หลังเกิดเหตุลอบสังหารโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 และรอดชีวิตอย่างหวุดหวิด กระสุนเฉียดใบหูข้างขวาได้รับบาดเจ็บ ระหว่างปราศรัยหาเสียงในเมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา อาจเป็นจุดเปลี่ยนส่งผลดีต่อทรัมป์ ได้คะแนนนิยมพุ่งปรี๊ด ถึงขั้นคว้าชัยชนะแบบถล่มทลายนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสมัย กระทั่งช่วงค่ำวันที่ 18 ก.ค. ทรัมป์ วัย 78 ปี ได้กล่าวสุนทรพจน์ในวันสุดท้ายของการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน ตอบรับการเป็นตัวแทนพรรคในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี กับคู่เเข่งจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งเดือน พ.ย.นี้ 

การกล่าวสุนทรพจน์ครั้งสำคัญของทรัมป์ ท่ามกลางเสียงเพลงและเสียงดนตรีที่อบอุ่น และสร้างความตื้นตันใจให้กับเขา หลังรอดตายมาได้จากการลอบสังหาร ได้ประกาศอย่างมั่นใจว่า อีก 4 เดือนจากนี้ จะประสบชัยชนะอย่างเหลือเชื่อ และจะเริ่มต้น 4 ปี ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ความบาดหมางและความแตกแยกในสังคมจะต้องได้รับการเยียวยาโดยเร็ว และย้ำว่าการลงสมัครเลือกตั้งเพื่อเป็นประธานาธิบดีของชาวอเมริกันทั้งประเทศ ไม่ใช่ครึ่งประเทศ

...

ขณะที่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อยู่ในช่วงขาลงอย่างหนักหลังผลงานการดีเบตกับทรัมป์ ดูย่ำแย่เลวร้าย ทั้งเรื่องอายุในวัย 81 ปี และความพร้อมทางร่างกาย เป็นอุปสรรคในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีกสมัย อาจเป็นไปได้ว่าในเร็วๆ นี้ ไบเดนจะถอนตัวจากการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี หลังพันธมิตรผู้สนับสนุนต่างมีความกังวลว่าไบเดนอาจไม่สามารถคว้าชัยชนะได้ และหันมาสนับสนุนให้คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีหญิงของสหรัฐฯ เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต

เหตุลอบสังหาร ไม่มีผลให้คนเทความนิยม มายังทรัมป์

หลังเกิดเหตุลอบสังหารดูเหมือนว่าทรัมป์ กำลังได้เปรียบเหนือคู่แข่งจากพรรคเดโมแครตหรือไม่? แต่ "ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู" ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กลับมองว่า เหตุการณ์ลอบสังหาร บังเอิญเกิดขึ้นช่วงวันใกล้ประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกัน ในการประกาศตัวอย่างเป็นทางการของทรัมป์ เพื่อเป็นตัวแทนพรรคชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี ก็เท่านั้น เพราะตามปกติไม่มีเหตุลอบสังหาร ก็มีผลโพลบอกอยู่แล้วว่าทรัมป์ มีคะแนนนำไบเดน แต่เมื่อมีเหตุการณ์ขึ้นมา ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าคนสนับสนุนทรัมป์ ก็ยังคงสนับสนุนต่อ แต่ไม่แน่ใจในเรื่องของคนในกลุ่มไม่สนับสนุนทรัมป์ และที่ไม่ชอบ อย่างไรก็ไม่ชอบ จะเปลี่ยนใจมาสนับสนุนทรัมป์หรือไม่ รวมถึงกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจจะสนับสนุนใคร

“แม้สุนทรพจน์ล่าสุดของทรัมป์ มีการพูดถึงเรื่องความสามัคคี ไม่มีความแตกแยกในสังคม ก็เป็นการพูดนอกสคริปต์ไปอีก จากที่เริ่มพูดเรื่องประสบการณ์ให้ได้คะแนนสงสาร จากเหตุลอบสังหาร ถือเป็นการพูดที่ยาวเกินไป มีการพูดนอกบทมากเกิน จนกลับมาเป็นทรัมป์คนเดิม ยิ่งคนไม่ชอบ ก็ยิ่งไม่ชอบหนัก จนไม่แน่ใจว่าผลการลอบสังหารจะเพิ่มคะแนนนิยมให้กับทรัมป์มากแค่ไหน หากเป็นนักการเมืองทั่วไป อาจได้รับความสนใจมากกว่า ด้วยความที่ทรัมป์ มีคนไม่ชอบเยอะ”

การประเมินผลเลือกตั้งปลายปี ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าทรัมป์จะชนะแบบถล่มทลาย ต้องขึ้นอยู่กับคู่แข่งทรัมป์ และหลังการดีเบตได้ทำให้ไบเดน ย่ำแย่ไป จนมีแรงกดดันให้ถอนตัวในการลงสมัคร ในห้วงเวลาที่เหลือน้อยมากในการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมเเครต และไม่แน่ใจว่าไบเดนจะตัดสินใจอย่างไร หรือแม้ไบเดนจะถอนตัว ก็ยากที่จะหาใครมาแทน ทำให้ตอนนี้โมเมนตัมไปอยู่ที่ทรัมป์ มีความได้เปรียบอยู่ จากคะแนนที่พลาดท่าของไบเดน เคยมีคนสนับสนุน และมีแต่แย่ลง อาจเปลี่ยนมาให้ทรัมป์เพิ่ม แต่โอกาสจะได้คะแนนสูง ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้หรือไม่ เพราะทรัมป์ยังมีปัญหาเรื่องคดี แม้คะแนนจะนำก็ตาม และทรัมป์ยังสูญเสียการสนับสนุนจากคนหนุ่มสาวและคนผิวสี

ปัญหาใหญ่เดโมแครต ไบเดนไปต่อไม่ไหว เสี่ยงแพ้เลือกตั้ง

แม้ไบเดน มีผลงานที่ไม่เลวร้าย แต่มีปัญหาอายุมาก เรื่องความเฉียบคมด้านความคิดความอ่านที่ล้าลง ดีเบตกับทรัมป์ไม่ได้ จนถูกมองจะไปต่อไหวหรือไม่ หากไบเดนไม่ถอนตัว จะไม่เป็นผลดีต่อพรรคเดโมแครต ถ้ายังยืนกรานสมัครเลือกตั้ง คาดว่าประมาณสัปดาห์หน้าต้องตัดสินใจ เพราะเสี่ยงสูงจะแพ้เลือกตั้ง และคนใหม่ที่จะมาแทนก็ไม่มี ในการเป็นหลักประกันว่าจะชนะ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับพรรค จะต้องมีเอกภาพในการสนับสนุนคนมาเป็นตัวแทนพรรค

...

“ปัญหาในเดโมเเครต ทำให้ทรัมป์สบายใจในการแข่งขัน ถ้าชนะก็ไม่แลนด์สไลด์ เพราะคนเคยสนับสนุนไบเดน อาจไม่กระตือรือร้นจะไปลงคะแนนให้ทรัมป์ก็ได้ อีกทั้งทรัมป์ ไม่เคยชนะเสียงข้างมากในแต่ละรัฐ เคยแพ้ฮิลลารี คลินตัน เกือบ 3 ล้านเสียง แพ้ไบเดน ร่วม 7 ล้านเสียง และคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต ก็ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าจะชนะ ต้องได้คะแนนเสียงข้างมากจากคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐ รวมกันเกิน 270 เสียงขึ้นไป และผลโพลขณะนี้พบว่าทรัมป์ ก็ได้ 270 ทำให้ตอนนี้อยู่ที่เดโมแครต จะได้ตัวแทนพรรคเร็วแค่ไหน มาเป็นคนเร้าความรู้สึกดึงคนมาสนับสนุน และต่อต้านทรัมป์ ให้มาลงคะแนน ก็ยังไม่สายเกินไป เหลืออีก 4 เดือนกว่า อาจสู้ได้”

จุดอ่อนของทรัมป์ยังไม่ทิ้งนิสัยเดิม ชอบโจมตีคู่แข่ง ชอบโกหก ไม่มีความพร้อมในการเป็นผู้นำ ทั้งอุปนิสัย ศีลธรรม จริยธรรม ซึ่งก็แปลกที่พรรครีพับลิกัน ยอมรับคนอย่างนี้ที่มีปัญหาเรื่องนิสัย แม้แต่การโกงเลือกตั้ง และเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ได้ปลุกปั่นผู้สนับสนุนให้บุกอาคารรัฐสภา ยับยั้งการประชุมรับรองผลการเลือกตั้งจนมีผู้เสียชีวิต และคนที่สนับสนุนทรัมป์ ก็ถูกดำเนินคดีไปหลายคน แต่เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นคนอาจลืม ก็ยังมีคนสนับสนุนทรัมป์ให้กลับมาอีก สะท้อนให้เห็นความคิดบางอย่างของคนอเมริกัน.

...