ฉนวนกาซากลับมาเป็นประเด็นให้ “คนทั่วโลก” หันมาจับตามองอีกครั้งนับแต่กลุ่มฮามาสเปิดฉากยิงจรวดหลายพันลูกใส่ “ดินแดนอิสราเอล” ทำให้มีการตอบโต้โจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาอย่างดุเดือดมาหลายวัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายพันคน

หนำซ้ำยังมีสัญญาณส่อเค้า “กลายเป็นสงครามภูมิภาค และระดับโลก” เมื่ออิสราเอลปิดล้อมฉนวนกาซา “เตรียมบุกภาคพื้นดินกวาดล้างนักรบฮามาส” ส่งผลให้เรื่องนี้ “อิหร่าน” ต้องออกมาประกาศพร้อมตอบโต้หากมีปฏิบัติการเกิดขึ้นจริงจนทำให้ “สหรัฐอเมริกา” ต้องส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินเพื่อสนับสนุนอิสราเอล

ทว่าอันที่จริงแล้ว “การสู้รบระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส” ก็ไม่ใช่ครั้งแรกแต่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องหลังปี 2550 “กลุ่มฮามาสชนะการเลือกตั้งกลุ่มอำนาจเก่าฟาตาห์” ก่อนปฏิเสธยอมรับอิสราเอลทำให้ถูกตัดความช่วยเหลือจนในปี 2551 “นักรบฮามาส” ได้ยิงจรวดถล่มเมืองตอนใต้ของอิสราเอล

นับแต่นั้น “อิสราเอลเปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมายนักรบฮามาสในกาซา” มาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ยาวนานกว่า 15 ปี แถมถูกปิดล้อมจำกัดการใช้ไฟฟ้า อาหาร และเชื้อเพลิงอย่างสมบูรณ์ “ประชาชน” ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเสรีต้องเข้าออกผ่าน 3 ด่าน คือ ด่านอิสราเอล 2 จุด ด่านอียิปต์ 1 จุด

...

ทำให้ดินแดนแห่งนี้ถูกขนานนามว่า “คุกกลางแจ้งของอิสราเอล” เรื่องนี้กลายเป็นชนวนสำคัญให้นักรบฮามาสลุกมาต่อสู้หรือไม่ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า กลุ่มฮามาสเปิดโจมตีครั้งนี้ เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือกเนื่องจากถูกอิสราเอลปิดล้อมทุกทิศมานานเข้าสู่ปีที่ 15

แถมถูกจำกัดการนำเข้าทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เวชภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง ไฟฟ้า พลังงาน หรือสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพ เพราะด้วยกาซามีทรัพยากร และมีผลผลิตทางการเกษตรน้อยมากจนต้องพึ่งพาจาก “โลกภายนอก” แต่เมื่อถูกอิสราเอลปิดล้อมสภาพผู้คนในกาซาต่างก็ต้องอยู่กันด้วยความลำบากยากแค้น

ทั้งยังมีปัจจัยจากในปี 2564 “อิสราเอล” ใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มติดอาวุธในเขตเวสต์แบงก์ และเข้าไปทำร้ายผู้มาทำพิธีทางศาสนาในมัสยิดอัล-อักซอ พร้อมทำการจับกุมคุมขังชาวปาเลสไตน์ไว้ในเรือนจำไม่ต่ำกว่า 5 พันคนส่วนใหญ่ “ล้วนเป็นนักโทษทางการเมือง” ที่ถูกคุมขังโดยไม่ตั้งข้อหาดำเนินคดี

เมื่อเป็นเช่นนี้ “นักรบฮามาสต้องอยู่อย่างจนตรอก” ที่ถูกลดอำนาจในกาซาลงเรื่อยๆ “อันจะนำไปสู่จุดที่ประชาชนสูญสิ้นศรัทธา” เพราะในฐานะผู้ปกครองกลับไม่อาจจัดหาความปลอดภัย หรือสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตให้พลเมืองตัวเองได้กลายเป็น “สถานการณ์หลังชนฝา” โดยไม่มีทางเลือกที่จะเสียไปมากกว่านี้

“เหตุเหล่านี้อาจเป็นชนวนสำคัญต่อนักรบฮามาสทนถูกข่มเหงไม่ไหวจนเลือกที่จะตอบโต้อิสราเอลในดินแดนการยึดครองนั้น อันมีจุดประสงค์ดึงความสนใจจากประชาคมโลก เพื่อหันมาโฟกัสประเด็นปัญหาของชาวปาเลสไตน์กำลังเผชิญวิกฤติมายาวนาน สุดท้ายก็ถูกหยิบขึ้นมาพูดอย่างกว้างขวางในเวทีโลกจริงๆ” ดร.ศราวุฒิว่า

กระทั่งเป็นที่มา “นักรบฮามาสบุกจับตัวประกัน” เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองกับอิสราเอลปล่อยตัวชาวปาเลสไตน์ถูกคุมขัง เพราะด้วยช่วงหลายปีมานี้กลุ่มฮามาส และอิสราเอลมักแลกตัวประกันเป็นประจำอย่างเช่นก่อนหน้านี้จับกุมนายทหารระดับสูงของอิสราเอล และยื่นข้อเสนอแลกตัวประกันชาวปาเลสไตน์ได้ 1 พันคนด้วยซ้ำ

ดังนั้นสำหรับ “ตัวประกันเป็นสิ่งที่มีค่ากับกลุ่มฮามาส” ทำให้เป็นสาเหตุบุกเข้าไปในดินแดนอิสราเอลจับตัวประกันนั้นแล้วแน่นอนว่า “การโจมตีอิสราเอล” นักรบฮามาสเตรียมวางแผนมาอย่างดี สังเกตจาก “ทันทีที่เปิดฉากโจมตีเครือข่ายต่อต้านอิสราเอล” ต่างเริ่มปฏิบัติการยิงปืนใหญ่ใส่ดินแดนอิสราเอลเช่นกัน

โดยเฉพาะกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เปิดฉากสู้รบกับอิสราเอลบริเวณชายแดนตอนใต้ของเลบานอนอย่างดุเดือด แล้วเหตุนี้ทำให้อิสราเอลกล่าวหาว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลังกองกำลังติดอาวุธออกต่อต้านอิสราเอลในครั้งนี้

ด้วยสาเหตุถ้าย้อนอดีตดู “ความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล” เกิดขึ้นจากกองทัพอิสราเอลเข้ายึดครองตอนใต้ของเลบานอนเมื่อปี 2525 “กระทบชาวชีอะห์” เหตุนี้อิหร่านจึงได้ส่งนายทหารระดับแนวหน้าเข้าไป “ระดมผู้คนชาวชีอะห์ฝึกซ้อมรบ” ทั้งยังให้การสนับสนุนเงิน และอาวุธยุทโธปกรณ์ ในการจัดตั้งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์

...

เพื่อทำสงครามตัวแทนกับอิสราเอลในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทำให้ศึกสงครามระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายดำเนินไปอย่างดุเดือด “กลุ่มฮิซบอลเลาะห์” ใช้วิธีการสู้รบแบบกองโจรส่งผลให้อิสราเอลเสียหายเป็นจำนวนมาก

กระทั่งในปี 2543 อิสราเอลไม่อาจต้านได้ยอมถอนตัวออกจากภาคใต้ของเลบานอน กลายเป็นรอยบาดแผลที่อิสราเอลจดจำไม่เคยลืมนำมาซึ่งนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อิหร่านถูกสังหารหลายครั้ง ขณะที่ตัวแทนนักการทูตของอิสราเอลก็มักตกเป็นเป้าลอบสังหารประจำเช่นกัน

ฉะนั้นแล้ว “สงครามอิสราเอล-นักรบฮามาส” ทำให้นานาชาติต่างกังวลจะขยายไปเป็น “สงครามภูมิภาคตะวันออกกลาง” ที่อาจจะเกิดจากอิสราเอลและอิหร่านหันหน้ามาสู้รบกันโดยตรง เพราะแม้ว่าตอนนี้อิหร่านจะไม่ได้สนับสนุนกลุ่มฮามาสอย่างเปิดเผยก็ตาม แต่เคยแสดงจุดยืนสนับสนุนกลุ่มปาเลสไตน์อย่างเปิดเผยมาช้านาน

ไม่เท่านั้น “สงครามอิสราเอล-นักรบฮามาส” ก็ยังมีโอกาสขยายเป็นสมรภูมิตัวแทนของประเทศมหาอำนาจอีกสนามนอกเหนือจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็เป็นไปได้ “สังเกตการปรากฏตัวแสดงภายนอกใน 2 เหตุการณ์นั้น” ค่อนข้างมีความชัดเจนต่อการเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ

...

อย่างเช่น “อิสราเอล” มีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ และยุโรป แต่ในส่วน “อิหร่าน” ก็มีความสัมพันธ์กับรัสเซีย และจีน ดังนั้นถ้าสมมติว่าประเทศมหาอำนาจใช้โอกาสนี้เป็นสนามแข่งขันก็ย่อมส่งผลก่อให้เกิดวิกฤติจากจุดเล็กๆในกาซาขยายเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกก็ได้

มีคำถามว่า “สหรัฐฯ พร้อมเปิดศึกสมรภูมิใหม่หรือไม่...?” เพราะตอนนี้ทุ่มเงินช่วยเหลือยูเครนมหาศาลกลับยังไม่ได้ชัยชนะจากรัสเซีย ส่วนด้าน “จีน” ก็ไม่อยากให้ภูมิภาคตะวันออกกลางไร้เสถียรภาพเพราะเข้ามาขยายอิทธิพลด้านเศรษฐกิจการค้าเยอะมาก ฉะนั้นในแง่ประเทศมหาอำนาจคงยังไม่พร้อมเปิดศึกต่อกันในภูมิภาคนี้

เพียงแต่ว่า “สหรัฐฯ ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนอิสราเอลนั้น” ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการป้องปรามอิหร่านไม่ให้เคลื่อนไหว และแสดงความมั่นใจต่ออิสราเอลที่พร้อมยืนเคียงข้างในยามกำลังยากลำบากนี้เท่านั้น

เพราะถ้าจำกันได้ “ยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ” ที่เคยเกิดเหตุกลุ่มกองกำลังติดอาวุธฮูซีย์ใช้โดรนโจมตีโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่งในซาอุดีอาระเบีย ขณะที่กองทัพสหรัฐฯ ยังคงประจำอยู่ด้วยแต่กลับไม่ให้การช่วยเหลืออ้างว่า “เป็นปัญหาของซาอุฯ” ทำให้สหรัฐฯ สูญเสียความไว้ใจไปโดยถาวร

...

ฉะนั้นเมื่อ “อิสราเอลกำลังเผชิญหน้ากับอิหร่าน” สหรัฐฯก็ต้องออกมาแสดงท่าที “มิเช่นนั้นจะเสียมิตรประเทศไปอีก” ด้วยสหรัฐฯมีเป้าหมายจะเข้ามามีบทบาทในตะวันออกกลางอีกครั้ง เพราะนับแต่สมัยบารัค โอบามา โดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เน้นให้ความสำคัญกิจการในเอเชียแปซิฟิกมากเกินไป

กระทั่งหลงลืมบทบาทความสำคัญ “ภูมิภาคตะวันออกกลาง” ทำให้จีน และรัสเซียเข้าแทรกซึมเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ ไปจนหมดสิ้น ดังนั้น “วิกฤติสงครามอิสราเอล-นักรบฮามาส” จึงเป็นโอกาสดีที่จะออกมาแสดงเชิงสัญลักษณ์ประกาศให้โลกเห็นว่า “สหรัฐฯ” กำลังจะกลับเข้ามาในภูมิภาคตะวันออกกลางอีกครั้ง

นี่คือสถานการณ์ความตึงเครียดที่อาจเป็นชนวนความขัดแย้งลุกลามไปสู่ “ระดับภูมิภาค และระดับโลก” อันเป็นสัญญาณส่อเค้ากระทบต่อมิติเศรษฐกิจโลกซ้ำเติมสงครามรัสเซีย-ยูเครนอีกได้.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม