ครบรอบ 109 ปี การจากไปของ “เฮนรี โมสลีย์” นักฟิสิกส์หนุ่ม อัจฉริยะ บ้างาน ที่ตายในสงครามโลก ในวัย 27 เจ้าของ กฎของโมสลีย์ กับการค้นพบตารางธาตุใหม่...  

วันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ.1915 หรือวันนี้ เมื่อ 109 ปีก่อน เฮนรี โมสลีย์ (Henry Moseley) นักฟิสิกส์หนุ่มอังกฤษอายุ 27 ปี เสียชีวิตจากพลแม่นปืนในสมรภูมิกัลลิโพลี (Gallipoli) ประเทศตุรกี!

สงคราม โหดร้ายและสูญเสีย

ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ.1914-1918) มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวมสูงถึงประมาณ 20 ล้านคน

เฉพาะในสมรภูมิกัลลิโพลี (ค.ศ.1915-1916) จำนวนผู้เสียชีวิตรวมก็สูงถึงกว่า 130,000 คน!

ทุกชีวิตล้วนมีค่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนในสงคราม อย่างน้อยก็ต่อครอบครัวและประเทศชาติ แต่การสูญเสียของบางชีวิต ความสูญเสียก็มีค่ามากกว่าครอบครัวและประเทศชาติเสียอีก

ในกรณีของ เฮนรี โมสลีย์ นักวิทยาศาสตร์นักเขียนวิทยาศาสตร์ ไอแซก อาซิมอฟ ในหนังสือปทานุกรม Asimor’s Biographical Encyclopedia of Science and Technolegy (ค.ศ.1975) กล่าวถึงการสูญเสียชีวิตของโมสลีย์ว่า :-

"การตายของ โมสลีย์ (ขณะมีอายุเพียง 27 ปี) นับเป็นการสูญเสียราคาแพงที่สุดต่อมนุษยชาติของคนหนึ่งคนจากสงคราม"

และนี่เองก็คือที่มาชื่อเรื่องของเราวันนี้ จากชื่อเต็ม “เฮนรี โมสลีย์ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะเหยื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งราคาแพงที่สุดต่อมนุษยชาติ”

“เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ขอนำท่านผู้อ่านไปรำลึกถึง เฮนรี โมสลีย์ ไปรู้จักกับชีวิตและผลงานของเขา ในช่วงชีวิตอันแสนสั้น แต่สามารถสร้างผลงานทำให้ ไอแซก อาซิมอฟ และวงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลกถึงทุกวันนี้ต้องเศร้าสลด และรู้สึกถึงการสูญเสียยิ่งใหญ่ที่มีค่าต่อมนุษยชาติ

...

สมรภูมิ Gallipoli ในสงครามโลกครั้งที่ 1
สมรภูมิ Gallipoli ในสงครามโลกครั้งที่ 1

เฮนรี โมสลีย์ หนุ่มน้อยนักฟิสิกส์อัจฉริยะบ้างาน! 

สำหรับโลกวิทยาศาสตร์และวงการทั่วไปในวันนี้ เฮนรี โมสลีย์ ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์มีชื่อ เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ดังเช่น ไอน์สไตน์, สตีเฟน ฮอว์คิง, นีลส์ บอร์,...

แต่ถ้าชีวิตของเขามิได้ถูกดับด้วยไฟสงครามตั้งแต่วัยเป็นหนุ่มอายุเพียง 27 ปี ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เขาจะเป็นหนึ่งในชื่อของนักวิทยาศาสตร์รู้จักกันดีทั่วโลก ทั้งวงการวิทยาศาสตร์และทั่วไป

อย่างน้อย ไอแซก อาซิมอฟ และนักวิทยาศาสตร์สำคัญของโลกหลายคนก็ประสานเสียงตรงกันว่าถ้า โมสลีย์ ไม่เสียชีวิตเสียก่อนในสงคราม แม้แต่งานวิทยาศาสตร์ที่เขาได้ทำในช่วงชีวิตวัยหนุ่มที่ไม่ยาวนัก ก็เพียงพอที่จะทำให้เขาได้รับ “รางวัลโนเบล” อย่างแน่นอน

เฮนรี โทมัส เกิดวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ.1887  ที่เมืองฝั่งทะเล เวย์มัท (Weymouth) ประเทศอังกฤษ มีคุณพ่อเป็นนักสัตววิทยา แต่เฮนรีกลับสนใจฟิสิกส์มากกว่า ตามคุณปู่ เมื่อโตขึ้นก็เข้าเรียนที่โรงเรียน Summer Fields School 

เขาแสดงแววเป็นเด็กเก่งวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อยู่โรงเรียน จนกระทั่งได้ทุนเข้าเรียนมัธยมชั้นสูงที่ วิทยาลัยอีทัน (Eton College) ได้รับรางวัลเคมีและฟิสิกส์ที่อีทันในปี ค.ศ.1906 และในปีเดียวกันก็เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสาขาวิชา natural science (วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ)

หลังสำเร็จการศึกษาจากออกซ์ฟอร์ดในปี ค.ศ.1910 เฮนรี โมสลีย์ ได้เข้าร่วมทีมช่วยงานการศึกษาวิจัยและงานสอนอยู่กับ เออร์เนสต์ รัทเทอร์ฟอร์ด (Ernest Rutherford : ค.ศ.1871-1937) ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์

รัทเทอร์ฟอร์ด เป็นนักฟิสิกส์อังกฤษเชื้อสายนิวซีแลนด์ที่เป็นหนึ่งในบรรดานักฟิสิกส์มีชื่อเสียงของโลก ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งฟิสิกส์นิวเคลียร์” ในขณะที่โมสลีย์เข้าทำงานกับรัทเทอร์ฟอร์ด ตัวรัทเทอร์ฟอร์ดเองกำลังโด่งดังจากการได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี สำหรับผลงานเกี่ยวกับการแผ่รังสีของธาตุและสารกัมมันตรังสี

การได้เริ่มทำงานอย่างเป็นอาชีพอยู่กับรัทเทอร์ฟอร์ด นับเป็นโอกาสทองของโมสลีย์ เพราะมีนักฟิสิกส์เก่งๆ มากมายอยากทำงานร่วมกับรัทเทอร์ฟอร์ด และหลายคนที่ได้ทำงานกับรัทเทอร์ฟอร์ดก็สร้างผลงานดีเด่นจนกระทั่งได้รับรางวัลโนเบล

และโมสลีย์ก็ไม่ทำให้รัทเทอร์ฟอร์ดผิดหวัง ได้รับคำชมว่า เป็นคนหนุ่มอายุน้อยที่สุดในทีมงานอยู่กับเขา แต่มุ่งมั่น ทุ่มเท และแสดงแววอัจฉริยะอย่างชัดเจน

ความมุ่งมั่น ตั้งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทดลองกับความคิดหรือปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่กำลังเป็นประเด็นให้นักวิทยาศาสตร์ต้องขบคิดหาคำตอบ หรือช่องทางในการค้นพบ “สิ่งใหม่” “ความรู้ใหม่” ของโมสลีย์ ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เป็นที่ “รู้จัก” “คุ้นเคย” กันดี จนกระทั่งเป็นที่เล่าขานกันว่า โมสลีย์ “บ้างาน” ลืมเวลา ต้อง “หาของกิน” เวลาตีสามเป็นประจำ

...

Henry Moseley นักฟิสิกส์ ที่เสียชีวิตในสงคราม ด้วยวัยหนุ่มเพียง 27 ปี
Henry Moseley นักฟิสิกส์ ที่เสียชีวิตในสงคราม ด้วยวัยหนุ่มเพียง 27 ปี

เฮนรี โมสลีย์ ที่ออกซ์ฟอร์ด

ปี ค.ศ.1913 เฮนรี โมสลีย์ เริ่มงานสร้างผลงานของตนเองที่ออกซ์ฟอร์ด!

ในช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ.1910-1913 ที่ทำงานอยู่กับรัทเทอร์ฟอร์ดที่แมนเชสเตอร์ รัทเทอร์ฟอร์ดก็ประทับใจกับโมสลีย์มาก และได้เสนอทุนให้โมสลีย์ทำงานในระดับสูงขึ้น ทั้งการสอนและวิจัย

แต่โมสลีย์ขอกลับไปทำงานเต็มตัวของตนเองที่ออกซ์ฟอร์ด

ที่ออกซ์ฟอร์ด โมสลีย์ก็มีห้องทดลองของตนเอง แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับการศึกษาวิจัยมากนัก...

โมสลีย์ก็ยังมุ่งหน้าทุ่มเทให้กับงานการวิจัยของตนเองอย่างเต็มที่ โดยต้อง “ควักเงินตนเอง” เพื่อการศึกษาวิจัย แล้วก็ได้ “ผลงานเกินคุ้ม” โดยที่ตัวเขาเองไม่ได้อยู่เห็น “รางวัล” ผลงานที่เขาได้ริเริ่ม หรือได้สร้าง

...

เฮนรี โมสลีย์ กับแบตเตอรี่อะตอม

ผลงานอย่างเป็นรูปธรรมสิ่งแรกของโมสลีย์ คือ แบตเตอรี่อะตอม ซึ่งเขาได้เริ่มศึกษาและทดลองตั้งแต่ปี ค.ศ.1912 ขณะอยู่ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์

ในปัจจุบัน นาซา และองค์การอวกาศของหลายประเทศ ที่มีการส่งยานอวกาศไปสำรวจระบบสุริยะ หลายโครงการก็ได้ หรือกำลังใช้งานของแบตเตอรี่อะตอม หรือแบตเตอรี่นิวเคลียร์ หรือเครื่องผลิตไฟฟ้าไอโซโทปกัมมันตรังสี (radioisotope generator) ในการขับเคลื่อนการทำงานของอุปกรณ์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เพราะแบตเตอรี่อะตอมมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่มีชีวิตการทำงานที่ยาวนานเป็น 50 ปีหรือกว่านั้น เพราะพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานจากธาตุหรือสารกัมมันตรังสี ดังเช่น เรเดียม ซึ่งมีครึ่งอายุยืนยาวถึง 1,600 ปี

ในปี ค.ศ.1913 หลังจากที่ได้ศึกษาและทดลองกับกัมมันตรังสีจากธาตุกัมมันตรังสีจากธาตุดังเช่น เรเดียม โมสลีย์ก็ประสบความสำเร็จ สร้าง “ต้นแบบ” ของแบตเตอรี่อะตอม โดยใช้เรเดียมเป็นแหล่งพลังงาน

...

มิใช่เฉพาะงานการสำรวจอวกาศในปัจจุบันโดยยานอวกาศที่กำลังใช้แบตเตอรี่อะตอม สำหรับมนุษย์โลก กิจกรรมหรืองานหลายอย่างที่ต้องใช้พลังงานไม่มากนัก แต่มีอายุการทำงานยาวนาน และไม่ต้องมีการบำรุงรักษาเป็นประจำคือ ไม่ต้องมีการชาร์จแบตเตอรี่เป็นประจำดังเช่น โทรศัพท์มือถือ ก็ได้อาศัยแบตเตอรี่อะตอมเป็นแหล่งพลังงาน ดังเช่น เครื่องควบคุมการเต้นของหัวใจ หรือ pacemaker, อุปกรณ์เครื่องมือที่ทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทะนุบำรุง หรือชาร์จพลังงานได้ยาก ดังเช่นใต้ทะเลลึก

แต่แบตเตอรี่อะตอมของโมสลีย์ ก็เดินหน้าได้เพียงเป็น “ต้นแบบ”

อย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ให้โมสลีย์มีเวลามากพอ โลกก็จะได้ใช้ประโยชน์ของแบตเตอรี่อะตอมอย่างเป็นรูปธรรมจากฝีมือของโมสลีย์เร็วขึ้น แต่...เวลา...ก็เป็นสิ่งเดียวที่โมสลีย์มีไม่มากพอ

จนกระทั่งถึงทศวรรษที่ 50 และ 60 จากการแข่งขันในการพิชิตอวกาศและการสำรวจระบบสุริยะ และศักยภาพของแบตเตอรี่อะตอม สำหรับงานหลากหลายชนิดบนโลก แบตเตอรี่อะตอมจึงได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง จนกระทั่งออกมาใช้งานได้จริง ตามหลักการแบตเตอรี่อะตอมของโมสลีย์

เฮนรี โมสลีย์ กับ “กฎของโมสลีย์”

ในช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ.1910-1914 ของโมสลีย์ที่แมนเชสเตอร์และที่ออกซ์ฟอร์ด ความสนใจใหญ่ที่สุดของเขาคือ สเปกตรัมการเลี้ยวเบนของรังสีเอกซ์ (X-ray diffraction) จากอะตอมของธาตุต่างๆ

โมสลีย์ พบว่าแต่ละอะตอม (ของแต่ละธาตุ) มีสเปกตรัมที่มีความถี่เฉพาะของตนเอง ขึ้นอยู่กับจำนวนของประจุไฟฟ้าเป็นบวกของอะตอมที่โมสลีย์เรียกว่า “เลขอะตอม” (atomic number) ใช้สัญลักษณ์ Z โดยเขียนความสัมพันธ์ของความถี่ของสเปกตรัมกับเลขอะตอมออกมาเป็นสมการง่ายๆ ว่า :-

fZ

มีความหมายว่า สเปกตรัมของแต่ละอะตอม มีความถี่ ʄ เป็นสัดส่วนกับเลขอะตอม Z 

และก็เป็นสมการนี้เองที่ทำให้ชื่อของโมสลีย์มีที่ยืนถาวรในวิทยาศาสตร์โลก ที่ตัวเขาก็ไม่มีโอกาสได้ทราบ เพราะสมการนี้ได้รับการตั้งชื่อเรียกเป็น “Moseley’s Law” หรือ “กฎของโมสลีย์” หลังการจากไปของโมสลีย์ 

ทำไม “กฎของโมสลีย์” จึงสำคัญ?

ก็เพราะบทบาทของกฎนี้ต่อทฤษฎีหรือความเข้าใจพื้นฐานของเคมีและฟิสิกส์ในหลายด้าน และสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ต่อเคมีและฟิสิกส์โลก เช่น ความหมายและความสำคัญของเลขอะตอม (atomic number) การเปลี่ยนแปลงต่อตารางธาตุ (periodic table) การค้นพบธาตุใหม่ โครงสร้างหรือแบบจำลองอะตอมแบบควอนตัม ฯลฯ

“กฎของโมสลีย์” กับ “เลขอะตอม” และ “ตารางธาตุ” 

ในโลกปัจจุบัน เลขอะตอม หรือ atomic number สัญลักษณ์ Z หมายถึง จำนวนโปรตอนในอะตอม มีความสำคัญเป็นตัวกำหนด “ชนิด” ของธาตุต่างๆ นั่นคือ ธาตุทุกชนิด แตกต่างกันเพียง “จำนวนโปรตอน” ยกเว้นไอโซโทปของธาตุชนิดหนึ่ง ที่มีนิวตรอนเป็นจำนวนแตกต่างกัน แต่มีโปรตอนเพียงจำนวนเดียว

แต่เดิมมา เลขอะตอม Z ก็แสดงอยู่ในตารางธาตุของ ดมิตรี เมนเดเลเยฟ (Dmitri Mendeleev) แต่มีความหมายเป็นเพียง “ลำดับเลขที่” ของอะตอมของธาตุต่างๆ ในตารางธาตุ

สำหรับสัญลักษณ์ Z ที่ใช้ มาจากคำภาษาเยอรมัน มีความหมายเป็นเพียงจำนวนเลข เพื่อใช้เป็นลำดับจำนวนธาตุในตารางธาตุเท่านั้น โดยไม่มี “ความหมายเชิงวิทยาศาสตร์” ใดๆ

จนกระทั่งเมื่อโมสลีย์ได้ค้นพบ “กฎของโมสลีย์” ของเขา เมนเดเลเยฟก็เปลี่ยนการจัดลำดับของธาตุในตารางธาตุ ซึ่งแต่เดิมเขาใช้ “น้ำหนักอะตอม” (atomic weight) ต่อมาก็ใช้ “มวลอะตอม” (atomic mass) เป็นตัวกำหนดตำแหน่งของธาตุ แล้วในที่สุดก็เปลี่ยนมาใช้ “เลขอะตอม” แทน ซึ่งทุกอย่างก็ดูจะลงตัวอย่างดีสำหรับตารางธาตุถึงทุกวันนี้

กฎของโมสลีย์ กับการค้นพบธาตุใหม่ในตารางธาตุ

เฮนรี โมสลีย์ เห็นด้วยและยืนยันความสำคัญของการจัดตารางธาตุใหม่ของเมนเดเลเยฟตาม “เลขอะตอม” ของเขา และยืนยันอีกด้วยว่า ควรจะมีธาตุในตารางธาตุที่แตกต่างกัน “หนึ่งหน่วยเลขอะตอม” อย่างไม่มีการกระโดดข้าม เช่น ธาตุที่ 5 กับ ธาตุที่ 8 (สมมติ) 

ถ้าปรากฏขึ้น โมสลีย์ก็ยืนยันว่าจะต้องมีธาตุที่หายไป 2 ธาตุจากตารางธาตุ คือ ธาตุมีเลขอะตอม 6 กับธาตุมีเลขอะตอม 7...

และก็มีตัวอย่างจริงในตารางธาตุที่โมสลีย์ได้ชี้หรือได้เห็นกันต่อๆ มาว่า มีธาตุที่หายไปจากตารางธาตุกี่ธาตุ มีเลขอะตอมเท่าใด ซึ่งก็ได้มีการค้นพบจริงต่อๆ มา

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่าในระหว่างที่โมสลีย์ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังไม่ทราบกันในวงการวิทยาศาสตร์ว่า เลขอะตอมหมายถึงจำนวนโปรตอนในอะตอม เพราะการค้นพบหรือ “รู้จัก” โปรตอนจริงๆ มาเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1920 โดยรัทเทอร์ฟอร์ดได้พิสูจน์ให้เห็นว่า นิวเคลียสของอะตอมไฮโดรเจนเป็นอนุภาคมีประจุไฟฟ้าบวก และเป็นอนุภาคที่มีอยู่ในนิวเคลียสของอะตอมทุกชนิด...

แล้วก็เป็นรัทเทอร์ฟอร์ด ผู้ตั้งชื่อเรียกอนุภาคนี้ว่า “โปรตอน” จากคำภาษากรีกแปลว่า “อนุภาคแรก”

กฎของโมสลีย์ กับแบบจำลองอะตอม

กล่าวได้ว่า กฎของโมสลีย์ มีส่วนสำคัญปิดตำนาน “แบบจำลองอะตอม” จากแบบจำลองแรกในกรีกโบราณ มาจนกระทั่งถึงยุคของฟิสิกส์ควอนตัม

อย่างเร็วๆ จากจุดเริ่มต้นในอดีตโบราณแล้วกระโดดมาสู่ยุคใหม่ศตวรรษที่ยี่สิบ :-

*แบบจำลองแรกของอะตอม โดย เดโมคริตุส (Democritus : ประมาณ 460-370 ปีก่อน ค.ศ.) “อะตอมเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสรรพสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้”

*แบบจำลองของอะตอมยุคใหม่ของ เจ.เจ.ทอมสัน (J.J. Thomson) ปี ค.ศ.1904 หลังการค้นพบอิเล็กตรอน “อะตอมมีลักษณะคล้ายขนมพุดดิง มีเนื้อประจุบวก ไม่มีนิวเคลียส มีอิเล็กตรอนกระจายอยู่ทั่วไป”

*แบบจำลองอะตอมของ รัทเทอร์ฟอร์ด ปี ค.ศ.1911 “อะตอมมีนิวเคลียส (ประจุไฟฟ้าเป็นบวก) อยู่ตรงกลาง มีอิเล็กตรอนกระจายอยู่ทั่วไป”

*แบบจำลองอะตอมของ นีลส์ บอร์ (Niels Bohr) หรือแบบจำลองอะตอมของ บอร์-รัทเทอร์ฟอร์ด ปี ค.ศ.1913 คล้ายของรัทเทอร์ฟอร์ด ปี ค.ศ.1911 แต่เป็นแบบมีอิเล็กตรอนอยู่เป็นชั้นๆ (shell) อย่างเป็นระเบียบ เป็นแบบจำลองอะตอมเชิงควอนตัม ที่อิเล็กตรอนจะกระโดดระหว่างตำแหน่งในแต่ละชั้นแบบควอนตัม คือ รับหรือปล่อยพลังงานเท่ากับผลต่างระดับพลังงานของแต่ละชั้นที่อยู่ของอิเล็กตรอน

รัทเทอร์ฟอร์ด กล่าวว่า แบบจำลองอะตอมของบอร์หรือของเขากับบอร์ มีงานของโมสลีย์ (กฎของโมสลีย์) เป็นส่วนสำคัญสำหรับการปรับแบบจำลอง ในขณะเดียวกันโมสลีย์ก็กล่าวถึงแบบจำลองอะตอมใหม่ของรัทเทอร์ฟอร์ดว่า เป็นแบบจำลองอธิบายเรื่อง “quantum jump” (การกระโดดควอนตัม) ของอิเล็กตรอนได้อย่างลงตัว

Niels Bohr
Niels Bohr

หลังแบบจำลองอะตอมของบอร์ และหลังการจากไปของโมสลีย์ในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ.1915 แบบจำลองอะตอมของบอร์ก็เป็นแบบจำลองพื้นฐานเชิงควอนตัม

พัฒนาการต่อๆ มาถึงปัจจุบัน ที่สำคัญคือ การพิสูจน์หรือค้นพบโปรตอน โดย รัทเทอร์ฟอร์ด ในปี ค.ศ.1920 และการค้นพบนิวตรอน โดย เจมส์ แชดวิกค์ (James Chadwick) ในปี ค.ศ.1932 ทำให้โครงสร้างอะตอมมีคำอธิบายเรียกชื่ออนุภาคที่เกี่ยวข้องอย่างสมบูรณ์ คือ อิเล็กตรอน, โปรตอน และนิวตรอน

ต่อๆ มาอีกสำหรับพัฒนาการเรื่องอะตอมก็เป็นเรื่องของอะตอมที่ส่วนประกอบต่างๆ มี “สมบัติ” เชิงควอนตัมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังเช่น ความเป็นคลื่นและอนุภาคของอิเล็กตรอน, หลักการกีดกันของเพาลี (Pauli Exclusion Principle), ฯลฯ

น่าเสียดายที่โมสลีย์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาฟิสิกส์ควอนตัมมากกว่าที่เขาได้มีประสบการณ์ในช่วงชีวิตที่แสนสั้น...

รวมทั้งงานที่เขาได้เริ่มต้นไว้แล้ว ดังเช่น งานเกี่ยวกับการศึกษาสเปกตรัมการเลี้ยวเบนของรังสีเอกซ์ ซึ่งยังมีโจทย์ต่อเนื่องอีกมากมาย

ในปี ค.ศ.1924 แมนน์ ซีกบาห์น (Manne Siegbahn) นักฟิสิกส์สวีเดน ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ จากผลงานการต่อยอด, ปรับปรุงและพัฒนางานเกี่ยวกับสเปกตรัมของรังสีเอกซ์ที่โมสลีย์ได้เริ่มต้นเอาไว้

จากออกซ์ฟอร์ดสู่สมรภูมิสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

แล้วสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ระเบิดขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1914!

เฮนรี โมสลีย์ ตัดสินใจทิ้งงานวิทยาศาสตร์ที่เขารักที่ออกซ์ฟอร์ด อาสาสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1914 ท่ามกลางการคัดค้านของครอบครัวและญาติมิตร...

แม้แต่กองทัพเองในตอนแรกก็ปฏิเสธไม่ยอมรับโมสลีย์เข้าเป็นทหาร บอกเขาว่า “เราต้องการวิศวกร ไม่ใช่นักฟิสิกส์”...

แต่โมสลีย์ก็ไม่ยอมละทิ้งความตั้งใจ เพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ที่เขาต้องปฏิบัติ

ในที่สุดโมสลีย์ก็ได้เข้าประจำหน่วยวิศวกรรฒการสื่อสาร และในสมรภูมิที่กัลลิโพลีวันนี้เมื่อ 109 ปีก่อน กระสุนนัดหนึ่งก็ปลิดชีวิตนักวิทยาศาสตร์หนุ่มอัจฉริยะคนบ้างานคนหนึ่งไป!

ไม่มีใครอยากให้มีสงคราม!

แต่โลกก็ไม่เคยว่างเว้นสงคราม แม้แต่ในระหว่างที่ไม่มี “สงครามโลก” ก็มีสงครามระหว่างประเทศ ระหว่างชนชาติ ระหว่างเผ่า ระหว่างความเชื่อ...!

หรือว่า มนุษย์เสพติดสงคราม?

ผู้เขียนกำลังพยายามคิดหาคำตอบอยู่!

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร!