- การรุกรานยูเครนของรัสเซียเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ท่ามกลางการโจมตีทางอากาศที่ยกระดับขึ้นในหลายเมือง ทำให้ผู้นำยูเครนออกมาเรียกร้องให้ สหรัฐฯ และนาโต ตั้งเขตห้ามบินในประเทศของพวกเขาเพื่อสกัดมอสโก
- แต่การตั้งเขตห้ามบินในยูเครน จะทำให้กองทัพอากาศของสหรัฐฯ และชาติสมาชิกนาโต ต้องปะทะกับรัสเซียโดยตรง อันจะนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบในยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครยากให้เกิดขึ้น
- และถึงแม้ว่าสหรัฐฯ กับนาโต จะตัดสินใจตั้งเขตห้ามบินก็ตาม แต่พวกเขาอาจไม่สามารถรับมือรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกองทัพอากาศขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่พร้อมจะบุกเข้าสู่ยูเครนได้
การรุกรานยูเครนของรัสเซียก้าวเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ท่ามกลางการโจมตีด้วยปืนใหญ่และการทิ้งระเบิดทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในหลายๆ เมือง ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ ให้สหรัฐฯ และชาติตะวันตกจัดตั้งเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้ายูเครน เพื่อปกป้องพลเรือนและสกัดการรุกคืบของกองทัพรัสเซีย
นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ออกมาร้องขอหลายต่อหลายครั้งให้องค์กรสนธิสัญญาณแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ตั้งเขตห้ามบิน ล่าสุดคือเมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังกองทัพรัสเซียโจมตีโรงพยาบาลแม่และเด็กในเมืองมาริอูโปล จนทำให้อาคารเสียหายอย่างหนัก มีผู้คนได้รับบาดเจ็บนับสิบราย
ขณะที่นอกยูเครน เจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้นำกองทัพของชาติตะวันตกหลายคนก็แสดงความเห็นด้วยให้พิจารณาเรื่องการตั้งเขตห้ามบิน ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของรอยเตอร์สร่วมกับสถาบันอิปซอส ก็พบว่า ชาวอเมริกันกว่า 74% สนับสนุนการตั้งเขตห้ามบินเหนือยูเครน
แต่การจัดตั้งเขตห้ามบินไม่ใช่เรื่องง่าย หลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ และชาติสมาชิกนาโต ต้องส่งเครื่องบินจำนวนมากและทหารเข้าไปในยูเครน เพื่อลาดตระเวนและประกาศว่า เครื่องบินและมิสไซล์ของกองทัพรัสเซีย จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่น่านฟ้าของยูเครนอีกต่อไป นั่นหมายความว่า พวกเขาจะต้องยิงเครื่องบินที่ล่วงล้ำเข้ามา ซึ่งจะนำไปสู่การทำสงครามเต็มรูปแบบกับมอสโก อันเป็นสิ่งที่นาโตไม่ต้องการที่สุด
...
เขตห้ามบินคืออะไร บังคับใช้อย่างไร?
ในบริบทของสงครามและความขัดแย้ง เขตห้ามบิน หรือ no-fly zone จะถูกบังคับใช้เมื่อประเทศหนึ่งหรือมากกว่า ต้องการห้ามอากาศยานของกองทัพและอื่นๆ จากการบินเหนือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่การประกาศเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอที่ใครจะทำตาม สหรัฐฯ กับนาโตจำเป็นต้องส่งเครื่องบินของตัวเองจำนวนมากเข้าสู่พื้นที่ที่กำหนด เพื่อลาดตระเวน และอาจต้องยิงเครื่องบินของศัตรู เพื่อปกป้องพลเรือนภาคพื้น
นอกจากเครื่องบินของกลุ่มพันธมิตรจะต้องบินลาดตระเวนทั้งวันทั้งคืนแล้ว พวกเขายังต้องใช้เครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศ มีหน่วยภาคพื้นประจำการอยู่ใกล้ๆ และต้องใช้อากาศยานจู่โจมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ด้วย เพื่อรบกวนสัญญาณเรดาร์ของรัสเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับและตกเป็นเป้าหมายการโจมตี หรืออาจถึงขั้นต้องทำลายระบบป้องกันทางอากาศของรัสเซียด้วย
ทำไม สหรัฐฯ กับนาโต ไม่ตั้งเขตห้ามบินในยูเครน
ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรพยายามเสริมกำลังกองทัพของยูเครนเพื่อช่วยเหลือในการต่อต้านการรุกรานจากรัสเซีย โดยสหรัฐฯ กับนาโต ส่งมิสไซล์ต่อต้านรถถังให้ยูเครนแล้วกว่า 17,000 ลูก และจรวดสติงเกอร์ต่อต้านอากาศยานอีก 2,000 ลูก แต่การตั้งเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้ายูเครนจะล้ำเส้นที่พวกเขาขีดไว้
อย่างที่ระบุไปข้างต้นว่า การบังคับใช้เขตห้ามบิน ทำให้เครื่องบินรบของสหรัฐฯ และชาติสมาชิกนาโต ต้องโจมตีอากาศยานและระบบป้องกันของรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันจะนำไปสู่การทำสงครามเต็มรูปแบบในยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งที่นาโตพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะถึงแม้ว่า รัสเซียจะมีขนาดกองทัพที่เล็กกว่า แต่พวกเขาเป็นมหาอำนาจที่มีขุมกำลังนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
สหรัฐฯ ออกมาแสดงความชัดเจนแล้วว่า พวกเขาไม่คิดที่จะเผชิญหน้ากับรัสเซียตรงๆ โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ย้ำเรื่องนี้ในการแถลงนโยบายของเขาว่า “ขอผมพูดให้ชัดเจน กองทัพของเราจะไม่เข้าร่วมการปะทะกับกองทัพรัสเซียในยูเครน” ด้านนายเยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการใหญ่นาโต กล่าวว่า การตัดสินใจไม่ส่งทหารไปช่วยยูเครนเป็นสิ่งที่เจ็บปวด แต่หากพวกเขาทำเช่นนั้น สุดท้ายมันจะจบลงที่การทำสงครามเต็มรูปแบบในยุโรป ดึงอีกหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง และสร้างความทุกข์ทรมานแก่มนุษย์มากขึ้นไปอีก
ขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ออกโรงขู่เลยว่า ประเทศที่ 3 ใดๆ ที่มีการเคลื่อนไหวไปสู่การตั้งเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้ายูเครน จะถือเป็นชาติผู้เข้าร่วมความขัดแย้งทางทหารในทันที ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชาติสมาชิกองค์กรใดก็ตาม และเคยเตือนก่อนหน้านี้ด้วยว่า จะใช้การตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์ต่อประเทศที่เข้ามาแทรกแซง
...
