วิเคราะห์สงคราม 'อิสราเอล-ฮามาส' และท่าที 'อิหร่าน-อเมริกา' ที่ลงสนามสงครามเมื่อไร เท่ากับ สูญเสียหนักเมื่อนั้น...

เดินทางเข้าสู่วันที่ 11 (18 ต.ค. 2566) กับสงครามระหว่าง 'อิสราเอล' กับ 'กลุ่มฮามาส' ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติง่ายๆ นอกจากนั้นสถานการณ์ยังส่อแววทวีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้ทั่วโลกอยู่ในความกังวลว่า เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร หรือสงครามจะขยายวงกว้าง จนนำไปสู่การสูญเสียที่เพิ่มมากขึ้น....

การต่อสู้ที่ยังคงดุเดือด ณ อิสราเอล และฉนวนกาซา ทำให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ต่อสายตรงถึง 'ดร.อารีฝีน ยามา' นักวิจัยศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพูดคุย และวิเคราะห์ถึงสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ รวมถึงความกังวลต่างๆ อันเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามครั้งนี้ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต...

วิเคราะห์สงคราม อิสราเอล-ฮามาส :

เหตุการณ์โจมตีระหว่าง 2 ฝั่ง เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้ 'ชาวอิสราเอล' เสียชีวิตจำนวนมาก จนเกิดการตั้งคำถามว่า องค์กร 'มอสซาด' (Mossad) หรือ หน่วยข่าวกรองของอิสราเอล ทำงานผิดพลาดได้อย่างไร ทำไมถึงไม่สามารถรับรู้แผนการของกลุ่ม 'ฮามาส' ที่เป็นกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวขนาดเล็ก เพราะมอสซาดถือเป็นองค์กรที่มีศักยภาพสูงเทียบเท่า CIA (Central Intelligence Agency : สำนักข่าวกรองฝ่ายพลเรือนของรัฐบาลกลางสหรัฐ) ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ ดร.อารีฝีน แปลกใจเช่นกัน 

...

แม้สงครามครั้งนี้จะดูรุนแรง แต่ความจริงแล้ว ความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่าย เกิดขึ้นมายาวนาน เพียงแต่ว่าหลายครั้งไม่ได้เป็นข่าว เนื่องจากที่ผ่านมา อิสราเอลไม่เคยมีผู้เสียชีวิตเยอะขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเป็นปัญหาระหว่าง 'คนยึดครอง' กับ 'คนถูกยึดครอง' เพราะอิสราเอลเป็นประเทศที่เพิ่งเกิดขึ้นมาในปี ค.ศ. 1948 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยได้รับการสนับสนุน จากลัทธิอาณานิคมอย่าง อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา 

ดร.อารีฝีน ให้ข้อมูลว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาระหว่าง 'ชาวยิว' กับ 'ชาวมุสลิม' เนื่องจากก่อนที่จะเกิดประเทศอิสราเอล ทั้ง อาหรับยิว และ อาหรับมุสลิม ต่างอยู่ด้วยกันอย่างสันติในพื้นที่อิสราเอลปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นเป็นแผ่นดินของปาเลสไตน์ 

แต่กลุ่มที่เข้ามาสร้างประเทศ และปกครองอิสราเอล ไม่ใช่ 'ยิวพื้นที่' หรือ 'ยิวออร์โธดอกซ์' แต่เป็นยิว 'ไซออนิสม์' (Zionism) ซึ่งเป็นขบวนการทางการเมืองที่มีอุดมการณ์ชาตินิยม 

'อิหร่าน' ตัวแปรสำคัญของสงคราม :

ดร.อารีฝีน ให้ความเห็นว่า ผลจากสงครามครั้งนี้น่าจะมีหลายฉากทัศน์...

ซึ่งเหตุการณ์ที่ไม่รุนแรง อาจจะเป็นอิสราเอลสามารถขจัดขบวนการติดอาวุธของกลุ่มฮามาสได้ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 3 - 4 หมื่นคน แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะหากดูจากสถานการณ์และบริบทในปัจจุบัน กลุ่มฮามาสเริ่มมีศักยภาพและการวางแผนที่ดีขึ้น

ดร.อารีฝีน ตั้งขอสังเกตว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากภายนอก โดยเฉพาะจากประเทศ 'อิหร่าน' และกลุ่ม 'ฮิซบอลเลาะห์' (Hezbollah) ที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ และมีอยู่ในหลายประเทศ เช่น เลบานอน, ซีเรีย ฯลฯ นี่แสดงให้เห็นว่า 'อิหร่านเป็นตัวแปรสำคัญ' ว่าจะมีสงครามครั้งต่อไปหรือไม่

สิ่งที่อิสราเอลทำได้ตอนนี้ คือ การกำจัดกลุ่มผู้นำฮามาส 'ยาห์ยา ซินวาร์' และขุนศึกคนสำคัญ 'โมฮัมเม็ด เดอิฟ' ซึ่งจะสำเร็จได้หรือไม่ ยังไม่มีใครสามารถคาดเดาได้...

ซึ่งจากการสนับสนุนของอิหร่านที่เคยมีให้กลุ่มฮามาส ในช่วงก่อนเกิดสงครามครั้งนี้ ทำให้ ดร.อารีฝีน กล่าวแสดงความกังวล ถึงฉากทัศน์ต่อไปที่อาจจะเกิดขึ้น คือ หากอิหร่านเข้าสู่วังวนแห่งสงคราม ความรุนแรงของสงครามจะขยายวงกว้างขึ้นอย่างแน่นอน เพราะ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับอิหร่าน ก็จะเข้ามาร่วมมือด้วย จะทำให้อิสราเอลเกิดความยากลำบาก และประชาชนจำนวนมากจะต้องสูญเสียสวัสดิภาพการเป็นอยู่ที่ดี 

...

แต่หาก 'อิหร่าน' ลงสู่สนามสงครามอย่างเต็มรูปแบบ 'อิสราเอล' ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะดึงสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเข้ามาด้วย ซึ่งนี่ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด! เพราะสงครามจะทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ดร.อารีฝีน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า อิสราเอลน่าจะพยายามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ตามที่ผมกังวล  และพยายามควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในกรอบมากที่สุด เพราะที่ผ่านมาประชาชนในประเทศอยู่สุขสบาย หรูหรา และมีเทคโนโลยีที่ดี ดังนั้น การเข้าสู่ภาวะสงครามมีราคาที่ต้องจ่าย และไม่ใช่เรื่องที่ดี

"ที่บอกว่าอิสราเอลพยายามควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ร้ายแรง เพราะว่าอิสราเอลก็ถือว่าเป็นกองกำลังทหารที่ยิ่งใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงมีอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ฉะนั้น ถ้าอิสราเอลจะโจมตีปาเลสไตน์ทั้งหมดในวันเดียวก็ทำได้ 

แต่ผมเชื่อว่าเขาไม่ทำอย่างนั้น เพราะเขากลัวว่าจะกระทบต่อสิทธิมนุษยชน และการทำแบบนั้นอาจเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งจะทำให้เสียความชอบธรรมต่อการดำรงไว้ของรัฐอิสราเอล และตอนนี้อิสราเอลก็หยุดยั้งการโจมตีภาคพื้นดิน เพราะเกรงว่าอิหร่านจะลงมาสู้ด้วย และจะทำให้ตนเองตกที่นั่งลำบาก"

...

ท่าทีของสหรัฐอเมริกา :

ท่าทีของสหรัฐอเมริกาในตอนนี้ ถือเป็นการแสดงออกว่า 'พยายามควบคุมให้สถานการณ์อยู่ในวงจำกัด' ดร.อารีฝีน ฝันธงว่าไม่ว่าอย่างไร สหรัฐอเมริกา ก็ไม่ยอมให้อิสราเอลมีปัญหาสงครามที่ขยายวงกว้างกว่านี้ เพราะอเมริกาอาจจะสูญเสียผลประโยชน์บางอย่าง และก็คงไม่อยากเข้าร่วมสงครามด้วย เพราะประเทศเคยมีประสบการณ์เรื่องนี้ และมันก็แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ได้มีผลดีกับใคร ทั้งยังอาจต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาล หากทำสงครามท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังระส่ำระสาย

"แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะยังไม่ได้เข้าร่วมสงคราม แต่ก็มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้เห็น ว่าตนนั้นสนับสนุนอิสราเอล โดยการส่งเครื่องบิน F-15 สู่ฐานทัพชั่วคราวในจอร์แดน แต่ความจริงแล้ว ผมมองว่ายังไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้ก็ได้ เพราะอิสราเอลมีกองกำลังทหารที่ยิ่งใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก มีอาวุธนิวเคลียร์ และการทหารที่ดี"

ดุลยภาพของตะวันออกกลาง :

ดร.อารีฝีน มองว่า หากสงครามขยายวงกว้างมากขึ้น และประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ 'อิหร่าน' ลงสู่สนามแห่งสงคราม จะทำให้ 'ตะวันออกกลาง' ที่กำลังรุ่งเรือง ทั้งเศรษฐกิจ ผู้คน และการท่องเที่ยว ต้องได้รับความเสีย และอาจเข้าสู่การถดถอยครั้งใหญ่ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อความมั่นคงในภูมิภาค...

...

ก่อนหน้าจะเกิดสงครามระหว่าง อิสราเอล - ฮามาส ตะวันออกกลางถือเป็นภูมิภาคที่เริ่มเห็นการพัฒนาสู่ทางที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และชีวิตความเป็นอยู่ นอกจากนั้นหลายประเทศ เช่น อียิปต์, จอร์แดน, โอมาน, การ์ตา ฯลฯ เริ่มเชื่อมความสัมพันธ์กับอิสราเอล แม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะยังไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีท่าทีที่ดีกับอิสราเอล กระทั่งเกิดสงครามขึ้น ทุกอย่างจึงหยุดชะงัก...

เหตุผลที่ทำให้ชาติอาหรับทำการทูตกับอิสราเอล 'ช้า' ดร.อารีฝีน กล่าว่า "เนื่องจากมวลชนในประเทศ ผูกพัน และมีความรู้สึกที่ดีกับชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นอาหรับด้วยกัน และมองว่าชาวปาเลสไตน์โดนกดขี่จากอิสราเอล ทั้งยังถูกขับไล่ออกจากพื้นที่เดิม ทำให้ไม่สามารถกลับเข้ามาอาศัยได้ กลายเป็นผู้ลี้ภัยในค่ายต่างๆ เช่น ในเขตประเทศจอร์แดน, เลบานอน, ซีเรีย ฯลฯ 

ถึงแม้ว่ารัฐบาลของหลายประเทศในตะวันออกกลาง จะไม่ออกมา 'ประณามอิสราเอลโดยตรง' แต่ทำเพียงตำหนิเล็กน้อย เพราะยังมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีประโยชน์ร่วมกัน แต่มวลชนของแต่ละประเทศต่างประท้วงแสดงความเห็นใจต่อชาวปาเลสไตน์"

ดร.อารีฝีน กล่าวทิ้งท้ายถึงปลายทางของสงครามนี้ว่า "ผลของสงครามครั้งนี้ ผมยังไม่สามารถบอกได้ และไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร มีแต่ความกังวลใจเรื่องความเสียหายต่อชีวิตของประชาชนทั้งสองฝ่าย และแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย ก็ยังคาดเดาไม่ได้ว่าเหตุการณ์จะยุติอย่างไร เพราะมันไม่เคยยุติ..."

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :