เหตุพยายามลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และผู้แทนจากพรรครีพับลิกัน ในการลงชิงชัยศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความคืบหน้าไปถึงไหนบ้างแล้ว? หลักฐานและการสืบสวนล่าสุด สามารถให้ "คำตอบ" ในเรื่องใดได้บ้างแล้ว?...วันนี้ “เรา” ไปร่วมกันพิจารณา “ข้อมูล” อันหลากหลายจากทั้งการรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างๆ รวมถึงข้อเท็จจริงจากการสืบสวนของ FBI ด้วยกัน… Timeline of the Assassination Attemptวันที่ 13 ก.ค. 2024 : เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย เวลา 17.07 น. : คลิปวิดีโอเผยให้เห็นภาพ “มือปืน” กำลังเดินออกนอกพื้นที่การปราศรัย และกำลังเดินวนรอบอาคารที่อยู่นอกพื้นที่การชุมนุมคลิปวิดีโอเผยให้เห็นภาพ เจ้าหน้าที่หน่วยสไนเปอร์ทีมที่ 1 กำลังเข้าประจำตำแหน่งที่บนหลังคาอาคารแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเวทีการปราศรัย เวลา 17.08 น. :คลิปวิดีโอเผยให้เห็นภาพ เจ้าหน้าที่หน่วยสไนเปอร์ทีมที่ 2 กำลังเข้าประจำตำแหน่งที่บนหลังคาอาคารแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของเวทีการปราศรัย เวลา 17.10 น. :มือปืน ถูกระบุจากทีมอารักขาให้เป็น “บุคคลที่ต้องจับตา” (Person of interest)เวลา 17.30 น. : เจ้าหน้าที่ตำรวจเพนซิลเวเนีย แจ้งหน่วย Secret Service หลังจับภาพผู้ต้องสงสัยได้ด้วยกล้องตรวจจับ เวลา 17.52 น. : หน่วย Secret Service เผยแพร่ข้อมูลผู้ต้องสงสัยที่ได้รับไปยังหน่วยสไนเปอร์บนอาคารสูงและหน่วยอารักขาภาคพื้นดิน อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวยังไม่มีการระบุว่า ผู้ต้องสงสัยมีอาวุธหรือไม่? เวลา 18.03 น. : โดนัลด์ ทรัมป์ เดินขึ้นบนเวทีและเริ่มการปราศรัย โดยเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ผู้เข้าร่วมการชุมนุม ผ่านจุดตรวจของหน่วย Secret Service ก่อนเข้าสู่พื้นที่การปราศรัยทุกคน เวลา 18.11.21-18.11.32 น. : คลิปวิดีโอเผยให้เห็นภาพ หน่วยสไนเปอร์ทางทิศใต้ ได้หันตัวไปยังจุดที่มือปืนซุ่มอยู่ จากนั้นได้เริ่มเคลื่อนที่เข้าสู่ตำแหน่งยิง คุกเข่า และเล็งอาวุธปืนไปยังเป้าหมาย ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่มีผู้เห็นเหตุการณ์หลายต่อหลายคน เริ่มสังเกตเห็น ผู้ต้องสงสัยพร้อมอาวุธปืนไรเฟิล กำลังคลานอยู่บนหลังคาอาคารดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างไปจากจุดปราศรัยของ โดนัลด์ ทรัมป์ เพียงประมาณ 400 ฟุต (121.92 เมตร) จากนั้นจากคลิปวิดีโอจะเห็นได้ว่า มีผู้เห็นเหตุการณ์หลายต่อหลายคนพยายามเรียกเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปตรวจสอบ คลิปวิดีโอ เผยให้เห็นภาพเจ้าหน้าที่กำลังเดินรอบอาคารที่มือปืนซุ่มอยู่ ซึ่งในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐเพนซิลเวเนีย ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ได้รับแจ้งว่า พบกิจกรรมที่น่าสงสัยในพื้นที่ และได้รับคำสั่งให้ไปตรวจสอบและค้นหาผู้ต้องสงสัย ท่ามกลางความแตกตื่นของประชาชน ที่ต่างตะโกนออกมาว่า “เขามีปืนไรเฟิล ผมเห็นเขาถืออาวุธปืนอย่างชัดเจน” รวมถึงพยายามชี้นิ้วไปยังจุดที่มือปืนซุ่มอยู่บนหลังคาอาคาร ทั้งนี้ นายอำเภอบัตเลอร์ เคาน์ตี้ (Butler County) ออกมาระบุภายหลังว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองบัตเลอร์ พยายามจะปีนขึ้นไปบนหลังคาอาคารดังกล่าว เพื่อหยุดยั้งมือปืนแล้ว แต่มือปืนได้หันมาเล็งอาวุธปืนข่มขู่ เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องล่าถอย เวลา 18.11.33 น. : กระสุนนัดแรกถูกยิงออกมา เวลา 18.11.34 น. : กระสุนนัดที่สองและสามถูกยิงออกมา เวลา 18.11.37 น. : มีเสียงปืนดังออกมาหลายนัด ท่ามกลางเสียงกรีดร้องของผู้เข้าร่วมรับฟังการปราศรัย และคลิปวิดีโอจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ทำให้เห็นหน่วยสไนเปอร์เล็งไปที่มือปืน ก่อนจะได้ยินเสียงปืนนัดสุดท้าย ขณะที่บนเวที โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกกระสุนปืนเจาะเข้าที่บริเวณใบหูจนได้รับบาดเจ็บและถูกห้อมล้อมด้วยเจ้าหน้าที่คุ้มกัน เวลา 18.12 น. :มีรายงานพบผู้เข้าฟังการปราศรัยที่อยู่ด้านหลังโดนัลด์ ทรัมป์ เสียชีวิต 1 ศพ และบาดเจ็บสาหัสอีก 2 ราย ขณะที่มือปืนถูกสังหารจากหน่วยสไนเปอร์ โดยผู้เสียชีวิตทราบชื่อในเวลาต่อมา คือ นายโคเรย์ คอมเพอราโทเร (Corey Comperatore) นักดับเพลิงวัย 50 ปี ซึ่งถูกกระสุนปืนเข้าที่ศีรษะจนเสียชีวิต ส่วนผู้บาดเจ็บสาหัสอีก 2 คน ทราบชื่อในเวลาต่อมา คือ เดวิด ดัตช์ (David Dutch) วัย 57 ปี และ เจมส์ โคเพนเฮเวอร์ (James Copenhaver) วัย 74 ปี เจ้าหน้าที่ Secret Service พาตัวโดนัลด์ ทรัมป์ ลงจากเวทีปราศรัยและขึ้นรถยนต์ที่มาจอดรอเวลา 18.14 น. : ขบวนรถของโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากพื้นที่ปราศรัยและมุ่งหน้าไปยังโรงพยาบาล Butler Memorial ซึ่งอยู่ห่างออกไป 11 ไมล์ เวลา 18.42 น. :หน่วย Secret Service ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ปลอดภัยเวลา 23.00 น. : สำนักข่าวหลายแห่งรายงานโดยระบุว่า พ่อของ “โทมัส แมทธิว ครูกส์” (Thomas Matthew Crooks) ได้แจ้งความว่า ลูกชายของเขาได้นำปืนไรเฟิลที่ใช้ก่อเหตุออกไปที่สนามยิงปืนและหายตัวไปตั้งแต่เวลา 13.00 น. 5 วัน หลังเกิดเหตุ...18 ก.ค. 2024 “คิมเบอร์ลี ชีเทิล” (Kimberly Cheatle) ผู้อำนวยการ United States Secret Service เข้าพบโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นการส่วนตัว เพื่อบรรยายสรุปเหตุการณ์พยายามลอบสังหารด้วยตัวเอง21 ก.ค. 2024 ทีมงานหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับอาการบาดเจ็บอย่างเป็นทางการ โดยอ้างอิงจากผลการตรวจของ นพ.รอนนี แจ๊คสัน (Ronny Jackson) อดีตแพทย์ประจำทำเนียบขาว โดยระบุว่า “โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนที่บริเวณส่วนบนของใบหูทางด้านขวา ซึ่งเฉียดจากศีรษะไปเพียงเล็กน้อย และทำให้เกิดบาดแผลกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ผู้ก่อเหตุ ข้อมูลผู้ก่อเหตุลอบสังหาร ล่าสุด จนถึงขณะนี้ (26 ก.ค. 24)ผู้ก่อเหตุ คือ “โทมัส แมทธิว ครูกส์” (Thomas Matthew Crooks) อายุ 20 ปี อาศัยอยู่ที่เมืองเบเธลพาร์ค รัฐเพนซิลเวเนีย จบการศึกษาในระดับมัธยมปลาย เมื่อปี 2022 และเคยได้รับเงินรางวัล “สตาร์ อวอร์ด” จำนวน 500 ดอลลาร์สหรัฐ จากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร National Math and Science Initiative ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการพัฒนาเยาวชนไปสู่ความเป็นเลิศผ่านโปรแกรม STEM หรือการบูรณาการ 4 ศาสตร์ คือ วิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี (Technology), วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering), คณิตศาสตร์ (Mathematics) ปัจจุบัน ประกอบอาชีพเป็นนักโภชนาการประจำบ้านพักคนชรา อาวุธปืนสำหรับอาวุธปืนที่ “โทมัส แมทธิว ครูกส์” ใช้ในการก่อเหตุ คือ “ปืนไรเฟิล AR-15” ซึ่งเป็นปืนยอดนิยมที่ขายดีที่สุดรุ่นหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากถูกออกแบบมาให้มีน้ำหนักเบา ยิงได้ง่าย พกพาสะดวก และราคาไม่แพง (ราคาขายเริ่มต้นในสหรัฐฯ อยู่ที่ต่ำกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18,078 บาท)รู้หรือไม่?“ปืนไรเฟิล AR-15” คือ อาวุธปืนที่ถูกกฎหมายและอนุญาตให้มีการซื้อขายได้ในทั้ง 50 รัฐ ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยข้อมูลจาก “มูลนิธิกีฬายิงปืนแห่งชาติสหรัฐอเมริกา” (National Shooting Sports Foundation) หรือ NSSF ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปัจจุบัน (ปี 2024) พลเรือนชาวอเมริกันมีอาวุธปืนชนิดนี้เอาไว้ในความครอบครองแล้วอย่างน้อย 28 ล้านกระบอก ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ Safehome.org ซึ่งใช้ข้อมูลอ้างอิงจาก FBI ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 เม.ย. 24 ในประเทศสหรัฐอเมริกา มียอดจำหน่ายอาวุธปืนแล้วประมาณ 5,483,223 กระบอก หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ย 1.3 ล้านกระบอกต่อเดือน ด้านยอดขายอาวุธปืน ณ สิ้นสุดปี 2023 อยู่ที่ประมาณ 16,746,289 กระบอก โดยรัฐที่มีค่าเฉลี่ยการซื้อขายอาวุธปืนต่อหัวประชากร 10,000 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไปสูงสุด คือ รัฐมอนแทนา 1,586 กระบอก ต่อประชากร 10,000 คน ส่วนที่รัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเกิดเหตุลอบสังหารนั้น มียอดขายอาวุธปืน ณ สิ้นสุดปี 2023 อยู่ที่อย่างน้อย 841,523 กระบอก และมีค่าเฉลี่ยการซื้อขายอาวุธปืนต่อหัวประชากร 10,000 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 859 กระบอกต่อประชากร 10,000 คน ร่องรอยมือปืนพฤติกรรม ของ “โทมัส แมทธิว ครูกส์” ก่อนลงมือก่อเหตุลอบสังหาร 1. สำนักข่าว ABC รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวใน Clairton Sportsmen’s Club ซึ่งระบุว่า “โทมัส แมทธิว ครูกส์” ได้ไปฝึกซ้อมยิงปืนที่สนามยิงปืนดังกล่าว ก่อนก่อเหตุพยายามลอบสังหารโดนัลด์ ทรัมป์เพียงหนึ่งวัน 2. หลายสื่อต่างประเทศรายงานตรงกันว่า “โทมัส แมทธิว ครูกส์” ซื้อกระสุนปืนจากทั้งทางออนไลน์และซื้อด้วยตัวเองก่อนหน้าที่จะถึงวันลอบสังหารเพียงไม่กี่วัน 3. “โทมัส แมทธิว ครูกส์” ค้นหาข้อมูลวันและเวลาการเดินทางมาปรากฏตัวปราศรัยที่เมืองบัตเลอร์ของโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงวันและเวลาการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตที่ชิคาโก ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนในอินเทอร์เน็ต 4. “โทมัส แมทธิว ครูกส์” ทิ้งข้อความบนแพลตฟอร์ม Steam เอาไว้ว่า “วันที่ 13 ก.ค. จะเป็นวันเปิดตัวของฉัน คอยดูกันเอาไว้” 5. “โทมัส แมทธิว ครูกส์” ซึ่งทำงานเป็นนักโภชนาการในบ้านพักคนชรา ได้ขอหยุดงานในวันก่อเหตุ โดยอ้างว่า “มีสิ่งที่ต้องทำ” และจะรีบกลับมาทำงานในวันถัดไป 6. สำนักข่าว ABC รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า ในวันลอบสังหาร “โทมัส แมทธิว ครูกส์” ถามพ่อของเขาว่า จะขอยืมปืนไรเฟิล AR-15 ได้หรือไม่? พร้อมกับอ้างว่าจะนำไปใช้ฝึกซ้อมที่สนามยิงปืน โดยสาเหตุที่ทำให้พ่อของเขาไม่สงสัยในพฤติกรรมดังกล่าว เนื่องจากมือปืนวัยรุ่นผู้นี้เคยขอยืมอาวุธปืนดังกล่าวไปฝึกซ้อมยิงก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง 7. ก่อนหน้าพยายามลอบสังหารไม่นาน “โทมัส แมทธิว ครูกส์” ไปร้านขายอาวุธปืนใกล้ๆ บ้าน และได้ซื้อกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. รวม 50 นัด และยังแวะไปที่ Home Depot เพื่อซื้อบันไดขนาด 5 ฟุต 8. “โทมัส แมทธิว ครูกส์” นำรถยนต์ไปจอดที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากเวทีปราศรัยของโดนัลด์ ทรัมป์ เล็กน้อย 9. อ้างอิงข้อมูลการสืบสวนของ FBI หลังการตรวจค้นรถยนต์และบ้านพัก ของ “โทมัส แมทธิว ครูกส์” เจ้าหน้าที่พบโดรน 1 ลำ, แม็กกระสุนปืน, ระเบิด, อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ และโทรศัพท์มือถือ 10. อ้างอิงข้อมูลการสืบสวนของ FBI ระบุว่า “โทมัส แมทธิว ครูกส์” นำโดรนบินเหนือบริเวณโดยรอบพื้นที่การชุมนุม และห่างจากเวทีปราศรัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ประมาณ 200 หลา ในเวลา 16.00 น. หรือ 2 ชั่วโมงก่อนลงมือ โดยใช้เวลาในการบินโดรนประมาณ 11 นาที 11. อ้างอิงข้อมูลการสืบสวนของ FBI ระบุว่า จากการตรวจสอบคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของ “โทมัส แมทธิว ครูกส์” พบว่า มีค้นหาใน Google ด้วยคำว่า “ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์” ผู้ก่อเหตุลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ เมื่อปี 1963 อยู่ห่างจาก “เหยื่อ” เท่าไร ก่อนลงมือลั่นไกสังหาร และการ “ค้นหา” ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 6 ก.ค. 24 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เขาลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมรับฟังการปราศรัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เมืองบัตเลอร์ ข้อสรุปการสืบสวนของ FBI จนถึงขณะนี้ (26 ก.ค. 24)1. ยังไม่พบแรงจูงใจที่แน่ชัดของ “โทมัส แมทธิว ครูกส์” ที่นำไปสู่ความพยายามในการลอบสังหารโดนัลด์ ทรัมป์ 2. ยังไม่พบประวัติการก่ออาชญากรรมของ “โทมัส แมทธิว ครูกส์” และชายหนุ่มคนนี้ ไม่เคยมีข้อมูลที่ทำให้ FBI จำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษมาก่อนแต่อย่างใด 3. มีความเป็นไปได้สูงแล้วว่า “โทมัส แมทธิว ครูกส์” น่าจะปีนขึ้นไปบนหลังคาซึ่งเป็นจุดซุ่มยิง มากกว่าที่จะใช้บันไดขนาดสูง 5 ฟุต ซึ่งถูกซื้อมาจาก Home Depot 4. มีความเป็นไปได้สูงที่ “โธมัส แมทธิว ครูกส์” จะลงมือก่อเหตุเพียงคนเดียว รู้หรือไม่? ข้อสรุปในรายงานการลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ หรือ JFK จากคณะกรรมการเฉพาะกิจ Warren Commission ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุเอาไว้ว่า...ผู้ที่ลงมือก่อเหตุลอบสังหารสะเทือนโลกนี้ คือ “ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์” (Lee Harvey Oswald) เพียงคนเดียว โดยใช้อาวุธปืนแมนนิเชอร์ คาร์คาโน (Mannlicher-Carcano Model 91/38) ติดลำกล้อง ลั่นกระสุนสังหารไปทั้งหมดเพียง 3 นัด จากหน้าต่างชั้น 6 ของอาคารเก็บหนังสือโรงเรียนเท็กซัส ซึ่งอยู่ห่างจากขบวนรถของ JFK ที่กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 11 ไมล์ต่อชั่วโมง ออกไปประมาณ 264 ฟุต โดย “นัดที่ 1” ยิงโดนทั้ง JFK และผู้ว่าการรัฐเท็กซัส “นัดที่ 2” พลาดไปชนขอบถนน จนทำให้คนที่ยืนอยู่บริเวณสะพานลอยได้รับบาดเจ็บ “นัดที่ 3” ยิงโดนเข้าที่หลังศีรษะของ JFK จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมาซึ่งทั้งหมดนั้นแปลว่า... “ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์” เพียงคนเดียว ใช้อาวุธปืนดังกล่าว ซึ่งเป็นปืนที่จะต้องดึงคันรั้งแล้วเล็งยิงใหม่ทุกครั้ง ลั่นไกไปทั้งหมด 3 นัด ใส่เป้าที่กำลังเคลื่อนที่ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 264 ฟุต (80 เมตร) โดยใช้ระยะเวลารวมกันเพียง 5.7 วินาทีเท่านั้น! ด้วยเหตุนี้ ทำให้จนถึงปัจจุบัน มีชาวอเมริกันเพียงไม่ถึง 20% เท่านั้น ที่เชื่อถือในผลสรุปการสอบสวนอย่างเป็นทางการดังกล่าว จนกระทั่งนำไปสู่การสร้างทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่า “มือปืน” ที่ก่อเหตุน่าจะมีมากกว่า 1 คน ความล้มเหลวแม้ว่า “คิมเบอร์ลี ชีเทิล” (Kimberly Cheatle) จะยอมประกาศ “ลาออก” จากตำแหน่งผู้อำนวยการ United States Secret Service เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความ “ล้มเหลว” ในการอารักขาบุคคลสำคัญระดับประเทศไปแล้ว แต่อย่างไรก็ดี ยังคงมีประเด็นที่น่าให้ความสนใจ จากทั้ง “คำถามและคำตอบ” ที่ควรจะนำมาใช้วิเคราะห์และพิจารณาในเหตุการณ์สั่นคลอนความมั่นคงของประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน แล้ว อะไรคือ คำถามและคำตอบที่น่าสนใจที่ว่านี้บ้าง? คำถาม เหตุใด โดนัลด์ ทรัมป์ จึงได้รับอนุญาตให้ขึ้นเวทีปราศรัย ในเมื่อสำนักงานสอบสวนกลาง หรือ FBI มีการระบุว่า “โทมัส แมทธิว ครูกส์” อายุ 20 ปี มือปืนผู้ก่อเหตุในครั้งนี้ มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายน่าสงสัย รวมถึงเหตุใดจึง “ปฏิเสธ” การร้องขอการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่สำหรับการอารักขาอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง? คำตอบ คิมเบอร์ลี ชีเทิล ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่า ระดับการอารักขาโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่มขึ้น ก่อนการรณรงค์หาเสียง อีกทั้งจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อภัยคุกคามต่ออดีตผู้นำสหรัฐฯ มีระดับการพัฒนาขึ้น อย่างไรก็ดี คิมเบอร์ลี ชีเทิล ได้ตั้งข้อสังเกตว่า Sercret Service จำเป็นต้องมีทรัพยากรที่เพียงพอ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการสำหรับภารกิจในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน มีบุคคลสำคัญอย่างน้อย 36 คน อยู่ภายใต้การอารักขาของ Sercret Service ในแต่ละวัน และยิ่งไปกว่านั้น หน่วยงานของเธอ ยังต้องมีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจอารักขาผู้นำของชาติต่างๆ จำนวนมาก ที่เดินทางมาเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาในแต่ละปีด้วย นอกจากนี้ “คิมเบอร์ลี ชีเทิล” ยังยืนยันด้วยว่า Sercret Service ไม่เชื่อว่าจะมีภัยคุกคามต่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะนำไปสู่การให้อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องยุติการขึ้นกล่าวปราศรัยที่เมืองบัตเลอร์สำหรับประเด็นเรื่องการระบุตัวผู้ต้องสงสัย “โทมัส แมทธิว ครูกส์” ได้ก่อนลงมือนั้น อดีตผู้อำนวยการ Sercret Service ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาขั้นตอนการปฏิบัติในพื้นที่การอารักขาบุคคลสำคัญ จะมีการระบุถึงบุคคลต้องสงสัยอยู่ตลอดเวลา แต่ขั้นตอนดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อบุคคลสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับในกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ Sercret Service มีการสื่อสารที่น่าจะระบุถึงบุคคลต้องสงสัย อย่างน้อย 2-5 ครั้งด้วย คำถาม เหตุใดจึงไม่มีหน่วยสไนเปอร์อยู่บนหลังคาอาคารที่คนร้ายซุ่มใช้ก่อเหตุ ทั้งๆ ที่ถือเป็นหนึ่งในจุดที่อันตราย? คำตอบ “คิมเบอร์ลี ชีเทิล” ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าว ABC ในประเด็นนี้เอาไว้ว่า หลังคาอาคารดังกล่าวมีลักษณะ “ลาดเอียง” จึงไม่เหมาะสมกับการให้ “พลซุ่มยิง” ไปประจำการ ณ จุดดังกล่าว อีกทั้งยังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองบัตเลอร์ดูแลพื้นที่ดังกล่าวเอาไว้แล้วอีกด้วย ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า “คิมเบอร์ลี ชีเทิล” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่ใกล้ชิดกับ “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลัง “พรรคเดโมแครต” มีความชัดเจนแล้วว่า จะสนับสนุนให้ รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ลงแข่งขันกับ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีขึ้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน กราฟิก : วรัญญา แผ่อารยะ