“The Last of Us” ซีรีส์ที่มาแรงติดเทรนด์ที่สุดในนาทีนี้ เป็นหนึ่งในซีรีส์หลายๆ เรื่องที่ต่อยอดจากเกมดัง แต่สิ่งที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้กลายเป็นที่กล่าวถึงคืออะไร เรามาหาคำตอบกัน

“The Last of Us” เป็นซีรีส์ที่ร้อนแรงติดกระแสความสนใจไปทั่วโลก แม้ว่าพล็อตเรื่องวันสิ้นโลก หรือซอมบี้ครองโลก จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นซีรีส์ที่สร้างจากเกมไม่ต่างจากเรื่อง Resident Evil หรือ Silent Hill แต่สิ่งที่ทำให้ “The Last of Us” กลายเป็นกระแสความสนใจจากทั่วโลกได้พร้อมกันแบบไม่ได้นัดหมายคือ การสร้างซีรีส์ที่เคารพเนื้อหาต้นฉบับเกมมากที่สุด ตั้งแต่คาแรกเตอร์ของตัวเอกอย่างโจลและแอลลี่ รวมถึงฉากและบรรยากาศในซีรีส์ที่เหมือนเกมแบบไม่ผิดเพี้ยน ที่สำคัญคือความหลอนของเจ้าตัวซอมบี้เชื้อราที่สยองทะลุจอ ดังที่ได้เห็นใน Ep.2 ที่เพิ่งสตรีมเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา

เรื่องย่อ “The Last of Us”

ในปี 2013 ได้เกิดการระบาดขึ้นของเชื้อรากลายพันธุ์ชื่อ คอร์ดีเซปส์ (Cordyceps) ในสหรัฐอเมริกา ทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ประหลาดกินคน รู้จักในชื่อ ผู้ติดเชื้อ (infected) ในชานเมืองออสติน รัฐเทกซัส โจล หนีจากความโกลาหลกับน้องชายชื่อ ทอมมี และลูกสาวชื่อ ซาราห์ ขณะพวกเขาหนี ซาราห์ ถูกทหารคนหนึ่งยิงและเสียชีวิตในอ้อมแขนของโจล ยี่สิบปีถัดมา อารยธรรมมนุษย์ส่วนใหญ่ได้ล่มสลายลงเนื่องมาจากการระบาดของเชื้อรา ผู้รอดชีวิตอาศัยอยู่ในเขตกักกันที่มีทหารคุ้มกันอย่างเข้มงวด ในชุมชนอิสระ และกลุ่มคนเร่ร่อน โจลทำงานเป็นผู้ลอบค้าอาวุธร่วมกับเพื่อนชื่อ เทสส์ ในเขตกักกันที่บอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ พวกเขาตามล่า โรเบิร์ต ผู้ค้าในตลาดมืด เพื่อนำคลังอาวุธกลับคืนมา ก่อนเทสส์ฆ่าเขา โรเบิร์ตเผยว่าตนค้าขายแลกเปลี่ยนคลังอาวุธกับพวกไฟร์ฟลายส์ กลุ่มทหารที่ต่อต้านเจ้าหน้าที่ในเขตกักกัน

...

เปโดร ปาสคาล รับบท โจล และเบลลา แรมซี่ ผู้รับบทแอลลี แม้ว่าหน้าตาจะไม่ได้ตรงกับต้นฉบับในเกมทั้งคู่ แต่ยอมรับว่าบทบาทการแสดงนั้นกินขาด รวมทั้งมีบุคลิกใกล้เคียงกับตัวละครมาก ภาพจากเว็บไซต์ HBO
เปโดร ปาสคาล รับบท โจล และเบลลา แรมซี่ ผู้รับบทแอลลี แม้ว่าหน้าตาจะไม่ได้ตรงกับต้นฉบับในเกมทั้งคู่ แต่ยอมรับว่าบทบาทการแสดงนั้นกินขาด รวมทั้งมีบุคลิกใกล้เคียงกับตัวละครมาก ภาพจากเว็บไซต์ HBO

หัวหน้าไฟร์ฟลายส์ชื่อ มาร์ลีน สัญญาว่าจะเพิ่มคลังอาวุธให้เป็นสองเท่า แลกกับการลักลอบพาเด็กสาววัยรุ่นชื่อ แอลลี ไปยังที่หลบซ่อนของไฟร์ฟลายส์ในอาคารศาลากลางของบอสตันภายนอกเขตกักกัน โจล เทสส์ และแอลลี แอบออกมาตอนกลางคืน แต่หลังจากเผชิญหน้ากับทหารลาดตระเวน พวกเขาพบว่าแอลลีติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการใดๆ ทั้งที่ผู้ที่ถูกกัดคนอื่นล้วนกลายสภาพใน 2 วัน กลุ่มไฟร์ไฟลส์จึงเห็นว่าภูมิคุ้มกันของแอลลีอาจนำไปสู่การรักษาเชื้อนี้ได้ เมื่อทั้งสามเดินทางมาถึงอาคารศาลากลางก็พบว่าสมาชิกไฟร์ไฟลส์ทั้งหมดในนั้นถูกสังหาร เทสส์ได้เผยว่าเธอถูกผู้ติดเชื้อกัดระหว่างทาง เมื่อหน่วยทหารเข้ามาประชิด เทสส์เห็นความสำคัญของแอลลีจึงได้สละชีวิตตนเองเพื่อให้โจลและแอลลีหนีไป โจลตัดสินใจตามหาทอมมี อดีตไฟร์ฟลายส์ เพื่อหวังว่าเขาจะตามหาตำแหน่งของไฟร์ฟลายส์ที่เหลือได้

จากนี้การผจญภัยของโจลและแอลลีจะยิ่งเข้มข้นและลุ้นระทึกยิ่งขึ้นในทุกฉากทุกตอน ผู้ที่เคยเล่นเกม The Last of Us มาก่อน จะได้ลิ้มรสความบันเทิงในรูปแบบซีรีส์ซึ่งให้อรรถรสที่ต่างไปจากการเล่นเกมด้วยตนเอง ส่วนผู้ที่ไม่เคยเล่นเกมนี้ก็ได้สัมผัสประสบการณ์ความสยองของซอมบี้เชื้อรา ซึ่งต่างไปจากซอมบี้เรื่องอื่นๆ ที่มักจะเกิดจากเชื้อไวรัส นอกจากความน่ากลัวของซอมบี้แล้ว เรื่องราวดราม่าที่เกิดในซีรีส์นี้ก็สนุกไม่แพ้กัน ส่วนฉากจบของซีรีส์นี้จะเป็นอย่างไร ติดตามชมได้ใน HBO Go ซึ่งจะสตรีมตอนใหม่ทุกวันจันทร์

ที่มาเชื้อราซอมบี้ใน “The Last of Us”

จุดเริ่มของเชื้อราซอมบี้ในเกม “The Last of Us” นั้น ทีมพัฒนาเกมได้แรงบันดาลใจมาจากสารคดี Planet Earth ใน BBC ที่บอกเล่าถึงเชื้อราที่ตรงเข้าไปยึดสมองของแมลงจนมันมีรูปแบบความคิดที่เปลี่ยนไป และควบคุมความต้องการ หรือการเคลื่อนไหวของมัน เช่น พาตัวมด หรือหอยทากที่มันเกาะกินอยู่ให้มันไปตายในที่สูงๆ เช่นยอดไม้ เพื่อที่ตัวสปอร์ของเชื้อราจะได้แพร่กระจายไปในวงกว้างขึ้น และทำให้เกิดเชื้อรารุ่นต่อไป ทีมพัฒนาเกมได้นำไอเดียนี้มามาปรับใช้กับมนุษย์จนกลายเป็นเกมและซีรีส์ “The Last of Us” ในวันนี้ โดยเชื้อในเรื่องนี้เรียกว่า Cordyceps ซึ่งแปลว่า ถังเช่า ชื่อที่หลายคนอาจคุ้นเคยและคิดว่าเป็นสมุนไพร แต่ความจริงแล้วคือเชื้อราชนิดหนึ่งที่เกิดบนแมลงนั่นเอง

ซีรีส์ถอดแบบความหลอนของซอมบี้จากเชื้อราได้เหมือนในเกมไม่มีผิดเพี้ยน ภาพจากเพจ The Last of Us HBO
ซีรีส์ถอดแบบความหลอนของซอมบี้จากเชื้อราได้เหมือนในเกมไม่มีผิดเพี้ยน ภาพจากเพจ The Last of Us HBO

...

ในความเป็นจริงแล้วแม้ว่าเชื้อราส่วนใหญ่จะอาศัยความชื้นในการเจริญเติบโต จึงไม่สามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้ เพราะมีอุณหภูมิที่สูงเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็มีเชื้อราบางชนิดสามารถเจริญเติบโตได้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย และสามารถก่อโรคในมนุษย์ได้ เช่น โรคติดเชื้อที่ผิวหนังและอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะที่โพรงจมูก หรือไซนัส และปอด ส่วนกรณีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ คือ การที่เชื้อราเข้าสู่สมองจนทำให้เกิด โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โดยเชื้อราอาจฝังตัวอยู่ในสมอง และเกิดการทำลายจนกระทั่งทำให้เนื้อสมองตาย เป็นต้น ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่าเชื้อราขึ้นสมองแล้วจะทำให้กลายเป็นซอมบี้แบบใน “The Last of Us” หรือเปล่า แต่ในทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์แล้วนั้นเมื่อเชื้อราทำลายสมอง ไม่ว่าจะเป็นทั้งสัตว์ หรือมนุษย์ จะทำให้การทำงานของสมองผิดปกติไป และมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้ “โฮสต์” หรือเจ้าของร่างเสียชีวิต มากกว่าที่จะสามารถเข้าไปควบคุมร่างกายของโฮสต์ให้เคลื่อนไหวตามสัญชาตญาณดิบ และไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาร่างกายให้ไม่เน่าเปื่อยแบบซอมบี้แต่อย่างใด.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง