อากาศร้อนจนโลกรวน! ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ชี้ฝนตกหนักที่ดูไบเกี่ยวกับ Climate Change มองโลกกำลังแย่ จนมนุษย์ยากหลบเลี่ยง แต่ความร่วมมือระหว่างประเทศยัง 'แคบ' แนะรัฐบาลไทย เมื่อหนีไม่ได้ก็ต้องปรับตัว หากรักษาการผลิตอาหารป้อนโลกได้ จะมีโอกาสยิ่งใหญ่ในเชิงเศรษฐกิจ!'ภัยพิบัติ' เป็นสิ่งที่มนุษยชาติไม่อยากพบเจอ และไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่ทว่าในปัจจุบัน ความเสียหายจากธรรมชาติที่นำมาสู่สถานการณ์อันเลวร้าย กลับมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากบนฟ้า แผ่นดิน หรือผืนน้ำ ภัยเหล่านั้นต่างกำลังคืบคลานเข้าหามนุษย์ อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง แม้ว่าหลายคนจะมองว่า มนุษย์โดนธรรมชาติ 'กลั่นแกล้ง' แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กลับตั้งข้อสังเกตว่า หรือสิ่งเหล่านี้เป็น 'บทลงโทษ' จากความต้องการของมนุษย์ที่ไม่สิ้นสุดกันแน่? ห่าฝนถล่มดูไบ หนักสุดในรอบ 75 ปี : ตัวอย่างความเสียหาย ที่ธรรมชาติได้มอบให้เมื่อไม่นานนี้ เกิดขึ้นบริเวณภูมิภาคตะวันออกกลาง ณ มหานครอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates : UAE) อย่าง 'ดูไบ' ซึ่งต้องเผชิญกับ 'อุทกภัย' ครั้งใหญ่ อันเป็นผลสืบเนื่องจากฝนที่ตกหนักสุดในรอบ 75 ปี ตั้งแต่มีการบันทึกมา! เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สนามบินดูไบมีเที่ยวบินที่ถูกยกเลิกมากกว่า 270 เที่ยวบิน และล่าช้ากว่า 370 เที่ยวบิน นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อย่างไรก็ตาม ความเลวร้ายครั้งนี้ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า เหตุใดพื้นที่แถบตะวันออกกลาง ที่เต็มไปด้วยทะเลทราย ความแห้งแล้ง อากาศร้อน จึงเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมได้ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ 'การเปลี่ยนแแปลงภูมิอากาศ' หรือ 'Climate Change' หรือไม่ จากประเด็นข้างต้น 'รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์' คณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้คลายข้อสงสัยโดยให้สัมภาษณ์กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า"ตอนนี้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้นทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งน้ำทะเลบริเวณตะวันออกกลางก็อุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้น้ำระเหยมากขึ้น ประเทศที่อยู่ติดทะเลก็มีความชื้นมากขึ้น พอความชื้นเริ่มก่อตัวเป็นเมฆ มันก็รอเจอกับความเย็นที่จะพัดเข้ามา พอเจอกันแล้วก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ที่ดูไบเลยกลายเป็นฝนตกหนัก" รศ.ดร.เสรี กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาเรียกว่า 'ฝนที่ตกในเวลาจำกัด' หมายความว่า มันจะมาเร็ว ตกวันเดียวและตกหนัก ในอนาคตเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดมากขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นผลพวงจากโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเมื่อเราค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้พบว่าโดยปกติ UAE มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยไม่เกิน 200 มิลลิเมตรต่อปี ทำให้ช่วงทศวรรษ 1990 ทาง UAE ต้องทุ่มงบประมาณทำฝนเทียม หรือ Cloud Seeding เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ แต่จากเหตุการณ์ล่าสุด! หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ ได้รายงานว่า บางพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ กลับมีปริมาณน้ำฝนมากถึง 254 มิลลิเมตร ซึ่งถือเป็นปริมาณน้ำฝนภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1949 โลกยังมีผลสืบเนื่องจากเอลนีโญ : คราวนี้เมื่อพูดถึง 'Climate Change' เราเลยขอถอยหลังออกจากมหานครดูไบ มาลองมอง 'โลก' และ 'ไทย' กันบ้าง หากคุณผู้อ่านได้ติดตามข่าวสิ่งแวดล้อมช่วงปีที่ผ่านมา จะพบว่านักวิชาการหลายคนได้ลงความเห็นว่า ตัวการสำคัญที่ทำให้อากาศร้อนและสภาพอากาศรวน นั่นก็คือ 'เอลนีโญ' (El Niño) ซึ่งเรียกว่าทำให้ 'ร้อนจัด!' กันเลยทีเดียว แต่… เอ๊ะ!? นี่ก็ผ่าน 2566 มาเกือบครึ่งปีแล้ว ทำไมเราถึงยังรู้สึกอากาศมันร๊อนร้อน จนเหมือนเดินอยู่กลางทะเลทรายทุกวัน? เรื่องนี้ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ระบุว่า ความรุนแรงของเอลนีโญได้ผ่านไปแล้ว มันแตะระดับรุนแรงสูงสุดเมื่อปลายปี 2566 ประมาณเดือนธันวาคม แต่อิทธิพลของเอลนีโญยังอยู่ และขณะนี้กำลังเข้าสู่สภาวะเป็นกลาง เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ต้นปีไปจนถึงกลางปีนี้ ทำให้เรายังรู้สึกว่าร้อนสุดๆ และแล้งสุดๆ นอกจากนั้นยังจะทำให้ต้นฤดูฝน ช่วงพฤษาคมถึงมิถุนายน ปริมาณน้ำฝนจะไม่ค่อยดี"ช่วงนี้เหมือนเป็นภาวะสืบเนื่อง หลังกลางปีอากาศจะดีขึ้น ดีขึ้นในที่นี้หมายความว่า อิทธิพลของเอลนีโญจะมีอยู่แค่ประมาณ 0.2-0.3 องศาเซลเซียส แต่โลกยังร้อน เพราะตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม อุณหภูมิมันขึ้นไปกว่า 1.58 องศาเซลเซียส ซึ่งเหนือกว่าในอดีต และเกินขีดความตกลงปารีส (Paris Agreement) ไปแล้ว แต่มันยังเกินแบบชั่วคราว" รศ.ดร.เสรี กล่าวต่อว่า ในความตกลงปารีสจะไม่ให้อุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมินี้เป็นอุณหภูมิเฉลี่ย 30 ปี หมายความว่า แม้ว่าปีนี้อุณหภูมิจะเกินข้อตกลง ก็ต้องมาดูปีหน้าอีกว่าจะเกินหรือเปล่า มันต้องดูไปเรื่อยๆ ถ้าเฉลี่ยยังคงเกิน 1.5 นั่นหมายความว่า มันก็เกินขีดจำกัดแล้ว อุณหภูมิขึ้นเล็กน้อยแต่ส่งผลกระทบมาก : แม้อุณหภูมิที่กูรูของเราพูดถึง จะเป็นตัวเลขทศนิยมไม่กี่ตำแหน่ง แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กลับส่งผลกระทบต่อวงกว้างอย่างไม่น่าเหลือเชื่อ ซึ่งสิ่งนี้ได้รับการยืนยันจาก รศ.ดร.เสรี หลังจากที่เราถามว่า "ตัวเลขเล็กน้อยเหล่านั้น ส่งผลอย่างไรบ้าง?"ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ บอกว่า มันส่งผลมากเลยนะ เพราะอย่าลืมว่าเวลาอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แม้จะแค่ 0.5-1.0 องศาเซลเซียส แต่เมื่อเอาไปรวมกับของเดิมที่มีอยู่ อุณหภูมิสูงสุดหรือต่ำสุดไม่ใช่ตัวเลขดังกล่าว ดังนั้น ในอนาคตอุณหภูมิสูงสุดอาจจะสูงกว่าในอดีต 4-5 องศาเซลเซียส และประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน หากกล่าวแบบนี้คุณผู้อ่านอาจจะยังนึกภาพไม่ออก รศ.ดร.เสรี จึงได้เปรียบเทียบให้เข้าใจโดยง่ายว่า โดยปกติแล้วอุณหภูมิเฉลี่ยของร่างกายมนุษย์ จะอยู่ที่ประมาณ 36-37 องศาเซลเซียส แต่ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไปแค่ 0.5 หรือ 1 องศา มันก็จะแสดงอาการเริ่มเป็นไข้แล้ว "ดังนั้น แม้อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.5 แต่ก็ได้มีการประเมินไว้แล้วว่า ความรุนแรงของภัยพิบัติต่างๆ อาจจะเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 3 เท่า นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้อุณหภูมิที่เรามองว่า 'นิดเดียว' มันก็ส่งผลกระทบแน่นอน" รศ.ดร.เสรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ จากธรรมชาติ เพราะว่า ก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นกว่าในอดีตอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น และความชื้นก็จะสูงขึ้นตามด้วย ทำให้ถ้าแล้งก็แล้งหนัก ท่วมก็ท่วมหนัก ทุกอย่างหนักไปหมด ประมาณ ค.ศ. 2100 หรือในอีก 80 ปีข้างหน้า ทุกอย่างจะยิ่งรุนแรง เหมือนอีกนาน แต่อย่าชะล่าใจ : เป็นอันแน่นอนว่า เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น 'ไทย' ก็ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องนี้ทำให้ รศ.ดร.เสรี มองว่า เราได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะปรับตัวอยู่กับมันได้ไหม เพราะในอดีตที่ผ่านมา เรายังไม่เคยเจอสถานการณ์ลักษณะนี้"ผมยกตัวอย่างว่า กรุงเทพฯ ในอดีต ตลอด 1 ปี จะมีช่วงที่อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส อยู่แค่ประมาณ 10-15 วัน แต่ในอนาคตเราจะเจออุณหภูมิที่สูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ถึง 3 เดือน จากร้อนสั้นๆ จะร้อนนานขึ้น แล้วอย่างนี้เราจะอยู่ได้ไหม หรือในอนาคต ที่มีการคาดการณ์ว่า สุโขทัยอุณหภูมิจะสูงถึง 49 องศาเซลเซียส เราจะอยู่กันยังไง?" ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ขยายความต่อว่า เรื่องที่บอกว่าอุณหภูมิจะสูงกว่า 35 องศาฯ ยาวถึง 3 เดือน คาดว่าอีกประมาณ 60 ปีถึงจะเกิดขึ้น แต่ถ้าขยับมาใกล้กว่านั้น มันก็อาจจะเพิ่มจาก 15 วัน เป็น 20 หรือ 30 วัน และเพิ่มแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราจะแย่กันหมด อะไรที่ไม่เคยเจอก็จะได้เจอ"ตัวเลขที่อาจารย์กล่าวมา หลายคนอาจจะคิดว่า 'นานมาก' ปล่อยไปก่อนก็ได้ เรื่องนี้เราควรสื่อสารอย่างไรต่อไปดีครับ?" ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สอบถามปลายสายรศ.ดร.เสรี ตอบกลับว่า ถ้าเราจะมัวมานั่งคิดกันว่า "ปล่อยไปก่อน อีกตั้งนาน" มันก็จะแก้ไขอะไรได้ไม่ทันการ สมมติว่าตอนนี้ เรายังสามารถเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขอะไรได้ แต่เราไม่ยอมทำ ยังคงปล่อยให้อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทุกอย่างถึงจุดวิกฤติ เราจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีกต่อไป ผมยกตัวอย่างว่า สมมติถ้าน้ำทะเลมันสูงขึ้นแล้ว เราจะไปทำให้มันลดลงก็คงไม่ได้ หรือฝนตกมากขึ้น จะไปลดปริมาณน้ำฝนก็ไม่ได้อีก เพราะฉะนั้น ตอนนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องกลับมามองว่า "เราจะแก้ปัญหาอย่างไร" มาร่วมกันหาทางออก หันหน้าเข้าปรึกษากัน"พูดง่ายๆ ว่า ถ้ายังปล่อยไปเรื่อยๆ อาจจะสายเกินแก้ บางอย่างมันกลับไม่ได้" รศ.ดร.เสรี ย้ำกับเราอีกครั้ง หนทางความร่วมมือระดับโลกยัง 'แคบ' : เมื่อถามว่า ประชาคมโลกจะช่วยกันลดอุณหภูมิโลกได้อย่างไรบ้าง? คำตอบของคำถามนี้ คือ อันดับแรกเลยต้องลดการใช้พลังงานฟอสซิล แล้วถ้าจะถามว่าต้องลดเยอะขนาดไหน ก็ต้องลดทันที 50% แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า 'มันทำไม่ได้' เพราะตอนนี้ทุกประเทศต้องใช้พลังงานเยอะ เนื่องจากจ่างคนก็ต่างแข่งขันเพื่อดัน GDP ของประเทศตัวเอง"พอสถานการณ์เป็นแบบนี้ เราเลยต้องเริ่มปรับจากตัวเราก่อน คิดว่าจะอยู่อย่างไรให้รอด ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องอยู่กับมันให้ได้" หากอาจารย์กล่าวเช่นนั้น ก็แสดงว่าการลดอุณหภูมิของโลกเป็นไปไม่ได้เลยหรือ ทีมข่าวฯ ถามกลับด้วยความสงสัย รศ.ดร.เสรี ให้คำตอบว่า ต้องเรียกว่า 'หนทางมันแคบ' เพราะว่าอันดับแรก เขาบอกว่าคุณต้องลด 50% ภายในปี 2030 หรือ 6 ปีข้างหน้า ซึ่งถ้าลองคิดง่ายๆ เท่ากับว่าเราต้องลดการใช้อย่างน้อยปีละ 8% แต่ปัจจุบันมันปล่อยเพิ่ม 1.2% ดังนั้น ผมจึงบอกว่า 'หนทางมันแคบ'อีกเรื่องหนึ่งคือ ตอนนี้มาตรการต่างๆ ที่เราเห็นหลายประเทศคุยกัน มันเป็นมาตรการเชิง 'สมัครใจ' ฉะนั้น ต่างคนเลยต่างไม่ทำ เพราะไม่มีอะไรมาบังคับ พูดง่ายๆ ว่า 'ยากที่จะบรรลุเป้าหมาย' เดี๋ยวปีหน้าถ้ามีประชุมใหม่ ก็ต้องมาดูอีกว่าหนทางจะเป็นอย่างไรต่อ ซึ่งเราก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับการเมืองที่เรียกว่า Geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) ซึ่งผมมองว่าทั้งโลกคุยกันไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว ทุกประเทศจะร่วมมือกันแก้ไขจริงๆ มันก็ยาก การสมัครใจเป็นเรื่องยาก ถึงทุกวันนี้ ชาติมหาอำนาจจะโดนภัยธรรมชาติหนัก แต่ทุกประเทศต่างยังคำนึงถึง GDP อยู่ เขาต้องร่ำรวย โลกจึงเดินไปแบบนั้น…"สถานการณ์ที่ประชากรโลกกำลังเผชิญอยู่ ก็แสดงถึงความเหลื่อมล้ำนะ ประเทศที่จนก็อาจจะหลีกเลี่ยงภัยต่างๆ ได้ยากหน่อย แต่ถ้าประเทศที่รวยเขาจะมีนวัตกรรม เช่น อเมริกา จีน ญี่ปุ่น เจอสถานการณ์เหมือนหลายๆ ประเทศ แต่เขารับได้ เขามีทุน แล้วถ้าจะมาบอกว่า ประเทศร่ำรวยก็ไปช่วยประเทศยากจนสิ มันก็ทำยากอยู่ดี ถึงช่วยได้ก็ใช่ว่าจะตลอดไป" รัฐบาลไทยต้องจริงจังการแก้ไขปัญหา : มองระดับโลกไปแล้ว คราวนี้ลองกลับมามองไทยแลนด์กันบ้างดีกว่า จากทรรศนะของ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ อาจารย์มองว่า นโยบายการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลยังไม่จริงจัง ผมยกตัวอย่างเช่น ในการประชุมเกี่ยวกับโลกร้อน ทุกประเทศเขาพูดถึงเรื่องคาร์บอนว่า จะ Net Zero ภายในปี 2050 แต่ไทยประกาศว่าจะ Net Zero ปี 2065 แสดงว่าประเทศไทยช้ากว่าโลกไป 15 ปี ซึ่งช้าแล้วยังไม่รู้ว่าทำได้ด้วยหรือเปล่านะ ขณะเดียวกัน บริษัทต่างๆ ในประเทศไทย ต้องประกาศว่าจะ Net Zero คาร์บอนภายในปี 2050 เนื่องจากต้องส่งสินค้าออกนอกประเทศ เพราะถ้าไปบอกว่าภายในปี 2065 เขาก็จะขายไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า ต้องดิ้นรนด้วยตัวเองหมดเลย เอกชนรอรัฐบาลไม่ได้ เขาจะนำรัฐไปทุกเรื่องก่อน แล้วกฎระเบียบกฎหมายจะมาออกตาม ถึงอย่างนั้นถ้าเอกชนเอา แต่รัฐไม่เอา การขับเคลื่อนก็ไปได้ยากแน่นอนผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ยกตัวอย่างแนวทางตัวอย่างว่า 'รัฐต้องบังคับ' แต่บังคับโดยที่มีค่าใช้จ่ายช่วยสนับสนุนให้ เช่น เปลี่ยนหลังคาเป็นสีขาว ปลูกสวนแนวดิ่งตามผนังบ้าน พื้นที่โล่งแทนที่จะปลูกกล้วยหนีภาษี ก็เปลี่ยนเป็นปลูกป่า โดยให้รัฐบาลช่วยสนับสนุน "ในอนาคตหลายประเทศจะต้องวิกฤติ ผมเลยอยากให้ประเทศเราเตรียมพร้อม และแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ เราในฐานะที่ได้ชื่อว่าเป็น 'อู่ข้าวอู่น้ำ' หรือ 'ครัวโลก' เราจะต้องรักษาเรื่องการผลิตอาหารป้อนโลกเอาไว้ ถ้ารักษาได้ เราจะมีโอกาสยิ่งใหญ่ในเชิงเศรษฐกิจ""แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้คิดกันถึงขนาดนั้น ที่ผ่านมาเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ผลผลิตข้าวลด ทุเรียนก็ลด อย่างปีนี้หายไป 3-4% แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างแย่หมด เพราะเราขาดการพัฒนาพันธุ์ เช่น พันธุ์ข้าวที่ทนต่ออุณหภูมิสูง" ก่อนการสนทนาจะจบลง 'รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์' ได้ฝากส่งท้ายว่า อยากเน้นย้ำให้รัฐหันมาใส่ใจเรื่องนี้ เพราะตอนนี้แน่นอนแล้วว่า เราหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้แล้ว ฉะนั้น ต้องกลับมาปรับตัวเอง เรื่องที่พูดมาทั้งหมด มันคือการปรับตัวเองทั้งนั้น พัฒนาให้เราอยู่กับโลกร้อนได้ในเมื่อเราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ เพราะบริบทของโลกมันไปแบบนี้แล้ว เราจึงต้องกลับมาดูตัวเองว่า จะทำยังไงให้คนในชาติยังมีความเป็นอยู่ที่ดีได้ มีอาหารการกินที่ดีได้ นี่คือเรื่องหลักๆ "การมีสุขภาพดี อาหารดี ไม่ได้หมายความว่ามีเงินมีทอง เพราะถ้ามีเงินแล้วอากาศเป็นแบบนี้ มันไม่มีประโยชน์ ตอนนี้ต้องกลับมาสร้างสภาพแวดล้อมบ้านเรา ให้เอื้ออำนวย มีสุขภาพที่ดี อาหารดี ด้านอาหารก็ต้องกลับไปมองที่การพัฒนาพันธุ์พืชให้ทนมากขึ้น"ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงานภาพ : AFP และ iStockอ่านบทความที่น่าสนใจ : ทะเลอุ่น! ปะการังฟอกขาว สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ สะเทือนเศรษฐกิจดราม่าถุงพลาสติก สู่ปัญหา ขยะไมโครพลาสติก ไทยติดอันดับโลก!แผ่นดินไหว ไต้หวัน ทางรอดที่ต้องลงทุน เพิ่มคอสต์สร้างตึก 20-30%เกือบ 100% ของไฟป่าในไทย เกิดขึ้นเพราะน้ำมือมนุษย์'ไมโครพลาสติก' ภัยเงียบซ่อนตัวในมนุษย์