เขตห้ามบินอาจหยุดรัสเซียไม่ได้
แต่ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ กับนาโต จะตัดสินใจตั้งเขตห้ามบินขึ้นมา มันก็อาจหยุดยั้งการบุกโจมตียูเครนของรัสเซียไม่ได้ โดยนายอเล็กซานเดอร์ เบนาร์ด จากสถาบัน ฮัดสัน ในสหรัฐฯ ระบุว่า เขตห้ามบินจะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อ สหรัฐฯ และนาโตบังคับใช้มันอย่างแข็งกร้าว คือกล้ายิงเครื่องบินของรัสเซียทที่ล่วงล้ำเข้ามาเท่านั้น
ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สหรัฐฯ เคยตั้งเขตห้ามบินในหลายประเทศ ทั้งที่อิรัก, บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา และลิเบีย แต่นั่นเป็นการเผชิญหน้ากับกองทัพอากาศขนาดเล็กและล้าสมัยเท่านั้น ต่างจากตอนนี้ที่คู่ต่อสู้คือรัสเซีย ซึ่งมีเป็นหนึ่งในประเทศที่กองทัพอากาศขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มากมายกว่าประเทศใดในยุโรป และมีระบบจรวดภาคพื้นสู่อากาศ หรือ SAM ที่ก้าวหน้าด้วย
นายแดเนียล เฮเกอดึส จากกองทุน เยอรมัน มาร์แชล สาขายุโรปกลาง กล่าวว่า การลาดตระเวนทางอากาศในเขตห้ามบินอาจรับมือกับเครื่องบินที่รุกล้ำเข้ามาไม่กี่ลำได้ แต่อาจไม่ใช่สำหรับเครื่องบินหลายสิบหรือหลายร้อยลำที่เข้ามาอย่างสอดประสาน ซึ่งรัสเซียสามารถทำได้หากพวกเขาต้องการท้าทายเขตห้ามบินของนาโต
ระบบ SAM ของรัสเซียยังมีระยะทำการกว้างขวางมาก ครอบคลุมเกือบทั้งประเทศยูเครน โดยเฉพาะ S-400 ที่ยิงได้ไกลถึง 250 ไมล์ หรือจากเมืองเบโลกรอด ทางตะวันตกของรัสเซียถึงกรุงเคียฟ ของยูเครนเลยทีเดียว ทำให้ชาติพันธมิตรต้องควบคุมน่านฟ้าให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเท่านั้น จึงจะสามารถบังคับใช้เขตห้ามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิเช่นนั้น นอกจากจะหยุดรัสเซียไม่ได้แล้ว สงครามยังจะแผ่ขยายไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย
...
เขตห้ามบินแบบจำกัด?
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้จัดตั้งเขตห้ามบินในยูเครน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ หลายคน ก็เข้าใจในผลกระทบที่อาจตามมา พวกเขาจึงเสนอให้จัดตั้งเขตห้ามบินแบบจำกัด เพื่อปกป้องพลเรือนในยูเครนแบบเฉพาะจุดแทน
แผนการดังกล่าวถูกเรียกว่า เขตห้ามบินเพื่อมนุษยธรรม เพื่อสร้างเส้นทางปลอดภัยให้ชาวยูเครนสามารถหลบหนีจากพื้นที่การต่อสู้ และเป็นฐานสำหรับลำเลียงสิ่งของช่วยเหลือให้แก่ผู้ประสบภัยทั่วประเทศ โดยไม่เข้าไปยุ่งกับสมดุลทางทหารของคู่ขัดแย้ง
แต่เขตห้ามบินแบบนี้ก็ยังจำเป็นต้องมีการส่งทหารเข้าไปดูแล และอาจเกิดความเสี่ยงที่จะคำนวณผิดพลาดจนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ซึ่งนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า เธอไม่คิดว่าเขตห้ามบินลักษณ์นี้จะแตกต่างออกไป และว่า การเจรจาเพื่อเปิดเส้นทางเพื่อมนุษยธรรมระหว่างยูเครนและรัสเซีย เป็นปัญหาอื่น ที่ไม่จำเป็นต้องให้นาโตเข้าไปแทรกแซง
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : Time , NBCnews , Aljazeera
...