รัฐประหารเมียนมา ครบ 3 ปี ภายใต้การนำของพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หลังโค่นอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ได้พาประเทศถอยหลังจากระบอบประชาธิปไตยมาสู่เผด็จการทหาร มีการกวาดล้างปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม มีผู้คนล้มตาย สูญหายเป็นจำนวนมาก และมากกว่า 2 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น จนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา อยู่ในสภาวะตกต่ำอย่างรวดเร็วและรุนแรง

รัฐบาลทหารคาดหวังจะครองอำนาจอีกยาวนาน เพราะเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ได้ขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน อ้างว่าเพื่อทำภารกิจจำเป็น ให้เกิดเสถียรภาพและความสงบสุขของประเทศให้กลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่กลุ่มต่อต้านยังไม่มีท่าทียอมแพ้ และกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวโกก้าง ตะอั้ง และอาระกัน จับมือตั้งกลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ (Brotherhood Alliance) เปิดปฏิบัติการ 1027 โจมตียึดฐานที่มั่นหลายเมืองทางตอนเหนือของรัฐฉานในเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2566 โดยเฉพาะพื้นที่เขตปกครองพิเศษโกก้าง และเขตปกครองชนชาติว้า เมืองป๊อก รวมทั้งเมืองเล่าก์ก่าย ติดกับมณฑลยูนนานของจีน เหมือนท้าทายกองทัพเมียนมา

...

หรืออำนาจของพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหาร กำลังจะถึงจุดเปลี่ยนถูกโค่นล้มในไม่ช้า และวิกฤติในเมียนมา จะคลี่คลายลงหรือไม่ จากบทบาทการทำหน้าที่ประธานอาเซียน ปี 2567 ของสปป.ลาว และทางกองทัพเมียนมาได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การรัฐประหาร ท่ามกลางกระแสข่าวว่ากองทัพเมียนมากำลังตกที่นั่งลำบาก จากการเปิดปฏิบัติการ 1027 ของกลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ

ปฏิบัติการ 1027 แค่สร้างแรงกระเพื่อม ไม่สะเทือนกองทัพเมียนมา

แต่ในมุมมองของ "กฤษณะ โชติสุทธิ์" อาจารย์ประจําหลักสูตรพม่าศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กลับเห็นว่าในประเด็น 3 พันธมิตรภราดรภาพ เป็นการรวมกลุ่มเฉพาะกิจ ไม่ได้รวมเป็นเนื้อเดียวกัน และสร้างสายบัญชาการ อาจมีการแยกย้ายในที่สุด และครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะหลายปีที่ผ่านมาเคยมีการรวมกลุ่มกันมาแล้ว เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่คอยช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งในอดีตพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เคยเป็นของมิน อ่อง หล่าย และจีน ต้องการปราบปรามจีนสีเทาในพื้นที่นี้มากกว่า เคยมีการเจรจากันมาก่อนกับกะเหรี่ยงบีจีเอฟ ซึ่งดูแลพื้นที่

“คิดว่าเหตุการณ์ปฏิบัติการ 1027 ทุกฝ่ายมีการพูดคุยกันก่อนแล้ว และจีนเห็นท่าทีอะไรบางอย่าง เลยเข้ามาแทรกแซงเพื่อปราบจีนเทา เฉพาะพื้นที่จุดค้าระหว่างจีนกับเมียนมา และหลังจากปราบปรามก็มีการคุยกันในมณฑลยูนนาน หากโจมตียึดฐานที่ตั้งกองทัพเมียนมา ทำไมไม่มีข้อมูลว่าทหารเมียนมาตายไปเท่าไร รวมถึงฐานที่ตั้งของทหารเมียนมา ถูกทำลายไปเท่าไร ไม่ว่าจะเป็น PDF หรือจากฝ่ายใดออกมาให้ข้อมูล เป็นการสร้างกระแสสังคม สร้างแรงกระเพื่อมมากกว่า เป็นการสร้างเซอร์ไพรส์ที่ไม่น่าแปลกใจ หากทำจริงก็คงตัดท่อส่งก๊าซ ท่อน้ำมัน เกิดผลกระทบต่อมณฑลยูนนานไปแล้ว”

ส่วนการขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลทหารเมียนมา สามารถทำได้ต่อเนื่อง ตามรัฐธรรมนูญปี 2008 แต่บริบทในรอบนี้ไม่เหมือนช่วงสงครามเย็น จะต้องปรับเปลี่ยนไปเพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทางทหารเมียนมาพยายามดึงเงินตราต่างประเทศเพื่อพยุงค่าเงินของตัวเอง เป็นการเอาตัวรอดไปก่อน แม้กระทั่งการออกมาตรการให้คนทำงานต่างประเทศต้องจ่ายภาษี 

ขณะเดียวกันผู้ต่อต้าน อย่างกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF ยังไม่มีการรวมกลุ่มอย่างชัดเจน หรือกองกำลังติดอาวุธ มีจำนวนมากออกมาต่อต้าน แต่การบริหารพื้นที่ยังไม่เป็นระดับชาติ และการจะให้ทหารเมียนมาออกจากพื้นที่ ต้องมีวิธีดำเนินการ แต่ทุกวันนี้ยังใช้วิธีแบบกองโจร เมื่อยึดฐานที่ตั้งของทหารเมียนมาแล้ว ก็ไม่อยู่ในพื้นที่ เพราะกลัวเครื่องบินทิ้งระเบิด และในช่วงปีกว่าๆ ทางกองทัพเมียนมา มีงบด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ แต่เมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา เห็นแต่เครื่องบินเบา ทั้งๆ ที่มีเครื่องบินรบ มิก-29 อยู่ในกำมือ ไม่นำออกมา เพราะเกรงว่าจะเสียค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก

...

แต่ไม่ใช่ทหารเมียนมาจะชนะด้วยการใช้กำลังพล อยากให้สังเกตจะใช้วิธีการกล่อมกองกำลังต่างๆ อย่างกองกำลังกะเหรี่ยง ดีเคบีเอ ให้ไปตีกับกองกำลังอื่น และให้ประโยชน์ในพื้นที่ในการเก็บส่วย เพราะการรวมตัวของผู้ต่อต้านมีหลายฝ่ายหลายอุดมการณ์ อาจทำให้มิน อ่อง หล่าย ใช้วิธีเจรจาเฉพาะกลุ่มเพื่อสงบศึก และยังมีอีกหลายเงื่อนไขที่ทหารเมียนมาจะแพ้หรือชนะได้ 

เพราะฉะนั้นเรื่องกำลังพลจึงไม่ใช่เรื่องชี้ขาด และท่าทีของจีนก็มีบทบาทสำคัญมากกว่า หากให้สงครามสงบก็อาจสนับสนุนทุกฝ่ายในเรื่องของค่าคุ้มครอง ขณะเดียวกันก็อยากกำจัดจีนเทา ไม่ให้สร้างความเสียหายกับจีน และทุกคนอาจลืมว่าจีนมีความสัมพันธ์พรรคเอ็นแอลดีของออง ซาน ซูจี มากกว่าทหารเมียนมา กลายเป็นว่าทหารเมียนมาไม่ได้ใจจีน และกลายเป็นรัสเซีย คอยสนับสนุนทหารเมียนมา ทั้งทหาร อาวุธ และคนขับเครื่องบิน แต่ด้วยผลประโยชน์ของจีนในเมียนมา ก็ต้องสงวนท่าที ทั้งท่อส่งก๊าซธรรมชาติและท่อน้ำมัน ซื้อจากเมียนมาส่งไปมณฑลยูนนาน

“วิกฤติในเมียนมา ยอมรับว่าอาเซียนไม่มีพาวเวอร์ในการกดดันเมียนมา แต่เมื่อลาวเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ อาจร่วมมือกับไทยในการแสดงท่าทีต่อวิกฤติเมียนมา แต่ไทยก็มีผลประโยชน์กับเมียนมา ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้มากมาย มีสภาวะไม่แตกต่างจากจีน อาจแค่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และเคยเห็นซีนาริโอจากรัฐบาลไทยหรือไม่ ว่าถ้าฝ่ายใดชนะหรือแพ้จะเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศของไทยมีบทบาทน้อยมาก โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านที่ติดชายแดน ต้องดูว่าใครในไทย หรืออดีตทหารในไทยได้รับผลประโยชน์”

...

มิน อ่อง หล่าย สายมู ใช้วิธีเจรจากล่อมกองกำลังติดอาวุธ

สถานการณ์ในเมียนมายังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยรัฐบาลทหารเมียนมายังครองอำนาจอีกยาว เพราะไม่เห็นฉากทัศน์ที่ชัดเจนของผู้ต่อต้าน หากชนะจะเป็นอย่างไร จะมีสายบังคับบัญชาทางทหารหรือไม่ และท้ายสุดผู้ต่อต้านจะขัดแย้งกันเอง เพราะผลประโยชน์ในพื้นที่ เป็นการรวมตัวเฉพาะกิจเท่านั้น เหมือนจะชนะกองทัพเมียนมา แต่ไม่ใช่ จนทำให้กองทัพเมียนมามีความกังวล หรืออาจกังวลบ้าง และเลือกวิธีชิงความได้เปรียบด้วยการเจรจากับกองกำลังติดอาวุธ คาดว่าหลังสงกรานต์ในเดือนเม.ย.นี้ ทางกองทัพเมียนมาจะโจมตีกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF 

อีกทั้งมิน อ่อง หล่าย มีบุคลิกนิ่งจนน่ากลัว และมีความเชี่ยวชาญในการเจรจาตั้งแต่เป็นแม่ทัพภาค คาดจะมีการเจรจากับกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ ส่วนอนาคตของมิน อ่อง หล่าย ในระยะสั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเขาเพียงคนเดียว แต่ในเชิงเศรษฐกิจจะต้องแก้ปัญหาเพื่อความอยู่รอด และขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่ามิน อ่อง หล่าย กำลังจะเสี้ยมใคร เพราะไม่แสดงออกมา ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเชื่อให้กับคนในกองทัพว่าคนภายนอกเป็นภัยคุกคามของพุทธศาสนาของเมียนมา รวมถึงความเชื่อของคนรุ่นเก่า ไม่ต่อต้านกองทัพเมียนมาเพราะสามารถทำธุรกิจผูกขาดได้อย่างสบาย ตรงกันข้ามกับชนชั้นกลางหลังปี 2553 ที่ออกมาต่อต้านมิน อ่อง หล่าย

...

“มิน อ่อง หล่าย ถือเป็นสายมู มีการทำพิธีกรรมในวันสถาปนากองทัพ สร้างความเชื่อให้กับกำลังพล และคนรุ่นเก่าคร่ำเคร่งพุทธศาสนาก็เชื่อว่า มิน อ่อง หล่าย เป็นคนมีบุญมากๆ เพราะเป็นคนเปลี่ยนฉัตรเจดีย์  และยังสร้างพระพุทธรูปหินอ่อน กลางกรุงเนปิดอว์ ทำให้คนเกรงกลัวต่อบาปไม่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน เป็นอีกหนึ่งความได้เปรียบที่มิน อ่อง หล่าย จะครองอำนาจได้ยาวๆ”