“ประกายความคิด” ที่เกิดขึ้นในสังคมทันทีที่ซีรีส์ของมวลมนุษย์เกมเมอร์ อย่าง "The Last of Us" ตอนแรกฉายรอบพรีเมียร์ในช่อง HBO คือ “เชื้อรา” พาหนะที่นำไปสู่การเกิดซอมบี้ล้างโลก นั้น “ในความเป็นจริง” มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ภูมิคุ้มกันในมนุษย์สามารถต่อสู้กับเชื้อราได้หรือไม่ และ ในปัจจุบัน “เชื้อรา” อันตรายต่อมนุษย์มากน้อยเพียงใด อะไรคือ “คำตอบ” ทางวิทยาศาสตร์กับ “ความสงสัย” ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น วันนี้ “เรา” ไปร่วมกันรับฟัง "การเลกเชอร์เรื่องเชื้อรา 101" กับ “ผศ.พญ.อภิญญ์เพ็ญ สาระยา วสันติวงศ์” หัวหน้าห้องปฏิบัติการโรคทางสมองและระบบภูมิคุ้มกัน ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่าน “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”

ผศ.พญ.อภิญญ์เพ็ญ สาระยา วสันติวงศ์” หัวหน้าห้องปฏิบัติการโรคทางสมองและระบบภูมิคุ้มกัน ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ผศ.พญ.อภิญญ์เพ็ญ สาระยา วสันติวงศ์” หัวหน้าห้องปฏิบัติการโรคทางสมองและระบบภูมิคุ้มกัน ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

...

ทฤษฎีเชื้อราสร้างซอมบี้ จาก The Last of Us :

“คิดว่าในความเป็นจริง น่าจะเป็นไปได้ยากค่ะ” ผศ.พญ.อภิญญ์เพ็ญ เกริ่นนำกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์"

ประเด็นแรก : โดยปกติเมื่อเชื้อราทำลายสมอง ไม่ว่าจะเป็นทั้งสัตว์หรือมนุษย์ น่าจะทำให้การทำงานของสมองผิดปกติไป และมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้ “โฮสต์” เสียชีวิต มากกว่าที่จะสามารถเข้าไปควบคุมร่างกายของโฮสต์ให้เคลื่อนไหวตามสัญชาตญาณดิบ และไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาร่างกายให้ไม่เน่าเปื่อยแบบซอมบี้แต่อย่างใด

ประเด็นที่สอง : "เชื้อรา" ถือเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำที่ไม่ได้สลับซับซ้อนนัก หรือ หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เป็นสิ่งที่ก้ำกึ่งระหว่างแบคทีเรียและพืช "เชื้อรา" ไม่มีสมอง ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่มันจะเข้าไปควบคุมหรือสั่งการ “โฮสต์” เพื่อให้ทำตามที่ต้องการได้

ข้อเท็จจริงทั้งหมดของ “เชื้อรา”

เชื้อราคือ? :

เชื้อรา (Fungus/Fungi) คือ สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติก้ำกึ่งระหว่างพืชและแบคทีเรีย อาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มง่ายๆ คือ 1.รารูปร่างกลม เรียกว่า yeast 2.รารูปร่างยาวเป็นสาย เรียกว่า Mold 3.เห็ดต่างๆ “เชื้อรา” เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นมานานมากแล้วบนโลกใบนี้ และน่าจะเกิดขึ้นก่อนวิวัฒนาการของมนุษย์

การสืบพันธุ์ของเชื้อรา :

เชื้อรา ส่วนใหญ่สืบพันธุ์โดยการสร้าง "สปอร์ (Spore)" ที่มีขนาดเล็กมากสามารถแพร่กระจายไปได้ทั้ง ดิน น้ำ ลม ฟ้า และอากาศ โดยหากสปอร์ไปตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะสามารถเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

อย่างไรก็ดีการเจริญเติบโตที่ว่านี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อราด้วย เพราะบางชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ดีเมื่อสปอร์ไปตกในพืชหรือต้นไม้บางชนิด ในขณะที่บางชนิดสามารถเจริญเติบโตได้เมื่อเข้าสู่ร่างกายและก่อสามารถก่อโรคในมนุษย์ได้เป็นต้น

...

ความแตกต่างระหว่าง เชื้อรา และ เชื้อไวรัส :

“เชื้อราสามารถทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้ในระดับหนึ่ง และแตกต่างจากเชื้อไวรัสตรงที่ไม่ได้จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในร่างกายของโฮสต์ (Host) ตลอดเวลา เชื้อรายังคงสามารถอยู่ต่อไปในธรรมชาติได้ตามแหล่งรังโรคเฉพาะของราแต่ละชนิด”

การเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ของเชื้อรา :

ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อรา โดยส่วนใหญ่หากเป็นราชนิดสายที่เรียกว่า "Mold” นั้นมักจะชอนไชเข้าไปในจมูกหรือไซนัส ส่วนราชนิดที่มีรูปร่างกลม เรียกว่า "Yeast" ซึ่งมีขนาดเล็กกว่านั้น มักเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางลมหายใจ เข้าสู่ปอด และกระแสเลือด จนกระทั่งไปสู่อวัยวะต่างๆของร่างกาย หรือแม้กระทั่ง “สมอง” ได้

ภาพเอ็กซ์เรย์ การติดเชื้อราคริปโตคอคคัสจากการหายใจสปอร์ของเชื้อราจากมูลนก ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC
ภาพเอ็กซ์เรย์ การติดเชื้อราคริปโตคอคคัสจากการหายใจสปอร์ของเชื้อราจากมูลนก ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

...

