เหตุผลอะไรที่ทำให้ผู้คนโดยทั่วไปมักเลือกดูการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล หรือ การแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ จากสิ่งที่คนยุคนี้เรียกว่า... “ช่องทางธรรมชาติ” หรือบรรดา “เว็บเถื่อน” ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ มากกว่า “ฟรีทีวี หรือ เพย์ทีวี” สื่อกลางเก่ากลางใหม่ ที่กำลังจะค่อยๆ กลายเป็น “อดีต” ในอีกไม่ช้า วันนี้ “คุณ” และ “เรา” ลองไปร่วมกันพิจารณาจาก “ข้อมูลต่างๆ” ถึง “เหตุผล” ที่นำไปสู่การดูสดบอลจากเว็บเถื่อนที่กำลังค่อยๆ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” การถ่ายทอดสดบน “ฟรีทีวี และเพย์ทีวี” ที่ทั้งต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับ “ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด” ในขณะที่ “จำนวนผู้ชม” กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม…เป็น คุณ หรือเปล่ากันนะ? พฤติกรรมการรับชมรายการกีฬาที่เปลี่ยนไป!รายงานผลสำรวจของ Synamedia บริษัทผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์และโซลูชันเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์จากคอนเทนต์ให้กับอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นแฟนกีฬาอายุระหว่าง 18-64 ปี จำนวน 6,000 คน ใน 10 ประเทศของทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา มากกว่า 10 ประเทศเมื่อปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ทั้งโลกต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยผลสำรวจดังกล่าวได้ระบุถึง “พฤติกรรม” ของบรรดาแฟนๆ กีฬาส่วนหนึ่งที่กำลังทำให้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและการรับชมกีฬารุนแรงขึ้นตามลำดับ! อะไรคือสิ่งที่ Synamedia ค้นพบ? ช่วงวัยและพฤติกรรมของแฟนกีฬายุคปัจจุบัน43% : อายุ 55 ขึ้นไป พฤติกรรม : รับชมการถ่ายทอดสดกีฬาและรายการกีฬาเป็นครั้งคราว และส่วนใหญ่เป็นการรับชมผ่านฟรีทีวี 26% : อายุ 35-54 ปีพฤติกรรม : แฟนกีฬาพันธุ์แท้ ที่ติดตามรับชมการถ่ายทอดสดกีฬาและรายการกีฬา ทั้งฟรีทีวีและเพย์ทีวี31% : อายุ 20-30 ปีพฤติกรรม : รับชม Stream กีฬาแบบผิดกฎหมายในหลายๆ อุปกรณ์ทั้งในและนอกบ้าน ความถี่ในการรับชมและเหตุผลที่ทำให้ต้องดูเถื่อน...51% ยอมรับว่าดู Stream กีฬาผิดกฎหมายอย่างน้อย 1 ครั้งใน 1 เดือน 44% ยอมรับว่าดู Stream กีฬาผิดกฎหมาย ทุกสัปดาห์31% อ้างเหตุผลที่ว่าต้องดู Stream กีฬาผิดกฎหมาย เพราะในประเทศไม่มีผู้ให้บริการ และมากถึง 29% ของกลุ่มตัวอย่าง (1,740 คน จากทั้งหมด 6,000 คน) ยอมจ่ายเงินให้กับบริการ Stream กีฬาผิดกฎหมายโดยมีเพียง 16% จากกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น (960 คน จากทั้งหมด 6,000 คน) ที่..... “ไม่เคยดู Stream กีฬาแบบผิดกฎหมาย” รายการกีฬา = Content is King ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รายการถ่ายทอดสดกีฬา หรือรายการกีฬา เป็นคอนเทนต์ยอดนิยมที่มีผู้ติดตามรับชมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยเฉพาะรายการแข่งขันที่สามารถเรียกผู้ชมจากทั่วทุกมุมโลก เช่น ฟุตบอลโลก, โอลิมปิก หรือ Super Bowl ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ มีแฟนบอลทั่วโลกติดตามการรับชมการแข่งขันจากทั่วทุกมุมโลกรวมกันถึง 1,500 ล้านคน กีฬาโอลิมปิก 2022 ที่ประเทศญี่ปุ่น แม้จะประสบปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 และมีจำนวนผู้รับชมการถ่ายทอดสดต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ยังมีตัวเลขการรับชมสูงถึง 3,050 ล้านคนทั่วโลก Super Bowl ครั้งที่ 58 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้รับชมการถ่ายทอดสดสูงถึง 120 ล้านคน สำหรับในประเทศไทย ในปี 2023 ที่ผ่านมา รายการถ่ายทอดสดกีฬาบางชนิด กลายเป็นคอนเทนต์ที่สามารถเรียกผู้ชมให้กับเหล่าฟรีทีวีได้สูงกว่าละครหลังข่าวเสียอีก เรตติ้งรายการถ่ายทอดสดกีฬาสูงสุดปี 2023 1. Olympic Qualifiers Paris 2024 : ไทย VS โคลอมเบีย : เรตติ้ง 9.1482. VNL 2023 : ไทย VS เนเธอร์แลนด์ : เรตติ้ง 8.9553. VNL 2023 : ไทย VS ญี่ปุ่น : เรตติ้ง 7.4474. AFF Mitsubishi Cup : ไทย VS เวียดนาม : เรตติ้ง 7.016 และล่าสุด การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ระหว่างทีมชาติไทย และทีมชาติเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2024 มีจำนวนผู้ชมผ่านไทยรัฐทีวี สูงถึง 6.2 ล้านคน กวาดเรตติ้งทั่วประเทศสูงถึง 10.610 ส่วนเฉพาะใน กทม. ได้เรตติ้งสูงถึง 13.662 หมายเหตุ : อ้างอิงจาก นีลเส็น (Nielsen) ละครพรหมลิขิต เรตติ้งสูงสุดเดือนพฤศจิกายนปี 2023 อยู่ที่ 7.328เมื่อเห็นทั้งจำนวนผู้ชมและเรตติ้งแบบนี้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ “กีฬา” จะกลายเป็น Content ที่เหล่าบรรดา “โจรสลัดในโลกออนไลน์” ต้องการช่วงชิงไปอยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อเรียกคนดู! “คุณ” เปิดโทรทัศน์เพื่อดูรายการโปรดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?ทั้ง “ฟรีทีวีและเพย์ทีวี” กำลังสูญเสียอิทธิพลที่เคยกุมโลกไว้ในเงื้อมมือลงเรื่อยๆ หลังการมาถึงของ “อินเทอร์เน็ต” โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวนคนดูฟรีทีวีและเพย์ทีวีลดลงต่ำกว่าจำนวนผู้ชม Streaming แล้ว จากข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024 สัดส่วนผู้ชมรายการสดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศเหลือเพียง 23.3% ในขณะที่แพลตฟอร์ม Streaming ครองสัดส่วนสูงถึง 37.7% ส่วนเคเบิลทีวีอยู่ที่ 27.6% โดย แพลตฟอร์ม Streaming ที่ครองส่วนแบ่งมากที่สุด 4 ลำดับแรกคือ 1. YouTube : 9.3% 2. Netflix : 7.8% 3. Hulu : 2.8% 4. Prime Video : 2.8%สำหรับประเทศไทย สัดส่วนผู้ชมรายการสดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศในปี 2023 อยู่ที่ 63% ส่วนแพลตฟอร์ม Streaming ครองสัดส่วน 37% และแพลตฟอร์ม Streaming ที่ครองส่วนแบ่งมากที่สุด 5 ลำดับแรกคือ 1. YouTube 14% 2. TikTok 7% 3. Facebook 6% 4. AIS Play และ True 2% 5. Netflix 1%อ้างอิงข้อมูล Nielsen ซึ่งการเปลี่ยนรูปแบบการรับชมการถ่ายทอดสดและรายการกีฬาจากโทรทัศน์ ไปสู่ แพลตฟอร์ม Streaming กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น เพราะมันได้ทำให้เกิดการ “สร้างช่องทางธรรมชาติ” บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ แบบผิดกฎหมาย เพื่อรองรับ “การเปลี่ยนระบบนิเวศครั้งใหญ่” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ “กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สนใจจะปฏิบัติตามกฎหมาย”รู้หรือไม่? ปี 2023 รายงานของ MUSO บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวข้องปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลก ระบุว่า จำนวนการเข้าชมเว็บไซต์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์พุ่งสูงถึง 141,000 ล้านครั้ง หรือคิดเป็น 386 ล้านครั้งต่อหนึ่งวัน ซึ่งสัดส่วนนี้เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2019 ถึง 12%สถิติการเข้าชมเว็บไซต์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ระหว่างปี 2019-2023 ปี 2019 : 125,000 ล้านครั้งปี 2020 : 104,000 ล้านครั้งปี 2021 : 112,000 ล้านครั้งปี 2022 : 127,000 ล้านครั้งปี 2023 : 141,000 ล้านครั้งค่าลิขสิทธิ์กีฬาที่แพงขึ้นเรื่อยๆ และกระจัดกระจาย มูลค่าสัญญาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดอเมริกันฟุตบอล NFL 5 ฉบับ สำหรับการแบ่งการถ่ายทอดสดการแข่งขันในฤดูกาลปกติ + Super Bowl ของ 4 สถานีโทรทัศน์ (CBS, NBC, FOX, ESPN) + 1 Streaming (Prime Video) มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4 ล้านล้านบาท) ภายในระยะเวลา 11 ปี (ปี 2023-2033)ปลายปี 2022 YouTube ยอมจ่ายเงินสูงถึง 2,000 ล้านปอนด์ (72,793 ล้านบาท) ต่อปี (รวม 7 ปี 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 509,551 ล้านบาท) เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ Sunday Ticket อีกหนึ่งแพ็กเกจการถ่ายทอดสดการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล NFL จาก DirecTV เพื่อหวังผลักดันการเพิ่มจำนวนผู้ติดตามแบบสมัครสมาชิก อ้างอิงจากรายงานของ FIFA การขายค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ก่อนที่ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์จะเริ่มต้นขึ้น (ยังเจรจาขายลิขสิทธิ์ได้ไม่ครบทุกประเทศ) สร้างตัวเลขสูงถึง 2,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (96,045 ล้านบาท) และมีแนวโน้มสูงมากว่า...ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์สำหรับฟุตบอลโลก 2026 ที่แคนาดา เม็กซิโก และ สหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพ นั้น จะมีราคาที่สูงขึ้นกว่านี้แน่นอน เนื่องจากมีการเพิ่มทีมจาก 32 ทีม เป็น 48 ทีม ซึ่งเป็นผลให้มีแมตช์การแข่งขันเพิ่มขึ้น ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษของ Sky Sport ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในฤดูกาล 2024/25 มีมูลค่าสูงถึง 5,000 ล้านปอนด์ (229,480 ล้านบาท) และมีรายงานว่า หลังสิ้นสุดสัญญาดังกล่าว Sky Sport จะต้องเพิ่มเงินสำหรับการต่อลิขสิทธิ์สูงถึง 6,700 ล้านปอนด์ (307,503 ล้านบาท) สำหรับอีก 3 ฤดูกาลถัดไปราคาค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาที่แพงลิบลิ่วและกระจัดกระจายหลายๆ แพ็กเกจต่อเนื่องกันไปในหลายๆ ประเทศ เช่นนั้น นอกจากสร้างภาระให้กับแฟนกีฬาในแง่ต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อหลากหลายแพ็กเกจสำหรับการดูให้ครบในทุกรายการกีฬาแล้ว จากผลสำรวจในปี 2023 ของ Altman Solon บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์โทรคมนาคม ยังพบอีกด้วยว่า แฟนกีฬาถึง 59% จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,500 คน ใน 8 ตลาดหลักของโลก มีปัญหาสำคัญคือ...ไม่รู้ว่าคอนเทนต์กีฬาที่ต้องการรับชมอยู่บนแพลตฟอร์มอะไรกันแน่? แต่กลับกันในกรณีการติดตามรับชมการถ่ายทอดสดและรายการกีฬาต่างๆ ผ่านช่องทางธรรมชาติในแบบ “ละเมิดลิขสิทธิ์” นั้น ง่ายแสนง่ายเพียงปลายนิ้วแถมมีคอนเทนต์ครบถ้วนผลกระทบจากการละเมิดลิขสิทธิ์กีฬา เชื่อหรือไม่? โจรสลัดออนไลน์กับ กองเงิน 792,648 ล้านบาท!อ้างอิงจากงานวิจัยของ Synamedia และ Ampere Research ซึ่งสำรวจกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 16,000 คน ใน 7 ประเทศประกอบด้วย บราซิล อิตาลี อินเดีย เยอรมนี ไทย สหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2021 ได้มีการประเมินเอาไว้ว่า...หากสามารถหยุดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ “วงการกีฬา” ในตลาดทั้ง 7 แห่งที่ทำการสำรวจได้ จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 9,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (356,328 ล้านบาท) และไม่เพียงเท่านั้น ในกรณีที่สามารถเปลี่ยนช่องทางธรรมชาติออนไลน์ต่างๆ ที่ “ละเมิดลิขสิทธิ์” รายการโทรทัศน์, การถ่ายทอดสดและรายการกีฬาให้กลายเป็น “การให้บริการออนไลน์ที่ถูกกฎหมายได้” ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 21,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (792,648 ล้านบาท) ทันที! รู้หรือไม่? ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาสำหรับวงการโทรทัศน์ไทย “ลดลง” อย่างต่อเนื่องในทุกปี ปี 2021 อยู่ที่ 63,661 ล้านบาทปี 2022 อยู่ที่ 62,677 ล้านบาทปี 2023 อยู่ที่ 60,689 ล้านบาท แม้ในภาพรวมสื่อโทรทัศน์จะยังคงครองสัดส่วนการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดเกินกว่า 50% แต่ในปี 2024 นักวิเคราะห์จากหลายสำนักคาดการณ์ว่า อาจเป็นปีแรกที่ “สื่อดิจิทัล” (ปี 2023 ครองสัดส่วน 35%) สามารถแซงหน้า สื่อโทรทัศน์ได้สำเร็จ และผลักให้สื่อโทรทัศน์รวมถึงสื่อดั้งเดิมอื่นๆ ถดถอยลงไปอยู่ที่สัดส่วนเพียง 35% เท่านั้น จริงหรือที่คนดูเถื่อนจะไม่ยอมจ่ายเงินเด็ดขาด? อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยของ Synamedia และ Ampere Research ในปี 2021 คือ “คุณ” เชื่อหรือไม่ว่า มากถึง 44% ของกลุ่มตัวอย่าง (7,040 คน จาก 16,000 คน) ที่ยอมจ่ายเงินให้กับ แพลตฟอร์ม Streaming ละเมิดลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาเป็น “กลุ่มคนร่ำรวย” ซึ่งประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มันเกิดขึ้นจาก “ความต้องการที่จะลดต้นทุนและต้องการดูการถ่ายทอดสดและรายการกีฬาในแพลตฟอร์มเดียว” และเชื่อหรือไม่ว่า มากถึง 91% จากกลุ่มตัวอย่าง (14,560 คน จาก 16,000 คน) เป็นผู้ยอมจ่ายค่าสมัครสมาชิกให้กับแพลตฟอร์มบันเทิงและกีฬาที่ถูกกฎหมายมากถึง 5 แพลตฟอร์มขึ้นไป อย่างไรก็ดี “คนกลุ่มนี้” ก็บริโภคคอนเทนต์จากช่องทางธรรมชาติออนไลน์แบบละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยดังกล่าวจึงสรุปว่า หากอุตสาหกรรมกีฬาและบันเทิง ยังคงไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไข “การกระจายตัวของคอนเทนต์กีฬาและบันเทิงในระดับพรีเมียม” ที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งบีบบังคับให้ผู้บริโภคต้องหันไปใช้บริการบรรดาโจรสลัดออนไลน์อยู่ต่อไป “ความเสี่ยง” จะไปตกอยู่กับบรรดาผู้ประกอบการที่ถือครองลิขสิทธิ์, สถานีโทรทัศน์ และผู้ให้บริการสตรีมมิงแบบถูกกฎหมายส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้น Synamedia และ Ampere Research เสนอแนะว่า...นอกจากผู้ประกอบจะต้องพยายามพัฒนาเครื่องมือและเทคนิคในการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์คอนเทนต์ และการให้บริการแล้ว เหล่าผู้ประกอบการจะต้องพยายามค้นหาวิธีการที่ทำให้แน่ใจได้ว่า คอนเทนต์พรีเมียมเหล่านั้น จะต้องสามารถค้นหาได้ง่ายและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เน้นเรื่องการเสพคอนเทนต์กับอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ เป็นลำดับแรก รวมถึงจะต้องพยายามค้นหาวิธีการทางธุรกิจต่างๆ เพื่อรวบรวมคอนเทนต์เหล่านั้นมารวมไว้ในแพลตฟอร์มของตัวเองให้มากขึ้นด้วย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน กราฟิก : ชลธิชา พินิจรอบ อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม Labubu จุดกำเนิด MONSTER CUTE 1,000 ล้านPop Mart ความมั่งคั่งที่เริ่มต้นจากน้อง Mollyธุรกิจกล่องสุ่ม ภาพสะท้อนแรงปรารถนา GenZCRYBABY งานศิลปะสำรวจความรู้สึกมนุษย์ สู่การเก็งกำไรโทริยามะ อากิระ บทอวสานของจินตนาการและความฝันที่ปลิดปลิว