เรียนรู้ ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก และทฤษฎีเคออส ที่มา สภาพการณ์ในโลกวิทยาศาสตร์ และบทบาทในชีวิตจริง ...

วันนี้ (4 พฤษภาคม ค.ศ. 2024) ย้อนหลังไปเมื่อ 107 ปีที่แล้ว ในเดือนเดียวกัน คือ วันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ (Edward Lorenz) ถือกำเนิดขึ้นมาที่เมืองฮาร์ตฟอร์ด รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา เติบโตต่อมา เป็นนักคณิตศาสตร์และนักอุตุนิยมวิทยา มีชื่อเป็นผู้ให้กำเนิดทฤษฎีเคออส (Chaos theory) กำเนิดของปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก (Butterfly effect) 

“เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปดูเรื่องราวบางส่วนเกี่ยวกับ ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก และทฤษฎีเคออส เรื่องราวที่มา สภาพการณ์ในโลกวิทยาศาสตร์ และบทบาทในชีวิตจริง

กำเนิดปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก

วันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1972 ในการประชุมครั้งที่ 139 ของสมาคมอเมริกันเพื่อความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ (139th Meeting Of The American Association For The Advancement Of Science) ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี. เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ เป็นผู้บรรยายคนสำคัญคนหนึ่ง และหัวข้อที่เขาบรรยาย คือ ....

“Does The Flap Of A Butterfly‘s Wings In Brazil Set Off A  Tornado In Texas?”

ถอดพากย์ไทยได้เป็น “ผีเสื้อกระพือปีกในบราซิล ทำให้เกิดทอร์นาโดในเท็กซัสได้หรือ?” ซึ่งต่อๆ มา มักจะถ่ายทอดเป็นการบอกเล่า โดยมิใช่การตั้งคำถาม คือ “ผีเสื้อกระพือปีกที่บราซิล ทำให้เกิดทอร์นาโดในเท็กซัสได้”  

...

จากการบรรยายครั้งนี้ ทำให้ ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก และ ทฤษฎีเคออส ได้รับการ “กล่าวถึง” ในวงการวิทยาศาสตร์ว่า เป็นผลงานการค้นพบของ เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์

แสดงว่า เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ มิใช่ผู้ค้นพบปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีกใช่หรือไม่? 

คำตอบคือ... ทั้งใช่ และไม่ใช่! 

ที่ใช่ ก็เพราะว่าจริงๆ แล้ว เรื่องของทฤษฎีเคออส เป็นเรื่องที่อยู่มานานกับโลกวิทยาศาสตร์ นับเป็นร้อยๆ ปีก่อนกำเนิดของ เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ หมายถึง ทฤษฎีของระบบที่มีความซับซ้อน แบบไม่ใช่เชิงเส้น จึงยากต่อการพยากรณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันมา เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญที่สุด คือ “เงื่อนไขการเริ่มต้น” หรือ “intial condition” ซึ่งปรากฏการณ์เรื่องเดียวกัน แต่ถ้าเป็นปรากฏการณ์แบบไม่ใช่เชิงเส้น ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง “เงื่อนไข”  หรือ “ตัวแปร” ใหม่ ผลที่เกิดขึ้นตามมาจะไม่ “คงเดิม” 

Edward Lorenz :ที่มารูป https://www.lorenz.mit.edu/edward-n-lorenz
Edward Lorenz :ที่มารูป https://www.lorenz.mit.edu/edward-n-lorenz

แม้แต่คำว่า “Butterfly effect” ที่ เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ ใช้ในการบรรยายนั้น จริงๆ แล้วผู้ที่ตั้งคำนี้ขึ้นมา ก็มิใช่ลอเรนซ์ แต่เป็นเพื่อนนักคณิตศาสตร์, นักฟิสิกส์ และนักอุตุนิยมวิทยาชาวแคนาดา ชื่อ ฟิลิป เมริลีส (Fhilip Merilees)

ลอเรนซ์ เล่าว่า ในระหว่างเตรียมการบรรยาย ชื่อของปรากฏการณ์ที่เขาตั้งใจจะใช้ คือ “ปรากฏการณ์นกนางนวล” หรือ “Seagull effect” แต่เพื่อนๆ นักวิทยาศาสตร์บอกเขาว่า “นกนางนวล” เป็นตัวอย่างที่ “ธรรมดาเกินไป” น่าจะใช้สิ่งอื่นที่ชวนสะดุดตาขึ้นหน่อย และเมริลีสก็เป็นคนเสนอชื่อ “ผีเสื้อ” ขึ้นมาแทน “นกนางนวล” และลอเรนซ์ก็ “ชอบ” และ “ใช้”  

จากนั้นมา ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก ที่รู้จักกันในวงการวิทยาศาสตร์ และวงการทั่วไป ก็ถูกโยงกับชื่อของลอเรนซ์ตลอดมา 

“ปรากฏการณ์นกนางนวลกระพือปีก” กับ “ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก” และ “ทฤษฎีเคออส” 

ทำไมลอเรนซ์จึงตั้งใจใช้ “นกนางนวลกระพือปีก” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ผีเสื้อกระพือปีก”?

ก็เพราะว่าที่มาของปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก  มาจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่เขาได้ทดลองกับคอมพิวเตอร์ ปี ค.ศ. 1961 ที่แผนกอุตุนิยมวิทยา สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ เอ็มไอที (MIT) 

...

ลอเรนซ์จบการศึกษาปริญญาโทคณิตศาสตร์ จากฮาร์วาร์ด ในปี ค.ศ. 1940 

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ลอเรนซ์ทำงานพยากรณ์อากาศอยู่กับกองทัพอากาศสหรัฐฯ ทำให้เขาสนใจศึกษาต่อทางด้านอุตุนิยมวิทยาที่เอ็มไอที จนกระทั่งจบปริญญาเอกในปี ค.ศ. 1948 และก็เข้าทำงานประจำอยู่กับแผนกอุตุนิยมวิทยาที่เอ็มไอที ในปี ค.ศ. 1948 นั้น จนกระทั่งถึงสิ้นสุดชีวิตการทำงานของเขา

ก่อนการเริ่มต้นศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปี ค.ศ. 1961 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสู่เรื่องของปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก และทฤษฎีเคออสของลอเรนซ์ ตัวลอเรนซ์เองก็เริ่มสงสัยเกี่ยวกับแบบจำลองการพยากรณ์อากาศที่ใช้กัน....ซึ่งเป็นแบบเชิงเส้น 

และแล้ว ในปี ค.ศ. 1961 ลอเรนซ์ได้ทดลองปรับเปลี่ยนค่าตัวแปร (เช่นอุณหภูมิ, ความเร็วลม, .....) เพียงเล็กน้อย ในการคำนวณโดยคอมพิวเตอร์สำหรับการพยากรณ์อากาศ โดยทดลองปรับค่าตัวแปรจากเลขทศนิยม 6 ตำแหน่ง (ที่คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้)  เช่น 0.506107 เป็นเลขทศนิยม 3 ตำแหน่ง คือ 0.506 

ปรากฏว่าผลการพยากรณ์อากาศโดยคอมพิวเตอร์ เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างชัดเจน 

จากการทดลองซ้ำ ในที่สุดลอเรนซ์จึงสรุปออกมาว่า สภาพลมฟ้าอากาศ หรือการพยากรณ์อากาศ มิใช่เป็นแบบเชิงเส้นอย่างแน่นอน และก็เพราะความเป็นระบบที่ไม่ใช่เชิงเส้น การเปลี่ยนแปลงของแต่ละตัวแปร จึงมีผลอย่างสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้น 

กล่าวโดยสรุปอย่างง่ายๆ คือ ลอเรนซ์ได้ค้นพบว่าสภาพภูมิอากาศเป็นระบบที่มีความซับซ้อน ขึ้นอยู่กับตัวแปรมากมาย และแต่ละครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงของตัวแปร แม้แต่เพียงเล็กน้อย ดังเช่น การกระพือปีกของนกนางนวลตัวหนึ่ง ก็มีผลต่อสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นตามมาในระดับใหญ่ได้  

...

ข้อสรุปของลอเรนซ์อย่างเป็นรูปธรรมที่รู้จักกันในปัจจุบัน ก็คือการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เช่น การกระพือปีกของผีเสื้อที่บราซิล ก็ทำให้เกิดพายุทอร์นาโดที่เท็กซัสได้

ที่สำคัญ ลอเรนซ์ก็ยกตัวอย่างของระบบภูมิอากาศ เป็น chaos system หรือ “ระบบเคออส” และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่รู้จักและเรียกกันเป็น ทฤษฎีเคออส ซึ่งต่อๆ มา ทฤษฎีเคออสของลอเรนซ์ ก็กลายเป็นทฤษฎีเคออสโดยทั่วไปของวงการวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะหลักของทฤษฎีเคออสของลอเรนซ์ ที่ใช้ได้กับสภาพภูมิอากาศ ก็ถูกโยงว่าใช้ได้กับหลักทฤษฎีเคออส ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์อากาศเลย 

ดังเช่น ....

• กำเนิดจักรวาล (คำถามเกี่ยวกับกำเนิดจักรวาลของเรา, จักรวาลอื่นๆ, จักรวาลคู่ขนาน, ..... ) 

• กำเนิดของชีวิตบนโลก และในจักรวาล 

• วิวัฒนาการของชีวิตบนโลก 

• ปรากฏการณ์เกี่ยวกับฟิสิกส์ควอนตัม 

• เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 

เบนจามิน แฟรงคลิน
เบนจามิน แฟรงคลิน

...

“ผีเสื้อกระพือปีก” ในโลกวิทยาศาสตร์ ....

ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก อยู่กับวงการวิทยาศาสตร์มานานแค่ไหน? 

ตามหลักฐานที่ปรากฏ ก็ย้อนหลังไปไกลอย่างน้อยถึงศตวรรษที่ 18 กับบุคคล ดังเช่น เบนจามิน แฟรงคลิน (ค.ศ. 1706-1790) นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบไฟฟ้าในเมฆ นักคิด นักเขียน และผู้สถาปนาสหรัฐอเมริกาคนสำคัญ 

เบนจามิน แฟรงคลิน เขียนว่า .....

“เพราะไม่มีตะปู เกือกม้าจึงไม่มี

เพราะไม่มีเกือกม้า จึงไม่มีม้า 

เพราะไม่มีม้า จึงไม่มีคนขี่ม้า 

เพราะไม่มีคนขี่ม้า จึงแพ้สงคราม

เพราะไม่มีสงคราม จักรวรรดิจึงล่ม

และทั้งหมดเกิดเพราะ ไม่มีตะปู”  ....

ความหมายของ เบนจามิน แฟรงคลิน คือ ด้วยเงื่อนไขเล็กๆ การขาดตะปูสำหรับเกือกม้า ก็ทำให้เกิดเหตุใหญ่ คือ การล่มสลายของจักรวรรดิ เป็นตัวอย่างชัดเจนของปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก และทฤษฎีเคออส 

อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความคิดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก และทฤษฎีเคออส ตั้งแต่ยุคเก่าก่อน คือ ข้อเขียนของ โยฮานน์ ฟิกตา (Johann Fichte) นักคิดคนสำคัญคนหนึ่งแห่งศตวรรษที่ 18 ของเยอรมนีในหนังสือ “The Vocation Of Man” (การอาชีพของคน) ตีพิมพ์ ค.ศ. 1799 ความว่า ....

“คุณไม่สามารถดึงเอาเม็ดทรายหนึ่งเม็ด จากตำแหน่งที่มันอยู่ โดยไม่ทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในทุกส่วนของกองทรายได้”  

อย่างแน่นอน การเคลื่อนย้ายเม็ดทรายหนึ่งเม็ด ก็เหมือนกับการกระพือปีกของผีเสื้อ มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับกองทรายทั้งกอง ดังเช่นพายุที่เป็นผลสืบเนื่องจากการกระพือปีกของผีเสื้อ 

โดยภาพรวมทั่วไป ตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งถึง “ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก” กับทฤษฎีเคออสของลอเรนซ์ การกล่าวถึงปรากฏการณ์และทฤษฎี ก็เป็นการกล่าวในลักษณะความคิดเห็น ที่ไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นระบบ หรือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ดังปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก และทฤษฎีเคออสของลอเรนซ์ 

ถ้าจะถามว่าทำไม? 

คำตอบตรงๆ ก็คือ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีเครื่องมือที่มีความสามารถจะ “สนับสนุน” หรือ “ขัดแย้ง” กับความคิดเรื่องกระพือปีกของผีเสื้อได้อย่างเป็นรูปธรรม 

จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1961 ลอเรนซ์ได้มีเครื่องมือที่สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญ ก็คือ คอมพิวเตอร์ ที่จะช่วยทำการคำนวณที่ละเอียดและระดับใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว 

คอมพิวเตอร์ที่ลอเรนซ์ได้ใช้ในการคำนวณ สภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือการพยากรณ์อากาศ เป็นคอมพิวเตอร์ชนิดตั้งโต๊ะ รุ่น LPG-30 ของบริษัท Royal McBee 

ถึงแม้ลอเรนซ์จะได้ทำงานเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 ที่เริ่มต้นทำงานกับเอ็มไอที แต่ก็จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1961 ลอเรนซ์จึงได้ใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีศักยภาพทำให้เขาได้ค้นพบ “ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก” และ ทฤษฎีเคออส ของเขา และทำให้ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก และทฤษฎีเคออสของเขา กลายเป็นทฤษฎีหลักของวงการวิทยาศาสตร์โลกไป

แต่มิใช่นักวิทยาศาสตร์ทุกคน หรือวงการวิทยาศาสตร์ทั้งหมด! 

พอล ดิแรก
พอล ดิแรก

พอล ดิแรก กับ “เด็ดดอกไม้ กระเทือนถึงดวงดาว" 

พอล ดิแรก (Paul Dirac : 8 สิงหาคม ค.ศ. 1902 - 20 ตุลาคม ค.ศ. 1984) เป็นนักฟิกส์ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาฟิสิกส์ควอนตัม ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี ค.ศ. 1933 สำหรับผลงานการสร้าง “สมการดิแรก” (Dirac equation) ที่พยากรณ์ว่า ในจักรวาลมี antiparticle หรือ “ปฏิอนุภาค” ที่มีประจุไฟฟ้าตรงกันข้ามกับอนุภาค ดังเช่น อิเล็กตรอน ก็มีแอนติอิเล็กตรอน ได้รับการตั้งชื่อเรียกเป็น โปสิตรอน มีประจุไฟฟ้าเป็นบวก 

โดยทั่วไป ดิแรกก็มิได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องทฤษฎีเคออสนัก แต่ก็มีคำกล่าวของเขา ที่กลายเป็นคำกล่าวที่รู้จักกันดี คู่กับ “ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก” คือ “Puck a flower on earth and you move the farthest star” แปลพากย์ไทยตรงๆ คือ “เมื่อคุณเด็ดดอกไม้บนโลก คุณก็ทำให้ดวงดาวแสนไกลกระเทือน” ..... 

ซึ่งมักจะจำกันได้ง่ายๆ และชัดเจนเป็น “เด็ดดอกไม้ กระเทือนถึงดวงดาว” 

แต่ก็มีความเข้าใจในวงการฟิสิกส์ว่า จริงๆ แล้ว  “เด็ดดอกไม้ กระเทือนถึงดวงดาว” ของดิแรก มิได้มีความหมายเช่นเดียวกับ “ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก” ของลอเรนซ์ หากหมายถึง บทบาทของความโน้มถ่วง ที่เชื่อมโยงทุกสิ่งในจักรวาล ดังนั้น การเด็ดดอกไม้ จึงเป็นการเปลี่ยนตำแหน่งของดอกไม้ ทำให้ความโน้มถ่วงระหว่างดอกไม้กับสรรพสิ่งเปลี่ยนไป รวมถึงดวงดาวแสนไกลด้วย 

ทว่าก็มีความคิดเห็นในโลกของฟิสิกส์ ที่เสนอว่า “เด็ดดอกไม้ กระเทือนถึงดวงดาว” ของดิแรก ก็มีความหมายแบบเดียวกับ “ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก” ของลอเรนซ์ เพราะจักรวาลก็มีสภาพเป็น “ระบบเคออสใหญ่” ที่ทุกส่วนเชื่อมโยงกันด้วยแรงโน้มถ่วง การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดกับความโน้มถ่วง จึงมีผลต่อภาคส่วนอื่นๆ ของจักรวาลด้วย 

“ผีเสื้อกระพือปีก” ในโลกของชีวิตจริง 

“ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก” มีประโยชน์ หรือเกี่ยวกับชีวิตจริงหรือไม่? อย่างไร? 

มีอย่างแน่นอน อย่างสำคัญ และก็ทั้งด้านดีและด้านเลวร้าย 

ขอยกมากล่าวถึงอย่างเร็วๆ 3 เรื่อง 3 ระดับ จากใหญ่สุด ลงมาถึงระดับกลาง เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และระดับชีวิตส่วนตัวของมนุษย์แต่ละคน 

เรื่องแรก ระดับใหญ่ที่สุด คือ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 จากโคโรนาไวรัสทั่วโลก ระหว่างปี ค.ศ. 2019-2023 มีคนติดเชื้อรวมประมาณ 705 ล้านคน ผู้เสียชีวิตรวมประมาณ 7 ล้านคน

ระบบสิ่งมีชีวิตของโลกเป็นระบบใหญ่ มีปัจจัยตัวแปรเกี่ยวข้องมากมายและซับซ้อน ทั้งส่วนสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต จึงมีสภาพความเป็น “ระบบเคออส” ที่ชัดเจน และปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีกก็มี และเกิดขึ้นได้มากมาย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้น เปรียบได้กับการกระพือปีกของผีเสื้อ เชื้อโคโรนาไวรัสจากสัตว์ติดมาที่คน ที่ชุมชนแห่งหนึ่ง ในประเทศหนึ่ง แล้วก็ “ติดต่อ” ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จากปัจจัยต่อเนื่อง คือ การเดินทางของผู้คน ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกในปัจจุบัน 

เรื่องที่สอง ระดับกลาง หรือระดับภายในประเทศ ดังเช่น “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เมื่อปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ของประเทศไทย สาเหตุใหญ่ๆ เกิดจากการลงทุนเกินตัวของผู้ประกอบการ การเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์เกินจริง และปัญหาการกำกับดูแลระบบการเงินของภาครัฐ  

อย่างชัดเจน “ต้มยำกุ้ง” เปรียบได้เป็นทอร์นาโด ปัจจัยต้นเหตุ (การระดมทุน, การเก็งกำไร, การกำกับดูแลระบบการเงินของภาครัฐ) คือ การกระพือปีกของผีเสื้อ ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งมีสภาพเป็นระบบเคออส  

เรื่องที่สาม ระดับเล็กที่สุด (แต่อาจจะยิ่งใหญ่ที่สุด) คือชีวิตส่วนตัวของมนุษย์แต่ละคน

อย่างย่นย่อที่สุด ตลอดเส้นทางชีวิตของมนุษย์แต่ละคน มีปัจจัยตัวแปรเกิดขึ้นได้มากมาย จากทั้งอย่างตั้งใจและอย่างบังเอิญ ที่มีผลใหญ่หลวงถึงวันสุดท้ายของชีวิต ดังเช่นเรื่อง ความรัก, ชีวิตคู่, สุขภาพ และงานอาชีพ 

สำหรับคำถามที่ยังอาจอยู่ในใจของท่านผู้อ่านถึงขณะนี้ คือ แล้วเรื่องปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก แล ทฤษฎีเคออส เป็นเรื่องที่ “รู้แล้ว ได้ประโยชน์อะไร?”   

คำตอบที่ผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ ก็คือ การเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ รับความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นกับชีวิต ด้วยสติ, ปัญญา, ความมุ่งมั่น และความไม่ประมาท 

ในขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนเรื่องนี้อยู่ ก็นึกถึงเพื่อนนิสิตจุฬาฯ คนหนึ่ง ที่วันหนึ่ง ขณะผู้เขียนกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่สองของคณะวิทยาศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2505 แล้วเพื่อนก็ชวนผู้เขียนให้ไปเป็นเพื่อนสอบ “ชิงทุนโคลัมโบ” ของประเทศออสเตรเลีย ที่สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย

แล้วผู้เขียนก็ไปสอบเป็นเพื่อน ทำให้ผู้เขียนได้เดินทางไปเรียนฟิสิกส์ จนกระทั่งจบปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย

สำหรับผู้เขียน การชวนของเพื่อนให้ไปเป็นเพื่อนสอบชิงทุนโคลัมโบ เมื่อปี พ.ศ. 2505 นั้น ก็เป็นเหมือนการกระพือปีกของผีเสื้อ ทำให้เกิด “ลม” พัดผู้เขียนเข้าสู่เส้นทางสายฟิสิกส์อาชีพ  

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ ในชีวิตของท่าน มีประสบการณ์ “ผีเสื้อกระพือปีก” อย่างไรบ้าง หรือไม่?