"เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์" 3 ฉากทัศน์ความงมงายทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่จริง และการป้องกันด้วย "สติ-ปัญญา" อย่าเน้นศรัทธาแต่ให้ใช้ความคิด!

จริงหรือไม่ ในวิทยาศาสตร์ก็มีความงมงาย?

จริงหรือไม่ ความงมงายทางวิทยาศาสตร์อันตรายกว่าความงมงายทั่วไปทางสังคม?

จริงหรือไม่ ความงมงายทางวิทยาศาสตร์ทำให้เศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมืองวิบัติได้?

จริงหรือไม่ ความงมงายทางวิทยาศาสตร์ทำให้มนุษย์ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีได้?

จริงหรือไม่ ความงมงายทางวิทยาศาสตร์ทำให้มนุษยชาติสูญพันธุ์ได้?

"เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์" วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปผ่าเรื่องราวบางส่วนของ

"ความงมงายทางวิทยาศาสตร์" ไปรู้จัก "ความงมงายทางวิทยาศาสตร์" ว่าอันตรายจริงแค่ไหน?

ที่สำคัญ จะป้องกันอันตรายจาก "ความงมงายทางวิทยาศาสตร์" ได้อย่างไร?

*********

"ภัยเงียบของความงมงายทางวิทยาศาสตร์"

...

เรื่องราวเกี่ยวกับความงมงายทางวิทยาศาสตร์ หรือ Blind Faith in Science เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกที่ "เงียบ" นั่นคือ ไม่มี "ข่าว" ไม่มี "เรื่องราว" "โฉ่งฉ่าง" เป็นข่าวดังให้ได้ยิน...ได้เห็น...กันเป็นประจำ...ไม่เหมือนกับเรื่องราวความงมงายทางสังคม ดังเช่น ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ ที่เป็น "ภัยส่งเสียงดัง" ให้ได้ยินได้เห็นกันเป็นประจำ

แต่ก็เพราะความเป็น "ภัยเงียบ" ความงมงายทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นภัยที่ "น่ากังวล" อย่างที่สุด เพราะมีผลอันเลวร้ายอย่างคาดไม่ถึง ต่ออนาคตของมนุษยชาติได้ทำไมหรือ?

ก็เพราะมนุษย์มักจะไม่ตระหนักถึงความเลวร้ายของภัยเงียบ จนกระทั่ง...สายเกินไป!

เรื่องราวเกี่ยวกับ "ความงมงายทางวิทยาศาสตร์" และประเด็นที่เกี่ยวข้องดังเช่น ความเชื่อ, ศรัทธา, ปัญญา, วิทยาศาสตร์เทียม และพลังของวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนได้เคยเขียนให้อ่านกันในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ถูกรวมตีพิมพ์เป็นเล่มชื่อ "วิถีแห่งปัญญา" (ชัยวัฒน์ คุประตกุล, วิถีทรรศน์, พ.ศ. 2545) สำหรับวันนี้ผู้เขียนขอจับเฉพาะประเด็นเรื่องของความงมงายทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก มาเล่าสู่ท่านผู้อ่าน โดยมี "อัพเดท" เรื่องราวและข้อมูลถึงล่าสุดวันนี้

*********

"ความงมงายทางวิทยาศาสตร์...อย่างย่อ!"

ถามตรง : ความงมงายทางวิทยาศาสตร์...คืออะไร?

ตอบตรง: ความงมงายทางวิทยาศาสตร์ คือ ความงมงายเกิดจากความเชื่อและศรัทธา ต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ชื่อเป็น "วิทยาศาสตร์" ไม่ว่าจะเป็นบุคคล หรือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ สิ่งตีพิมพ์หรือตำราวิทยาศาสตร์

*ตัวบุคคล ก็คือ นักวิทยาศาสตร์เป็นหลัก แล้วก็รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของวิทยาศาสตร์ ดังเช่น ครู-อาจารย์วิทยาศาสตร์ ผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์

*ผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์ มีทั้งผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ (มีความรู้ระดับปริญญาตรีวิทยาศาสตร์เป็นอย่างน้อย) โดยเป็นผู้สื่อข่าวประจำสำนักข่าวอย่างเป็นอาชีพ และผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์ที่มิได้สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างน้อยถึงระดับปริญญาตรี แต่ทำงานประจำเป็นผู้สื่อข่าวทางด้านวิทยาศาสตร์ของสำนักข่าว

...

*บทบาทของนักวิทยาศาสตร์ ในการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ มีชื่อเรียกเฉพาะเป็น "science communicator" เป็นผู้มีความรู้วิทยาศาสตร์อย่างน้อยระดับปริญญาตรี แล้วก็ทำงานทั้งอย่างเป็นอาชีพ และไม่ประจำเป็นอาชีพ ในการ "สื่อสาร" ข้อมูล ความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์แก่ประชาชน ในภาษาไทยของเรา "science communicator" มีชื่อเรียกเป็น "นักสื่อสารวิทยาศาสตร์" หรือ "นักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์"

*สำหรับประเทศไทย ผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์ประจำสำนักข่าวส่วนใหญ่ มิใช่ผู้สำเร็จการศึกษาทางวิทยาศาสตร์โดยตรงเป็นพื้นฐาน แต่ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวทางด้านวิทยาศาสตร์ประจำสำนักข่าว ชื่อเฉพาะเรียกกันในวงการสื่อและการสื่อสาร คือ science reporter

*แหล่งข่าววิทยาศาสตร์ แหล่งข่าวใหญ่คือ นักวิทยาศาสตร์ และแหล่งตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ ทั้งในรูปแบบของสิ่งตีพิมพ์กระดาษและทางดิจิทัลหรือออนไลน์ เช่น หนังสือวิทยาศาสตร์ ตำราวิทยาศาสตร์ นิตยสารและวารสารวิทยาศาสตร์ทั่วไป (popular science magazine) และวารสารวิชาการ (science journal)

...

*********

นักวิทยาศาสตร์...เชื่อได้แค่ไหน?

อย่างไม่น่าเชื่อ ผู้ "ไม่เชื่อ" ในความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มร้อยจริงๆ ก็คือ ตัวนักวิทยาศาสตร์เอง เพราะนักวิทยาศาสตร์ทุกคนรู้แก่ใจดีว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในแต่ละมิติเวลา เช่น ในปัจจุบันล้วนเป็นความรู้ที่ยัง "เปลี่ยน" ได้ เนื่องจากสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์มั่นใจจริงๆ ก็คือ ความรู้วิทยาศาสตร์ที่กำลังยึดใช้อยู่ เป็นความรู้ที่ "ถูกต้อง" "ใช้ได้จริง" เพียงถึงขณะนี้ และสามารถจะ "เปลี่ยน" ได้ทุกขณะเวลา ถ้ามีข้อมูลใหม่ที่ถูกต้องกว่าเกิดขึ้น

แต่ความรู้ใหม่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเป็นความรู้ใหม่ จากหลักฐานข้อมูลใหม่ที่เชื่อถือได้! เมื่อปี ค.ศ. 1931 ขณะอยู่ในสหรัฐอเมริกา ไอน์สไตน์ก็ได้ทราบข่าวนักวิทยาศาสตร์เยอรมันเกือบหนึ่งร้อยคนร่วมกันลงนามประกาศว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ผิด!

ไอน์สไตน์ก็ตอบว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพจะผิดหรือไม่ ก็ไม่จำเป็นต้องให้นักวิทยาศาสตร์ถึงหนึ่งร้อยคนร่วมกันลงชื่อหรอก เพราะ "หลักฐาน" ที่เชื่อถือได้เพียงหลักฐานเดียว ที่ขัดแย้งกับทฤษฎีสัมพัทธภาพ ก็เพียงพอจะทำให้ทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้นผิด

...

จิตวิญญาณและสำนึกของนักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป จะพยายามให้ "ข้อมูล" "ความรู้" ที่ถูกต้อง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ "พลาด" ได้ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์ให้ก็อาจจะ "ผิด" โดยที่นักวิทยาศาสตร์ไม่ตั้งใจได้

ดังนั้น โดยภาพรวม นักวิทยาศาสตร์ก็มีเจตนาโดยสุจริต ที่จะให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง แต่ก็ควรเน้นย้ำแก่ "ผู้ฟัง" ว่า อย่าเชื่อในทันที ควรจะคิดและตรวจสอบ เท่าที่จะทำได้ว่า สมควรจะเชื่อหรือไม่เสียก่อน แล้วความงมงายทางวิทยาศาสตร์ก็จะเกิดได้ยากขึ้น!

*********

ครู-อาจารย์วิทยาศาสตร์กับการศึกษา เน้น "ความคิด" หรือ "ความจำ"!

ครู-อาจารย์วิทยาศาสตร์ เป็นคนที่มีความรู้ความคิดทางวิทยาศาสตร์ และมี "ความเป็นวิทยาศาสตร์"
อยู่ในตัวอยู่แล้ว

แต่ครู-อาจารย์แต่ละคน ก็มิใช่ "ผู้รู้" วิทยาศาสตร์อย่างลงลึกทุกเรื่อง ซึ่งก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการ "สอน" "ถ่ายทอด" ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษา ให้นักเรียนนักศึกษารู้จัก "ใฝ่หา" ความรู้และ "คิด" อย่างเป็นวิทยาศาสตร์เองด้วย ซึ่งก็จะเป็น "บทบาท" ดีที่สุดของครู-อาจารย์ ที่จะช่วยลดความงมงายทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน-นักศึกษาเอง

แนวโน้มที่ชัดเจนสำหรับการศึกษาวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาถึงระดับปริญญา คือ
การเปลี่ยนระบบ การเรียนการสอนที่เน้น "ความรู้" จากการ "ท่องจำ" โดยหันมาให้ความสำคัญแก่การสอนที่เน้น "ความคิด" "ความเข้าใจ" แทน ซึ่งโดยภาพรวมของทั่วโลกก็ได้ผล ทำให้นักเรียนนักศึกษารุ่นใหม่ "สนุก" และ "เข้าใจ" วิทยาศาสตร์ที่ลึกซึ้งขึ้น โดยไม่ต้องพยายามใช้ "ความจำ" เป็นหลักดังระบบเดิม

ผู้เขียนได้มีประสบการณ์ในการวิเคราะห์ศึกษาระบบการศึกษาวิทยาศาสตร์ ทั้งในระดับมัธยมศึกษาและระดับมหาวิทยาลัยในหลายประเทศ ในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา และก็ได้เห็นผลการศึกษาที่เน้นระบบแบบ "ความคิด" "ความเข้าใจ" อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับประเทศไทยของเรา ก็ได้มีการตื่นตัวปรับปรุงพัฒนาระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับมัธยมศึกษา ให้เน้น "ความคิด" "ความเข้าใจ" มากกว่าความจำ ซึ่งก็ได้ผลดีอย่างน่าพอใจ...

แต่ผู้เขียนก็ได้รับรู้ถึง "ภาวะ" ของครู-อาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระดับมัธยมศึกษา ที่ต้องทำภารกิจในฐานะเป็นครู-อาจารย์ระบบใหม่ "อย่างหนัก" ขึ้นอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาของครู-อาจารย์ที่แบ่งปันประสบการณ์กับผู้เขียน คือ "จะสอนให้นักเรียนรู้จักคิด โดยที่ต้องสอนให้ทันหลักสูตรด้วย" ได้อย่างไร?

แต่ครูไทยทุกคนที่ผู้เขียนได้แลกเปลี่ยนความคิดด้วย ล้วนเป็นครูที่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู ที่สูงที่สมควรจะได้รับการยกย่อง การสอนให้นักเรียนนักศึกษารู้จักการใช้ "ความคิด" "ความเข้าใจ" มากกว่าการท่องจำมีความสำคัญอย่างวิเศษ ต่อการแก้ปัญหาความงมงายทางวิทยาศาสตร์ เพราะนักเรียน-นักศึกษาก็จะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ โดยไม่คิดเองด้วย!

*********

ฉากทัศน์ 1

ความงมงายทางวิทยาศาสตร์

กับความวิบัติของเศรษฐกิจและสังคม

จริงหรือ ความงมงายทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดความวิบัติของเศรษฐกิจและสังคมได้?

จริง ถ้าเป็นการบริหารจัดการเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ บนหลักการพื้นฐานและข้อมูลที่ผิด!

การบริหารเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศในปัจจุบัน รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย ล้วนใช้หลักการและข้อมูลอย่างเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทั้งแผนระยะสั้นของปีต่อปี แผนระยะปานกลาง 5 ปี และแผนระยะยาว
10 ปี

แต่ความผิดพลาด...ถึงระดับเกิดเป็นความวิบัติต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ก็เกิดขึ้นได้ถ้าแผนการพัฒนาดังกล่าว เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของแผนและ/หรือข้อมูลที่ใช้ทั้งจากเจตนา และไม่เจตนา... ที่เป็นเจตนา (ด้วยเหตุผลซ่อนเร้นบางประการ) ก็เป็นเรื่องป้องกันและแก้ไขได้ยากและไม่เกี่ยวกับเรื่องความ
งมงายทางวิทยาศาสตร์

ที่ไม่เป็นเจตนา แต่เป็นเพราะความงมงายทางวิทยาศาสตร์ ก็มีเช่น :

*เชื่อและใช้แผนการพัฒนาโดยคิดว่า เป็นแผนและการพัฒนาดีที่สุดแล้ว โดยไม่มีการตรวจสอบและศึกษาอย่างครอบคลุมว่า ดีจริงหรือไม่? เหมาะสมหรือไม่?

*ใช้ข้อมูลที่ "ผิด" "ไม่เป็นจริง" จากแหล่งข้อมูล โดยไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบและเป็นระบบ
เพราะ "เชื่อ" อย่างไม่มีข้อสงสัยว่า "ดีที่สุดแล้ว" "เหมาะสมที่สุดแล้ว"

*********

ฉากทัศน์ 2 

ความงมงายทางวิทยาศาสตร์

กับการเป็นทาสของเทคโนโลยี

เทคโนโลยียิ่งก้าวหน้า มนุษย์ก็ยิ่งได้รับความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต แต่อย่างไม่รู้ตัว มนุษย์ก็กำลังพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น และในที่สุด ก็ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีอย่างถอนตัวไม่ขึ้นได้

เมื่อแรกเริ่ม มนุษย์เป็นสัตว์โลกทรงปัญญามากที่สุด แล้วต่อๆ มา มนุษย์ก็สร้างเทคโนโลยีให้มี "ความสามารถ” มากขึ้น ในการรับใช้มนุษย์ซึ่งมนุษย์ก็ทำได้ดี สามารถสร้างเทคโนโลยี ดังเช่น "ปัญญาประดิษฐ์" หรือ "artificial intelligence" หรือ "เอไอ" ให้ "เก่งขึ้น" ได้จริงอย่างน่าทึ่ง

จนกระทั่ง "เก่งกว่า" มนุษย์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความจำ การคำนวณ ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นเรื่อง "ความคิด" ด้วย เพราะในปัจจุบัน ไม่มีใครปฏิเสธว่าหุ่นยนต์หรือเอไอ คิดได้ คิดเป็น อย่างมนุษย์ และต่อไป ก็จะเป็น "เหนือมนุษย์" อย่างแน่นอน

แถมที่สำคัญ หุ่นยนต์หรือเอไอ ยังสามารถทำงานได้ตลอดเวลา อย่างไม่ต้องมีการ "พัก" ดังเช่นมนุษย์ แล้วมนุษย์จะเป็นทาสของเทคโนโลยีได้อย่างไร? ในเมื่อมนุษย์เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเอง?

คำตอบก็จะชัดเจนขึ้นมาเองว่า ฝันร้ายนั้น เกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะต่อๆ ไป หุ่นยนต์หรือเอไอหรือเทคโนโลยีเหนือชั้นขึ้นไปอีก ก็จะสามารถ "เข้าถึง" และใช้ "ทรัพยากร" ที่โลกมีอยู่ เพื่อสร้างทุกสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา (โดยอาศัยเทคโนโลยี) แต่ต่อไปจะเป็นการสร้างโดยเทคโนโลยี ด้วย "เทคโนโลยี" เอง และด้วย "มนุษย์" อย่างที่มนุษย์ไม่รู้ตัวและอย่างที่มนุษย์ก็รู้ตัว แต่ไม่มีทางเลือก

ทั้งหมดดูจะเป็นฉากที่น่าจะเกิดขึ้นเฉพาะในนิยายวิทยาศาสตร์ แต่หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยเกิดขึ้นเฉพาะในนิยายวิทยาศาสตร์ ก็ได้เกิดขึ้นมาในโลกความจริง แล้วมนุษย์จะทำอะไรได้ เพื่อไม่ให้ฉากทัศน์ที่มนุษย์ต้องกลายเป็นทาสเทคโนโลยีเกิดขึ้นมาจริงๆ?

คำตอบก็ตรงแต่ไม่ง่าย นั่นคือ มนุษย์ก็ต้องใช้สติปัญญากับการพัฒนาเทคโนโลยีให้เทคโนโลยีทำงานในกรอบความสามารถและประสิทธิภาพที่เหมาะสม โดยให้มนุษย์เป็น "ผู้ควบคุม" หรือ "ผู้ใช้" เทคโนโลยี มิใช่ให้เทคโนโลยีมาทำงาน...แย่งงาน...มนุษย์...ไปเสียทั้งหมด

ดังสภาพการณ์และแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น ผู้เขียนเชื่อว่า โดยการใช้วิทยาศาสตร์อย่างเหมาะสม คือ ไม่งมงายไปกับวิทยาศาสตร์อย่างสุดกู่ มนุษย์ก็จะไม่ตกงาน คือ มีงานทำอยู่เสมอ โดยมีเทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์ เอไอ เป็นผู้ช่วย...หรือผู้ร่วมงาน

*********

ฉากทัศน์ 3

ความงมงายทางวิทยาศาสตร์

กับการสูญพันธุ์ของมนุษยชาติ

ฉากทัศน์ที่ 3 เป็นฉากทัศน์ง่ายๆ เกิดขึ้นได้ง่ายและน่าสะพรึงกลัวอย่างที่สุด!

อย่างตรง ๆ ก็คือ การใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามเปิดทั่วโลก ซึ่งอย่างแน่นอน ก็จะเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม จริง ๆ แล้ว ก็มีการเตือนและตระหนักกันดีทั่วโลกว่า สงครามนิวเคลียร์ เมื่อเกิดขึ้น จะไม่มีใครเป็นผู้ชนะ เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะ "แพ้กันหมด" และจะเป็นการสูญสิ้นของมนุษยชาติอย่างแน่นอน

เพราะในทันทีที่เกิดสงครามนิวเคลียร์ทั่วโลก คนครึ่งโลกจะตายกันหมด แต่คนที่ตายจะ "โชคดีที่ตายก่อน" เนื่องจากคนครึ่งโลกที่เหลืออยู่ ถึงแม้จะไม่สูญพันธุ์ตายกันไปหมด แต่จะ "กลายพันธุ์" เป็นการสิ้นสุดของมนุษย์โฮโมเซเปียนส์อย่างแน่นอน

ในปัจจุบัน มีประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมกัน 9 ประเทศ ที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง คือ รัสเซีย, สหรัฐอเมริกา, จีน, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, ปากีสถาน, อินเดีย, อิสราเอล และเกาหลีเหนือ จำนวนระเบิดนิวเคลียร์รวมกันทั่วโลก มีอยู่ประมาณ 12,000 ลูก ประเทศรัสเซียมีมากที่สุด คือ กว่า 5,500 ลูก รองลงมา คือ สหรัฐอเมริกา มี 5,044 ลูก

แล้วความงมงายทางวิทยาศาสตร์ไปเกี่ยวข้องอะไรกับสงครามนิวเคลียร์?

อย่างตรง ๆ สำหรับประเทศที่ตระหนักในความร้ายแรงของระเบิดนิวเคลียร์ ก็ไม่ต้องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่ถ้าเกิดมีประเทศใดที่เชื่อมั่นในพลังของวิทยาศาสตร์ในรูปของอาวุธนิวเคลียร์ว่า สามารถทำให้ "ชนะสงคราม" ได้ ก็อาจจะใช้

หรือถ้าไม่ใช่ประเทศแรกที่เปิดการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ แล้วก็เชื่อมั่นว่า อาวุธนิวเคลียร์ที่ตนมี หรือที่ "พันธมิตร" มี จะสามารถโต้ตอบประเทศที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อนได้ แล้วทางออกหรือการป้องกันมิให้มนุษย์ต้องสูญพันธุ์เพราะสงครามนิวเคลียร์ ดีที่สุดก็คือ การที่ทั่วโลกจะต้องช่วยกันสร้างความตระหนักว่า อย่าไปงมงายกับพลังของอาวุธนิวเคลียร์ ที่จะช่วยให้ชนะสงครามได้

*********

คาถาวิเศษป้องกันอันตราย

จากความงมงายทางวิทยาศาสตร์

คำถามใหญ่ปิดท้ายเรื่องของเราวันนี้ คือ แล้วจะมีคำตอบง่ายๆ ที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาจากความงมงายทางวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่?

ผู้เขียนเชื่อว่า มี! คือ การสร้างความตระหนักให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ถึงสาเหตุที่มาของความงมงายทางวิทยาศาสตร์ แล้วก็ใช้ "ปัญญา" และ "สติ" ว่า อย่าเชื่อและศรัทธาอย่างไม่ใช้ความคิด ซึ่งสำหรับผู้เขียน และสำหรับประเทศไทย ก็คือ การช่วยกัน "ติดปัญญาให้กับสังคมไทย" นั่นเอง

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดเรื่อง ความงมงายทางวิทยาศาสตร์ อย่างไร?

ตัวท่านเองคิดว่า ความงมงายทางวิทยาศาสตร์ จะ "ป้องกัน" และ "รักษา" ได้อย่างไร?