• นับตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด หลักฐานทางพันธุกรรมชี้ชัดแล้วว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์ทุก 6-12 เดือน มีจำนวน 40-50 สายพันธุ์ กำลังมีวิวัฒนาการจนเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในมนุษย์แล้ว
  • ไข้หวัดใหญ่ คือ ตัวอย่างโรคระบาดจากไวรัส จนกลายเป็นโรคประจำถิ่นมาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นลูกหลานของไข้หวัดสเปนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เกิดจากการกลายพันธุ์ในนก
  • เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามนุษย์จะอยู่กับโควิด-19 ไปอีกนาน และจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกปี เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรค

โอมิครอน คือ โควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่พบส่งท้ายปี 2021 ที่องค์การอนามัยโลก WHO จัดเป็นโควิดที่น่ากังวลใจลำดับที่ 5 ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ VOC (Variant of Concern) ต่อจากสายพันธุ์อัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา แม้โอมิครอนยังเข้ามาไม่ถึงประเทศไทย แต่ก็ประมาทไม่ได้ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี แสดงทรรศนะว่า “หากโอมิครอนหลุดเข้ามา ณ ตอนนี้ที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเหลือประมาณ 5,000 คนต่อวัน ทางสาธารณสุขไทยยังจัดการได้อยู่ แต่ควรสกัดไม่ให้หลุดเข้าสู่วงจรการระบาด”

จับตา “เดลตา-โอมิครอน” การ์ดตกไม่ได้

...

ประเทศไทยได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์มาหลากหลายพอๆ กับประเทศอื่นในโลก เพราะประเทศไทยเปิดรับการท่องเที่ยวเป็นหลัก ตัวสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจไทยก็เจอทั้งหมด ตั้งแต่อัลฟา เบตา แกมมา แต่สู้สายพันธุ์เดลตาที่ระบาดไปทั่วประเทศไม่ได้

  • เดลตา ได้กลายพันธุ์ไปเป็นเดลตาสายพันธุ์ย่อย อาการลดความรุนแรงลง เพราะไวรัสมีการปรับตัวอยู่กับมนุษย์ได้ดีขึ้น การเจ็บป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลน้อยลง และกำลังเข้าสู่ลักษณะเป็นโรคประจำถิ่น

ถ้าพูดถึงในประเทศไทย ความน่ากังวลใจลดลงเป็นลำดับ ถ้าไม่ได้รับการเติมเชื้อจากข้างนอก

  • โอมิครอน กลายพันธุ์มาอย่างไร ทำไมระบาดหนัก ต้องพิจารณาบริบทประเทศในแอฟริกา ซึ่งไม่เหมือนในประเทศไทย ภูมิประเทศมีป่าเขามากมาย มีหลายชนเผ่า การเข้าถึงคมนาคมยาก ทำให้การขนส่งวัคซีนยังไม่ดี ดังนั้นจึงมีไวรัสต่างๆ ระบาดเป็นประจำอยู่แล้ว รวมถึงชนเผ่าบางกลุ่มมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) เป็นบ่อเกิดเชื้อกลายพันธุ์อยู่เสมอ แล้วจะหลุดออกมาประเทศอื่นๆ แต่ลักษณะการกลายพันธุ์เช่นนี้ไม่น่าจะเกิดกับประเทศไทย เพราะว่าประเทศไทยมีการควบคุมไม่ให้เชื้อติดต่อกันระหว่างคนสู่คนไปมากมาย

การติดเชื้อจากคนสู่คนแบบไม่มีการจำกัดวง จะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย การกลายพันธุ์มักจะเกิดเมื่อมีการระบาดระหว่างคนสู่คน

โลกเคยมีบทเรียนจากไข้หวัดใหญ่ Spanish Flu

อาจารย์วสันต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไวรัสเป็นสิ่งก้ำกึ่งระหว่างสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ไวรัสเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวิวัฒนาการสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาตั้งแต่ยุคอดีต แต่ไวรัสก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ยงคงกระพัน จึงต้องปรับสายพันธุ์ตัวเองไปเรื่อยๆ ให้อยู่รอด และมีทิศทางว่าโคโรนาไวรัสกำลังปรับตัวเพื่ออยู่คู่กับเผ่าพันธุ์มนุษย์

ในอดีตเมื่อ 100 ปีมาแล้ว โลกเคยเจอกับไวรัสระบาดรุนแรง การติดเชื้อครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 ล้านคน ไม่มีวัคซีนและยาป้องกัน ไวรัสกลายพันธุ์จึงเป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติ

“หลายประเทศมีหลายหน่วยงานที่เฝ้าระวังการติดเชื้ออุบัติใหม่ โรคระบาดจากไวรัสที่มีการบันทึกไว้ เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดนก เป็นไวรัสที่ระบาดในนกแล้วจับพลัดจับผลูหลุดเข้ามาสู่คน เมื่อแพร่จากคนสู่คน ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง ช่วงนั้นไม่มีใครมีภูมิคุ้มกัน พอติดเชื้อไปสักพัก ก็ทำให้ติดกันไปมากมายทั่วโลก มีผู้ล้มตายเป็นจำนวนมาก เพราะไม่มีวัคซีน ไม่มียาต้าน สิ่งที่ทำได้ในสมัยนั้นคือ Social Distancing และการใส่หน้ากาก ใครที่ไม่เชื่อในหลักการนี้ก็ติดเชื้อและล้มตายไป

Spanish Flu ค.ศ.1918 ภาพจาก icrc.org
Spanish Flu ค.ศ.1918 ภาพจาก icrc.org

...


รัฐหรือเมืองไหนที่เชื่อว่าการสวมแมสก์ หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม ก็จะมีผู้เสียชีวิตน้อย พิสูจน์ได้เมื่อ 100 ปีที่แล้ว และพิสูจน์อีกว่าไวรัสไม่ได้อยู่ยงคงกระพัน เข้ามาแล้วจะฟักตัวจนอยู่กับเราได้ ลูกหลานของไข้หวัดนก ปัจจุบันก็กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ธรรมดาที่อยู่กับเรา”

ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ทุก 6-12 เดือน ทิศทางไวรัสโควิดอยากอยู่กับมนุษย์ไปเรื่อยๆ

นับจากปีที่พบการระบาดครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน มีโคโรนาไวรัส 2019 หลายสายพันธุ์ 40-50 สายพันธุ์ย่อย ทั้งก่อนหน้าที่ WHO จะตั้งชื่อเสียอีก และมีการล้มหายตายจาก จนเหลือเดลตา และเดลตากลายพันธุ์เป็นเดลตาสายพันธุ์ย่อย จนเข้าสู่โรคประจำถิ่น

โคโรนาไวรัส 2019 เดิมไม่ได้อยู่ในมนุษย์ อยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาจจะเป็นตัวนิ่ม หรือค้างคาว แล้วหลุดมาในคน จนมีการกลายพันธุ์วิวัฒนาการอยู่พักหนึ่ง ในต้นปีแรก เปลี่ยนหนามแหลมให้จับกับเซลล์ได้ดีขึ้น เขาจึงแพร่ไปทั้งโลก

เมื่อแพร่ระบาดไปทั่วโลกหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ที่เกิดความรุนแรง และอาการไม่รุนแรง แต่พอท้ายสุดจะถูกคัดเลือก และตอนนี้ผู้ชนะคือ เดลตา ซึ่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ได้ไม่เท่าเบตา แต่ติดเชื้อได้ไวกว่า โควิดสายพันธุ์ใหม่ตัวที่ติดเชื้อได้ไวกว่าเป็นผู้ชนะ เพราะเมื่อเข้าไปในเซลล์แล้ว จะปิดประตูกั้นสายพันธุ์อื่นไม่ให้เข้า

...

ไวรัสเป็นสิ่งก้ำกึ่งระหว่างสิ่งมีชีวิต ถ้าเขาอยู่นอกเซลล์ สักพักเขาจะสูญสลาย หรือสูญพันธุ์ไป ไวรัสตัวใดก็ตามที่ติดเชื้อได้ไวกว่า ก็จะอยู่รอด

เราจะเห็นชัดว่าสายพันธุ์อื่นๆ อัลฟา, เบตา, แกมมา จะค่อยๆ หมดไป เหลือ “เดลตา” ที่กำลังพัฒนาเป็นสายพันธุ์ย่อย

โควิดก้าวสู่โรคประจำถิ่นที่มนุษย์ต้องเผชิญทุกปี

อ.วสันต์ เล่าว่า จากผลการถอดรหัสพันธุกรรมโอมิครอนให้ผลดูเหมือนจะติดเชื้อว่องไวกว่าเดลตา แต่โอกาสที่จะระบาดไปทั่วโลกหรือไม่นั้น ก็ต้องว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะส่วนของเดลตาเอง จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผู้ติดเชื้อรุนแรงจำนวนมากมาก่อน มีการสร้างภูมิคุ้มกันธรรมชาติ และการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ทำให้ความรุนแรงลดลง ทำให้ทั้งประเทศจะเข้าสู่โหมดที่เราเรียกว่า “โรคประจำถิ่น” จะช้าหรือเร็วไม่พร้อมกัน เพราะการเริ่มการติดเชื้อไม่พร้อมกัน

โรคประจำถิ่น คืออะไร

หากยกตัวอย่างในกรุงเทพฯ จะระบาดแบบไม่มีวงกว้าง ระบาดเป็นหย่อมๆ ถ้าเรานึกภาพสมมติว่ามีต้นหญ้าแห้งทั้งหมด เมื่อมีการจุดไฟ เหมือนไวรัสเข้ามา คนในพื้นที่นั้นๆ ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเลย ก็จะติดลุกลามเป็นไฟไหม้ทั้งป่าอย่างรวดเร็ว

...

เมื่อไหม้เสร็จแล้วจะเข้าสู่เฟสสอง หญ้าที่เคยตายก็จะฟื้นตัว ซึ่งหมายถึงคนที่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งผู้ที่มีภูมิธรรมชาติจากการติดเชื้อ หรือได้รับวัคซีน พอไวรัสเข้ามาโจมตีอีก ก็เหมือนไฟป่า แต่ไม่วอดเหมือนเดิม จะเป็นการติดเชื้อเป็นหย่อมๆ ไป

จากแต่ก่อนที่การติดเชื้อจะติดกันทั้งโลก ทั้งประเทศ ทั้งจังหวัด แต่ต่อไปจะติดเป็นหย่อมๆ แล้วอาการจะไม่หนัก ควบคุมได้ อันนี้เราเรียกว่าโรคประจำถิ่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ซึ่งไวรัสเรียนรู้จะอยู่กับเรามากขึ้น

การกลายพันธุ์เป็นวัตถุดิบวิวัฒนาการของทุกสิ่งมีชีวิต รวมทั้งไวรัสด้วย และไวรัสพยายามวิวัฒนาการอยู่กับเราให้นานขึ้น การที่อยู่ได้นานขึ้น แต่จะต้องไม่ทำลายมนุษย์

ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า โควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่น ทุกคนต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกปี เพื่อลดความรุนแรงของเชื้อ ดังนั้นตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป นโยบายหลักทั่วโลกจึงมุ่งเน้นสาธารณสุขในการจัดหาวัคซีนและยาต้านโควิด

อ.วสันต์ฝากถึงคนที่กังวลตัว โอมิครอน หรือสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เข้ามาว่า “ลักษณะของการตระหนักตื่นรู้เป็นสัญชาตญาณที่ดี จำเป็นต้องมี ถ้าขาดตรงนี้จะแย่ จะเสียชีวิตกันเยอะ แต่ตอนนี้เราสามารถสืบหาข่าวได้ แล้วจากนั้นก็นำไปสู่การหาข้อมูลเพื่อป้องกัน”

การระบาดของโอมิครอน มีตัวอย่างที่ให้ศึกษารหัสพันธุกรรมไม่เกิน 200 ตัวอย่าง อาการไม่รุนแรง จนถึงไม่มีอาการเท่าเดลตา และชุดตรวจก็ยังใช้วิธี PCR ได้ เมื่อตัวอย่างที่ส่งมามีโอกาสเป็นโอมิครอน ก็ส่งตรวจรหัสพันธุกรรม หรือจีโนไทป์ยืนยันต่อได้

ประเทศไทยที่มีผู้ติดเชื้ออยู่จำนวน 5,000-6,000 คนต่อวัน ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลตา หากมีโอมิครอนเข้ามาในตอนนี้ ก็ต้องช่วยกันดูแลและป้องกันกันต่อไป.


ผู้เขียน : สีวิกา ฉายาวรเดช