร ในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้างและผลประโยชน์อื่นๆ เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มลูกจ้าง มีต้นกำเนิดจากการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากเกษตรกรรม มาเป็นอุตสาหกรรม ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17

ส่วนของไทย มีจุดเริ่มช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จากการรวมกลุ่มของคนงานรถราง จัดตั้งเป็นสมาคม เมื่อปี 2440 เพื่อช่วยเหลือสมาชิกยามเจ็บป่วย ชราภาพ และยื่นข้อเรียกร้องต่อรองกับนายจ้าง ยังไม่ใช่ลักษณะของสหภาพแรงงานเหมือนต่างประเทศ

กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดการรวมกลุ่มของคนงานจำนวนมากขึ้น จากอุตสาหกรรมได้ขยายตัว และการเมืองเศรษฐกิจช่วยผลักดัน มีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ในแต่ละยุคสมัย จนมาถึงปัจจุบัน จากเคยมีอำนาจต่อรองสูง และตกอยู่ในวิกฤติความไม่เข้มแข็งของขบวนการแรงงาน เช่น การเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งแทบจะไม่มีบทบาทใดๆ เลย

วิวัฒนาการของ "สหภาพแรงงาน" ของไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านการเล่าของ “วิชัย นราไพบูลย์” ผู้ร่วมก่อตั้งวงดนตรีคนงาน วงภราดร และวงอินโดจีน ตำนานเพลงเพื่อชีวิตของผู้ใช้แรงงานไทย ในฐานะผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สถานที่บันทึกเรื่องราวประวัติความเป็นมา และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน บอกว่า สหภาพแรงงานของไทยในอดีตยังไม่เรียกว่า “สหภาพ” แต่เรียกว่า “สมาคม” ซึ่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้เกิดการรวมตัวของแรงงานและกรรมกรทุกสาขาอาชีพ ทั้งนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ กุลีกรรมกรแบกหาม หาบเร่แผงลอย และอาชีพต่างๆ ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “สหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย” ในปี 2490 เพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงานในการเรียกร้องระบบการทำงานแบบสามแปด ในการทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และมีโอกาสเล่าเรียนพัฒนาทักษะ 8 ชั่วโมง เรียกร้องให้เพิ่มค่าแรง ค่าล่วงเวลา ตามกระแสสากลขณะนั้นทำให้เกิดวันกรรมกรสากล หรือ May Day

...

“กลายเป็นบรรทัดฐานให้กับทุกสาขาอาชีพได้มีสิทธิของคนงานลูกจ้าง หลังยุคสนธิสัญญาเบาว์ริง ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้ไทยเริ่มมีสิทธิขั้นพื้นฐาน สามารถมีอำนาจต่อรอง จนเกิดกฎหมายมารองรับ เปิดให้คนหลากหลายอาชีพในสังคม ไม่ว่าอาชีพใดสามารถรวมตัวในการเป็นพลังต่อรองได้”

ต่อมาหลังปี 2490 มีการออกกฎหมายพยายามแยกแรงงานออกมา โดยการกีดกันการรวมกลุ่มสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย จะทำได้ต้องเฉพาะแรงงานเท่านั้น และสุดท้ายขบวนการแรงงานของไทยต้องหยุดชะงักลงและหายไปอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะเผด็จการทหารที่ยาวนานต่อเนื่อง ไม่ยอมรับการรวมตัวของขบวนการแรงงาน

จนเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2516 นิสิต นักศึกษา และประชาชน ได้ต่อสู้ขับไล่เผด็จการทหาร ทำให้ขบวนการแรงงานไทยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ในการเคลื่อนไหวนัดหยุดงาน เรียกร้องสิทธิจัดตั้งองค์กรแรงงาน สหพันธ์แรงงาน และสภาองค์การลูกจ้าง โดยมีกฎหมายแรงงานออกมารองรับ จนถึงปัจจุบัน

สหภาพแรงงาน ยุคปัจจุบัน ไม่เหมือนในอดีต

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ทำให้ปัจจุบันมีการตั้งสหภาพแรงงานเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม แต่แรงงานในกลุ่มอื่นไม่เกิดการรวมตัว ทำให้การเรียกร้องสิทธิสวัสดิการต่างๆ ต้องแยกออกไป ไม่เหมือนในอดีต ซึ่งเห็นความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพฟรีแลนซ์ หรือเรียกว่าแรงงานนอกระบบ ประมาณ 38 ล้านคน มีค่าจ้างที่ต่ำมาก และยิ่งในยุคโควิดระบาด คนเหล่านั้นได้รับผลกระทบอย่างมาก

“อย่างกรณีการลงทะเบียนผู้ประกันตน มาตรา 33 เพื่อรับเงินเยียวยาโควิด มีเพียง 1 ล้านคนไม่ได้สิทธิ์เพราะมีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท นั่นแสดงว่าคนไม่มีเงินออม สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานไทยค่าจ้างราคาถูก ระบบสวัสดิการไม่ดี เพราะทักษะในอาชีพไม่ได้รับการพัฒนา หากไม่เกิดการรวมตัวของกลุ่มแรงงาน ก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ เหมือนต่างประเทศที่มีรัฐสวัสดิการครอบคลุม อย่างสวีเดน มีการตั้งสหภาพแรงงานมากถึง 60-70% ส่วนไทย ตั้งสหภาพแรงงานเฉพาะกลุ่มเท่านั้น มีสมาชิกประมาณ 6 แสนคน ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองในการเรียกร้องสิทธิ”

ขณะที่แรงงานในต่างประเทศได้ค่าจ้างสูง ทั้งเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ซึ่งอัตราค่าจ้างได้แซงหน้าไทยไปหมด เพราะนโยบายนักการเมืองมีความย้อนแย้งในการพัฒนาทักษะแรงงานไทย กับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และตกลงว่าอยากให้สังคมไทยมีค่าจ้างที่ต่ำหรือสูง ซึ่งบอกว่าต้องมีการพัฒนาทักษะแรงงาน แต่ไม่ทำอะไรให้ชัดเจน

จากสถานการณ์โควิดระบาด จะให้คำตอบในเรื่องระบบการรองรับทางสังคม หากเกิดวิกฤติจะเห็นปัญหา อย่างในอดีตเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ ไม่ได้มีการสร้างระบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต้องให้กับแรงงานไทย หรือคนรวยต้องจ่ายภาษีที่สูงเพื่อช่วยระบบสวัสดิการให้ดีขึ้น

...

สรุปแล้ว สหภาพแรงงานของไทยมีความอ่อนแอ จากทัศนคติต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ เพราะสังคมไทยไม่ยอมรับการถกเถียงของผู้อาวุโสน้อยกว่า ทั้งๆที่คนรุ่นใหม่สามารถคิดทะลุกรอบได้ แต่สังคมไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม หากเทียบกับในอดีตแล้วในช่วงปี 2490 เป็นยุครุ่งเรืองของสหภาพแรงงาน

กระทั่งเกิด 3 ประสาน มีการรวมตัวของนักศึกษา กรรมกร และชาวนา ทำให้เกิดกฎหมายแรงงานที่ยืนยาวจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้การพัฒนาจะไม่มากนัก แต่เคยมีการต่อสู้นัดหยุดงาน ในประเด็นชาวนาถูกกดราคาข้าวสาร แต่เมื่อแปรรูปกลับมีราคาแพง ในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในที่สุดต้องยอม เป็นการพิสูจน์ให้เห็นการรวมตัว ก่อให้เกิดการต่อรอง หลังจากนั้นสหภาพแรงงานไทยก็ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีการรวมกลุ่ม ทำให้การต่อรองน้อยลง ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะของคนงาน ไม่สามาถยกระดับรายได้ให้เพิ่มขึ้นสูง จนยุคหนึ่งที่คนมีทักษะในอาชีพได้ไปทำงานประเทศอื่น เพื่อแลกกับค่าจ้างที่สูงกว่า

“สหภาพแรงงานของไทย ถูกจำกัดในโรงงานเท่านั้น การเรียกร้องค่าจ้าง จึงทำแบบต่างคนต่างอยู่ ซึ่งในอนาคตมีแนวคิดจะทำสหภาพแรงงานให้กับอาชีพทั่วๆ ไป เหมือนปี 2490 หนึ่งในนั้นจะดึงคนขับแกร็บเข้ามารวมตัว นำไปสู่การยื่นข้อเสนอ แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีหนทาง เพราะแรงงานเหล่านี้ใช้แรงกายแลกค่าจ้าง ควรได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมเหมือนแรงงานทั่วไป ได้มีสวัสดิการรองรับในยามเกษียณ เหมือนต่างประเทศ ทั้งอาจารย์ ตำรวจ นักกีฬา มีการตั้งสหภาพแรงงาน ในการต่อรองผลประโยชน์ เป็นเรื่องควรส่งเสริม ไม่ใช่มองเป็นพวกหัวแข็ง เป็นเรื่องความไม่ปลอดภัยของประเทศ”

...

ค่าจ้างถูก ฟรีแลนซ์ถูกเอาเปรียบ ไร้อำนาจต่อรอง

ปัญหาแรงงานไทยที่เกิดขึ้นไม่ได้เสรีจริงๆ ถูกกดด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ได้มองถึงสังคมส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้คนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และการระบาดของโควิดได้ฟ้องให้เห็นว่า คนไทยจนจริงๆ ควรเปลี่ยนนโยบายจากแรงงานราคาถูก มาเป็นแรงงานที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะ เพื่อรองรับหลังโควิด ไม่ต้องนำแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะเข้ามาในยุค 4.0 ทั้งอินเดีย และสิงคโปร์

นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องสวัสดิการ เมื่อนักศึกษาจบมาจะทำอะไรต่อไปในอนาคต ซึ่งจำนวนคนว่างงานจะสูงมากจนสาหัส และน้อยคนจะประสบความสำเร็จในอาชีพอิสระ รวมถึงอาชีพฟรีแลนซ์จะไม่รอด จะต้องทำความเข้าใจกับสวัสดิการค่าจ้าง ทำอย่างไรให้ปรับเพิ่มขึ้น เพราะแรงงานนอกระบบไม่มีหลักประกันรายได้ และถูกเอาเปรียบกดค่าจ้าง จะทำให้อยู่ไม่ได้ ดังนั้นต้องมีกลไกเพื่อทำให้มีอำนาจต่อรอง เพื่อให้คนในชาติอยู่ได้ ในฐานะผู้ลงแรงแลกกับค่าจ้าง จากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นต้นเหตุหลัก

เพราะที่ผ่านมาไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมไม่สมดุล มุ่งแต่การลงทุนให้ได้ผลประโยชน์กับนายทุน ตั้งแต่ปี 2504 เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและทิ้งกสิกรรม โดยมุ่งจากสิ่งทอมาอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ มาสู่คอมพิวเตอร์ โดยไทยไม่มีเทคโนโลยี หรือโนว์ฮาว แต่อยู่ในฐานะผู้รับจ้างผลิต ไม่มีการคิดค้นนวัตกรรม ทำให้เกิดปัญหา ทั้งที่ไทยมีความสมบูรณ์มากในการทำกสิกรรม แต่ไม่มีการพัฒนา และรักษาไม่ได้ ทั้งๆ ที่ควรทำให้ไทยเป็นฐานด้านเกษตรกรรมในการเป็นครัวโลก

“แรงงานเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและการเมือง เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนในสังคม คนที่มีส่วนร่วมในทางการเมืองต้องพัฒนาให้ดีขึ้นในการยกระดับค่าจ้างให้สูงขึ้น ไม่ใช่ขึ้นเพียงบาท หรือสองบาท เป็นเรื่องนโยบายในการคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุม ไม่ใช่เป็นเพียงสหภาพแรงงานในโรงงาน จะต้องร่วมกันเพื่อให้มีอำนาจต่อรอง แม้ขณะนี้จะเป็นเรื่องยาก ก็ต้องทำในการฝ่าฟันทัศนคติของคนไปให้ได้ เพื่อสหภาพแรงงานไทยกลับมาเข้มแข็งเช่นเดิม”.

...