เที่ยวญี่ปุ่นเมื่อมากเกินไปจนอึดอัด ก็ถึงเวลาที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนไปเน้นที่คุณภาพและยั่งยืนคุณยังอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นในปี 2024 กันอยู่ใช่ไหม?ทำไมใครๆ ก็อยากไปเที่ยวญี่ปุ่นกันนะ?งั้นเราไปลองดูกันสิว่า...ใครไปเที่ยวญี่ปุ่นมากที่สุด? สถิตินักท่องเที่ยวที่เดินทางไปญี่ปุ่นปี 2023 (1 ม.ค. 23-30 พ.ย. 23)จำนวนนักท่องเที่ยวรวม : 22,332,235 คน นักท่องเที่ยวชาติใดมากที่สุด : เกาหลีใต้ 6,175,768 คน (27.7%)จำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย : 869,736 คน (3.9%)ปัจจัยหนุนที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น : - การยกเลิกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 - ค่าเงินเยนอ่อนตัวลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศอื่นๆ ในหลายภูมิภาค - นโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาลญี่ปุ่นแนวโน้มการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ปี 2024 จำนวนนักท่องเที่ยวรวม : 2,688,100 คน (1 ม.ค.-31 ม.ค. 24)นักท่องเที่ยวชาติใดมากที่สุด : เกาหลีใต้ 857,000 คน (31.9%)จำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย : 90,600 คน (3.4%)การคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 2024 : 33.1 ล้านคนอ้างอิง : องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นกังวลปัญหาอะไรที่เกิดจากการท่องเที่ยวมากที่สุด?คำตอบ ปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวในบางพื้นที่มีจำนวนมากเกินไป (Overtourism) ต้นเหตุของปัญหานักท่องเที่ยวล้น?ญี่ปุ่นเริ่มนโยบายบูมการท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี 2012 จนเป็นผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเดินทางเข้าประเทศมากขึ้นในทุกๆ ปี โดยเฉพาะในปี 2018 อดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้ล่วงลับได้ผลักดันเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง เนื่องจากมองว่าจะมีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต โดยถึงกับมีการวางเป้าหมายเอาไว้ว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมากกว่า 40 ล้านคนในปี 2020 ก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลายลงจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19อย่างไรก็ดีในช่วงปี 2019 (ก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19) จำนวนนักท่องเที่ยวที่พุ่งแตะระดับ 31.88 ล้านคน ได้ทำให้ปัญหาเรื่อง “นักท่องเที่ยวล้น” โดยเฉพาะตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง โตเกียว โอซาก้า และ เกียวโต จนกระทั่งสร้างปัญหาให้กับชาวญี่ปุ่นเอง โดยเฉพาะเรื่องปัญหาการจราจรและการใช้บริการระบบขนส่งมวลชน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุด คือ “ความไม่เข้าใจเรื่องมารยาทและวัฒนธรรมท้องถิ่น” เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมาหารือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในรัฐบาลตั้งแต่ช่วงเวลานั้นแล้ว ด้วยเหตุนี้เมื่อโควิด-19 ผ่านพ้น ประกอบกับสัญญาณเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาที่ประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปี 2023 ปัญหาเรื่องนักท่องเที่ยวล้น (เกินพอดี) จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติอีกครั้ง พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่สร้างปัญหาให้กับญี่ปุ่น เมืองเกียวโต สัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งมีวัดและศาลเจ้าเก่าแก่ ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติหนักหนาที่สุด เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาในแต่ละปี นอกจากก่อให้เกิดขยะจำนวนมากแล้ว ยังทำให้เมืองอันเงียบสงบและเข้มขลังในฐานะเมืองเก่าแก่ กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนพลุกพล่านและโดยมากขาดความรับผิดชอบ จนบางคนถึงขั้นมีการกระทำที่เข้าข่ายคุกคามต่อ “เกอิชา” เมืองนารา ซึ่งมีจุดขายสำคัญคือสวนสาธารณะที่เต็มไปด้วยกวาง ซึ่งถูกเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ ถูกคุกคามจากนักท่องเที่ยวที่ขาดความรับผิดชอบ ทิ้งขยะพลาสติกไว้เกลื่อนกลาด จนกลายเป็นความสุ่มเสี่ยงที่อาจทำร้ายกวางเหล่านั้น หากเกิดพลาดไปกินเข้าจังหวัดฮอกไกโด ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความงดงามทางธรรมชาติ ต้องเผชิญกับพฤติกรรมอันสุดแสนเลวร้ายของนักท่องเที่ยวบางคน ที่มุ่งแต่หามุมเซลฟี่สวยๆ จนรุกล้ำเข้าไปทำลายพืชผลทางการเกษตร จนทำให้เกษตรกรเอือมระอา และนำไปสู่การติดป้ายเตือนหลากหลายภาษาเอาไว้มากมายภูเขาไฟฟูจิ อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม เผชิญปัญหานักท่องเที่ยวล้น จนเป็นผลให้เกิดความแออัดยัดเยียดและสารพัดขยะถูกทิ้งไว้เกลื่อนกลาดจำนวนมาก เมืองคามาคุระ และ นางาซากิ ระบบขนส่งมวลชนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เต็มไปด้วยกรุ๊ปทัวร์นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามา จนกระทั่งทำให้ผู้สูงอายุและเด็กในท้องถิ่นได้รับความเดือดร้อน จนถึงกับมีการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้มีการลดจำนวนนักท่องเที่ยวลง ญี่ปุ่นแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวล้นอย่างไร? เพื่อแก้ไขปัญหา “นักท่องเที่ยวล้น” และปูทางไปสู่การบรรลุเป้าหมาย “การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” (Sustainable Tourism) ที่มุ่งเปลี่ยนจากปริมาณไปสู่คุณภาพ ทำให้ในช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้อนุมัติ “แผนแม่บทส่งเสริมการท่องเที่ยวฉบับใหม่” (Tourism Nation Promotion Basic Plan) ทั้งนี้ แผนแม่บทดังกล่าวซึ่งมีกรอบระยะเวลา 3 ปี (ปี 2023-2025) ได้มีการกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายเอาไว้ดังต่อไปนี้.... 1. เพิ่มจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน จัดตั้งระบบการพัฒนาชุมชนในภูมิภาคต่างๆ เพื่อสร้างการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติให้มากขึ้น เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวจากเมืองใหญ่ๆ ไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ2. ฟื้นฟูการท่องเที่ยวขาเข้า 2.1 เพิ่มการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อคน จาก 159,000 เยน หรือประมาณ 38,318 บาท ในปี 2019 เป็น 200,000 เยนต่อคน หรือประมาณ 48,199 บาท ในปี 20252.2 เพิ่มจำนวนการค้างคืนในที่พักของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อคน จากหนึ่งคน ต่อ 1.4 คืน ในปี 2019 เป็นหนึ่งคน ต่อ 2 คืน ในปี 2025 2.3 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องสูงกว่าตัวเลข 31.88 ล้านคนในปี 2019 3. ขยายการท่องเที่ยวของคนในประเทศ 3.1 เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่พักค้างคืนในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จากตัวเลขรวม 300 ล้านคนต่อคืนในปี 2019 เป็น 320 ล้านคนต่อคืนในปี 2025 3.2 เพิ่มปริมาณการจับจ่ายใช้สอยการท่องเที่ยวภายในประเทศ จาก 21.9 ล้านล้านเยนในปี 2019 เป็น 22 ล้านล้านเยนในปี 2025 อ้างอิง ข้อมูลจากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น รู้หรือไม่? การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน คืออะไร? องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (The World Tourism Organization) หรือ UNWTO ได้ให้คำนิยาม “การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” เอาไว้ว่า คือ การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคต รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างความสมดุลที่เหมาะสม เทรนด์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวมากกว่า 29,000 คน จาก 30 ประเทศทั่วโลก ของ Booking.com ในปี 2021 พบว่า 83% คิดว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนถือเป็นสิ่งสำคัญ 81% ยอมรับว่า ต้องการเข้าไปพักในสถานที่ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน43% ยินดีสนับสนุนชุมชนและเศรษฐกิจในท้องถิ่น ด้วยการเดินทางไปท่องเที่ยวด้วยสำนึกรับผิดชอบ49% เชื่อว่า...สถานที่ท่องเที่ยวแบบยั่งยืนยังมีไม่เพียงพอ แก้ปัญหานักท่องเที่ยวล้นด้วยวิถี Japan Way กรณีศึกษาการเปลี่ยนเมืองโบราณให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน นี่คือ...เมืองโอซุ (Ozu) จังหวัดเอะฮิเมะ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามเกียวโตน้อย เนื่องจากเป็นเมืองที่มีปราสาทและทิวทัศน์ในแบบเมืองโบราณของญี่ปุ่น เนื่องจากเต็มไปด้วย “มาจิยะ” (Machiya) หรือบ้านไม้แบบโบราณของชาวญี่ปุ่นที่มีลักษณะคล้ายตึกแถว หรือ ทาวน์เฮาส์ในยุคเฮอัน (ค.ศ. 794-1185) จำนวนมาก แต่แล้วเมื่อเกิดปัญหาการรื้อถอน “มาจิยะ” จากปัจจัยสำคัญ คือ จำนวนผู้อยู่อาศัยที่ค่อยๆ ลดลงในทุกๆ ปี อันเป็นผลมาจากค่าบำรุงรักษาที่แพงลิบลิ่วจนแทบไม่หลงเหลือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้กับชาวญี่ปุ่นในยุคหลัง ทางรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการ จึงได้ร่วมมือกัน ฟื้นฟูและปรับปรุงมาชิยะที่ถูกทิ้งร้างเหล่านั้นให้กลายเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านขายสินค้า และโรงแรม พร้อมกับชูจุดขายเรื่องการที่ผู้มาเยือนจะได้รับประสบการณ์สุดพิเศษในแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น พร้อมกับเปิดแคมเปญพิเศษเรียกนักท่องเที่ยวครั้งใหญ่ ด้วยการอนุญาตให้เข้าพักในปราสาทโอซุ ที่มีราคาสูงถึง 1 ล้านเยนต่อคืน (241,046 บาท) และเพื่อให้บรรดาผู้มาเยือนอินกับบรรยากาศยุคเฮฮันโบราณให้มากยิ่งขึ้น ยังได้มีการจัดให้พนักงานต้อนรับ แต่งกายเป็นนักรบโบราณ ไปรับแขกที่จะเข้าพักในปราสาทโอซุถึงสนามบิน พร้อมกับนำชุดญี่ปุ่นโบราณต่างๆ ไปให้สวมใส่ถึงที่อีกด้วย นอกจากนี้ เพื่อดึงให้ผู้คนและภาคธุรกิจในท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับแคมเปญการท่องเที่ยวที่ว่านี้อย่างจริงจังและยั่งยืน บรรดาพนักงานโรงแรม เจ้าของกิจการ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จะต้องมารวมตัวกันเพื่อฝึกอบรมในหัวข้อต่างๆ เพื่อเน้นย้ำเรื่องการต่อยอดการพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงจัดการประชุมสัมมนากับภาคประชาชนเพื่อรายการสถานะการพัฒนาเมืองให้คนท้องถิ่นได้รับทราบด้วยซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ นอกจากปราสาทโอซุ และมาจิยะ จะกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมจากสาธารณชนอย่างล้นหลามแล้ว เมืองโอซุ ยังได้รับเลือกจาก Green Destinations of the Holland ซึ่งเป็นองค์กรด้านการท่องเที่ยวสีเขียว ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ให้เป็น 100 จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนที่ดีที่สุดในโลก ถึง 2 ปีติดต่อกัน นอกจากนี้ เมืองโอซุ ยังกลายเป็นเมืองแรกของญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกในประเภท วัฒนธรรมและประเพณี (Culture & Tradition) จากเวที Green Destinations Story Awards ITB Berlin อีกด้วย รู้หรือไม่? หากคิดจะไปเที่ยวญี่ปุ่นในปี 2024 นี้ วันไหนที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากเป็นวันหยุดยาวของชาวญี่ปุ่นที่เหลือในปีนี้กันบ้าง...เพื่อที่ “เรา” จะได้ไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “Overtourism” 1. วันที่ 27 เม.ย.-29 เม.ย. (รวม 3 วัน) 2. วันที่ 3 พ.ค.-6 พ.ค. (รวม 4 วัน) 3. วันที่ 13 ก.ค.-15 ก.ค. (รวม 3 วัน) 4. วันที่ 10 ส.ค.-12 ส.ค. (รวม 3 วัน) 5. วันที่ 14 ก.ย.-16 ก.ย. (รวม 3 วัน) 6. วันที่ 21 ก.ย.-23 ก.ย. (รวม 3 วัน) 7. วันที่ 12 ต.ค.-14 ต.ค. (รวม 3 วัน) 8. วันที่ 2 พ.ย.-4 พ.ย. (รวม 3 วัน) อ้างอิง : องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน กราฟิก Wimonrat jongjaipanitjarern