นาทีนี้ “โอมิครอน” คือเชื้อโควิดกลายพันธุ์ใหม่ที่ต้องจับตาอย่างมากว่าจะเข้ามาระบาดในไทยหรือไม่ แต่นอกเหนือจากการลุ้นแล้ว เรามาเปรียบเทียบกันชัด ๆ ว่า ระหว่างอาการของโอมิครอนกับเดลตา มีความต่างกันอย่างไร และใครแรงกว่ากัน
อาการ “โอมิครอน”
อาการของสายพันธุ์โอมิครอนที่พบโดยทั่วไปในเวลานี้คือ ยังสามารถรับรสชาติและได้กลิ่นเหมือนปกติ ไม่ค่อยมีอาการไข้ มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีอาการปอดอักเสบร่วมด้วย และสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
อาการ “เดลตา”
สำหรับอาการของสายพันธุ์เดลตาจะมีบางส่วนที่คล้ายกับโอมิครอนคือ ไม่สูญเสียการรับรู้รสและกลิ่น แต่มักจะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ มีน้ำมูก และเจ็บคอ อาการคล้ายโรคหวัดทั่วไป และสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย
...
เมื่อลองเปรียบเทียบอาการทั้ง 2 สายพันธุ์แล้ว อาจจะเห็นว่าโอมิครอนมีอาการไม่รุนแรงเท่าเดลตา แต่ก็อย่าประมาทจนเกินไป เพราะเพิ่งอยู่ในช่วงค้นพบสายพันธุ์นี้ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น เรายังต้องเฝ้าสังเกตอาการกันอย่างใกล้ชิดต่อไปถึงจะรู้ว่าจะมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงร่วมด้วยหรือไม่
นอกจากนี้ กลุ่มคนที่พบว่าติดเชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยและกลุ่มคนที่มีอายุน้อย ซึ่งมีแนวโน้มว่าแสดงอาการเมื่อติดเชื้อโควิด-19 เพียงเล็กน้อย ดังนั้นถ้าหากมีการระบาดในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงวัย ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าได้
และที่สำคัญ ไม่ว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาหรือไม่ สิ่งที่เราควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดก็คือ ใส่หน้ากาก ล้างมือ หรือใช้แอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครบโดส เพื่อป้องกันตนเองและคนรอบข้างไม่ให้ติดเชื้อโควิดนั่นเอง
ทั้งนี้ โอมิครอน เป็นเชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ระดับที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) มีรายงานว่าถูกพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ ปัจจุบันมีการระบาดแล้วในประเทศแอฟริกาใต้, บอตสวานา, เบลเยียม, ฮ่องกง, อิสราเอล, ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, แคนาดา (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พ.ย. 2021)
ล่าสุด วันที่ 3 ธ.ค. 2564 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ได้เผยผลวิจัยจาก DSI-NRF Centre of Excellence in Epidemiological Modelling and Analysis ของแอฟริกาใต้ ที่พบว่าเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้คนที่เคยป่วยเป็นโควิดแล้ว มีความเสี่ยงที่จะกลับมาติดเชื้อซ้ำได้ถึง 3 เท่า ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลของผู้ติดเชื้อ 2.8 ล้านรายในแอฟริกาใต้ ระหว่างเดือนมี.ค. 2563 จนถึงวันที่ 27 พ.ย. 2564 พบว่ามีถึง 35,670 ที่คาดว่าเป็นการกลับมาติดเชื้อซ้ำอีกครั้ง
ขณะที่เชื้อกลายพันธุ์อย่างสายพันธุ์เบตาและเดลตา พบว่าผู้ที่ป่วยด้วยเชื้อ 2 สายพันธุ์นี้มีอัตราการติดเชื้อซ้ำต่ำกว่าเชื้อดั้งเดิมอย่างสายพันธุ์อู่ฮั่นเสียอีก แต่สำหรับตัวล่าสุดอย่างโอไมครอน กลับมีอัตราการติดเชื้อซ้ำที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย. แอฟริกาใต้มีผู้ติดเชื้อต่อวันอยู่ที่ราวๆ 300 ราย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในวันพุธที่ผ่านมา มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 8,561 รายแล้ว