อ่านสถานการณ์ "เกาหลีเหนือ" ระเบิดถนน - ทางรถไฟ ตัดทางเชื่อม "เกาหลีใต้" ที่ปรึกษาศูนย์เกาหลีศึกษา ชี้เหตุปัจจัย เกิดจากนโยบายโสมขาวขาดเสถียรภาพ และ "รัสเซีย" ที่เปรียบเสมือนตัวเปลี่ยนเกม สร้างความมั่นใจให้โสมแดง
ย้อนกลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2567 ณ ที่ประชุมสมัชชาประชาชนสูงสุด ชุดที่ 14 ครั้งที่ 10 ณ กรุงเปียงยาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) 'คิม จอง อึน' (김정은) ผู้นำสูงสุดกล่าวประกาศตัดการติดต่อกับเกาหลีใต้ และเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของเกาหลีเหนือ เพิ่มคำจำกัดความระบุให้เกาหลีใต้เป็นประเทศ 'ศัตรูอันดับ 1' นับจากนั้นท่าทีของ 2 ชาติเกาหลีก็ดูคุกรุ่น และมีเหตุการณ์ให้ปรากฏอยู่หน้าสื่อข่าวต่างประเทศเป็นระยะ
...
จนกระทั่งวันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2567 คณะเสนาธิการร่วม (Joint Chiefs of Staff: JCS) เปิดเผยต่อสื่อว่า ช่วงเที่ยงของวันนั้นเกาหลีเหนือระเบิดถนนและทางรถไฟที่เชื่อมต่อไปเกาหลีใต้ ซึ่งการระเบิดครั้งนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อชายแดนฝั่งเกาหลีใต้ ด้านกองทัพเกาหลีใต้ตอบโต้ด้วยการยิงปืนไปทางทิศใต้ของเส้นแบ่งเขตแดนทหาร
การทำลายเส้นทางดังกล่าวเป็นไปตามท่าทีของผู้นำโสมแดง ที่ต้องการตัดสัมพันธ์กับฝั่งโสมขาว อีกทั้งยังตอกย้ำให้เห็นว่า 'รัฐบาลโซล' เป็นศัตรูหลักของ 'รัฐบาลเปียงยาง' และเป็นการล้มเลิกเป้าหมายการรวมชาติอย่างสันติ ที่พยายามแสวงหาแนวทางมาหลายสิบปี
สถานการณ์ดังกล่าวนำพาให้ทีมข่าวฯ ได้ต่อสายตรงชวน 'ศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ' ที่ปรึกษาศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง ศ.ดร.นภดล กล่าวเปิดหัวข้อว่า "เรื่องของเรื่องมันต่อจากคราวก่อนที่เราคุยกัน"
อ่านเพิ่มเติม : ไฟสงครามหน่อเนื้อเกาหลีใต้-เหนือ เลือดข้น คำขู่ และเบื้องหลัง
เบื้องหลังโสมแดงโดนคว่ำบาตร :
ศ.ดร.นภดล กล่าวว่า จากคราวก่อนที่เขาประกาศลดความสัมพันธ์ คราวนี้ก็ต่อเนื่องกันมาโดยอยู่ภายใต้สถานการณ์เดิม เนื่องจากทางใต้เป็นรัฐบาลฝ่ายอนุรักษ์นิยมภายใต้ 'ยุน ซอก ยอล' (윤석열) และสหรัฐฯ ภายใต้พรรคริพับลิกัน (Republican Party) ยังคงดำเนินนโยบายเหมือนเดิมเพราะฉะนั้นการเผชิญหน้าจึงเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางเกาหลีเหนือก็ไม่ได้เปลี่ยนแนวไปจากเดิม แต่ถูกเสริมด้วยการผูกมิตรกับรัสเซีย
"เดิมทีการโดนคว่ำบาตรจากชาวโลก เป็นปัญหาสำคัญของเกาหลีเหนือ แม้แต่ชาติมหาอำนาจอย่างจีนกับรัสเซียก็ร่วมด้วย เนื่องจากไม่พอใจที่เกาหลีเหนือมีนิวเคลียร์ไว้ครอบครอง ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับแนวคิดที่ว่า ชาติมหาอำนาจมองว่าตนมีอาวุธแล้ว คนอื่นไม่ต้องมีก็ได้เดี๋ยวดูแลเอง เหมือนกับที่สหรัฐฯ ไม่อยากให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้มีนิวเคลียร์"
...
อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่า 'เกาหลีเหนือ' ก็มีความไม่มั่นใจต่อจีนและรัสเซีย เพราะเมื่อคราวสิ้นสุดสงครามเย็น จีนกับรัสเซียเปิดความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ ทั้งที่มีความสัมพันธ์อันดีกับเกาหลีเหนือ ทำให้โสมแดงเสียเปรียบทางการทูต เพราะกลายเป็นว่าโสมขาวมีความสัมพันธ์กับมหาอำนาจสำคัญ คือ อเมริกา ญี่ปุ่น จีน และรัสเซีย แต่เกาหลีเหนือมีแค่จีนกับรัสเซีย ซึ่งถือว่าเสียดุลอย่างมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกาหลีเหนือไม่ไว้ใจจีนกับรัสเซีย
ที่ปรึกษาศูนย์เกาหลีศึกษา เลกเชอร์เบื้องหลังโสมแดงต่อไปว่า การโดนคว่ำบาตรจากสหประชาชาติ รวมไปถึงจีนและรัสเซีย ทำให้เกาหลีเหนือต้องอยู่โดดเดี่ยวอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา พวกเขาต้องผ่านความยากลำบากมากมาย จนกระทั่งช่วงหนึ่งเรื่องไหนที่พอผ่อนปรนได้ เกาหลีเหนือจึงยอมมาโดยตลอด เช่น เจรจากับเกาหลีใต้, ญาติดีกับอเมริกาในยุคทรัมป์ เพราะพวกเขาคิดว่า "ลองคุยดูก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะการถูกคว่ำบาตรก็ลำบากเหมือนกัน!"
...
โสมขาวผู้โลเล :
แม้ว่ารัฐบาลเปียงยางจะพยายามผ่อนปรนต่อรัฐบาลโซลมากเท่าไร แต่ ศ.ดร.นภดล ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่พวกเขาค้นพบ คือ เกาหลีใต้ไม่สามารถมีนโยบายที่ชัดเจนหรือยั่งยืนได้ อันเป็นผลมาจากการเมืองประชาธิปไตยแบบเกาหลีใต้นั่นเอง!
"ประชาธิปไตยแบบเกาหลีใต้" หมายถึงอะไรกันล่ะ?
ที่ปรึกษาศูนย์เกาหลีศึกษา อธิบายประกอบสั้น ๆ ให้เข้าใจง่ายว่า มันคือการที่ 'พรรคสายอนุรักษ์นิยม' จะดำเนินนโยบายแข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือ ส่วน 'พรรคสายปฏิรูป' หรือที่มักจะเรียกกันว่าพรรคสายก้าวหน้า จะดำเนินนโยบายผ่อนปรนกับเกาหลีเหนือยังไงล่ะ!
คราวนี้แหละ! เมื่อการเมืองเกาหลีใต้มีรัฐบาลสลับไปมาระหว่างพรรค 2 รูปแบบดังกล่าว ส่งผลให้นโยบายที่เกาหลีใต้ดำเนินต่อเกาหลีเหนือ 'ขาดเสถียรภาพ' แม้ว่าสายก้าวหน้าจะพยายามญาติดีแค่ไหน แต่ถ้าสายอนุรักษ์นิยมขึ้นมามีอำนาจก็จะแข็งกร้าวใส่โสมแดงทันที การกระทำดังกล่าว ทำให้เกาหลีเหนือที่มีเพียงรัฐบาลเดียวรู้สึกไม่พอใจ มองว่าการที่เกาหลีใต้ทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่มีประโยชน์ "ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องคุยกันเลยดีกว่า!"
...
ศ.ดร.นภดล ยกตัวอย่างความโลเลของรัฐบาลโสมขาวให้ฟังว่า ความสัมพันธ์ของสองเกาหลีเหมือนจะดีในยุคของ 'คิม แด จุง' (김대중) ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เพราะมีการเจรจาอย่างดีและมีโครงการร่วมมือกัน แต่ภายหลังการมาถึงของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมทุกอย่างก็เริ่มแย่ลง
พอถึงรัฐบาลภายใต้การนำของ 'มุน แจ อิน' (문재인) สองโสมก็เริ่มพูดคุยกันดีอีกครั้ง เกิดการพบปะกันหลายที นำไปสู่การชักนำให้ได้เจอกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ทุกอย่างเหมือนจะดีไปหมด แต่เมื่อ มุน แจ อิน หมดวาระ สายอนุรักษ์นิยมอย่าง 'ยุน ซอก ยอล' (윤석열) ก็ทำให้สองเกาหลีต้องเผชิญหน้ากันอีก "เกาหลีเหนือจึงได้เรียนรู้ว่าตกลงเรื่องอะไรไป ก็เป็นแค่เรื่องระยะสั้นที่ไม่มีประโยชน์"
รัสเซียผู้เปลี่ยนเกม! :
"ที่พูดมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงรากฐาน" ศ.ดร.นภดล กล่าว พร้อมเสริมข้อมูลว่า สิ่งที่เข้ามาเสริมความคุกรุ่นของสองเกาหลี คือ ความเปลี่ยนแปลงในรัสเซีย หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนสถานการณ์ก็เริ่มเปลี่ยนไป
ช่วงแรกจะไม่ชัดเจนเท่าไร เพราะแม้ว่ารัสเซียจะถูกคว่ำบาตร แต่เนื่องจากเป็นประเทศมหาอำนาจ ทำให้เห็นผลกระทบช้า และเขาก็สามารถหาทางออกได้ แต่สิ่งที่รัสเซียมีปัญหามากนั่นก็คือ 'อาวุธเริ่มขาดแคลน' เนื่องจากสงครามยืดเยื้อเกินกว่าที่คิดไว้ จึงต้องมองหาอาวุธมาทดแทน
ครั้นจะไปขอซื้อจากจีน ก็คงติดนโยบายและเงื่อนไขต่าง ๆ ส่วนประเทศที่อดีตเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ก็เปลี่ยนระบอบการเมืองกันหมดแล้ว แถมอาวุธก็ไม่ได้มีมากเพราะรื้อกองทัพกันหมด จะเหลือก็เพียงแค่เกาหลีเหนือที่สะสมอาวุธไว้เยอะมาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น 'รัสเซีย' จึงหันไปซื้ออาวุธกับ 'เกาหลีเหนือ' ทำให้การคว่ำบาตรสิ้นสุดลงไปโดยพฤตินัย แม้ว่าจะไม่ออกมาประกาศโดยตรงก็ตาม ตรงนี้จึงกลายเป็นเหมือนจุดเปลี่ยน ส่วนท่าทีหลังจากนั้นก็มีเรื่องของการทูตเข้ามาแทน
"กลางปีที่ผ่านมาปูตินเยือนเปียงยางในรอบ 24 ปี หลังจากที่เคยมาครั้งแรกเมื่อรับตำแหน่งใหม่ แล้วก็ไม่เคยมาเกาหลีเหนืออีกเลย จากที่ปูตินเคยมองว่าเกาหลีเหนือเป็นประเทศเล็กไม่สำคัญอะไร ตอนนี้กลายเป็นว่ามองเกาหลีเหนือเป็นประเทศสำคัญ จุดนี้เองยิ่งไปเสริมความมั่นใจให้โสมแดง"
ด้วยความมั่นใจในระดับนี้ ส่งผลให้เกาหลีเหนือยิ่งเชื่อมั่นในแนวทางของตัวเอง คือ การเผชิญหน้าและเลิกประณีประนอมกับเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.นภดล กล่าวว่า การเดินตามแนวทางนั้นไม่ได้หมายความว่าเกาหลีเหนือจะทำสงคราม เพราะเขาเองก็ไม่พร้อมทำสงครามหรอก เพราะประชาชนน้อยกว่า และอาวุธก็ลดลงเนื่องจากขายให้รัสเซียไปเยอะแล้ว
"ตอนแรกที่เกาหลีเหนือสะสมอาวุธไว้เยอะ ก็เพื่อไม่ให้เกาหลีใต้ อเมริกา หรือพันธมิตรอื่นทำการล้มระบอบ เพราะตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง 30 กว่าปี สิ่งที่เกาหลีเหนือกลัวและกังวลมากที่สุด คือการถูกล้มระบอบการปกครอง"
จุดความสัมพันธ์ต่ำสุดในรอบหลายปี? :
หลายคนมองว่า เหตุการณ์ระเบิดถนนและทางรถไฟนี้ สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของสองเกาหลีที่อยู่ในจุดต่ำสุดในรอบหลายปี ด้านที่ปรึกษาศูนย์เกาหลีศึกษา มองว่า "ผมว่าไม่เชิงหรอกนะ" เพราะหลังจากรัฐบาล 'คิม แด จุง' หมดวาระ ในสมัยของ 'อี มย็อง บัก' (이명박) กับ 'พัก กึน ฮเย' (박근혜) ความสัมพันธ์ก็ตกต่ำแบบนี้ เพียงแต่ว่าตกต่ำเรื่อย ๆ
เช่น นิคมอุตสาหกรรมแกซอง ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ ที่ไปตั้งในเกาหลีเหนือ ห่างจากพรมแดนประมาณ 20 กิโลเมตร เพื่อผลิตสินค้าและให้นักลงทุนเกาหลีใต้ไปลงทุน จ้างคนเกาหลีเหนือทำงาน นั่นเป็นโครงการที่ดูดีมาก พอถึงสมัยของ 'อี มย็อง บัก' โครงการนั้นก็ยุติไปเลย กลายเป็นว่าบริษัทของเกาหลีใต้ก็ถอนตัวกันออกมา
"ดังนั้น การเผชิญหน้าลักษณะนี้มีมาก่อนแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลอนุรักษ์นิยมอย่าง 'อี มย็อง บัก' กับ 'พัก กึน ฮเย' เพียงแต่มาฟื้นตัวช่วงสั้น ๆ ในยุคของ 'มุน แจ อิน' ซึ่งเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย พอไม่ประสบความสำเร็จและเกาหลีใต้มุ่งสู่อนุรักษ์นิยม เกาหลีเหนือก็รื้อสิ่งต่าง ๆ ออก เพื่อเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์เพราะเขาเคยทำแบบนี้มาแล้ว และว่ากันตามจริงทางเหล่านั้นที่ระเบิดทิ้ง ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ใด ๆ อยู่แล้ว"
ทีมข่าวฯ ถามต่อไปว่า "แสดงว่าความสัมพันธ์ของสองโสมก็คงจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ เช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ใช่หรือไม่?"
"ผมมองว่าโดยหลักเกาหลีเหนือน่าจะเดินแนวทางนี้แล้ว ต่อให้เลือกตั้งครั้งหน้าเกาหลีใต้จะเปลี่ยนเป็นรัฐบาลฝ่ายก้าวหน้า และมีการเสนอแนวทางประณีประนอมอีก เกาหลีเหนือก็คงไม่กลับไปเห็นดีเห็นงามแบบที่เคยเป็นมาแล้ว อาจจะมีอ่อนข้อเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ไม่กลับไปร่วมมืออีก" ศ.ดร.นภดล ตอบ
เรื่องน่าวิตก :
ศ.ดร.นภดล กล่าวว่า หากติดตามสถานการณ์ของ 2 เกาหลี จะเห็นว่ามีโครงสร้างในแบบของเขาเอง เพียงแต่ว่าตอนนี้เกาหลีเหนือมีโครงสร้างใหม่แล้ว นั่นก็คือการเผชิญหน้าและพึ่งพารัสเซียได้ โสมแดงเชื่อว่าตนเองจะยังคงอยู่และรักษาระบอบต่อไปได้ อีกทั้งคงมีการแสดงเชิงสัญลักษณ์ เพื่อตัดขาดกับเกาหลีใต้เป็นระยะ
"การเมืองระหว่างประเทศ เราต้องดูว่าการกระทำนั้นเขาต้องการสื่อสารกับใคร ผมว่าหลายครั้ง เขาสื่อสารกับคนในประเทศ แต่เราไปคิดว่าเขาคุยกับเรา เราเลยตื่นตระหนก อย่างการรื้อถนนเขาก็ถ่ายทอดสดให้คนในประเทศดู เพื่อเสริมความมั่นใจความเข้มแข็งของระบอบ"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ศ.ดร.นภดล จะมองว่าความสัมพันธ์สองเกาหลีมีโครงสร้างที่จับทางได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่อาจารย์รู้สึกวิตกนั่นก็คือ การที่ประเทศขนาดเล็กอย่างเกาหลีเหนือครอบครองนิวเคลียร์เราไม่มีทางรู้เลยว่าภาพต่อไปจะออกมาเป็นอย่างไร?
"ในภาพใหญ่เชิงทฤษฎี รัฐที่มีนิวเคลียร์ส่วนใหญ่จะเป็นรัฐใหญ่หรือประเทศมหาอำนาจ เขามีเป้าหมายชัดเจนว่ามีเพื่ออะไร จะควบคุมอย่างไร และที่สำคัญประเทศเหล่านั้นไม่ถูกคว่ำบาตร และมั่งคั่งพอประมาณ แต่เกาหลีเหนือเป็นโมเดลที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลก ทั้งขนาดเล็ก ค่อนข้างขาดแคลน ถูกคว่ำบาตร แต่มีอาวุธร้ายแรง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นแบบนี้ จึงไม่มีใครรู้ว่าจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง แม้ตอนนี้เขาคงมีไว้เพื่อเชิงสัญลักษณ์ป้องกันตัวเอง แต่ไม่มีทางรู้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร"
ภาพ : AFP