• สถานการณ์โรคระบาดหลายโรคกำลังรุมเร้าชาวบ้านในฉนวนกาซา ทั้งจากการขาดแคลนน้ำดื่ม อาหาร และยารักษาโรค ท่ามกลางภาวะสงครามยืดเยื้อยาวนาน
  • องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคท้องร่วงและโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเป็นโรคระบาดอันดับต้นๆ ในฉนวนกาซาเวลานี้ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประสบภัยสงครามที่ยังติดอยู่ในวงล้อม
  • สาเหตุส่วนหนึ่งของการระบาดเป็นวงกว้างของโรคต่างๆ เป็นเพราะผู้หนีภัยสงครามต้องอาศัยอยู่รวมกันอย่างแออัด ประกอบกับการถูกตัดขาดจากระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะน้ำสะอาด ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ยาก

สถานการณ์ในฉนวนกาซานับวันมีแต่เลวร้ายลง ชาวปาเลสไตน์นับแสนคนยังคงดิ้นรนหนีลงไปในพื้นที่ทางตอนใต้ เพื่อหาพื้นที่ปลอดภัยจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล แต่นอกจากพวกเขาจะต้องเผชิญกับภัยจากสงครามแล้ว ภัยจากโรคระบาดก็กำลังรุมเร้าเช่นกัน โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคติดเชื้อทั้งโรคท้องร่วง โรคอีสุกอีใส รวมถึงโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ กำลังระบาดหนักในกาซา นอกจากนี้ ทางองค์การการแพทย์ในพื้นที่ยังมีประกาศเตือนความเสี่ยงของการระบาดของอหิวาตกโรคด้วย

มิเชล ทาลฮามี ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ในวิกฤติระบบสาธารณูปโภค และบริการที่จำเป็นขององค์กรกาชาดสากล ระบุว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถจะหนีสงครามไปไหนได้ไกล ก็เป็นเพราะการขาดแคลนน้ำและสุขอนามัยต่างๆ ทำให้พวกเขาต้องไปรวมตัวอยู่ตามแคมป์พักชั่วคราว หรือตามโรงพยาบาล ซึ่งนอกจากขาดแคลนน้ำแล้ว มลพิษที่ปะปนมากับแหล่งน้ำก็เป็นตัวเร่งของการติดเชื้อเช่นกัน ซึ่งยิ่งมีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ก็ทำให้การแพร่ระบาดของโรคเกิดขึ้นได้ง่าย

...

ทั้งนี้ ทางองค์การอนามัยโลกได้รวบรวมข้อมูลของโรคระบาดในกาซา นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดังนี้

โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบนติดเชื้อ : ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการสูดดมแก๊สพิษจากการโจมตีในสงคราม โดยมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้แล้วถึง 54,866 ราย โดยจะมีอาการเริ่มต้นจากการมีน้ำมูกไหล ไอ และเจ็บคอ โดยยังพบว่าโรคระบบทางเดินหายใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับที่ 6 ในกาซา ในช่วงเดือนที่แล้วด้วย

โรคท้องร่วง: พบผู้ป่วยจากโรคท้องร่วงแล้วมากกว่า 33,551 ราย โดยในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปี 2021 และ 2022 กาซาพบผู้ป่วยด้วยโรคท้องร่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 2,000 คน ซึ่งสาเหตุหลักที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในเวลานี้ก็คือการดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนนั่นเอง

โรคผื่นผิวหนัง : พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้รวมแล้ว 12,635 ราย โดยสาเหตุเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ทำให้เกิดผื่นแดง ผิวหนังอักเสบ และคัน โดยอาการของผื่นคันเหล่านี้ เป็นสัญญาณอันดับต้นๆ ที่แสดงให้เห็นว่ากำลังเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ จนส่งผลต่อความสะอาดของร่างกาย

โรคหิดและเหา: พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้แล้วราว 8,944 ราย โดยผู้ป่วยจะมีอาการคันรุนแรงทั้งบนศีรษะ และตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจากสัตว์ปรสิตเหล่านี้

โรคอีสุกอีใส : พบผู้ป่วยเป็นอีสุกอีใสในกาซาแล้วอย่างน้อย 1,005 ราย โดยโรคนี้จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการคันตามผิวหนัง เกิดตุ่มน้ำใสๆ และมีไข้ แม้ว่าจะพบมากในเด็ก แต่ก็สามารถติดต่อไปยังผู้ใหญ่ได้เช่นกัน

โดยจำนวนยอดรวมผู้เสียชีวิตจากโรคติดต่อเหล่านี้ ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เนื่องจากตามปกติแล้วกระทรวงสาธารณสุขจะมีการสรุปรวมยอดเป็นรายปี แต่ทางองค์การอนามัยโลกกำลังเร่งรวบรวมข้อมูลให้ได้เร็วยิ่งขึ้นในภาวะสงครามเช่นนี้

อะไรคือปัจจัยของการระบาดของโรค?

ปัจจัยหลักของการระบาดเป็นวงกว้างของโรคต่างๆ เป็นเพราะผู้หนีภัยสงครามต้องอาศัยอยู่รวมกันอย่างแออัด และการขาดแคลนน้ำสะอาด โดยปัจจุบันชาวปาเลสไตน์ที่หนีภัยสงครามต่างไปอาศัยอยู่ตามที่พักพิงชั่วคราวขององค์การสหประชาชาติ หรืออาศัยรวมตัวกันในพื้นที่ที่คิดว่าปลอดภัย แต่เนื่องจากจำนวนผู้ลี้ภัยที่มีมากกว่าพื้นที่ที่จะรองรับ ทำให้สภาพความเป็นอยู่เป็นไปอย่างยากลำบาก โดยสภาพแวดล้อมตามท้องถนนในกาซาเต็มไปด้วยขยะมูลฝอย ทำให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สำหรับแมลง หนู ซึ่งเป็นพาหะนำโรคต่างๆ ไปสู่คนอีกทอดหนึ่ง

นอกจากนี้ แบคทีเรียอันตรายยังมีการปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำทั่วกาซา ทั้งน้ำทะเลและน้ำดื่ม จากความเสียหายจากการโจมตี เมื่อประชาชนมีการใช้น้ำเพื่ออุปโภคอย่างการซักเสื้อผ้าหรือเพื่อบริโภคก็ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขไม่สามารถที่จะช่วยมอนิเตอร์หรือคัดกรองได้ในสถานการณ์เช่นนี้

...

ขณะเดียวกันเรื่องของการใช้สุขาที่มีอยู่อย่างจำกัดตามที่พักชั่วคราวต่างๆ โดยขาดแคลนน้ำ ก็ถือเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคได้ดีอย่างคาดไม่ถึง และยิ่งระบบเฝ้าระวังโรคล่มจากการขาดแคลนอินเทอร์เน็ตและระบบโทรศัพท์มือถือ ก็ยิ่งทำให้การควบคุมเฝ้าระวังโรคติดเชื้อต่างๆ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะแม้แต่ในโรงพยาบาลต่างๆ ในเวลานี้ ก็ต้องทำงานทั้งๆ ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันให้แก่บุคลากรการแพทย์ ทำให้แพทย์และพยาบาลเองก็เป็นตัวกลางในการแพร่เชื้อต่อจากคนไข้รายหนึ่งไปสู่อีกรายหนึ่งโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้นก็คืออาจจะเสี่ยงกลายเป็นผู้รับเชื้อเสียเอง ซึ่งยิ่งซ้ำเติมชะตากรรมของคนที่ต้องตกอยู่ท่ามกลางภัยสงคราม โดยที่ไม่สามารถเลือกอะไรได้.

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

...