ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกธุรกิจล้วนได้รับผลกระทบทั่วหน้า ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรงไม่มีอ้อม นั่นคือ ธุรกิจการบิน

ประกาศคำสั่งหยุดบิน กลายเป็นประกาศิตที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในธุรกิจการบินไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป สิ่งเดียวที่เหลืออยู่ก็มีเพียงแค่ความหวัง

“หวังว่าจะมีคำสั่งใหม่เปลี่ยนแปลงออกมา”

ในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันนี้ ส่งผลให้ผู้คนในแวดวงธุรกิจการบินต้องออกไปหาอาชีพอื่นชั่วคราว ทั้งในรูปแบบของงานหลัก งานเสริม เพราะโอกาสที่จะได้กลับมาทำงานของตัวเอง ภาพที่อยู่เบื้องหน้ายังคงพร่ามัว

เรื่องนี้ไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่ แอร์โฮสเตส ซึ่งทำงานในธุรกิจการบินนี้มาไม่ต่ำกว่า 7 ปี ให้ข้อมูลว่า จากเดิมที่เคยมีเที่ยวบินปีหนึ่งๆ นับครั้งไม่ถ้วน พอเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา เที่ยวบินที่ต้องบินเหลือแค่เพียงหยิบมือเท่านั้น

ผลกระทบระลอกถัดมาหลังเที่ยวบินลดลง องค์กรในฐานะต้นสังกัด ก็จำต้องรัดเข็มขัดให้แน่น ซึ่งแน่นยิ่งกว่า seat belt ที่อยู่บนเครื่องบินเสียอีก ตามด้วยการขอให้พนักงาน Leave without pay หรือการหยุดงานแบบไม่รับเงินเดือน

เมื่อมีคำสั่ง Leave without pay สิ่งที่ตามมาต่อเนื่องทันที ก็คือเงินเดือนพื้นฐานของพนักงานก็จะถูกหักออกไป ทำให้เงินเดือนที่ได้รับแต่ละเดือนซึ่งไม่มากอยู่แล้ว ยิ่งเหลือน้อยลงไปอีก

ในเวลาเดียวกัน ประกาศคำสั่งหยุดบินที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็ส่งผลกระทบชิ่งไปถึงเงินพิเศษของพนักงาน ซึ่งจะสะสมในทุกๆ การทำงานแต่ละครั้ง โดยไม่มีปัญหาการขาด ลา มาสาย หรือป่วย เมื่อไม่ได้ขึ้นปฏิบัติงานบนเครื่องบิน เงินก้อนที่ว่านี้ก็หายวับไปกับตา

แต่สิ่งที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุดก็คงจะเป็นเรื่องของรายได้ ในความเป็นจริงแล้วอาชีพนี้ไม่ได้มีรายได้พื้นฐานที่สูงมากนัก โดยรายได้หลักมาจากตารางบินในแต่ละเดือน คล้ายกับอาชีพเซลส์ที่มีรายได้ส่วนใหญ่จากค่าคอมมิชชัน

...

อนาคตที่พร่ามัว

วิกฤติโควิด-19 เข้าสู่ปีที่สอง และอาจลุกลามไปเป็นปีที่สาม หรือปีที่สี่ และไม่มีใครรู้ว่าจุดสิ้นสุดของมันอยู่ตรงที่ใด

คนทำงานธุรกิจการบิน ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในปี 2564 มันคือวิกฤติที่ยิ่งกว่าปี 2563 โดยคนทำงานธุรกิจการบิน และคนทำงานสายงานอื่น ทุกคนน่าจะมองเห็นเหมือนกัน ก็คือ ปี 2564 มันคือ Aftershock จากปีที่แล้ว

ไม่มีใครรู้ว่าโควิด-19 จะสิ้นสุดตรงจุดไหน แล้วธุรกิจการบินจะเป็นอย่างไร หลังจากนี้ในปีต่อๆ ไป
ไม่มีใครรู้ว่าโควิด-19 จะสิ้นสุดตรงจุดไหน แล้วธุรกิจการบินจะเป็นอย่างไร หลังจากนี้ในปีต่อๆ ไป

ถ้านับเฉพาะธุรกิจการบิน จากเดิมที่ปี 2563 เที่ยวบินระหว่างประเทศ หรือภายในประเทศ แทบจะมีไม่กี่เที่ยวบินที่ขึ้นบินได้ พอย่างก้าวเข้าสู่ปี 2564 สถานการณ์กลับแย่ยิ่งกว่านั้น กลายเป็นว่าไม่มีเที่ยวบินเหลือเลยเสียด้วยซ้ำ สนามบินที่เคยคึกคักกลายเป็นสนามบินร้างเหมือนป่าช้า

ประเด็นดังกล่าวทำให้แหล่งข่าวผู้ซึ่งทำงานในธุรกิจการบิน ต้องกลับมาฉุกคิดเรื่องของอนาคตว่าถึงที่สุดแล้ว ควรจะยังทำสายงานนี้ต่อไปหรือไม่ ในเมื่อผลกระทบที่หนักหน่วง และยังไม่มีวี่แววว่าจะกลับมาสู่สภาวะปกติในระยะเวลาอันใกล้นี้

ด้วยอาชีพแอร์โฮสเตส เป็นอาชีพที่อยู่ภายใต้สัญญา โดยในสัญญามีการระบุชัดเจนว่าสัญญาจะผูกพันนานกี่ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทำอาชีพนี้ประเมินจนเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วว่าจะเอาอย่างไรกับอนาคตดี แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิดก็ยังบีบคั้นให้ต้องคิดถึงอนาคตมากกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว

ขณะเดียวกัน คนที่อยากจะเดินหน้าต่อกับอาชีพนี้ในระยะยาว ที่ผ่านมาก็มีการเตรียมตัว เตรียมความพร้อม สำหรับการสอบเลื่อนขั้น แต่เมื่อวิกฤติโควิดมาเคาะประตูถึงหน้าบ้าน ผู้คนในสายงานนี้จำนวนไม่น้อยต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า ตัวเราจะยังได้ไปต่อหรือไม่ เราจะขึ้นไปยืนสู่ตำแหน่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมเพื่ออะไร ในเมื่อธุรกิจสายงานนี้กำลังจะไปไม่ได้แล้ว (อย่างน้อยก็ที่เห็นตอนนี้)

อนาคตในสายธุรกิจการบินยังคงมืดหม่น
อนาคตในสายธุรกิจการบินยังคงมืดหม่น

สิ่งที่แย่ไปกว่านั้น จากภาวะโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาใหม่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด จากเดิมที่สามารถคำนวณได้ว่า ในแต่ละปีจะมีรายรับเท่าไร เพื่อใช้ดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต ก็จะเกิดปัญหาทันที และจากโรคระบาด การคำนวณเงินก็ไม่สามารถทำได้อีกแล้ว ซ้ำร้ายแทนที่เงินจากการทำงานควรถูกนำไปเก็บสะสม กลับกลายเป็นว่าเงินในอนาคตก้อนนี้ ต้องถูกปัจจุบันหยิบยืมไปก่อน เพื่อฝ่าวิกฤติในวันนี้ให้ได้ กลายเป็นวิกฤติซ้อนในวิกฤติอีกชั้นหนึ่ง

เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อมองไปถึงเส้นทางที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าก็ทำได้ยาก เพราะธุรกิจการบินไม่ได้เป็นธุรกิจเดียวที่ได้รับผลกระทบ แต่ทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกันทั้งหมด อยู่ที่ว่าหนักหรือเบาเท่านั้น

แน่นอนว่าเมื่อถึงวันที่ต้องการบอกลาจากการทำงานในสายงานนี้ คนทำงานการบินที่อยากเปลี่ยนไปทำงานสายอาชีพอื่น จะยังคงหางานที่อยากทำได้หรือไม่ ในเมื่อทุกอย่างกำลังแย่ลงทุกวัน

ทุกอย่างกลายเป็นอนาคตที่พร่าเลือน

...

เสียงที่(รัฐ)ไม่ได้ยิน

เป็นที่น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยว่า นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเห็นได้ว่าการเยียวยา หรือแนวทางการช่วยเหลือธุรกิจการบินดูจะมีน้อยเหลือเกิน กลายเป็นบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจการบิน นอกจากต้องรัดเข็มขัดแล้ว ยังต้องกัดฟันดิ้นรนช่วยเหลือตัวเอง

ในมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบ ยอมรับว่า ไม่เข้าใจ ไม่แน่ใจ ไม่รู้ว่าทำไมรัฐบาลถึงยังมองไม่เห็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ แล้วซอฟต์โลน (Soft loan) ที่ขอไป จะมาเมื่อไหร่

หรือแม้แต่เงินเยียวยา 2,500 บาท เป็นเงินที่กว่าจะได้มาใช้เวลานาน อีกทั้งเงินเยียวยาก้อนแรกของคนในธุรกิจการบิน ก็ชัดเจนในคำตอบอยู่แล้วว่า “ไม่พอ”

การเยียวยาในภาพรวมของธุรกิจนี้ ดูจะล่าช้า
การเยียวยาในภาพรวมของธุรกิจนี้ ดูจะล่าช้า

“ในฐานะคนทำงาน เงิน 2,500 บาทที่ว่านี้ เราไม่ได้อยากได้หรอก หรือถ้าพูดให้ชัดเราไม่อยากได้เงินด้วยซ้ำ สิ่งที่อยากได้จริงๆ คือ แนวทางที่จะช่วยประคับประคอง แผนการหนึ่ง สอง สาม จะเป็นรูปธรรมอย่างไร นำเสนอให้ทุกคนเห็น”

“คงต้องเน้นย้ำว่า สิ่งที่อยากได้คือ การที่เราได้ทำงานของเราเพื่อได้เงิน ไม่ใช่ขอเงิน”

...

ไม่มีใครเยียวยา ก็ต้องเยียวยาตัวเอง

นับตั้งแต่เกิดภาวะโควิด สิ่งที่ต้องทำก็คือการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด สิ่งที่ทำเหมือนกับทุกๆ คน ก็คือ พยายามลดรายจ่ายให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับหาช่องทางการเพิ่มรายได้ และพยายามที่จะไม่ดึงเงินสำรองออกมาใช้ มิเช่นนั้นถ้าสถานการณ์ลากยาวกว่านี้ ก็อาจอยู่อย่างลำบาก

อีกหนึ่งทักษะในการเอาตัวรอด ก็คือ การเข้าสู่ตลาดขายสินค้าออนไลน์ เหลียวมองดูสินค้าภายในบ้าน ชิ้นไหนที่พอขายได้ก็ตัดสินใจขายทันที ทั้งในส่วนที่เป็นหนังสือ หรือข้าวของเครื่องใช้ อะไรที่แปรเปลี่ยนเป็นเงินได้ ก็ต้องกัดฟันขาย

ในส่วนการช่วยเหลือขององค์กร แหล่งข่าวเล่าว่า บริษัทยังคงจ่ายเงินเดือนถึงแม้จะถูกหักไปบ้างจากส่วนที่ต้อง Leave without pay ซึ่งพอเข้าใจได้ เพราะแทบไม่ได้ทำงานให้บริษัทจากการถูกสั่งห้ามบิน แน่นอนว่าแนวทางนี้ก็ถือเป็นการประนีประนอม เพื่อรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรต่อไป

ขณะที่บริษัทก็มีความพยายามที่จะหารายได้เสริมเข้าสู่องค์กร ทั้งการขายสินค้าออนไลน์ การต่อยอดไปยังธุรกิจขนส่ง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่มีใครอยู่นิ่งเฉยไม่ไหวติง

ที่น่าสนใจ บริษัทมีความพยายามที่จะ Reskill/Upskill ให้กับพนักงาน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ

...

สำหรับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ของแหล่งข่าว ไม่ว่าจะเป็นพนักงานแอร์โฮสเตส เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน (Ground Staff) นักบิน ทุกคนก็ประสบปัญหาในชีวิตที่หนักเบาแตกต่างกันไป บ้างก็ต้องพบจิตแพทย์เพื่อเยียวยาจิตใจ บางคนมูฟออนไปข้างหน้าได้แล้วก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

ในวันที่ยังไม่มีแนวทางการช่วยเหลืออย่างชัดเจน สิ่งที่ผู้ให้ข้อมูลเล่าให้ฟังก็มีแค่ความพยายามไม่ให้ตัวเองอยู่นิ่ง ทั้งกายและสมอง เพราะการหยุดนิ่งอยู่กับที่ มันจะยิ่งทำให้รู้สึกแย่

“เพราะการที่เรายังแอคทีฟอยู่ มันทำให้เรามีเป้าหมาย และถ้าเรามีเป้าหมายในชีวิตมันก็คงทำให้เรารู้สึกว่าเรายังมีคุณค่า”.