อาการบ่งชี้เมื่อเชื้อราเข้าสู่สมอง :

กรณีเชื้อรา ทำให้เกิดอาการ "เยื้อหุ้มสมองอักเสบ" คนไข้มักมีอาการปวดหัว มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน อันเป็นผลมาจากเกิดความดันภายในโพรงศีรษะสูง หรือในอีกกรณีหนึ่ง หากเชื้อราเข้าไปขัดขวางการไหลเวียนของน้ำไขสันหลัง ก็จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว การเดินหรือการทรงตัวผิดปกติ โดยหากมีอาการรุนแรงมากๆ ก็อาจทำให้คนไข้ถึงขั้นหมดสติ เกิดอาการชัก และ "เสียชีวิต" ได้

ภาพเอ็กซ์เรย์ การติดเชื้อราคริปโตคอคคัสจากการหายใจสปอร์ของเชื้อราจากมูลนก ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC
ภาพเอ็กซ์เรย์ การติดเชื้อราคริปโตคอคคัสจากการหายใจสปอร์ของเชื้อราจากมูลนก ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

...

ความอันตรายของเชื้อราเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ :

“เชื้อราเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์มักก่อให้เกิดโรคเสมอ และมีโอกาสน้อยมากๆที่จะไม่ก่อโรค”

ที่พบบ่อย คือ โรคติดเชื้อที่ผิวหนังและอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะที่โพรงจมูก หรือ ไซนัสและปอด ส่วนกรณีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ คือ การที่เชื้อราเข้าสู่สมอง จนทำให้เกิด โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) , เชื้อราอาจฝังตัวอยู่ในสมอง และเกิดการทำลายจนกระทั่งทำให้เนื้อสมองตาย เป็นต้น ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

“กรณีเชื้อราเข้าสู่สมอง สามารถรักษาได้ค่ะ หากมีการวินิจฉัยเชื้อราที่เข้าไปอยู่ในสมองได้อย่างถูกต้อง เพราะเชื้อราแต่ละชนิดมีการตอบสนองต่อยาฆ่าเชื้อราแต่ละตัวไม่เหมือนกัน”

เชื้อรากลุ่มไหนที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุด :

เชื้อราที่มักทำให้เกิด "อาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ" ที่พบได้บ่อย คือ "เชื้อรากลุ่มคริปโตคอคคัส นิโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus Neoformans)" ซึ่งพบมากใน "มูลนก" โดยเฉพาะมูลนกพิราบ นั้น มักมีผลกระทบต่อกลุ่มคนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ กลุ่มคนที่กินยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อรามากที่สุด ส่วนพื้นที่เสี่ยงที่มักทำให้พบเชื้อราในสมองได้บ่อย คือ พื้นที่เขตชุ่มชื้นซึ่งมีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ง่าย

สำหรับในประเทศไทย จากการศึกษาของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ประมาณอัตราการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อราว่า อยู่ที่ประมาณ 2 คน ต่อประชากร 100,000 คน

ภูมิคุ้มกันมนุษย์ต่อเชื้อรา :

“ภูมิคุ้มกันของมนุษย์สามารถต่อต้านเชื้อราได้ โดยเฉพาะคนที่มีสุขภาพแข็งแรงปกติและได้รับปริมาณเชื้อราไม่มากนัก โอกาสจะเกิดอันตรายจากการก่อโรคของเชื้อรามีได้น้อยมากๆ แต่กลับกันหากเป็น กลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ มีโรคประจำตัวรุนแรงหรือควบคุมโรคประจำตัวได้ไม่ดีนัก มักจะทำให้เกิดโรคได้”

วิวัฒนาการของเชื้อราเพื่อให้ทานทนต่อสภาวะโลกร้อน :

“มีความเป็นไปได้ค่ะ”

ตั้งแต่อดีตกาล สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ย่อมมีวิวัฒนาการเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น แบคทีเรีย ไวรัส หรือ เชื้อรา ต่างมีวิวัฒนาการมาโดยตลอดเพียงแต่ที่ผ่านมา “เชื้อไวรัส” ดูจะเป็นสิ่งที่สามารถสังเกตได้ง่ายที่สุด เพราะมีการแบ่งตัวได้ไวมาก สำหรับในกรณีของเชื้อรา การวิวัฒนาการที่ว่านี้ คงไม่น่าจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 10-20 ปีแน่นอน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟฟิก Chonticha Pinijrob

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง