"อี ซอน คยุน" ความโศกเศร้าและสูญเสีย ที่สะท้อนถึงปัญหามาตรฐานการทำงาน กฎหมาย และจริยธรรม ของตำรวจและสื่อมวลชนเกาหลีใต้...
การเสียชีวิตจากการทำอัตวินิบาตกรรม ของ “อี ซอน คยุน” (Lee Sun-Kyun) วัย 48 ปี นักแสดงชื่อดังจากภาพยนตร์ระดับรางวัลออสการ์ “ชนชั้นปรสิต” (Parasite) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 23 นอกจากนำมาซึ่งความเศร้าสลดครั้งใหญ่ให้กับวงการบันเทิงเกาหลีใต้แล้ว มันยังนำมาซึ่ง “การตั้งคำถาม” ในอีกหลายๆ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสอบสวนและบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งบางทีอาจ... “ไม่ได้แตกต่าง” กับประเทศๆ หนึ่ง แถวๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยแม้แต่น้อย.... แล้วมีคำถามอะไร...ที่เกิดขึ้นบ้าง? หลังมรณกรรมของ “อี ซอน คยุน”
นโยบายทำสงครามกับยาเสพติด :
...
การประกาศนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด ของ “ประธานาธิบดียุน ซอก ยอล” (Yoon Suk-Yeol) หลังเกาหลีใต้พบปัญหาการไหลทะลักของยาเสพติดชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ในช่วงปี 2023 ที่ผ่านมา
โดยหากอ้างอิงรายงานของ “กรมศุลกากรเกาหลีใต้” (Korea Customs Service) หรือ KCS ณ สิ้นสุดเดือนกันยายน ปี 2023 ระบุว่า ปริมาณการลักลอบขนยาเสพติดเข้าประเทศเกาหลีใต้ เพิ่มสูงขึ้นถึง 30% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี
ในขณะที่รายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2023 ระบุว่า ปฏิบัติการปราบปราบยาเสพติดอย่างเข้มข้นในช่วงเดือนมีนาคม-พฤศจิกายน สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติดได้รวมกันทั้งสิ้น 17,152 คน ในจำนวนนี้ถูกตั้งข้อหาและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว 2,379 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี และยังเป็นตัวเลขที่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2022 ถึง 38.5% หากแต่ที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด คือ กลุ่มช่วงวัย 20-30 ปี ที่ถูกตั้งข้อหาคดียาเสพติดยังเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2022 ด้วย!
การประกาศสงครามกับยาเสพติด เกี่ยวข้องอะไรกับมรณกรรมของ “อี ซอน คยุน” :
ความจริงจังเรื่องการดำเนินนโยบายทำสงครามยาเสพติด เป็นผลให้เมื่อมี “คนดังระดับประเทศ” เข้าไปเกี่ยวข้อง การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐจึงเต็มไปด้วยความตึงเครียด จริงจัง และแข็งกร้าว ท่ามกลางการจับจ้องของสื่อมวลชนชนิดไม่ให้คลาดสายตา
ถึงแม้ว่า “อี ซอน คยุน” จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากกระบวนการสอบสวนที่เกิดขึ้นนั้น เริ่มต้นมาจากการกล่าวหาของ “หญิงสาวคู่กรณี” ที่ตัวเขาเองยืนยันมาตลอดว่า เป็นผู้หลอกลวงให้เขาเสพสารเสพติด เพื่อหวังแบล็กเมล์และเรียกร้องเงินเป็นจำนวนสูงถึง 300 ล้านวอน (7.9 ล้านบาท) มากกว่าที่จะพิจารณาจากข้อมูลและหลักฐานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ อีกทั้งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอินชอนเอง ก็ยังปล่อยข้อมูลการสอบสวนให้รั่วไหลออกถึงสื่อมวลชนจำนวนมากอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น “อี ซอน คยุน” ถูกสอบปากคำรอบที่ 3 เป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกันถึง 19 ชั่วโมง! ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองคริสต์มาส อีฟ กว่าที่จะได้รับการปล่อยตัว (ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. จนถึงช่วงเช้าของวันที่ 24 ธ.ค.) ทั้งๆ ที่การตรวจหาสารเสพติดจากตัวอย่างเส้นผมของนักแสดงนำ Parasite ผลจะออกมาเป็น “ลบ” หรือ “ไม่พบสารเสพติดในร่างกายถึง 3 ครั้ง”
...
ไม่เพียงเท่านั้น...ความพยายามร้องขอความเป็นธรรม “เรื่องการขอเข้าเครื่องจับเท็จ” (ทั้งตนเองและคู่กรณี) เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ในสิ่งที่เขาพยายามชี้แจงมาโดยตลอดว่า “ตัวเองเป็นเพียงเหยื่อที่ถูกแบล็กเมล์” ยังถูก “ปฏิเสธ” จากเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย
ซึ่งผลของการทำงานอันแข็งกร้าวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการติดตามไล่ล่าทำข่าวแบบชนิดกัดไม่ปล่อยของสื่อในเกาหลีใต้ จึงทำให้ทั้ง “อี ซอน คยุน” และภรรยาสาว “ชอน ฮเย จิน” (Jeon Hye-jin) รวมถึงลูกๆ อีกสองคน ต้องเผชิญหน้ากับ “ความเครียดและแรงกดดัน” จากสังคมในแบบชนิดที่เรียกว่า “ไร้ซึ่งขีดจำกัด”
...
การทำงานของสื่อและการละเมิดกฎหมายของตำรวจเกาหลีใต้ :
“พง จุน โฮ” (Bong Joon Ho) ผู้กำกับภาพยนตร์ Parasite และ “ยุน จง ชิน” (Yoon Jong-Shin) นักร้อง นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ชื่อดัง รวมถึงผู้คนในวงการบันเทิงของเกาหลีใต้จำนวนมาก ภายใต้ชื่อ Association of Solidarity of Cultural Artists ได้ออกมารวมพลังเรียกร้องให้ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติของเกาหลีใต้” ชี้แจงการทำงานในคดีของ “อี ซอน คยุน” ผู้ล่วงลับ ว่ามีการละเมิดต่อกฎหมายหรือไม่?
อีกทั้งยังเรียกร้องให้สื่อมวลชน “ลบการรายงานข่าวและบทความต่างๆ” ที่เข้าข่ายละเมิดจริยธรรมของสื่อ รวมถึงขอให้ “รัฐบาลเกาหลีใต้” เร่งแก้ไขกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของเหล่าศิลปินในวงการบันเทิงโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุเศร้าสลดในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นกับผู้คนในวงการ K-POP อีกต่อไป
...
เหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจเกาหลีใต้ จึงถูก “ตั้งคำถาม” เรื่องการละเมิดกฎหมาย :
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ก่อนหน้าที่จะเข้าไปให้ปากคำกับที่สถานีตำรวจอินชอน ในรอบที่ 3 “อี ซอน คยุน” ได้ร้องขอผ่านทนายความ ให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ “อย่าเปิดเผยเรื่องนี้กับสื่อมวลชน” แต่คำร้องขอดังกล่าวกลับถูกตำรวจ “ปฏิเสธ” โดยให้เหตุผลเพียงว่า “มีนักข่าวบางคน” ยืนกรานว่า “ต้องเปิดเผยเรื่องนี้ให้สื่อมวลชนได้รับทราบ”
เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น ในกรณีที่ “อี ซอน คยุน” ถูกแอบติดตามถ่ายรูปหรือรายงานข่าวได้ มันจะกลายเป็นว่านักแสดงชื่อดัง “แอบเข้ามาให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ซึ่งจะยิ่งเป็นผลร้ายต่อตัวของเขาเองมากยิ่งขึ้น
ทั้งๆ ที่...ตาม กฎหมาย มาตรา 126 ของเกาหลีใต้ เรื่องการเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัยในคดีอาญา (เช่น ชื่อจริง ใบหน้า ข้อมูลส่วนตัว รวมถึงการอนุญาตให้ถ่ายรูปหรือบันทึกภาพผู้ต้องสงสัย) ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนคดี หากมีการเปิดเผยข้อมูลผู้ต้องสงสัยต่อสาธารณะ ก่อนที่จะมีการฟ้องร้องต่อศาลอย่างเป็นทางการ จะถือว่ามีความผิด และมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี หรือถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ไม่เกิน 5 ปี
ด้วยเหตุนี้ แม้จะถูกสื่อมวลชนยืนกรานในเรื่องดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ควรจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ควรมีการแจ้งถึงกำหนดการเข้ามาให้ปากคำของผู้ต้องสงสัยให้สื่อมวลชนได้รับทราบ เพื่อเป็นการ “คุ้มครองสิทธิของผู้ต้องสงสัย” และ “ปฏิบัติตามกฎหมาย”
ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับ “อี ซอน คยุน” เพียงคนเดียว เพราะในกรณีของนักแสดงหนุ่มชื่อดัง “ยู อา-อิน” (Yoon Ah-In) ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีใช้สารเสพติดเช่นเดียวกัน ก็ได้รับการ “ปฏิเสธ” คำร้องขอให้ปิดกำหนดการเดินทางไปให้ปากคำรอบที่ 2 กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อหลีกเลี่ยงสื่อมวลชนมาแล้ว!
อย่างไรก็ดี แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานอย่างหนักหน่วงในเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ล่าสุด “ยู ฮี กึน” (Yoon Hee-Keun) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของเกาหลีใต้ กลับยืนกรานว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดี อี ซอน คยุน “ไม่มีข้อบกพร่อง” และทุกอย่างเป็นการปฏิบัติไปตามกฎหมาย!
จริยธรรมการรายงานข่าวของสื่อมวลชน :
บทบรรณาธิการของสื่อชื่อดังในเกาหลีใต้ วิเคราะห์การทำงานของสื่อมวลชนและเหล่ายูทูบเบอร์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกรณีของ “อี ซอน คยุน” ไว้อย่างน่าสนใจว่า....
นับตั้งแต่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของเกาหลีใต้ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบสวนเรื่องการใช้สารเสพติดของ “นักแสดงระดับ A-list” โดยใช้อักษรย่อว่า “Top Star L” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 23 เป็นต้นมา บรรดาสื่อมวลชนและเหล่ายูทูบเบอร์จำนวนมากกว่า 2,872 แห่ง ต่างพร้อมใจกัน “แย่งชิงการรายงานข่าวและคาดเดาเรื่องนี้ไปต่างๆนานา ในแบบแทบจะเรียลไทม์”
รวมถึงยังมีการเผยแพร่ “ข้อมูลเท็จที่ปราศจากแหล่งข้อมูลอ้างอิงมากมาย” เพียงเพื่อพยายามหาทาง “คลายความอยากรู้อยากเห็นของผู้คนในสังคมเกาหลีใต้” (มาถึงบรรทัดนี้ ชักเริ่มคุ้นมากยิ่งขึ้น กับเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศๆ หนึ่งแถวๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไปทุกทีๆ)
โดยเฉพาะในกรณีการรายงานข่าวของ "สถานีโทรทัศน์ KBS" สื่อยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ซึ่งมีการเผยแพร่บทสนทนาทางโทรศัพท์ที่ “อ้างว่า” เป็นเสียงของ “อี ซอน คยุน” และ “หญิงสาวคู่กรณี” ออกสู่สาธารณชน ทั้งๆ ที่ในบทสนทนาดังกล่าว “ไม่มี” การพูดถึงเรื่องการใช้สารเสพติดอยู่เลยแม้แต่น้อย ยิ่งไปกว่านั้น เทปลับดังกล่าวยังไม่มีบทสนทนาใดที่สามารถยืนยันได้ว่า “อี ซอน คยุน” จงใจที่จะใช้สารเสพติดด้วย
และตาม “ข้อเท็จจริง” ที่ใครๆอาจหลงลืมไป คือ "อี ซอน คยุน" มีผลการตรวจหาสารเสพติดจาก National Forensic Service ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ชั้นนำของเกาหลีใต้ ที่สามารถยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองได้อย่างชัดเจนถึง 3 ครั้งก็ตาม!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม :