"โชเฮย์ โอทานิ" สัตว์ประหลาดวงการเบสบอลโลก อีกหนึ่งชัยชนะของวงการกีฬาญี่ปุ่นที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง...

วงการกีฬาญี่ปุ่นในเวลานี้กำลังกลายเป็นที่ “ริษยา” ของใครต่อใครอย่างชนิดไม่ต้องสงสัย หลัง “วงการฟุตบอล” สามารถรันโปรเจกต์ “เราจะต้องเป็นแชมป์โลกให้ได้ภายในปี 2050” ได้อย่างมั่นคง โดยยืนยันได้จากการปรากฏตัวของนักเตะระดับท็อปที่สามารถไปเล่นในลีกยุโรปได้อย่างเฉิดฉายหลายต่อหลายคน โดยเฉพาะ “ทาเคฟุสะ คุโบะ” และ “คาโอรุ มิโตมะ” และไม่เพียงแค่วงการฟุตบอลเท่านั้น...ล่าสุดญี่ปุ่นสามารถสร้างนักกีฬาในระดับ “ปรากฏการณ์” ที่ได้รับสัญญามูลค่ามากมายถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 24,409 ล้านบาท! ซึ่งถือเป็นสถิติสัญญาที่มีมูลค่าสูงที่สุดในวงการกีฬาโลก ณ ปัจจุบันได้สำเร็จแล้ว!

และเป็นสัญญาที่มากกว่า สุดยอดนักฟุตบอลที่ “คุณ” แสนคุ้นเคยอย่าง “ลิโอเนล เมสซี” เคยได้รับสัญญา 4 ปี มูลค่ารวม 673 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (23,474 ล้านบาท) เมื่อปี 2017 กับ สโมสรบาร์เซโลนา และ “คริสเตียโน โรนัลโด” ซึ่งปัจจุบันได้สัญญาสูงสุด 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,976 ล้านบาท) ต่อปี กับ “สโมสรอัล นาสเซอร์” เสียอีก  

...

โดยสัญญามูลค่ามากมายมหาศาลนี้ ถูกนำมาประเคนให้กับ “โชเฮย์ โอทานิ” (Shohei Otani) เด็กหนุ่มวัย 29 ปี เจ้าของส่วนสูง 195 เซนติเมตร น้ำหนัก 95 กิโลกรัม ซึ่งเพิ่งลงเล่นใน “เมเจอร์ลีกเบสบอล” (Major League Baseball) หรือ MLB เพียง 6 ฤดูกาล (ลงเล่นใน MLB มาตั้งแต่ปี 2018)  

แล้วเหตุใด “ลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส” (Los Angeles Dodgers) ทีมเบสบอลยักษ์ใหญ่แห่งสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าทีมสูงถึง 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (167,462 ล้านบาท) จากการประเมินของ Forbes (ณ เดือนมีนาคม 2023) และเป็นแชมป์เวิร์ดซีรีส์ถึง 7 สมัย จึงยอมทุ่มฟ่อนธนบัตรมากมายก่ายกองถึงขนาดนี้มามอบให้กับ “เด็กหนุ่มมหัศจรรย์” จาก จังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น วันนี้ “เรา” ไปร่วมกันไขคำตอบที่ว่านี้กันดู! 

ทำความรู้จัก โชเฮย์ โอทานิ สัตว์ประหลาดแห่งวงการเบสบอล : 

“โชเฮย์ โอทานิ” เกิดเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 1994 ที่เมืองชนบทในจังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันเขาคือสุดยอดนักเบสบอลแห่งยุค เนื่องจากครองความเป็นเลิศทั้งในฐานะ “พิชเชอร์” (มือขว้างลูกหรือฝ่ายรับ) และ “แบตเตอร์” (มือตีลูกหรือฝ่ายรุก) หรือ Two-Way Player ซึ่งหาได้ยากแสนยากในกีฬาเบสบอล นั่นเป็นเพราะ...ผู้เล่นในตำแหน่งพิชเชอร์ โดยมากมักถูกฝึกฝนและให้มีสมาธิกับการขว้างลูกเพียงอย่างเดียว รวมถึงมักถูกจำกัดเวลาในการเล่นต่อเกม เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอาการบาดเจ็บเนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ต้องใช้กำลังแขน ไหล่ และ ข้อศอก ในการขว้างบอลแต่ละครั้งอย่างหนักหน่วงนั่นเอง

โดย “โชเฮย์ โอทานิ” ได้รับการจับตาในฐานะ “Wonder Kid” ที่ฉายแสงเจิดจรัสมาตั้งแต่ช่วงเรียนมัธยมปลายแล้ว เพราะแม้ว่าจะอยู่กับโรงเรียนมัธยมปลายฮานามากิ ฮิกาชิ ซึ่งไม่มีชื่อเสียงด้านกีฬาเบสบอลมากเท่าใดนัก แต่ โชเฮย์ โอทานิ ซึ่งในเวลานั้นอยู่เพียงปี 2 (มัธยมศึกษาปีที่ 5) กลับสามารถพาทีมเข้ารอบอินเตอร์ไฮ (การแข่งขันเบสบอลมัธยมปลายระดับประเทศ) จนได้เข้าไปเล่นใน “โคชิเอ็ง” สนามเบสบอลอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่นทุกคนได้สำเร็จ 

...

อย่างไรก็ดี แม้ว่าทีมโรงเรียนมัธยมปลายฮานามากิ ฮิกาชิ จะต้องแพ้ตกรอบตั้งแต่การแข่งขันนัดแรก แต่นักเบสบอลดาวรุ่งผู้นี้ กลับสามารถสร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการเบสบอลระดับมัธยมปลายของญี่ปุ่น ด้วยการโชว์ฟอร์มขว้างลูกด้วยความเร็วถึง 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง! ทั้งๆ ที่เพิ่งมีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น! 

และอีกครั้งในช่วงฤดูร้อนสุดท้ายของชีวิตนักเรียนมัธยมปลาย “Wonder Kid” ผู้นี้ ยังโชว์การขว้างบอลด้วยความสูงสุดถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง! ในการแข่งขันเบสบอลระดับจังหวัดจนเรียกเสียงฮือฮาไปทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นได้อีกครั้ง (แม้ว่าในท้ายที่สุด โชเฮย์ โอทานิ จะพลาดการไปเล่นที่โคชิเอ็งครั้งสุดท้ายในฐานะนักเรียนมัธยมปลาย เนื่องจากตกรอบการแข่งขันในระดับจังหวัดก็ตาม)  

ด้วยเหตุนี้เมื่อเรียนจบในระดับมัธยมปลาย “โชเฮย์ โอทานิ” ซึ่งมีอายุเพียง 18 ปี จึงถูก “กลุ้มรุม” จากสารพัดทีมในลีก Nippon Professional Baseball หรือ NPB หรือ แม้กระทั้งใน ลีก MLB ที่ต่างแห่กันมายื่นข้อเสนอกับเด็กหนุ่มมหัศจรรย์คนนี้พิจารณาชนิดหัวกระไดไม่แห้งเลยทีเดียว และหนึ่งในจำนวนทีมเหล่านั้นก็มี “ลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส" รวมอยู่ด้วย  

...

แต่แล้ว..."ทีมฮอกไกโด นิปปอน แฮม ไฟท์เตอร์" ซึ่งเป็นทีมเบสบอลอาชีพในแปซิฟิก ลีก (Pacific League) ของประเทศญี่ปุ่น กลับเป็นทีมที่สามารถคว้าตัวเขาเข้าสู่ทีมในฐานะดราฟต์อันดับ 1 ได้ในปี 2012 ทั้งๆ ที่ในตอนแรกเจ้าตัวปรารถนาที่จะท้าทายความสามารถของตัวเอง ด้วยการไปเล่นที่สหรัฐอเมริกาทันทีที่จบมัธยมปลายเลยก็ตาม!

ส่วนหากถามว่า เพราะอะไร? ทีมนิปปอน แฮม จึงดึงดูดเด็กหนุ่มมหัศจรรย์คนนี้เข้าร่วมทีมได้สำเร็จ คำตอบที่ได้กลับมาจากปากของ “โชเฮย์ โอทานิ” ก็คือ...นิปปอน แฮม เป็นเพียงทีมเดียวที่พร้อมสนับสนุนให้เขาได้เล่นทั้งในตำแหน่งพิชเชอร์ และ แบตเตอร์ พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่า “จะช่วยพัฒนาให้เขากลายเป็นผู้เล่น Two-Way Player ที่สมบูรณ์แบบที่สุดก่อนที่จะเดินทางไปเล่นที่ MLB” ด้วย    

แต่ถึงแม้จะเป็นเพียง Rookie แต่แค่ปีแรกในฐานะนักกีฬาอาชีพ “โชเฮย์ โอทานิ” ก็สามารถสร้างชื่อให้กับตัวเองได้ทันที ด้วยการทำสถิติ 3 Wins (ในฐานะพิชเชอร์) และ หวดโฮมรัน (ตีบอลออกนอกสนาม) ได้ถึง 3 ครั้ง! 

...

ปี 2014 ชายผู้ได้รับฉายา “สัตว์ประหลาด” (Monster) ได้กลายเป็นผู้เล่นคนแรกในประวัติศาสตร์ของ NPB ที่สามารถทำสถิติ Double-Digit Wins (ชนะด้วยสถิติเลข 2 หลัก) และ Double-Digit Home runs (ทำโฮมรันด้วยสถิติเลข 2 หลัก) ด้วยสถิติ ชนะ 11 ครั้ง และ หวดทำโฮมรันไปอีก 10 ครั้ง!

ต่อมาในปี 2016 “โชเฮย์ โอทานิ” ก็สามารถพาทีมนิปปอนแฮม คว้าแชมป์ได้สำเร็จแถมยังสร้างสถิติส่วนตัวอันน่าตื่นตะลึงด้วยการคว้าตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) และเป็นผู้เล่นคนแรกในประวัติศาสตร์ NPB ที่สามารถคว้ารางวัล Best Nine ได้ทั้งในฐานะ “Pitcher” และ “Designated Hitter” (ซึ่งจริงๆ แล้วตำแหน่งนี้ ปกติแต่ละทีมมักจะเลือกผู้เล่นคนอื่นให้มาทำหน้าที่ตีบอลแทนพิชเชอร์เวลาเป็นฝ่ายรุก เพื่อให้พิชเชอร์ได้พักแขน) 

เมื่อลีกเบสบอลอาชีพญี่ปุ่นเล็กเกินไปแล้ว หลังสิ้นสุดฤดูกาล 2017 “โชเฮย์ โอทานิ” จึงมุ่งหน้าสู่ MLB ลีกเบสบอลอาชีพที่ดีที่สุดในโลกผ่านระบบ Japanese Posting System ซึ่งเป็นระบบที่เปิดทางให้ผู้เล่นจาก NPB ที่ยังมีประสบการณ์ในการลงเล่นในลีกอาชีพไม่ถึง 9 ปี สามารถเสนอตัวเองให้กับทีมใน MLB ได้ โดยทีมต้นสังกัดจะยังคงได้รับค่าตัว ในกรณีที่ผู้เล่นและทีมใน MLB สามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างกันได้สำเร็จภายในระยะเวลา 45 วัน

และเพียงปีแรกที่ “โชเฮย์ โอทานิ” เฉิดฉายใน MLB กับ "ทีมลอสแอนเจลิส แองเจิลส์" (LA Angels) เขาก็สามารถคว้ารางวัล Rookie of the Year มาครองได้ทันที พร้อมกับสถิติสุดสวยหรู 4 wins ในฐานะพิชเชอร์ และมีค่าเฉลี่ยการตีลูก .285 (ซึ่งถือเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงกว่ามาตรฐานนักกีฬาทั่วไปซึ่งอยู่ที่ประมาณ .250 - .275) พร้อมกับหวดโฮมรันไปได้อีกถึง 22 ครั้ง! และจากนั้น...สถิติอันยอดเยี่ยมต่างๆ ก็ค่อยไหลมาเทมา... 

โดยเฉพาะในปี 2021 ฟอร์มของเด็กหนุ่มมหัศจรรย์แห่งญี่ปุ่นผู้นี้ ก็พุ่งขึ้นถึงขีดสุด จากการทำสถิติ 9 Wins (ในฐานะพิชเชอร์), ทำ Strikeouts (ขว้างบอลโดยที่ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถตีลูกได้) มากถึง 156 ครั้ง!, ค่าเฉลี่ย ERA (Earned Run Average) หรือ ค่าเฉลี่ยที่พิชเชอร์ทำให้ทีมเสียคะแนนต่อ 1 เกม อยู่ที่เพียง 3.18! ส่วนในเรื่องเกมรุกในฐานะแบตเตอร์ “โชเฮย์ โอทานิ” ทำโฮมรันไปได้ถึง 46 ครั้ง! และมีค่าเฉลี่ย 100 ERA (ค่าเฉลี่ยที่แบตเตอร์ตีลูก 1 ครั้ง ทำให้ทีมได้กี่คะแนน) จนกระทั่งได้รับเลือกเป็น “ผู้เล่นทรงคุณค่า” หรือ MVP ในที่สุด และถือเป็นผู้เล่นชาวญี่ปุ่นคนที่ 2 ในรอบ 20 ปีที่สามารถคว้ารางวัลนี้ได้สำเร็จด้วย 

เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว.... “คุณ” คิดว่า สัญญามูลค่า 24,409 ล้านบาท เหมาะสมกับชายผู้นี้แล้วหรือยัง? 

กลุ่มทุนกุกเกนไฮม์ พาร์ตเนอร์ เมเนจเมนต์ :   

“ลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส” (Los Angeles Dodgers) ต้นสังกัดของ “โชเฮย์ โอทานิ” ในปัจจุบัน ถูกซื้อโดย "กลุ่มทุนกุกเกนไฮม์ พาร์ตเนอร์ เมเนจเมนต์" (Guggenheim Baseball Management) ด้วยเงินมหาศาลถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (69,664 ล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2012

แล้ว…กลุ่มทุนกุกเกนไฮม์ พาร์ตเนอร์ เมเนจเมนต์ มีเงินทุนมากมายมหาศาลขนาดไหน? 

ปัจจุบัน กลุ่มทุน “Guggenheim Baseball Management” ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการด้านการเงินมี “มาร์ก วอลเตอร์” (Mark Walter) นักธุรกิจชาวอเมริกันเจ้าของความมั่งคั่ง 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (205,792 ล้านบาท) และ "ท็อดด์ โบห์ลี" (Todd Boehly) เจ้าของสโมสรเชลซีในปัจจุบัน ผู้ถือครองความมั่งคั่ง 6,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (212,768 ล้านบาท) ทำหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ 

ทั้งนี้ กลุ่มทุนกุกเกนไฮม์ พาร์ตเนอร์ เมเนจเมนต์ มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ! (10.4 ล้านล้านบาท) จากการประเมินของ Forbes

โดยผลงานของ “ลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส” ภายใต้การบริหารของกลุ่มทุนกุกเกนไฮม์ พาร์ตเนอร์ เมเนจเมนต์ ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมานั้น ดอดเจอร์ส ผ่านเข้าสู่รอบ Postseason (รอบเพลย์ออฟ) ได้ถึง 11 ฤดูกาลติดต่อกัน และยังคว้าแชมป์เวิร์ดซีรีส์ได้สำเร็จในปี 2020 ด้วย 

สัญญามูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ :  

สำหรับสัญญา 10 ปี ที่มีมูลค่าสูงถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ คือ มากกว่า 680 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (23,718 ล้านบาท) หรือ 97% ของมูลค่าสัญญาทั้งหมด จะค่อยๆ ถูกทยอยแบ่งจ่ายปีละ 68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,371 ล้านบาท) ในทุกๆ วันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกๆ ปี ระหว่างปี 2034-2043 หรือหลังสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญา 10 ปี 

ส่วนภายใต้ระยะเวลาของสัญญา 10 ปี (ปี 2023-2033) นั้น “โชเฮย์ โอทานิ” จะได้รับค่าเหนื่อยเฉลี่ยเพียงปีละประมาณ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (69 ล้านบาท) หรือรวม 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (697 ล้านบาท) ตลอด 10 ปีนี้เท่านั้น! 

แล้วเพราะอะไร...ทีมอภิมหาเศรษฐีอย่าง “ลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส” จึงต้องค่อยๆ ทยอยจ่ายเงิน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับ “โชเฮย์ โอทานิ”? 

คำตอบของเรื่องนี้ก็คือ...สำหรับวงการกีฬาในสหรัฐอเมริกานั้น จะมีการตั้งข้อกำหนดเรื่องฐานเงินเดือนรวมนักกีฬา สำหรับแต่ละทีมเอาไว้ ซึ่งหากทีมไหนฝ่าฝืนหรือมีการทำสัญญาจ้างนักกีฬารวมในทีม สูงเกินกว่าฐานเงินเดือนที่กำหนดเอาไว้....ทีมนั้นจะต้องจ่ายภาษี ที่เรียกว่า “Competitive Balance Tax” หรือ CBT ซึ่งมีอัตราที่สูงลิบลิ่ว และอัตราภาษีที่ว่านี้จะถูกปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปีถัดๆ ไป หากทีมที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ดังกล่าว “ยังคงไม่สามารถเฉลี่ยการว่าจ้างนักกีฬาในทีมให้ตรงตามฐานเงินเดือนที่กำหนดเอาไว้ได้” (สูงสุดคืออัตราภาษี 50% หากมีการฝ่าฝืนมากกว่า 3 ปีติดต่อกันขึ้นไป ในกรณีของ MLB) 

ซึ่งกฎดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้การแข่งขันอเมริกันเกมต่างๆ ไม่ถูกผูกขาดแชมป์โดยทีมที่มีศักยภาพทางการเงินสูงเพียงไม่กี่ทีม และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทีมที่เล็กกว่ามีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปีด้วย เนื่องจากสามารถทำสัญญาว่าจ้างนักกีฬาเก่งๆ ได้สูงกว่า ทีมใหญ่ๆ นั่นเอง

ทั้งนี้สำหรับปี 2024 ตามข้อมูลบนเว็บไซต์ MLB ระบุว่าค่า CBT ของทีมใน MLB อยู่ที่ตัวเลขรวม 237 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (8,266 ล้านบาท) ด้วยเหตุนี้การที่ “โชเฮย์ โอทานิ” ยอมรับรายได้ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ในช่วง 10 ปีตามสัญญา ก่อนจะไปรับอีก 680 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่เหลือในภายหลัง) ก็เพื่อช่วยให้ “ลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส” สามารถยืดหยุ่นเรื่องการได้รับผลกระทบจาก CBT นั่นเอง!   

คำถามต่อไป แล้วเพราะอะไร “โชเฮย์ โอทานิ” จึงเลือก “ลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส”?  

คำตอบแรกแน่นอนว่า คือ เงินก้อนมหาศาลที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันเกม ซึ่งมากกว่าอันดับที่ 2 คือ “แพทริค มาโฮมส์” (Patrick Mahomes) ควอเตอร์แบ็กของทีมแคนซัส ซิตี้ ชีฟส์ ที่ได้สัญญา 10 ปี มูลค่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (15,696 ล้านบาท) ถึงเกือบ 2 เท่า! 

ขณะที่ในโลกของเบสบอลนั้นคนที่ได้รับมูลค่าสัญญาใกล้เคียงมากที่สุด คือ “ไมค์ โทรต” (Mike Trout) อดีตเพื่อนร่วมทีมลอสแอนเจอลิส แองเจิลส์ ของโชเฮย์ โอทานิ ซึ่งได้รับสัญญา 12 ปี มูลค่า 426 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (14,858 ล้านบาท) เท่านั้น

แล้วเงิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีตลอดสัญญา 10 ปี เพียงพอกับ “โชเฮย์ โอทานิ” หรือไม่?

Forbes ประเมินรายได้จากกิจกรรมนอกสนามของสุดยอดนักเบสบอลผู้นี้เอาไว้ว่า อยู่ที่ประมาณอย่างน้อย 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (1,220 ล้านบาท) จาก 13 แบรนด์พาร์ตเนอร์ ทั้ง 2 ฝั่งแปซิฟิก (สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) รวมถึงดีลระยะยาวกับแบรนด์ New Balance ซึ่งเพิ่งลงนามไปตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ในสนามเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมากับทีมเก่า “ลอสแอนเจลิส แองเจิลส์” นั้น ถูกประเมินว่าอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,046 ล้านบาท) 

เมื่อรวมตัวเลขดังกล่าวเข้าด้วยกัน “โชเฮย์ โอทานิ” จึงมีรายได้ก่อนหักภาษีและค่าธรรมเนียมจาก MLB ที่ประมาณ 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,267 ล้านบาท) จนกระทั่งส่งให้ชายผู้นี้กลายเป็นนักเบสบอลอาชีพที่มีรายได้สูงที่สุดในโลกประจำปี 2023  

หากแต่...ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวม “รายได้อื่นๆ อีกมากมาย” ซึ่งคาดว่าน่าจะไหลมาเทมาและมีมูลค่าสูงขึ้นเป็นเท่าทวี หลังเจ้าตัวได้ชื่อว่าเป็นนักกีฬาที่ได้รับสัญญาที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกนับจากนี้เป็นต้นไป!

นอกจากเงินก้อนมหาศาลแล้ว อะไรคือคำตอบการร่วมทีมกับ “ลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส” : 

แม้ว่าจะสามารถสร้างสถิติส่วนบุคลที่น่าตื่นตะลึงต่างๆ ใน MLB มาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัล American League MVP Awards 2 ครั้ง, รางวัล AL Rookie of the Year, รางวัล Silver Slugger Awards 2 ครั้ง, รวมถึงเป็นผู้เล่นคนแรกในประวัติศาสตร์ 90 ปี ของเกม All-Star MLB ที่ได้รับเลือกทั้งสองตำแหน่ง คือ พิชเชอร์ และ แบตเตอร์ 

หากแต่ผลงานของทีมลอสแอนเจลิส แองเจิลส์ ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา กลับไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในรอบ Postseason เลยสักครั้ง ดังนั้นการได้ไปเล่นกับทีมที่ใหญ่ขึ้นและมีผู้เล่นที่มีศักยภาพสามารถผลักดันให้ทีมไปถึงแชมป์เวิร์ดซีรีส์ได้ ย่อมเป็นทางเลือกที่ไม่มีนักเบสบอลคนใดในโลกปฏิเสธได้อย่างแน่นอน! 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม :