ฟอน บราวน์... จากฆาตกร นาซี ผู้ผลิตจรวด และถูกใช้คร่าชีวิตมากมาย เกือบหมื่นคน สู่บทบาทสำคัญ ฮีโร่เบื้องหลัง ที่ทำให้ สหรัฐฯ พิชิตดวงจันทร์ แบบนี้ควรเรียกเขาว่าอะไร

วันนี้ (วันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2024) เมื่อ 112 ปีก่อน (วันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1912) แวนแฮร์ ฟอน บราวน์ (Wernher von Braun) กำเนิดขึ้นมาในเมืองชนบทเล็กๆ ดินแดนของจักรวรรดิเยอรมัน แต่เติบโตมีชีวิตที่ผกผัน และจากโลกไปกับกิตติศัพท์...ทั้งเป็นนักวิทยาศาสตร์นาซีผู้สร้างจรวดวี-2 (V-2) และฮีโร่โครงการอวกาศของสหรัฐอเมริกา ในการพิชิตดวงจันทร์

"เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์" วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่าน ไปสัมผัสกับบางส่วนของชีวิต, การจุดประกายความฝัน และความเป็นตัวตนของ ฟอน บราวน์ 

กล้องโทรทรรศน์หนึ่งกล้อง หนังสือหนึ่งเล่ม คนสองคน กับการจุดประกายความฝันของ ฟอน บราวน์ 

ฟอน บราวน์ เกิดในตระกูลขุนนาง มีบิดาเป็นข้าราชการและนักการเมือง มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีของเยอรมนี มีมารดาเป็นสตรีสืบเชื้อสายราชตระกูลสูงศักดิ์ของยุโรป 

ถึงบั้นปลายของชีวิต ฟอน บราวน์ ได้รับการยอมรับเป็นเสมือนกับ "บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ จรวด" และเป็น ผู้บุกเบิกในการพิชิตอวกาศสู่การเดินทางระหว่างดวงดาว 

แล้วอะไร... ใคร... เป็นผู้จุดประกายความฝันของ ฟอน บราวน์ ในการพิชิตอวกาศ? 

คำตอบตรงๆ ....เร็วๆ ...คือ กล้องโทรทรรศน์หนึ่งกล้อง หนังสือหนึ่งเล่ม และคนสองคน ....

น่าสนใจว่า เป็นเวลายาวนานแห่งชีวิตของ ฟอน บราวน์ มีคนๆ หนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงในการบุกเบิกความคิดเกี่ยวกับการท่องอวกาศ และเป็นผู้ซึ่ง ฟอน บราวน์ ได้กล่าวถึงว่า เป็น "ครู" หรือ "mentor" ผู้ทำให้เขา "เดินถูกทาง" สู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพ สำหรับการบุกเบิกอวกาศ .... 

...

แต่ที่ไม่ทราบกันมาก่อน คือมีคนๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ "จุดประกาย" สร้างความใฝ่ฝันใน "เสน่ห์" ของอวกาศและจักรวาล และมาเป็นที่เปิดเผยกับนิตยสาร Time ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1958 ซึ่งมีภาพของ ฟอน บราวน์ ขึ้นปก....

กับพาดหัวบนปกว่า "Missile Man Von Braun" (มนุษย์จรวดมิสไซล์ ฟอน บราวน์) 

ก่อนนิตยสาร Time ฉบับนี้ 18 วัน คือ วันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1958  สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก ในการส่งดาวเทียม เอกซ์พลอเรอร์-1 ขึ้นสู่อวกาศ ....

หลังจากที่ไล่ตามหลังสหภาพโซเวียต ที่ประสบความสำเร็จเป็นประเทศแรกของโลก ส่งดาวเทียม สปุตนิก 1 ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จก่อน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1957

ความสำเร็จของสหรัฐอเมริกา ในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ ทำให้ ฟอน บราวน์ มีชื่อเสียงขึ้นมาในสหรัฐอเมริกา และนิตยสาร Time จึงส่งผู้สื่อข่าวไปเยือนบ้าน และครอบครัวของ ฟอน บราวน์ 

เป้าหมาย....นอกเหนือไปจากเบื้องหลังความสำเร็จของการส่ง ดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐฯ ขึ้นสู่อวกาศ ....คือ การไปค้นหาผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นผู้จุดประกายความใฝ่ฝันของ ฟอน บราวน์ สู่เรื่องของการพิชิตอวกาศ "ถ้ามี" นอกเหนือไปจากผู้ที่ ฟอน บราวน์ ได้กล่าวถึง และเรียกเป็น "ครู" ของเขามาก่อน ตั้งแต่ยังเป็นนักวิทยาศาสตร์หนุ่มในเยอรมนี 

ปี ค.ศ. 1958 ฟอน บราวน์ มีอายุ 46 ปี และจริงๆ แล้ว ก็เพิ่งได้รับการยอมรับให้เป็น "ผู้นำ" โครงการพิชิตอวกาศของสหรัฐอเมริกา ในการแข่งขันกับสหภาพโซเวียต

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ มากนุส (Magnus) ผู้เป็นบิดาของ ฟอน บราวน์ ก่อนว่า  ใครเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจขั้นต้นจริงๆ ให้ ฟอน บราวน์ ได้กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผู้มีความใฝ่ฝันในการพิชิตอวกาศ 

คำตอบจากคุณพ่อของ ฟอน บราวน์ คือ "ไม่ทราบจริงๆ"  

แล้วผู้สื่อข่าว Time ก็ได้คำตอบจากตัว ฟอน บราวน์ เองว่า .... 

ผู้จุดชนวนความฝันของเขาเกี่ยวกับอวกาศคนแรก คือ "เอ็มมี" (Emmy) คุณแม่ของ ฟอน บราวน์ เอง 

ฟอน บราวน์ ในวัยเด็ก จริงๆ แล้วก็ไม่สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์จริงๆ นัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ชอบคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็น "เครื่องมือพื้นฐานที่สุด" ของนักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีเกี่ยวกับจรวด

จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 1915 ครอบครัวของฟอน บราวน์ ย้ายไปอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน และในวันฉลองวันเกิดอายุ 13 ปี ฟอน บราวน์ ได้รับ กล้องโทรทรรศน์ เป็นของขวัญวันเกิดจากคุณแม่ของเขา

คุณแม่ของฟอน บราวน์ มีความรู้เกี่ยวกับท้องฟ้าและดวงดาวอย่างดี ฟอน บราวน์ เล่าว่า คุณแม่ของเขาพาเขาดูดาวในท้องฟ้าเวลากลางคืนบ่อยๆ สอนและชี้ให้เขาได้รู้จักดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว กาแล็กซีทางช้างเผือก ฯลฯ 

กล้องโทรทรรศน์ และ "คุณแม่" จึงเป็น สิ่งแรกและคนแรก ที่จุดประกายความฝันเกี่ยวกับดาราศาสตร์ของ ฟอน บราวน์ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นทำให้ ฟอน บราวน์ อยากจะเป็นนักดาราศาสตร์

...

จนกระทั่งเมื่อ ฟอน บราวน์ ได้ "สิ่งที่สอง" ชี้ทางสู่การเป็นนักดาราศาสตร์ คือ หนังสือเล่มหนึ่ง .....

หนังสือเล่มนั้น ชื่อ "A Rocket To Interplanetary Space" (จรวดสู่อวกาศระหว่างดวงดาว) โดย แฮร์มันน์ โอแบร็ท (Hermann Oberth : ค.ศ. 1894-1989) นักฟิสิกส์เยอรมัน ผู้ได้รับการยกย่องเป็น "The  Father Of Space Travel" (บิดาแห่งการท่องอวกาศ) 

หนังสือ A Rocket To Interplanetary Space ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1923 มีที่มาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ แฮร์มันน์ โอแบร็ทเอง 

หลังการได้กล้องโทรทรรศน์จากคุณแม่ของเขา ฟอน บราวน์ ก็ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ของโอแบร็ท และก็เป็นหนังสือที่ จุดประกายความฝันเกี่ยวกับอวกาศอย่างแท้จริงของเขา จนกระทั่ง ฟอน บราวน์ ได้กล่าวอย่างเป็นที่รับทราบกันว่า เขาถือ โอแบร็ท เป็น "ครู" ของเขา  ในการจุดประกายความฝัน ด้านอวกาศ

สำคัญมากเป็นพิเศษ ก็คือ จากหนังสือของ โอแบร็ท เล่มนี้ ทำให้ ฟอน บราวน์ ตระหนักว่า "คณิตศาสตร์" เป็น "เครื่องมือ" สำคัญที่สุดสำหรับการเปิดประตูสู่อวกาศ เพราะในหนังสือเต็มไปด้วยคณิตศาสตร์...และฟิสิกส์ 

...

ฟอน บราวน์ จึงตั้งใจศึกษาคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ อย่างจริงจัง จนกระทั่ง "เก่ง" ถึงระดับได้รับการมอบหมายให้สอนแทนอาจารย์ เป็นบางครั้ง

ชีวิต และงานกับเยอรมันนาซี

ฟอน บราวน์ จบการศึกษา ได้รับประกาศนียบัตรทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน ในปี ค.ศ. 1932 และได้รับปริญญาเอกฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ในปี ค.ศ. 1934 

เขาเริ่มต้นทำงานกับกองทัพนาซี ในการพัฒนาจรวด โดยใช้เชื้อเพลิงเหลว  และเขาก็เป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญในการใช้ เชื้อเพลิงเหลวกับจรวด 

ชีวิตของ ฟอน บราวน์ ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานอย่างเป็นอาชีพ แบ่งได้เป็นสองส่วน คือ ส่วนทำงานอยู่ใน เยอรมนี (จากประมาณปี ค.ศ. 1932 ที่เข้าร่วมทำงานกับกองทัพเยอรมัน ถึงปี ค.ศ. 1945) และ ส่วนทำงานใน สหรัฐอเมริกา (จากปี ค.ศ. 1945-วันสุดท้ายของชีวิต 16 มิถุนายน ค.ศ. 1977) 

สำหรับช่วงชีวิตการทำงานอยู่ในเยอรมนี ฟอน บราวน์ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จากความรู้ความสามารถของเขาเกี่ยวกับ เทคโนโลยีจรวด จนกระทั่งเขามีสถานะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีจรวด โดยมีทีมทำงานเป็น "ผู้ช่วยทำงาน" และ "ลูกมือ" จำนวนเป็นกลุ่มใหญ่ชัดเจน 

จนกระทั่ง ฟอน บราวน์ และทีมงานของเขา ได้เลื่อนสถานะ จากการเป็นหน่วยพัฒนาอาวุธจรวดของกองทัพเยอรมัน มาเป็นหน่วยพิเศษของประเทศ ภายใต้การกำกับและสนับสนุนของรัฐบาลนาซี ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่สถาปนาตนเองเป็น "ผู้นำสูงสุด" หรือ "ฟีอเรอ" แห่งเยอรมนี ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1934 (จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายในชีวิตของ ฮิตเลอร์ วันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 ) 

...

จรวด วี-2 สู่อวกาศ และฆาตกรคร่าชีวิต! 

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สนใจและให้ความหวังกับ จรวดนำวิถี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จรวด V-2 ของ ฟอน บราวน์ มากว่า จะสามารถชนะสงครามโลก ที่กำลังกระทำกับกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้

จรวดชุด V (วี) เป็นชื่อใหม่ของ จรวดชุด A โดยที่ V มาจากคำ vengeance แปลว่า "แก้แค้น" ส่วน A มาจากคำ aggregating แปลว่า "รวม" ....... โดยที่ จรวด A เป็นจรวดชุดพิสัยใกล้ ส่วนจรวด V เป็นจรวดนำวิถี พิสัยไกล 

จรวด วี-2 จากชื่อเดิม จรวด A-4 เป็นจรวดนำวิถีพิสัยไกลแรกของโลก และเป็น สิ่งประดิษฐ์แรกของมนุษย์ที่ เดินทางถึงอวกาศ ที่ระดับความสูง 175 กิโลเมตร ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1944  ซึ่งมีบันทึกว่า อดอล์ฟ ฮิลเลอร์ ตื่นเต้น พอใจกับจรวด วี-2 มาก และจึง (ยัง) เชื่อมั่นว่า จะสามารถชนะสงครามโลกครั้งที่สองได้ 

วันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1944 ฮิตเลอร์ ประกาศจะเริ่มใช้จรวด วี-2 โจมตีฝ่ายศัตรู

เป้าหมายแรกของ วี-2 คือ กรุงปารีส โดยเยอรมัน ยิง วี-2 ใส่กรุงปารีส สองลูก ในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1944 (ซึ่งปารีส เพิ่งได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพสัมพันธมิตร) แต่จรวด วี-2 ไปไม่ถึงเป้าหมาย...

หลังจากนั้น เยอรมัน ก็ยิงจรวด วี-2 ใส่ประเทศต่างๆ คือ ฝรั่งเศส (อีก) , อังกฤษ, เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ 

เหยื่อของจรวด วี-2 มิได้มีเฉพาะเหยื่อจาก วี-2 โดยตรง แต่ยังรวมเหยื่อที่เป็นนักโทษถูกบังคับให้ทำงานสร้างจรวด วี-2 ด้วย

โดยรวม มีประมาณการว่า มีจรวด วี-2 ทั้งหมด ที่ถูกใช้ถล่มฝ่ายตรงข้าม มากกว่า 3,000 ลูก มีผู้เสียชีวิต จากจรวด วี-2 โดยตรง ประมาณ เก้าพันคน นับรวมทั้งพลเรือน และทหาร แต่จำนวนผู้เสียชีวิต ที่ถูกใช้ทำงานสร้างจรวด วี-2 สูงกว่า ผู้เสียชีวิตโดยตรงจาก วี-2 เสียอีก คือ ประมาณ 12,000 คน 

มีประเด็นน่าสนใจว่า ทำไม จรวดวี-2 จึงไม่สามารถช่วย ฮิตเลอร์ ให้ชนะสงครามโลก ครั้งที่สองได้? 

คำตอบที่มักกล่าวถึง มีเช่น .....

• ประสิทธิภาพ และความแม่นยำ ของจรวด วี-2

• การก่อกวนของ ฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อการผลิตจรวด วี-2  ทั้งโดยการก่อวินาศกรรม และการทิ้งระเบิดถล่มโรงงานผลิตจรวด วี-2 

• ประสิทธิภาพของ ฝ่ายสัมพันธมิตร ในการจารกรรมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการผลิต และการโจมตีด้วยจรวด วี-2

ในที่สุด จรวด วี-2 ก็ไม่สามารถช่วย ฮิตเลอร์ ให้ชนะสงครามโลกครั้งที่สองได้  และเมื่อกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทัพสหภาพโซเวียต กำลังบุกเข้าใกล้ฐานที่มั่นสุดท้ายของ ฮิตเลอร์ ใน กรุงเบอร์ลิน ฮิตเลอร์ ก็ยิงตัวตาย....

และเยอรมนี ก็ลงนามการยอมแพ้ของ เยอรมนี อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 (หลังการฆ่าตัวตายของฮิตเลอร์ 7 วัน) ต่อ นายพลดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ในฝรั่งเศส เป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ในภาคพื้นยุโรป

ฟอน บราวน์ กับ นาซา สู่ดวงจันทร์ 

หลังการยุติของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภาคพื้นยุโรป ทั้งฝ่ายสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ก็แข่งขันกัน "หา" หรือ "ล่า" นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรเยอรมัน ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนา อาวุธและจรวด 

ฝ่ายนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรเยอรมัน ก็รู้ตัวว่า เป็นที่ต้องการของสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ส่วนหนึ่งก็ไปอยู่กับ สหภาพโซเวียต อีกส่วนหนึ่งก็ไปอยู่กับ สหรัฐอเมริกา

ฟอน บราวน์ เลือกที่จะไปอยู่กับ สหรัฐอเมริกา และมิใช่เฉพาะตัว ฟอน บราวน์ ในที่สุด ทีมงาน ของ ฟอน บราวน์ ที่ทำงานในการพัฒนาจรวด วี-2 เป็นจำนวนประมาณ 1,600 คน ก็ไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ภายใต้แผนปฏิบัติการพิเศษ (ลับ) ของสหรัฐฯ มีชื่อเรียกว่า "Operation Paperclip" หรือ "ปฏิบัติการคลิปกระดาษ"  

ปฏิบัติการคลิปกระดาษ เริ่มต้นตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1945 หลังการยอมแพ้ของเยอรมนี และดำเนินต่อเนื่องถึงปี ค.ศ. 1959

ฟอน บราวน์ ในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นกับการทำงานอยู่กับฝ่ายพัฒนาอาวุธ ของ กองทัพบกสหรัฐฯ

จากชื่อเสียงของ ฟอน บราวน์ ที่รู้จักกันดีในสหรัฐฯ ฟอน บราวน์ และทีมงานของเขา ก็ได้รับภารกิจที่จำเพาะมากขึ้น สำหรับงานการพัฒนาจรวด สู่ อวกาศ ในสงครามเย็นการแข่งขันพิชิตอวกาศ ระหว่าง สหรัฐอเมริกา กับสหภาพโซเวียต...

และจากสถานการณ์ ที่สหรัฐฯ เป็นรอง สหภาพโซเวียต ในการพิชิตอวกาศ เพราะในที่สุด สหภาพโซเวียต ก็ส่งดาวเทียมดวงแรกของโลก คือ สปุตนิก-1 ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ  ตามด้วย ....

• สิ่งมีชีวิตแรก คือ สุนัขไลกา ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จกับ สปุตนิก-2 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1957

• มนุษย์คนแรกคือ ยูริ กาการิน ขึ้นสู่อวกาศ และโคจรรอบโลกได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1961 

สหรัฐอเมริกา โดย ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี จึงประกาศในวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1962 เจตนารมณ์ของสหรัฐอเมริกา "เพื่อนำมนุษย์ ไปลงสู่ดวงจันทร์ และนำกลับคืนมายังโลก อย่างปลอดภัย ก่อนปี ค.ศ. 1970"

ในขณะที่ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ประกาศเจตนารมณ์ในการส่ง มนุษย์สู่ดวงจันทร์นั้น ฟอน บราวน์ ก็ได้มีบทบาทสำคัญ ช่วยสหรัฐอเมริกา... ถึงแม้จะตามหลัง สหภาพโซเวียต...ในการส่งดาวเทียมและมนุษย์ (อเมริกัน) ขึ้นสู่อวกาศ และ ฟอน บราวน์ ก็มีส่วนทำให้ นาซา ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1958 เพื่อรับผิดชอบงานเกี่ยวกับอวกาศของ สหรัฐฯ ทั้งหมด

จอห์น เอฟ. เคนเนดี ได้วางใจ และเชื่อในความสามารถของ ฟอน บราวน์ สำหรับภารกิจตามเจตนารมณ์การส่งมนุษย์ ไปสู่ดวงจันทร์มาก โดยให้ ฟอน บราวน์ เป็น หัวหน้าด้านเทคนิค ของ โครงการอะพอลโล (Apollo Program) ซึ่งกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1961 โดยการผลักดันของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1961 ...

และในที่สุด อะพอลโล-11 ก็นำมนุษย์อวกาศอเมริกันสามคน เดินทางถึงดวงจันทร์ โดยมีคนสองคน คือ นีล อาร์มสตรอง และ ไมเคิล คอลลินส์ เป็นมนุษย์สองคนแรกได้ย่างเหยียบบนดวงจันทร์ ในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969  พร้อมกับคำกล่าวของนีล อาร์มสตรอง ขณะย่างเหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ เป็นคนแรกว่า....

"นี่คือก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง ก้าวกระโดดขนาดยักษ์ ของมนุษยชาติ" 

ฟอน บราวน์ สำคัญต่อการพิชิตดวงจันทร์แค่ไหน? 

ถ้า จอห์น เอฟ. เคนเนดี ยังมีชีวิตอยู่ถึงวันที่ อะพอลโล-11 นำมนุษย์ไปลงสู่ดวงจันทร์ และกลับคืนมายังโลกได้สำเร็จ ก่อนปี ค.ศ. 1970 ตามเจตนารมณ์ที่เขาได้ประกาศเอาไว้ ฟอน บราวน์ ก็คงจะได้รับการ "จับมือ" เขย่าอย่างแรง...

แต่ผู้ที่ได้กล่าวคำซึ่ง แสดงความสำคัญของ ฟอน บราวน์ ต่อความสำเร็จของสหรัฐ ในการส่งมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ ได้อย่างชัดเจน คือ แซม ฟิลลิปส์ (Sam Phillips) นายพลกองทัพสหรัฐฯ ผู้ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการโครงการ อะพอลโล ระหว่างปี ค.ศ. 1964-1969 ที่มีบันทึกคำกล่าวของเขา ความว่า ........

เขา (แซม ฟิลลิปส์) ไม่คิดว่า สหรัฐฯ จะสามารถไปถึงดวงจันทร์ได้เร็วอย่างที่เกิดขึ้น โดยปราศจากความช่วยเหลือของ ฟอน บราวน์ ...

แต่หลังจากที่ได้คุยกับผู้ร่วมงานโครงการอะพอลโล แซม ฟิลลิปส์ ขอเปลี่ยนคำกล่าวของเขาเป็น (ถ้าไม่มีความช่วยเหลือของ ฟอน บราวน์) เขาไม่คิดว่า สหรัฐฯ จะเดินทางไปถึงดวงจันทร์เลย 

ฟอน บราวน์ : ฆาตกร หรือ ฮีโร่? 

ตลอดชั่วชีวิตของ ฟอน บราวน์ จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่ ฟอน บราวน์ ได้จากโลกไปแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ เขาก็ต้องอยู่กับ ทั้งคำกล่าวหาเป็นนาซีฆาตกร ผู้สร้างจรวด วี-2 และคำยกย่อง เป็นฮีโร่ผู้พิชิตดวงจันทร์

อย่างแน่นอน ฟอน บราวน์ เคยถูกจับขังในเยอรมนี และถูกสอบสวนโดย เอฟบีไอ (FBI) และคณะผู้สอบสวนอาชญากรสงครามนาซี 

ในเยอรมนี เขาถูกขังอยู่ไม่นาน เพราะความสำคัญของเขาต่อ อาวุธจรวด ในสหรัฐอเมริกา ทั้งเอฟบีไอ และคณะผู้สอบสวน สรุปไม่พบพฤติกรรมอาชญากรสงครามของ ฟอน บราวน์ ......

แต่สำหรับคนทั่วไป และ โลก ฟอน บราวน์ ก็หนีไม่พ้น ทั้ง "คำประณาม" และ "การยกย่อง" ....

ดังเช่น คำกล่าวที่โด่งดัง ถึง ฟอน บราวน์ ของ มอร์ท ซอฮ์ล (Mort Sahl) นักแสดงตลก และนักพูดแบบเดี่ยวไมโครโฟนอเมริกัน เชื้อสายแคนาดา ที่จากโลกไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 2021 ขณะมีอายุ 94 ปี ว่า ....

"ผม (ฟอน บราวน์) เล็งไปที่ดวงดาว แต่บางครั้ง ผมยิงถูกลอนดอน!"  

แล้วจริงๆ ฟอน บราวน์ เป็นฆาตรกร หรือ ฮีโร่? 

ผู้เขียนมีความคิดเห็นของผู้เขียนเอง ต่อ ฟอน บราวน์ ที่ก็ยอมรับว่า ค่อนข้างซับซ้อน

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ มีความคิดเห็นอย่างไร?

ขอบคุณรูปทั้งหมดจาก : nasa