ทุกข์ของแม่เลี้ยงเดี่ยว ไร้งาน ไร้เงิน เพราะโควิด ขอเพียง "นมผง" ให้ลูกอิ่มท้อง

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ทุกข์ของแม่เลี้ยงเดี่ยว ไร้งาน ไร้เงิน เพราะโควิด ขอเพียง "นมผง" ให้ลูกอิ่มท้อง

Date Time: 1 ก.ย. 2564 06:50 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • มาตรการต่างๆ ที่ออกมาไม่ได้แก้ปัญหาให้เขาลืมตาอ้าปากจริง สิ่งที่พวกเขาอยากได้มากที่สุด คือ การทำมาหากินได้ตามปกติ เหมือนก่อนที่โควิดจะบาด

Latest


  • โควิด-19 เพิ่มความยากลำบากให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นเท่าทวีคูณ ตกงาน ไร้เงิน จนหลายคนตกอยู่ภาวะจำยอมใช้ตัวเข้าแลกเพื่อให้ลูกน้อยได้อิ่มท้อง
  • นมผง นมกล่อง ผ้าอนามัย และผ้าอ้อมสำเร็จรูปทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ เป็นสิ่งที่แม่เลี้ยงเดี่ยว และครอบครัวคนจนอยากได้มากที่สุด 
  • ความเหลื่อมล้ำที่ไม่สิ้นสุด เยียวยาที่ไม่ตอบโจทย์ แม่เลี้ยงเดี่ยว คนจนเมือง กลุ่มเปราะบางขอสู้ยิบตา กลายเป็นภาคประชาชนเข้มแข็งไปต่อไม่รอรัฐบาล 
  • หากหมดโควิด สิ่งที่ต้องฟื้นฟู คือ สภาพจิตใจ เพราะความสัมพันธ์ของคำว่าครอบครัวเริ่มหายไป  

เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่คนไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทต้องหยุดชะงัก อะไรที่เคยคิดว่าแน่นอน มาวันนี้กลับไม่แน่นอน คนที่เคยมีงาน มีเงิน กลับกลายเป็นคนไร้งาน ไร้เงิน ดิ้นรนหาทุกหนทางให้ตัวเอง และครอบครัวได้อิ่มท้อง เพื่อมีแรงต่อสู้หาเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และส่วนหนึ่งก็เพื่อเอามาใช้หนี้ที่กู้ยืมมาทั้งในระบบ และนอกระบบ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จงอย่าได้แปลกใจว่า ทำไมถึงมีข่าวคนแห่ไปหน้าธนาคารเมื่อหลงเชื่อว่าจะมีการแจกเงิน ข่าวการฆ่าตัวตายหนีหนี้ ข่าวคนแห่ไปลงทะเบียนขอรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข่าวประชาชนสมัคร ม.40 เพื่อรับเงินเยียวยาจากประกันสังคม หรือแม้กระทั่งข่าวพี่น้องต้องแบ่งเวลาใช้โทรศัพท์เพื่อเรียนออนไลน์ เพราะทั้งบ้านมีโทรศัพท์แค่เครื่องเดียว 

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้จะโทษว่าเป็นเพราะโควิดอย่างเดียวไม่ได้ แต่เพราะประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำที่ซุกซ่อนอยู่ในทุกอณูของสังคม พอมีโควิดก็ทำให้เราได้มองเห็นปัญหาได้ง่ายขึ้น 

แม้หลายคนพยายามตะเกียกตะกายพาตัวเองออกจากวิกฤติ แต่กลับกลายเป็นตกหลุมลึกยิ่งกว่าเดิม หลงเดินเข้าไปในธุรกิจสีเทา หรือตกเป็นเหยื่อของพวกแก๊งเงินกู้นอกระบบ ถ่ายคลิปลับของตัวเองเพื่อแลกกับการผ่อนจ่ายหนี้ กลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติเข้าไปอีก 

ทุกข์ของแม่เลี้ยงเดี่ยว

พัชรี ไหมสุข หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้หญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง บอกว่า สิ่งที่แม่เลี้ยงเดี่ยว และครอบครัวยากจนที่มีลูกเล็กๆ อยากได้มากที่สุดตอนนี้เลย คือ นมผง นมกล่อง สิ่งนี้เป็นอะไรที่ขาดแคลนมากๆ คุณลองคิดดูสินมผงสมัยนี้ไม่ใช่ถูกๆ กล่องหนึ่งก็เกือบ 500 บาท เด็กกินไม่ถึง 2 อาทิตย์ก็หมดแล้ว แม่ๆ บางคนรายได้ไม่กี่ร้อยบาท พอมีโควิดรายได้หดหายเหลือเพียงไม่กี่สิบบาท จะเอาเงินที่ไหนมาซื้อนมให้ลูกกิน พวกเขาเหล่านั้นจึงเลือกใช้นมข้นหวานชงให้ลูกกินไปก่อนเพื่อประทังชีวิต 

"ตอนนี้พี่อยากมีนมผง นมกล่องเยอะๆ อยากมีโกดังเลยนะ เพราะอยากจัดสรรให้แม่เลี้ยงเดี่ยว และครอบครัวที่ยากจนได้สิ่งของเหล่านี้กันทุกคน แต่ทุกวันนี้งบประมาณของมูลนิธิเพื่อนหญิงมีจำกัด การช่วยเหลือก็ต้องใช้เวลานาน เพราะเราต้องเลือกครอบครัวที่เขายากลำบากจริงๆ"   

เมื่อเราถามหาถุงยังชีพที่หลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน ช่วยกันแจกจ่ายนั้น พัชรี เล่าว่า กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว และกลุ่มคนที่มีลูกเล็กๆ เขามีความต้องการไม่เหมือนกับบุคคลทั่วไป ซึ่งนมผง นมกล่อง ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับผู้สูงอายุ เหล่านี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร หรือปลากระป๋อง 

ส่วนใหญ่แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัวยากจนที่มูลนิธิช่วยเหลือดูแลอยู่นั้น มักเป็นกลุ่มที่กระจายตัวอยู่ในต่างจังหวัด เป็นกลุ่มประชากรแฝง กลุ่มย้ายถิ่นฐาน ซึ่งพวกเขาเป็นกลุ่มคนตกสำรวจ แน่นนอนถุงยังชีพ หรือ มาตรการเยียวยาต่างๆ จึงไม่ถึงพวกเขา 

หลายเคสที่เราเข้าไปช่วยเหลือ ก็จะพบความยากลำบากที่ไม่เหมือนกัน เช่น แม่เลี้ยงเดี่ยวที่อยู่โคราช ที่มีลูกเล็ก 2 คน เธอตกงานเพราะโควิดมาหลายเดือน จึงมาขอความช่วยเหลือที่มูลนิธิ และสิ่งที่ขอไม่ใช่เงิน แต่เธอขอเพียงนมสำหรับลูก และอาหารเพียงเล็กน้อย

"หลังจากเราช่วยเหลือไป คุณแม่คนนี้ก็ติดต่อกลับมาบอกว่า ดีใจมากๆ ที่ได้รับนมและอาหาร ตอนนี้พอจะหาหอย หาปลาไปขายได้บ้างแล้ว พี่ก็ถามกลับว่าขายได้กี่บาท ใจเราก็นึกนะว่าน่าจะขายได้หลายร้อย เพราะน้ำเสียงเขาดีใจจริงๆ ปรากฏว่าขายได้ 50 บาท ซึ่งถ้าพูดกันตรงๆ 50 บาท ยังไม่พอซื้อนมให้ลูกกินเลย แม้แต่จะซื้อผ้าอนามัยก็แทบจะไม่พอ จากที่ได้พูดคุยกันครอบครัวนี้ยากจนมาก แม้กระทั่งเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้าก็แทบจะไม่มี แทบไม่ต้องถามหาชุดนักเรียนที่จะใส่ไปโรงเรียน"

พัชรี บอกอีกว่า ที่ผ่านมาเราพยายามเก็บข้อมูลแม่เลี้ยงเดี่ยวทั่วประเทศไทยผ่านเครือข่ายของมูลนิธิเพื่อนหญิง แต่ก็ต้องใช้เวลามาก เพราะเราต้องเช็กข้อมูลพื้นฐานหลายอย่าง ปัจจุบันแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องได้รับการดูแลจะเป็นคุณแม่ที่มีลูกอ่อน คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกหลายคนและต้องดูแลผู้สูงอายุ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกพิการ และคุณแม่วัยใส ที่ต้องให้คำปรึกษาในหลายๆ เรื่องเพราะวุฒิภาวะเขาอาจจะยังไม่เพียงพอ  

"ผู้หญิงหลายคนที่ต้องกลายมาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หลังคลอดลูกได้ไม่กี่เดือน ส่วนใหญ่ที่เราสอบถามมา ผู้ชายขอเลิกเพราะลำกบากด้วยโควิดก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็คือไปมีผู้หญิงใหม่ พวกเขาไม่เคยคิดจะร่วมทุกข์ ทิ้งเมียให้ดูแลลูกเพียงลำพัง ลองนึกภาพดู เหนื่อยจากการเลี้ยงลูก เหนื่อยจากการหาเลี้ยงครอบครัว ยังต้องมาเจอการถูกทำร้ายจิตใจจากคนรักอีก"

ภาวะจำยอมทำให้ตกหลุมดำ

ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวหลายคนตกงานมาตั้งแต่โควิด-19 ระบาดรอบแรก พอจะออกหางานรับจ้างรายวัน โควิดก็ระบาดอีกรอบ หลายคนหอบหิ้วครอบครัวกลับไปอยู่กับผู้สูงอายุตามต่างจังหวัด แต่เราต้องเข้าใจบริบทสังคมไทยยุคใหม่ การทำอาชีพดั้งเดิมสมัยปู่ ย่า ตา ยาย ก็อาจจะต้องใช้เวลา หรือบางคนก็อาจจะทำไม่ได้เลยก็มี 

"ถ้าถามว่าพวกเขาอยู่กันยังไงในสภาพเช่นนี้ หลายคนก็ไม่ได้งอมือเท้าอะไรที่พอทำได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทุกคนก็ต่างดิ้นรนด้วยกันทั้งนั้น แต่อย่างที่บอกสิ่งของบางอย่างจำเป็นต้องซื้อ เด็กกำลังกิน กำลังนอน นมผง นมกล่องขาดไม่ได้ กินไม่นานก็หมด"

พัชรี กล่าวอีกว่า เมื่อสถานการณ์บีบบังคับ หลายคนอยู่ในภาวะจำยอม ไร้หนทางก็ตกเป็นเหยื่อของแก๊งเงินกู้นอกระบบ บางคนถึงกับยอมถ่ายคลิปลับของตัวเองส่งให้เจ้าหนี้ เพื่อขอผัดผ่อน หรือยืดเวลาส่งหนี้ไปก่อน แต่พวกเขาไม่รู้เลยว่า คลิปลับ หรือรูปโป๊ของตัวเองได้ถูกส่งต่อไปยังกลุ่มลับ หรือพวกดาร์กเว็บแล้ว 

"บางคนส่งคลิปไปแล้วก็คิดว่าเจ้าหนี้จะยกหนี้ให้ หรือจะลบคลิปให้ แต่จริงๆ ไม่เป็นเช่นนั้นเลย ถ้าได้ฟังจำนวนเงินทีเหยื่อไปกู้มาอาจจะตกใจได้ ยืมเงิน 1-2 พัน แต่ดอกเบี้ยทบต้นทบดอกเท่าทวีคูณกลายเป็น 5-6 พัน ทวงเช้าทวงเย็น โทรไปทวงกับคนอื่นๆ ที่เหยื่อเคยเซฟเบอร์ไว้ในเครื่อง สถานการณ์มันบีบบังคับ จนมองไม่เห็นทาง จะหาใครช่วยก็ไม่มี" 

อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งจำเป็น

พัชรี บอกอีกว่า นี่เรายังไม่นับรวมแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกหลายคนนะ เด็กๆ ในหลายพื้นที่ตอนนี้ก็เรียนออนไลน์ โทรศัพท์มีเครื่องเดียว แถมเงินเติมอินเทอร์เน็ตก็ไม่พอ บางคนรับจ้างได้วันละไม่กี่บาท บางคนตกงานรายได้เป็นศูนย์ ถามว่า พวกเขาเหล่านี้จะเอาเงินที่ไหนมาเติมเน็ตให้ลูกเรียนออนไลน์ 

"นโยบาย wifi ฟรีของรัฐบาลถือว่าเป็นนโยบายที่ดีมาก แต่สภาพแวดล้อมและภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน บางทีตัวปล่อย wifi อยู่ข้างๆ บ้านเนี่ย แต่ปรากฏว่าสัญญาณมาไม่ถึง หรือบางพื้นที่บ้านแต่ละหลังอยู่ไกลกัน สัญญาณเน็ตไปไม่ถึงก็มี"

หากถามว่าสำคัญต้องมีอินเทอร์เน็ตไหม พัชรี ให้มุมมองว่า จริงๆ ควรจะมี หลายคนใช้อินเทอร์เน็ตในการหารายได้ เช่น ขายของออนไลน์ หาข้อมูล หาความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเองไปต่อยอดหารายได้อีกทาง ที่สำคัญโครงการต่างๆ ของรัฐบาลส่วนใหญ่ก็ลงทะเบียนผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งนั้น ถ้าสิ่งเหล่านี้ส่งผ่านไปยังเขาได้ เชื่อว่าพวกเราจะเข้าถึงกลุ่มคนตกสำรวจได้เร็วขึ้นอีกด้วย 

แอ็กชันของรัฐควรเร็วกว่านี้

ขณะเดียวกัน แม่เลี้ยงเดี่ยวในเมืองก็น่าเห็นใจเหมือนกัน บางคนเช่าห้องแถวอยู่กับลูกแค่สองคน เจ้าของห้องบางรายก็ไม่อยากให้เช่า เพราะกลัวคนอื่นๆ รำคาญเสียงเด็กอ่อน เราก็ถามกลับว่า แล้วทำยังไงตอนลูกร้อง แม่คนนี้ก็บอกว่า หนูก็พยายาทำไม่ให้ลูกร้อง ไม่อยากให้งอแง โชคดีที่ลูกหนูเข้าใจ รู้ว่าแม่ลำบาก ลูกก็ไม่ร้องไห้ พอเราได้ฟังก็เห็นใจ ก็อยากสื่อสารให้คนรอบข้างที่เห็นช่วยกันประคับประคองคนกลุ่มนี้ให้รอดไปด้วยกัน

พัชรี ทิ้งท้ายว่า แอ็กชันของรัฐบาล และหน่วงานต่างๆ น่าจะทำได้เร็วกว่านี้ โควิดระบาดมาเกือบ 2 ปี เรารู้อยู่แล้วว่า กลุ่มไหนได้รับผลกระทบบ้าง เราควรมีแผนรองรับปัญหาต่างๆ บางนโยบายดีมากเลย แต่พอเอามาปฎิบัติจริงไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขต่างๆ ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ รัฐ และหน่วยงานท้องถิ่น มีอำนาจมากพอที่จะปลดล็อกเพื่อให้โครงการช่วยเหลือต่างๆ เดินหน้าต่อไปได้

คนจนเมืองขอสู้ยิบตา

นพพรรณ พรหมศรี เลขานุการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ผู้ที่คลุกคลีกับกลุ่มคนจนเมือง กลุ่มคนเปราะบาง บอกว่า คนจนเมือง มีหลายภาคส่วนประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ใช้แรงงานทั่วไป เด็ก คนชรา ผู้พิการ แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือที่เรานิยามกันว่ากลุ่มคนเปราะบาง

โดยส่วนใหญ่แล้วพวกเขาเป็นแรงงานนอกระบบทั้งสิ้น เช่น รับจ้างทั่วไป ขับแท็กซี่ ขับรถสองแถว ค้าขาย หรือทำงานภาคบริการ เช่น สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร พวกเขาไม่ได้มีเงินเดือน แต่ส่วนใหญ่จะได้เงินค่าจ้างเป็นเงินรายวัน แน่นอนถ้าไม่มีงานก็ไม่มีเงิน 

อย่างไรก็ตาม แม้พวกเขาพอจะทำอาชีพเดิมได้อยู่ เช่น ขับรถแท็กซี่ หรือ ขับรถสองแถว แต่กว่าจะได้เงินแต่ละบาทก็สุดแสนจะยากลำบาก เพราะคนไม่ได้ออกมาจับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิม เช่น เคยได้เงินวันละหลายร้อยบาท แต่วันนี้พวกเขาอาจะได้เงินไม่ถึงร้อยก็มี

ที่สำคัญคนจนส่วนใหญ่ก็ป็นหนี้ทั้งหนี้ในระบบ และนอกระบบ บางคนลงทุนดาวน์รถปิกอัพมาทำมาหากิน แต่พอมาถึงยุคโควิด กลายเป็นว่าเงินที่จะพอส่งค่างวดรถก็ไม่มี หากถามว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกเยียวยานั้นช่วยคจนมากน้อยแค่ไหน หากให้พูดตรงๆ ก็คือ ช่วยได้น้อยมาก

"มาตรการต่างๆ ที่ออกมาไม่ได้แก้ปัญหาให้เขาลืมตาอ้าปากได้จริง สิ่งที่พวกเขาอยากได้มากที่สุด คือ การทำมาหากินได้ตามปกติ เหมือนก่อนที่โควิดจะบาด ที่สำคัญเงินที่ได้รับการเยียวยามาถือว่าน้อยมาก แค่จะเอาไปจ่ายหนี้ยังไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น มาตรการคนละครึ่ง ที่ใช้ซื้อของได้อย่างเดียว แต่ไม่สามารถเอามาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟได้เลย" 


 

ชุมชนเข้มแข็งไปต่อไม่รอรัฐ

นพพรรณ บอกว่า ชุมชนที่มูลนิธิฯ ได้ลงไปดูแล เราพบว่าทุกคนยากลำบากกันหมด ตกงาน ขาดรายได้ แต่การที่เราเข้าไปช่วยพัฒนาความเข้มแข็งให้กับชุมชุน เช่น ชุมชนอ่อนนุช 40 ไร่ ทำให้สถานการณ์ที่ว่าหนักกลายเป็นเบา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เด็ก คนชรา ผู้พิการ หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่เราช่วยเหลือกัน ไม่ทอดทิ้งกัน ทำให้คนที่ป่วยโควิด ไม่ต้องนอนรอความตาย 

"ในความยากลำบากก็ยังเห็นความมีน้ำใจของคนในชุมชน เพราะเราพึ่งพารัฐไม่ได้ ชุมชนจึงลงมาช่วยกันสอดส่อง ช่วยกันดูแลคนรอบข้าง วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นภาคประชาน ภาคเอกชน คุณหมออาสา คุณพยาบาลอาสา เข้ามาช่วยเยอะมาก เราจึงรอดพ้นวิกฤตินี้ไปได้ ถ้าขืนเรารอรัฐอาจจะมีการสูญเสียมากกว่านี้ก็ได้"

ทั้งนี้ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าแม้ไม่ใช่ช่วงสถานการณ์วิฤกติ การทำงานของรัฐก็ช้าอยู่แล้วด้วยข้อบังคับ และกฎระเบียบต่างๆ ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้า ยกตัวอย่างเช่น หากน้ำท่วมกว่าจะได้รับการเยียวยาก็คือ น้ำแห้งไปแล้ว หรืออาจจะกลับมาท่วมใหม่อีกครั้ง

แต่ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เป็นวิฤกติใหญ่ซึ่งกระทบไปทุกๆ ภาคส่วน การแก้ปัญหาของรัฐน่าจะต้องมีความฉับไวกว่านี้ เมื่อการแก้ปัญหาล่าช้า เราจึงได้เห็นภาคประชาชน เอกชน และคนทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาช่วยกันเอง โดยไม่รอการช่วยเหลือจากภาคัฐ

ฟังเสียง คนหาเช้ากินค่ำ พวกเขาอยากได้อะไร

นพพรรณ กล่าวอีกว่า ถ้าให้พูดในฐานะตัวแทนประชาชนในทุกภาคส่วน คนหาเช้ากินค่ำ คนจนเมือง กลุ่มเปราะบาง ขออนุญาตแบ่งเป็น 3 ประเด็นที่อยากสะท้อนไปถึงภาครัฐ 

1. ในภาวะที่เจอโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ สิ่งที่ต้องมี คือ ภูมิคุ้มกันหมู่ แน่นอนว่า "วัคซีนต้องมีอย่างทั่วถึง ทุกคนต้องรับการฉีดวัคซีน ที่สำคัญต้องเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพป้องกันโรคได้" หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้ตามปกติ ก็จะช่วยปลดล็อกในอีกหลายๆ เรื่อง 

2. ระบบรัฐสวัสดิการที่ต้องเท่าเทียม และเข้าถึงได้ทุกคน ในยามที่เกิดวิกฤติ หรือความยากลำบากเกิดขึ้น มันทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า พวกเขามีตะแกรงรองรับอยู่ระดับหนึ่ง ให้เขาดำเนินชีวิตต่อไปได้ ไม่ต้องแยกแยะว่าคนนั้น เป็นคนจน เป็นกลุ่มเปราะบาง เพราะทุกคนเป็นคนไทย โดยไม่ต้องทยอยมาจ่ายเงินที่ละก้อน ทีละโครงการ แต่อยากให้เป็นหลักประกันระยะยาว

3. นโยายเฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบาง ก็เพิ่มเติมจากรัฐสวัสดิการ เช่น ผู้พิการ กลุ่มคนไร้บ้าน ปัญหาเฉพาะช่วยเขาได้

ปัจจุบันนโยบายส่วนใหญ่ที่มีนั้น มักจะเป็นนโยบายที่แก้ปัญหาระยะสั้นๆ หรือเป็นมาตรการที่ออกมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หากเรามีนโยบายที่แก้ปัญหาระยะยาวก็เชื่อว่า ปัญหาเหล่านี้ก็อาจจะเบาบางลง และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรไทยได้ในอนาคต

โควิดทำฟังก์ชั่นในครอบครัวหายไป

นอกจากนี้ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับคนหน้างานที่คลุกคลีกับกลุ่มคนเปราะบางในสังคมอย่าง กนกวรรณ ด้วงเขียว นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ หรือ แอดมินแฟนเพจเฟซบุ๊ก นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง ซึ่งเธอบอกกับเราว่า ในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ที่ดูแลผู้คนที่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายรักษาจากความเจ็บป่วยต่างๆ ซึ่งครอบคลุมในทุกๆ โรคไม่ใช่แค่โควิด-19 ทำให้เรามองเห็นความหลากหลาย และปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่โควิด-19 ทำให้เราได้เห็นความเหลื่อมล้ำในหลายแง่มุม และความสัมพันธ์ต่างๆ ที่ประกอบสร้างในครอบครัวก็หายไปด้วยเช่นกัน

เธอ บอกว่า จริงๆ แล้วทุกคนก็ต่างดิ้นรนหาหนทางช่วยเหลือตัวเองกันอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เคสที่ส่งมาปรึกษานักสังคมสงเคราะห์จะเป็นพวกคนไร้บ้าน กลุ่มแรงงานต่างด้าว และกลุ่มคนชายขอบ ที่ไม่มีสวัสดิการต่างๆ มารองรับ โรงพยาบาล และสังคมสงเคราะห์ก็จะรับผิดชอบ และดูแลพวกเขาเหล่านั้นให้กับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง เพราะนี่คือหน้าที่ และงานของเรา

"ความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนไร้บ้านบางคนอยากได้แค่ที่อาบน้ำ อยากรักษาตัวให้หายจากโรคโควิด หรือวัณโรค เพื่อกลับไปใช้ชีวิตในแบบฉบับของเขา หรือหากเป็นกลุ่มผู้พิการ คนชรา ก็อยากได้รับการดูแลในอีกรูปแบบหนึ่ง และหากเป็นกลุ่มบุคคลทั่วไปที่มีฐานะยากจนก็อาจจะมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายนอกเหนือสิทธิการรักษา เราก็พร้อมเข้าไปดูแล เพื่อให้เขาคลายกังวล"

แต่อีกบทบาทหนึ่งของ "นักสังคมสงเคราะห์" คือการเยียวยาสภาพจิตใจผู้ป่วย และบุคคลทั่วไปที่มารับคำปรึกษาเบื้องต้น มีสิ่งที่ กนกวรรณ บอกและทำให้ผู้ฟังอย่างเราได้กลับมาขบคิดนั่นก็คือ ความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือ ฟังก์ชั่นแบบที่ควรจะเป็นได้หายไป ผู้คนจมอยู่ในความโศกเศร้า ต่างหาหนทางฮีลจิตใจตัวเอง

"สิ่งที่เราต้องคิดต่อจากนี้คือ การเยียวยาสภาพจิตใจของผู้คน เช่น มีเคสหนึ่งที่เข้ามาปรึกษา และขอวิธีการรับมือว่า เขาจะบอกอาม่าอย่างไรดี ว่า อากง ที่นอนป่วยโควิดเสียชีวิตไปแล้ว ไม่มีการบอกลา ไม่มีเวลาให้ได้ทำใจ แม้จะเห็นหน้ากันครั้งสุดท้ายก็ยังไม่มี เพราะทุกคนก็ติดโควิด ต้องกักตัว ต้องรักษาตัว ความคิดที่ว่าจะได้เจอกันพร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้งก็หายไป ซึ่งความสูญเสียเหล่านี้ ต่อให้คนที่เข้มแข็งมากๆ ก็ต้องใช้เวลาก้าวข้ามช่วงเวลานี้พอสมควร"

นอกจากนี้ เธอ ยังได้ยกตัวอย่างอีกเคสที่น่าสนใจว่า มีคุณแม่มาคลอดลูกและตรวจพบว่าเป็นโควิด ซึ่งครอบครัวนี้มีแค่พ่อและแม่ ญาติพี่น้องไม่มี ซึ่งแม่ต้องรักษาตัวให้หายจากโควิด ขณะที่พ่อต้องกักตัว กลายเป็นว่าทารกก็ต้องอยู่โรงพยาบาลจนครบกำหนด เพราะไม่มีญาติมารับ แม้กระทั่งการแจ้งเกิดก็ต้องล่าช้าออกไป

"สิ่งที่เราต้องมองภาพต่อจากนี้ คือ การดูแลคนในสังคม การเยียวยาจิตใจผู้คน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากโควิดด้วยกันทั้งหมด เราก็ได้แต่หวังให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น"


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์