การลอบสังหาร "อิสมาอิล ฮานิเยห์" ผู้นำฝ่ายการเมืองกลุ่มฮามาส วัย 62 ปี จากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศด้วยจรวดนำวิถี  ขณะเยือนกรุงเตหะราน ร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของมาซูด เปเซชเคียน ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน และเหตุช็อกโลกที่เกิดขึ้นทางกลุ่มฮามาส ออกมาระบุในทันทีว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล ท่ามกลางการออกมาประณามของหลายประเทศ โดยเฉพาะ "อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี" ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ประกาศอย่างแข็งกร้าวจะโจมตีอิสราเอลอย่างรุนแรง 

ยิ่งสร้างแรงกระเพื่อมทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางลุกลามบานปลาย มีความเสี่ยงจะขยายวงกว้างจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือน ต.ค. ปี 2566 กลายมาเป็นสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านอย่างเต็มตัว และแน่นอนจะมีประเทศพันธมิตรของอิหร่าน ร่วมกับกลุ่มติดอาวุธในอิรัก เยเมน และเลบานอน ระดมกำลังโจมตีอิสราเอล เพื่อชำระแค้น 

ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จัดประชุมฉุกเฉิน ตามคำร้องของผู้แทนถาวรอิหร่าน และจากการสนับสนุนของจีน รัสเซีย และแอลจีเรีย เพื่อหารือหลังเกิดเหตุลอบสังหารผู้นำฝ่ายการเมืองกลุ่มฮามาส โดยตัวแทนแต่ละชาติต่างแสดงความกังวลเกรงว่าความขัดแย้งจะรุนแรงบานปลาย เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (EU) ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น หลีกเลี่ยงเพิ่มความขัดแย้ง เพราะไม่มีชาติใดจะได้ประโยชน์จากความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง

...

จับตาสงครามภูมิภาคตะวันออกกลาง ยกระดับเพิ่มขึ้น

หากอิหร่านเอาจริงในการโจมตีอิสราเอล นั่นหมายความว่าสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง กำลังจะบานปลายรุนแรงกลายเป็นสงครามในเร็วๆนี้หรือไม่? “ดร.ศราวุฒิ อารีย์” ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เหตุลอบสังหารผู้นำฝ่ายการเมืองกลุ่มฮามาส ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวที่เพิ่งเกิดขึ้น ยังมีเหตุการณ์อิสราเอลโจมตีกรุงเบรุต เมืองหลวงเลบานอน ทำการสังหารฟูอัด ชุคร์ มือขวาของผู้นำฮิซบอลเลาะห์ และกองกำลังสหรัฐฯ โจมตีสถานีควบคุมโดรนของกลุ่มกบฏฮูตีที่ต่อต้านสหรัฐฯ และช่วยเหลือปาเลสไตน์ 

ทั้ง 3 เหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นจะเกิดผลกระทบอย่างน้อย 3 เรื่อง 1.การเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซา จากการผลักดันของอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฝ่ายการเมืองกลุ่มฮามาส ซึ่งเดินสายกลาง มีความรอมชอม เคยพยายามพูดคุยเจรจาแก้ปัญหา ทั้งบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ และเจรจาทางอ้อมกับอิสราเอล เพื่อยุติปัญหาที่เกิดขึ้น และแลกเปลี่ยนตัวประกัน แต่กลับโดนสังหาร ไม่ว่าจะฝีมืออิสราเอลหรือไม่ ได้ทำการเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซา กลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น

“ประเด็นของกลุ่มฮามาส มีความน่าสนใจเพราะกลุ่มฮามาส ก็มีกลุ่มแข็งกร้าวกับกลุ่มสายกลาง และเมื่อกลุ่มเดินสายกลางถูกสังหารไปแล้ว กลุ่มสายแข็งก็จะขึ้นมาในการกำหนดการต่อสู้กับอิสราเอล จนส่อเค้าว่าเหตุการณ์ฉนวนกาซาจะไม่จบลงง่ายๆ มีโอกาสที่สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางจะยกระดับเพิ่มขึ้น จากเหตุการณ์ 10 เดือนที่ผ่านมา ถูกยกระดับไปมาก”

2. การเผชิญหน้าระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน จะเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเผชิญหน้าในลักษณะสงครามตัวแทน ซึ่งการลอบสังหารผู้นำฝ่ายการเมืองกลุ่มฮามาส ก็เป็นสงครามลับอย่างหนึ่ง และที่ผ่านมาอิสราเอล เคยลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์ของอิหร่าน มาแล้วหลายครั้ง และเหตุการณ์จากนี้จะเปลี่ยนไปมากระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล จะเป็นการเผชิญหน้าโดยตรง หลังอิสราเอลโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในซีเรีย ทำให้นายพลระดับสูงของอิหร่าน 2 นาย เสียชีวิต และครั้งนี้ละเมิดอธิปไตยสังหารผู้นำฝ่ายการเมืองกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นแขกของอิหร่าน จะนำไปสู่สงครามระหว่างกันโดยตรง 

3. สงครามระดับภูมิภาค ตามที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ก็เป็นห่วง และผู้เชี่ยวชาญก็พูดตรงกัน ว่ากำลังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นำไปสู่สงคราม เพราะอิสราเอลเปิดศึกหลายด้าน และยังมีกลุ่มตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (Non-state actors) แตกต่างจากอดีตเคยทำสงครามตามรูปแบบ ทำให้อิสราเอลจะเผชิญกลุ่มต่อต้าน ทั้งจากเยเมน ซีเรีย อิรัก เลบานอน หรือแม้แต่ในปาเลสไตน์ ล้วนแต่เป็นกองกำลังที่ต่อสู้กับอิสราเอลทั้งสิ้น

...

อิหร่านจะไม่ทำสงครามโดยตรง ปล่อยให้พันธมิตรจัดไป

อย่างไรแล้วเชื่อว่าอิหร่าน จะไม่ทำสงครามโดยตรง แต่อิสราเอลจะต่อสู้กับกลุ่มตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ จะเห็นในช่วงอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพราะวันนี้คนที่เปิดศึก คืออิสราเอล มีการลอบฆ่าคนที่เกี่ยวข้องในหลายดินแดน ก่อนที่เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล จะไปพูดในหลายเวทีว่าไม่สามารถทำได้โดยไม่ได้รับไฟเขียวจากสหรัฐฯ ก็ไม่ต่างกับการลอบสังหารกลุ่มที่ต่อต้านสหรัฐฯ จนกลายเป็นว่าสหรัฐฯ และอิสราเอล เจอกับกลุ่มตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ จะเกิดได้ทุกเวลาทุกสถานการณ์ จะเห็นสิ่งที่แปลกใหม่ จากที่ไม่เคยมีใครกล้าโจมตีพื้นที่อิสราเอล แต่ขณะนี้เห็นชัดเจนมากขึ้น ล่าสุดกบฏฮูตี พันธมิตรอิหร่านเช่นเดียวกับฮิซบอลเลาะห์ ส่งโดรนโจมตีใจกลางกรุงเทลอาวีฟ ได้ชี้ให้เห็นว่าดุลด่านการป้องกันของอิสราเอลลดลง

“เหตุการณ์จะบานปลายไปทั่วถ้าอิสราเอล ไม่หยุดสู้รบในฉนวนกาซา แต่หากหยุดจริงชีวิตของเนทันยาฮู ก็จบลงด้วย และวิธีการไม่ให้จบลง ก็ต้องเปิดศึกใช้ยุทธศาสตร์ดึงสหรัฐฯ เข้ามาร่วม และสหรัฐฯ ก็จะปกป้องอิสราเอล เพราะเป็นพันธมิตรที่ปกป้องในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีความสุ่มเสี่ยงที่อิสราเอล จะยกระดับไปสู่สงครามที่รุนแรงขึ้น หากหยุดความขัดแย้งในฉนวนกาซา ก็จะลดความตึงเครียดลง”

หากเกิดสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง คงไม่ลุกลามออกไปนอกภูมิภาค แต่อาจสร้างความเสียหายต่อโลกภายนอก เพราะตะวันออกกลางเป็นจุดยุทธศาสตร์ เป็นจุดทรัพยากรน้ำมัน ขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจทั้งหลาย ซึ่งทั้งจีนและสหรัฐฯ จะแสดงศักยภาพ โดยสหรัฐฯ จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เพราะให้ความสำคัญกับการปิดล้อมจีนมากกว่า ในการสกัดกั้นอิทธิพลของจีนและรัสเซีย แต่ปัญหาของสหรัฐฯ เกิดจากอิสราเอลที่เป็นพันธมิตร พยายามโยงสหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง ถือเป็นปัญหาใหญ่และท้ายสุดจะเกิดความรุนแรงออกไป

...

หวังผู้นำคนใหม่สหรัฐฯ ไม่หนุนอิสราเอล หยุดเหตุฉนวนกาซา

บทบาทของสหรัฐฯ ก็น่าสนใจ หากปรับนโยบายและผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนความรุนแรง ไม่สนับสนุนอิสราเอลอย่างในปัจจุบัน ทั้งอาวุธ การส่งเสียงสนับสนุนบนเวทีโลก ก็อาจจะหยุดเหตุการณ์ในฉนวนกาซา เพราะฉะนั้นแล้ววิกฤติในตะวันออกกลาง ก็ขึ้นอยู่กับสหรัฐฯ ในการส่งสารไปยังอิสราเอลให้หยุดเหตุการณ์ในฉนวนกาซา เป็นทางออกไม่ให้บานปลาย และหากจีน รัสเซีย รวมถึงสหรัฐฯ มีฉันทามติร่วมกัน ก็จะไม่เสียประโยชน์ของตัวเองในตะวันออกกลาง และใช้เครื่องมือทุกอย่างกดดันอิสราเอล เพื่อหยุดความรุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลาง

“สหรัฐฯ มีอิทธิพลในตะวันออกกลางค่อนข้างสูง ถ้าเกิดสงครามจะกระทบผลประโยชน์ ซึ่งมหาอำนาจต้องมาคุยกัน ไม่ให้เกิดสงครามที่ใหญ่และรุนแรง ก็เป็นแนวทางเป็นไปได้ในอนาคต แต่ช่วงนี้คงประเมินไปไม่ถึงเช่นนั้น และยังคิดว่าอิหร่านจะไม่เปิดศึกกับอิสราเอล เพราะรู้ดีว่าอิสราเอลพยายามดึงสหรัฐฯเข้ามาร่วม พยายามช่วงชิงความได้เปรียบ และสหรัฐฯ ก็เชิญเนทันยาฮู มาพูดในสภาคองเกรส โจมตีอิหร่านเป็นภัยคุกคาม ส่วนจีน ก็เชิญรัสเซีย มาพูดในปักกิ่ง เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ หากอิหร่านโจมตีอิสราเอล ก็จะกลายเป็นสงครามบานปลาย ยุติไม่ได้”

...

อย่างไรแล้วมองว่าเนทันยาฮู จะไม่หยุดสงครามในฉนวนกาซา เพราะต้องการกลบเกลื่อนความพ่ายแพ้ในสายตาเวทีโลก จากการถูกประณามว่าฆ่าเด็กและผู้หญิง รวมถึงต้องการดึงสหรัฐฯ เข้ามาร่วม และเดินหน้าสงครามในฉนวนกาซาต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกตั้งในสหรัฐฯ หวังว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมาช่วยทำสงคราม อย่างที่เคยทำ ถือเป็นความล่อแหลมจากการยื้อเวลาของอิสราเอล เพื่อให้ความขัดแย้งรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็หวังและภาวนาว่ามหาอำนาจจะเห็นร่วมกันว่าสงครามไม่เป็นผลประโยชน์กับทุกฝ่าย.